15 ก.พ. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดลำพูนนัดสืบพยานโจทก์ ในคดีของอุทัยวรรณ บุญลอย เกษตรกรออร์แกนิคฟาร์มและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ในจังหวัดลำพูน เหตุสืบเนื่องจากการชุมนุมบริเวณหน้าวัดมหาวัน จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ซึ่งอุทัยวรรณถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาและพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ในข้อหา “ไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ, กีดขวางทางเท้า และใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต”
สำหรับคดีนี้สืบเนื่องจากเกิดการชุมนุมของประชาชนในจังหวัดลำพูนเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2563 บริเวณหน้าวัดมหาวัน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดใช้ความรุนแรงกับประชาชน หลังการสลายการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ที่บริเวณสี่แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 อีกทั้งมีการเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำคณะราษฎร 2563 ที่ถูกคุมขังในขณะนั้น และเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก
ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 ศาลได้นัดตรวจพยานหลักฐานในคดี อุทัยวรรณให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและพร้อมจะต่อสู้คดีมาตลอดตั้งแต่ชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ จนกระทั่งชั้นศาล ยืนยันว่าตนเองไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะแต่อย่างใด เพียงแต่เข้าร่วมการชุมนุมเท่านั้น การกระทำของเธอไม่ควรเป็นความผิดอาญา การแสดงออกทางการเมืองควรเป็นสิ่งที่ทำได้ แม้ข้อหาทั้งหมดจะมีอัตราโทษปรับก็ตาม
คำให้การของจำเลยในชั้นศาล โดยสรุประบุว่า จำเลยเพียงได้รับข่าวสารประชาสัมพันธ์จากสื่อออนไลน์ว่าจะมีการจัดกิจกรรม เมื่อจำเลยเห็นจึงแชร์รูปภาพในเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อแจ้งข่าวสารแก่บุคคลอื่น การบังคับใช้กฎหมายแก่จำเลยเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างมาก ทั้งประชาชนทั่วไปย่อมจะเกิดความระแวงสงสัยกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จำเลยเป็นเพียงประชาชนคนหนึ่งที่ต้องการใช้สิทธิเสรีภาพเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมือง โดยสงบปราศจากอาวุธ
สำหรับข้อหากีดขวางทางเท้า ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ นั้น อุทัยวรรณให้การปฏิเสธว่า ทางเท้าเป็น “ที่สาธารณะ” มีไว้เพื่อประชาชนใช้สอย โดยประชาชนทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่าตนเองมีสิทธิจะยืน นั่ง หรือทำกิจกรรมใดๆ บนทางเท้าได้ และ ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต อุทัยวรรณให้การว่าการใช้โทรโข่งขนาดเล็กในการชุมนุมสาธารณะไม่ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น อีกทั้งกฎหมายถูกบัญญัติขึ้นมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม พ.ศ. 2493 ในปัจจุบันก็สามารถพบเห็นการใช้เครื่องขยายเสียงได้ในชีวิตประจำวัน โดยไม่มีความจำเป็นจะต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด
เดิมคดีมีนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในช่วงปี 2564 แต่มีการเลื่อนนัดออกมาถึงสองครั้ง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 จนกำหนดนัดใหม่ในช่วงวันที่ 15 และ 25 ก.พ. 2565
.
อัยการลำพูนยื่นขอถอนฟ้องข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ – จำเลยรับสารภาพข้อหาที่เหลือ ศาลจึงพิพากษาปรับ 200 บาท
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 เวลา 9.00 น. ก่อนเริ่มพิจารณาคดี พนักงานอัยการจังหวัดลำพูนได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องบางข้อหาตามคำสั่งของอธิบดีอัยการภาค 5 ต่อศาล ส่วนความผิดข้อหากีดขวางทางเท้าและใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ยังประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป
เวลา 9.30 น. ผู้พิพากษาศาลจังหวัดลำพูนสอบถามจำเลยและทนายความว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนคำฟ้องเฉพาะข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จำเลยจะคัดค้านหรือไม่ ทนายความจำเลยแถลงไม่คัดค้าน ส่วนข้อหากระทำการใดๆ บนทางเท้า ตาม พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ จำเลยให้การรับสารภาพ
ต่อมา เวลา 9.50 น. ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จำเลยไม่คัดค้าน คงเหลือ พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ โจทก์แถลงเมื่อจำเลยรับสารภาพและเป็นคดีลหุโทษ โจทก์ไม่ติดใจนำพยานเข้าสืบ
ศาลพิพากษาจำเลยมีความผิดข้อหากระทำการใดๆ บนทางเท้าหรือทางใดๆ ซึ่งจัดไว้สำหรับคนเดินเท้าในลักษณะกีดขวางทางจราจร และโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ ลงโทษจำเลยปรับกระทงละ 100 บาททั้ง 2 กระทง รวมปรับ 200 บาท เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง คงเหลือปรับ 100 บาท
เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจศาลได้เข้ามาควบคุมตัวจำเลยไปที่ห้องควบคุมตัวใต้ถุนของศาล ระหว่างรอการชำระค่าปรับตามคำพิพากษา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลยืนยันว่าเป็นการควบคุมตัวตามระเบียบฯ ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีการทำตามระเบียบที่กำหนดไว้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับที่มีค่าปรับมากหรือน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตาม ทนายความในคดียืนยันว่าในคดีของรตี ช่วงแก้ว ที่มีคำพิพากษาไปในวันที่ 10 ก.พ. 2565 ไม่มีการควบคุมตัวเช่นนี้
.
ทำไมอุทัยวรรณจึงรับสารภาพ ข้อหาเครื่องขยายเสียง-กีดขวางทางจราจร?
อุทัยวรรณ มองว่าการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ตนเองสามารถจะกระทำได้ แต่ความผิดที่เกี่ยวกับการใช้เครื่องเสียงหรือการกีดขวางทางเท้า นั้นก็เป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดการชุมนุม ซึ่งมันต้องเกิดขึ้นในการชุมนุมอยู่แล้ว ในการชุมนุมวันนั้นมีการจัดการด้านเครื่องเสียงและการสัญจรดีพอสมควร จริงๆ แล้วไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร
อย่างไรก็ตามเนื่องจากพนักงานอัยการได้ถอนฟ้องในคดี พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ประกอบกับพิจารณาความเห็นจากหลายฝ่าย ก็เห็นว่าค่อนข้างจะยากที่จะไปสืบพยานหักล้างข้อหาเครื่องขยายเสียงและกีดขวางทางเท้าด้วย เมื่อกฎหมายเขียนไว้แบบนั้น จึงตัดสินใจรับสารภาพ ทำให้คดีสิ้นสุดลง
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565 พนักงานอัยการจังหวัดลำพูนก็ได้ยื่นขอถอนฟ้องข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ในคดีจากการชุมนุมในจังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 เช่นเดียวกัน รตี ช่วงแก้ว จำเลยในคดีดังกล่าว จึงได้ยินยอมให้ลงโทษปรับในข้อหากีดขวางทางเท้า และใช้เครื่องขยายเสียงเช่นเดียวกันนี้
.