วันที่ 4 ม.ค. 64 ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน น.ส.อุทัยวรรณ บุญลอย และ น.ส.รตี ช่วงแก้ว ประชาชนในจังหวัดลำพูน และเป็นสมาชิกกลุ่มลำพูนปลดแอก เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก จากการชุมนุม เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 63 บริเวณสะพานท่าขาม จังหวัดลำพูน เพื่อคัดค้านการฉีดแก๊สน้ำตาและสารเคมีสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ บริเวณแยกเกียกกาย หน้ารัฐสภา กรุงเทพฯ โดยผู้ต้องหาได้ยินยอมให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับ ข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 300 บาท และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง 100 บาท รวมคนละ 400 บาท
เวลาประมาณ 9.00 น. น.ส.อุทัยวรรณ บุญลอย อายุ 41 ปี และ น.ส.รตี ช่วงแก้ว อายุ 42 ปี ได้เดินทางไปที่สถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน พร้อมด้วยทนายความเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกผู้ต้องหาในข้อกล่าวหา “ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ ก่อนการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง” ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ในคดีที่มี พ.ต.ท.สุทัศน์ ทาระนัด เป็นผู้กล่าวหาทั้งสองคน จากเหตุการณ์การชุมนุมของประชาชนในจังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 63 บริเวณสะพานท่าขาม เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการฉีดน้ำ ฉีดสารเคมี และยิงแก๊สน้ำตา เพื่อสลายการชุมนุมของประชาชนบริเวณแยกเกียกกาย หน้ารัฐสภา กรุงเทพฯ ก่อนร่วมกันเดินขบวนไปร้องทุกข์ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเอาไว้ ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูน
ก่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ผู้ต้องหาทั้งสองได้นำป้ายข้อความ “สารภาพ แต่ไม่รับผิด” มาชูแสดงสัญลักษณ์ด้านหน้าสถานีตำรวจ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาและยินยอมให้ปรับในวันนี้ของทั้งสองคน เป็นเพียงการตัดปัญหาความยุ่งยากและภาระในกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องพบเจอเท่านั้น ไม่ใช่การยอมรับว่าการกระทำของทั้งสองนั้นเป็นความผิดแต่อย่างใด ก่อนหน้านี้ทั้งสองคนก็เคยถูกดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และได้ถูกส่งฟ้องต่อศาลแล้ว และยังต้องต่อสู้คดีอยู่
>> ส่งฟ้องคดี พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ขับไล่รัฐบาล จ.ลำพูน 2 คดี ศาลนัดถามคำให้การ 18 ม.ค. 64
ด้านพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดี พ.ต.ท.รัฐธรรมนูญ มูลรัตน์ ได้ให้ พ.ต.ท.ไกรลาศ สุวีระ พนักงานสอบสวนอีกท่านเป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาทั้งสองคน เนื่องจากต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลจังหวัดลำพูน
พ.ต.ท.ไกรลาศ สุวีระ ได้แจ้งข้อกล่าวหาระบุว่าก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ เจ้าพนักงานตำรวจฝ่ายสืบสวนได้สืบทราบว่าจะมีกลุ่มบุคคลจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล โดยชักชวนให้นักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ให้รวมตัวกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในพื้นที่รับผิดชอบ จากการสืบสวนพบว่ามีผู้ต้องหาทั้งสองรายในคดีนี้ได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กของตน ประกาศเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมชุมนุม โดยนัดหมายที่ลานสะพานท่าขาม อำเภอเมืองลำพูน ในวันที่ 18 พ.ย. 63 เวลา 17.00 น.
พนักงานสอบสวนระบุว่าในวันดังกล่าว ได้มีผู้ต้องหาทั้งสองคน และกลุ่มนักเรียน นักศึกา และประชาชนทั่วไป ไปร่วมชุมนุมเกินกว่า 10 คน ด้วยจุดประสงค์เดียวกันเพื่อต่อต้านและขับไล่รัฐบาลตามที่ได้มีการโฆษณาชักชวนดังกล่าว และผู้ต้องหาทั้งสองได้ใช้โทรโข่ง ซึ่งเป็นเครื่องขยายเสียงแบบพกพา มาใช้เป็นอุปกรณ์กล่าวปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลในเรื่องต่างๆ จากนั้นก็ชักชวนนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ขึ้นมาพูดโจมตีและขับไล่รัฐบาล และเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนได้สลายการชุมนุมที่แยกเกียกกาย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 63 และชักชวนกันให้มาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสลายการชุมนุมที่สภ.เมืองลำพูน
พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็น“การร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ก่อนการ ชุมนุมภายใน 24 ชั่วโมง และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต” ซึ่งเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ที่มีอัตราโทษปรับในทั้งสองข้อกล่าวหา ผู้ต้องหาทั้งสองรายจึงให้การรับสารภาพ และขอให้พนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบปรับในชั้นสอบสวน เพื่อให้คดียุติลง
พนักงานสอบสวนจึงได้ทำการเปรียบเทียบปรับผู้ต้องหาทั้งสองคน ในข้อกล่าวหา “ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่ก่อนการ ชุมนุมภายใน 24 ชั่วโมง” ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะเป็นเงิน 300 บาท และข้อหา “ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยเครื่องขยายเสียงฯ เป็นเงิน 100 บาท รวมแล้วผู้ต้องหาทั้งสองเสียค่าปรับคนละ 400 บาท รวมค่าปรับ 800 บาท
เมื่อทั้งสองจ่ายค่าปรับเสร็จสิ้นแล้ว ก็ได้ทำการลงบันทึกประจำวันและเดินทางกลับ แต่ทั้งอุทัยวรรณและรตียังเลือกจะต่อสู้ในคดีการชุมนุมในจังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 63 บริเวณหน้าวัดมหาวัน และวันที่ 19 ต.ค. 63 บริเวณสะพานท่านาง ซึ่งคดีรอการนัดถามคำให้การและตรวจพยานหลักฐานที่ศาลจังหวัดลำพูนในวันที่ 18 ม.ค. 64