3 พ.ย. 63 ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน น.ส.อุทัยวรรณ บุญลอย และ น.ส.รตี ช่วงแก้ว ประชาชนในจังหวัดลำพูนที่ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน ในคดีที่มี พ.ต.ท.ฐิติพล อรุณสกุล รักษาการผู้กำกับการ สภ.เมืองลำพูน เป็นผู้กล่าวหาให้ดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จากการชุมนุมของประชาชนในจังหวัดลำพูน บริเวณวัดมหาวัน เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 63 และการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 63 บริเวณสะพานท่านาง แยกออกเป็น 2 คน 2 คดี
.
คดีแรก น.ส.อุทัยวรรณ บุญลอย ได้รับหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 63 ให้เข้าพบพนักงานสอบสวน พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ โกมลสวรรค์ รองผู้กำกับการ (สอบสวน) สภ.เมืองลำพูน ในวันที่ 30 ต.ค. 63 แต่เนื่องจาก น.ส.อุทัยวรรณ เพิ่งได้รับหมายเรียกและยังไม่ได้ปรึกษาทนายความ จึงได้ขอเลื่อนเข้าพบพนักงานสอบสวนเป็นวันนี้แทน
เมื่อ น.ส.อุทัยวรรณ เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนที่ สภ.เมืองลำพูน พนักงานสอบสวนได้อธิบายข้อกล่าวหาที่ น.ส.อุทัยวรรณ ถูกกล่าวหาคือ “จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะโดยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง” ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ พนักงานสอบสวนกล่าวด้วยว่า หากผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนสามารถเปรียบเทียบปรับในฐานความผิดดังกล่าวได้เลย โดยระบุว่าจะปรับเป็นเงินจำนวน 500 บาท ด้าน น.ส.อุทัยวรรณปฏิเสธข้อเสนอของพนักงานสอบสวนและจะขอต่อสู้คดีจนถึงที่สุด
พนักงานสอบสวนจึงได้ให้ น.ส.อุทัยวรรณ พิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ก่อนจะเริ่มแจ้งข้อกล่าวหาที่มีเนื้อหาโดยสรุปว่า “เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 63 เวลา 16.00-19.00 น. ตำรวจชุดสืบสวนได้ทราบว่ามีกลุ่มบุคคลได้ชักชวนนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ให้รวมตัวกันเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งจากการสืบสวนพบว่า น.ส.อุทัยวรรณ ได้ใช้ Facebook โพสต์ข้อความชักชวนให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมชุมนุม บริเวณลานกิจกรรมหน้าวัดมหาวัน เมื่อถึงวันเวลาเกิดเหตุได้มีการชุมนุมตามที่มีการนัดหมาย และผู้ต้องหาได้กล่าวปราศรัยโจมตีการทํางานของรัฐบาล” ผู้กล่าวหาและพนักงานสอบสวนในคดีนี้เห็นว่าพฤติการณ์และการกระทําของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐาน “จัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ”
ด้าน น.ส.อุทัยวรรณ ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและขอให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นหนังสือภายใน 30 วัน
.
.
คดีที่สอง กรณีของ น.ส.รตี ช่วงแก้ว ที่ได้รับหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 63 ให้เข้าพบพนักงานสอบสวนคนเดียวกับคดีของ น.ส.อุทัยวรรณ ในวันที่ 30 ต.ค. 63 และ น.ส.รตี ได้ขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาออกมาเป็นวันนี้เช่นกัน
พนักงานสอบสวนได้อธิบายข้อกล่าวหาที่ น.ส.รตี ถูกกล่าวหาว่ามี 3 ข้อหาด้วยกันคือ “จัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ, กระทําด้วยประการใดๆ บนทางเท้าหรือทางใดๆ ซึ่งจัดไว้ให้คนเดินเท้า ในลักษณะเป็นการกีดขวางการจราจร โดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือกระทําด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก และโฆษณาโดยใช้เครื่องเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียง” ซึ่งทั้ง 3 ข้อกล่าวหามีเพียงโทษปรับเท่านั้น หากผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนสามารถเปรียบเทียบปรับในฐานความผิดดังกล่าวได้เลย โดยเบื้องต้นพนักงานสอบสวนระบุว่าจะปรับทั้ง 3 ข้อหา เป็นเงินจำนวน 1,000 บาท แต่ น.ส.รตี ปฏิเสธที่จะรับสารภาพ โดยขอต่อสู้คดีจนถึงที่สุดอีกเช่นกัน
พนักงานสอบสวนจึงได้นำ น.ส.รตี ไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อส่งไปตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ก่อนจะเริ่มแจ้งข้อกล่าวหาที่มีเนื้อหาโดยสรุปว่า “เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 63 เวลา 16.00-19.00 น. ตำรวจชุดสืบสวนได้ทราบว่ามีกลุ่มบุคคลได้ชักชวนนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ให้รวมตัวกันเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งจากการสืบสวนพบว่า น.ส.รตี ได้ใช้ Facebook โพสต์ข้อความชักชวนให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมชุมนุม บริเวณสะพานท่านาง เมื่อถึงวันเวลาเกิดเหตุได้มีการชุมนุมตามที่มีการนัดหมาย และผู้ต้องหาได้ใช้โทรโข่งซึ่งเป็นเครื่องขยายเสียงมาเป็นอุปกรณ์ในการปราศรัยโจมตีการทํางานของรัฐบาล” ผู้กล่าวหาและพนักงานสอบสวนในคดีนี้เห็นว่าพฤติการณ์และการกระทําของผู้ต้องหาเป็นความผิดตามข้อกล่าวหาทั้งสามข้างต้น
น.ส.รตี ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและขอให้การต่อพนักงานสอบสวนเป็นหนังสือภายใน 30 วัน
อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนยืนยันว่าจะนัดหมายผู้ต้องหาทั้งสองเพื่อส่งสำนวนการสอบสวนและตัวผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการในวันที่ 16 พ.ย. 63 เวลา 10.00 น. ก่อนที่จะปล่อยตัวโดยไม่มีการควบคุมตัวแต่อย่างใด
สำหรับการชุมนุมทั้ง 2 วัน เป็นการออกมาแสดงความคิดเห็นเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดใช้ความรุนแรงกับประชาชน หลังการสลายการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษาและประชาชน ที่บริเวณสี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 63 อีกทั้งมีการชูภาพแกนนำคณะราษฎร 2563 ที่ถูกจับกุมตัวและถูกคุมขังอีกด้วย
.