ศาลลงจำคุก 2 เดือน ปรับ 10,000 บาท คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “เพนกวิน-อั๋ว” ร่วมกิจกรรม #saveวันเฉลิม โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี

12 ก.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลแขวงปทุมวันนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ “อั๋ว” จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักกิจกรรม ​กรณีเข้าร่วมกิจกรรม #Saveวันเฉลิม บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2563 เพื่อทวงความเป็นธรรมให้กับวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถูกบังคับสูญหายไปในเย็นวันก่อนหน้านั้น

คดีนี้ทั้งสองคนถูกอัยการฟ้องใน 2 ข้อหา ได้แก่ จัดการชุมนุมและเข้าร่วมการชุมนุมอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขณะที่จุฑาทิพย์ยังถูกฟ้องในขัอหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงานอีกข้อหาหนึ่ง เหตุจากการไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือระหว่างเข้ารับทราบข้อกล่าวหา

ย้อนดูบันทึกสืบพยาน >>ไม่เสี่ยงโควิด-ชุมนุมตามสิทธิ: บันทึกสืบพยาน คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “เพนกวิน-อั๋ว” ร่วมกิจกรรม #Saveวันเฉลิม ปี 63 ก่อนศาลพิพากษา

ที่ห้องพิจารณาคดี 5 ชั้น 2 เวลา 10.00 น. พริษฐ์, จุฑาทิพย์ และทนายจำเลยได้ทยอยมาศาล นอกจากนี้ยังมีผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, iLaw และญาติของจำเลยมาร่วมฟังคำพิพากษาด้วย 

ก่อนที่ศาลจะออกนั่ง เจ้าหน้าที่ประจำห้องพิจารณาได้แจ้งให้ผู้ที่ไม่ใช่คู่ความออกจากห้องพิจารณาคดี เนื่องจากในช่วงเวลานี้มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ญาติและผู้ที่มาให้กำลังใจจำเลยได้โต้แย้งว่า จำนวนคนที่อยู่ในห้องพิจารณาไม่ได้มีมากจนแออัดและทุกคนก็สวมหน้ากากอนามัย หากไม่สามารถป้องกันโรคระบาดได้ นั่นหมายความว่ามาตราการป้องกันโรคโควิด-19 ของรัฐบาลนั้นไม่มีประสิทธิภาพและใช้การไม่ได้ ภายหลัง เจ้าหน้าที่ศาลจึงได้ยินยอมให้ผู้ที่ไม่ใช่คู่ความร่วมเข้าฟังคำพิพากษาด้วย 

เวลา 10.30 น. กอบชัย ชูโต ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี ออกนั่งอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ โดยก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษาได้ชี้แจงว่ากับจำเลยว่า เกี่ยวกับคดีนี้ศาลแขวงได้ส่งคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 เป็นผู้ตรวจสอบ เนื่องจากเป็นคดีที่ได้รับความสนใจจากประชาชน และวันนี้ศาลจะอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟัง ศาลเห็นว่ามีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยสรุปทั้งหมด 3 ประเด็นด้วยกัน

.

พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีความชอบธรรม ใช้ควบคุมโรค ไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ

ในประเด็นการฝ่าฝืนประกาศ และข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การออกข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1-5 และประกาศห้ามการชุมนุมของ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารบก ปรากฏข้อมูลเป็นที่ประจักษ์ว่า หลายประเทศยังคงมีการระบาดและจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับสูง และเมื่อผ่อนคลายมาตรการหรือยกเลิกมาตรการควบคุมแล้ว กลับพบการระบาดของโรคในระลอกใหม่อย่างรุนแรง แสดงว่าในช่วงเวลาตามประกาศทุกฉบับ มีข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีการระบาดของโรคโควิด-19  ทำให้มีผู้คนเสียชีวิตนับแสนราย ซึ่งการระบาดไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย 

ทั้งนี้ ในระหว่างการสืบพยาน จำเลยทั้งสองยอมรับว่าในขณะที่มีการชุมนุมปรากฏว่ามีผู้ป่วยในไทยแล้วนับพันคน ซึ่งเชื่อได้ว่าโรคโควิด-19 สามารถแพร่กระจายได้ด้วยการเดินทางของบุคคลไปยังสถานที่ต่างๆ จึงได้มีมาตรการป้องกัน เช่น การจำกัดการเดินทาง การปิดห้างสรรพสินค้า ห้ามรับประทานอาหารร่วมกัน ห้ามจัดงานเลี้ยง และห้ามการชุมนุม ยังรวมไปถึงห้ามรับประทานอาหารในร้านซึ่งเป็นการชุมนุมของบุคคลกลุ่มเล็กๆ 

ที่จำเลยกล่าวอ้างว่า มีความจำเป็นต้องออกมาชุมนุมในห้วงเวลาที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังใช้บังคับนั้น เท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยต้องการให้มีการบังคับใช้กฎหมายแก่จำเลยให้ต่างไปจากบุคคลอื่น ทั้งๆ ที่บุคคลอื่นได้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ แม้แต่การประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงชีวิต ความจำเป็นของคนอื่นจึงมีมากกว่าการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมให้มีผลทางการเมืองของจำเลยทั้งสอง  

นอกจากนี้ ด้วยภัยของโรคโควิดซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วไป จำเลยก็ตระหนักถึงสถานการณ์โควิดในเดือนมิถุนายน 2563 เป็นอย่างดี เห็นได้จากในที่ชุมนุมจำเลยทั้งสองใส่หน้ากากอนามัย มีเครื่องวัดอุณหภูมิ เจลแอลกอฮอล์ แม้ในช่วงเวลาดังกล่าวจะปรากฏว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มไม่มาก แต่มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 3,082 คน 

การที่จำเลยกล่าวอ้างว่ามีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น เท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่า การกระทำของ พล.อ. พรพิพัฒน์ เบญญศรี ในการออกประกาศ เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จำเลยก็ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณาตามนัยของมาตรา 213 แห่งรัฐธรรมนูญ และตามแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมืองคดีหมายเลขแดงที่ อม.4/2551 ไม่จำเป็นต้องจัดการชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ประกอบกับหลักฐานที่ว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในขณะนั้นเป็น 0 ราย จึงรับฟังได้อีกว่าการดำเนินการด้วยความเข้มงวดตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สามารถป้องกันการระบาดได้ 

ทั้งนี้ แม้ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดังกล่าวจะมีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพบางประการของบุคคล แต่ฟังได้ว่า ประกาศฉบับดังกล่าวเป็นไปด้วยความรอบคอบ มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้แล้วตามเรื่องพิจารณาที่ 21/2564 ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 (2) จำเป็นต้องใช้เพื่อแก้ปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 26 ซึ่งหมายความว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แม้จะมีผลจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล แต่ก็เป็นไปตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม และไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพเกินสมควร ดังนั้นประกาศเรื่องการห้ามชุมนุมจึงมีความชอบธรรมแล้ว 

.

ศาลชี้จำเลยเป็นตัวการร่วมจัดชุมนุม แม้ไม่มีหลักฐานมาแสดง-ยืนยันไม่จำเป็นต้องพิจารณาพฤติการณ์ชุมนุมว่าเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคหรือไม่ 

ในประเด็นที่สอง เรื่องผู้จัดการชุมนุม ศาลพิเคราะห์ว่าแม้โจทก์ไม่มีหลักฐานมาแสดงว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้โพสต์เชิญชวนให้มาร่วมกิจกรรม #saveวันเฉลิม เฟซบุ๊กของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายตามกิจกรรม จำเลยได้ปรากฎตัวในสถานที่จัดกิจกรรม ทั้งเตรียมรูปและป้ายข้อความ และสลับกันขึ้นปราศัย ซึ่งมีลักษณะสอดคล้องตามคำเชิญชวนที่ปรากฎในเพจเฟซบุ๊ก จึงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองเป็นตัวการร่วมในการจัดกิจกรรม

อีกทั้งจำเลยทั้งสองยังปราศรัยโดยไม่ใช้เครื่องขยายเสียง ทำให้ผู้ชุมนุมต้องเข้ามาใกล้ชิดกันเพื่อฟังการปราศรัยในลักษณะไหล่ชนไหล่ ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ได้มีความตระหนักว่าการจัดกิจกรรมเช่นนั้นจะทำให้เกิดภัยร้ายแรงต่อสาธารณชน รวมถึงการที่จำเลยกล่าวอ้างว่า ภายหลังจากการชุมนุมไม่มีผู้ชุมนุมคนไหนติดเชื้อโควิด-19 นั้น จำเลยก็ไม่มีหลักฐานมาแสดงในส่วนนี้เช่นกัน  

ที่สำคัญเมื่อศาลวินิจฉัยแล้วว่า ประกาศและข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการดำเนินการโดยชอบธรรมแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่า การชุมนุมจะเกิดความไม่สงบหรือไม่ และไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าสถานที่ชุมนุมแออัดหรือไม่ เพราะการแปลความตามที่จำเลยนำสืบย่อมมีผลเท่ากับว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่สามารถใช้บังคับกับการกระทำแต่เพียงเฉพาะการจัดการชุมนุมของจำเลยทั้งสอง

.

พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้พิมพ์ลายนิ้วมือ เป็นขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานตามกฎหมาย 

กรณีจุฑาทิพย์ที่ได้เข้ารายงานตัวตามหมายเรียก แต่ไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติการต้องโทษคดีอาญา ซึ่งเป็นขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐานในการทำสำนวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 132 

ศาลพิเคราะห์ว่า การพิมพ์ลายนิ้วมือดังกล่าวเป็นระบบการตรวจสอบประวัติอาชญากรของประเทศไทย ซึ่งเป็นไปเพื่อไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งบุคคล เพื่อให้ได้ตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริงมาดำเนินการตามกฎหมาย และเป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องรวบรวมข้อมูลว่าจำเลยเป็นบุคคลเดียวกับผู้ต้องหา หรือจำเลยในคดีอื่นๆ หรือไม่ แม้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติการถูกดำเนินคดี หรือประวัติการต้องโทษอาจส่งผลร้ายในรูปแบบของคำพิพากษา แต่จำเลยยังมีสิทธิปฏิเสธข้อมูลนั้นและนำพยานหลักฐานอื่นมาหักล้างได้ 

ต่อมา กรณีที่อ้างว่าการสั่งให้พิมพ์ลายนิ้วมือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วว่า ผู้ต้องหาที่ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือไม่มีความผิดฐานขัดขืนคำสั่งของเจ้าพนักงาน อย่างไรก็ตาม แม้การพิมพ์ลายนิ้วมือจะเป็นสิทธิพื้นฐานเฉพาะตัวของบุคคลดังที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุไว้ในคำวินิจฉัยที่ 2/2562 แต่ก็เป็นไปด้วยเหตุผลหลักคือ ลักษณะการบัญญัติกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานมีความผิดในทันที โดยไม่มีข้อยกเว้นและกำหนดอัตราโทษไม่ได้สัดส่วนกับความผิด 

อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 ที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้เป็นกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งยังรับรองว่ามาตรา 368 วรรค 1 เป็นมาตรการทางกฏหมายที่ให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานบังคับผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันสมควร ดังนั้นกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยจึงยังไม่สิ้นผลบังคับ การที่จำเลยอ้างว่าจะเป็นภาระที่จะต้องนำประวัติอาชญากรออกจากระบบ จึงไม่ถือว่าเป็นข้อแก้ตัวอันสมควร

ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง ในข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 (2) และมาตรา 18 จำคุก 2 เดือน ปรับ 10,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี 

ส่วนจุฑาทิพย์ ศาลพิพากษาว่ากระทำความผิดอีกหนึ่งกระทง ฐานฝ่าฝืนคำสั่งตามเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 ลงโทษ ปรับ 2,000 บาท

.

‘เพนกวิน’ แถลงต่อศาล การชุมนุมเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ไม่มีเสรีภาพในการชุมนุม ก็ไม่มีประชาธิปไตย ด้าน ‘อั๋ว’ ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่มีความชอบธรรม สร้างบรรทัดฐานกฎหมายที่บิดเบี้ยว

หลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว ‘พริษฐ์’ ได้เดินเข้าไปที่หน้าบัลลังก์เพื่อขออนุญาตแถลงการณ์ต่อศาล ซึ่งมีใจความว่า ตนไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าว รวมถึงผิดหวังต่อสถาบันศาลและตุลาการ คำพิพากษาของศาลในวันนี้ถือเป็นตรายางที่จะรับรองความชอบธรรมของกฎหมายที่ทำลายเศรษฐกิจ ประเทศชาติ ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพการชุมนุมถือเป็นสิทธเสรีภาพของประชาชน หากไม่มีสิทธิเสรีภาพดังกล่าว สังคมไทยก็ไม่เป็นประชาธิปไตย

“อำนาจไม่จีรัง ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป หากศาลมีความกล้าหาญยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง วันไหนที่อำนาจเปลี่ยนไป ตุลาการจะได้ไม่เปลี่ยน” พริษฐ์กล่าวทิ้งท้ายกับผู้พิพากษา 

หลังพริษฐ์แถลงการณ์ต่อศาลแล้ว ผู้พิพากษาได้ชี้แจงว่า เกี่ยวกับคดีนี้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 ได้ชั่งน้ำหนักแล้ว เห็นว่าความปลอดภัยของสาธารณชนนั้นสำคัญกว่าข้อเรียกร้องของจำเลย หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาก็สามารถโต้แย้งได้ในชั้นอุทธรณ์ 

ทั้งนี้ พริษฐ์และจุฑาทิพย์ได้ให้สัมภาษณ์สั้นๆ เกี่ยวกับความรู้สึกที่มีต่อคำพิพากษาในวันนี้ว่าไม่เห็นด้วยและน่าผิดหวังอย่างยิ่ง 

พริษฐ์กล่าวว่า เสรีภาพการชุมนุมนั้นถือเป็นแก่นหนึ่งของประชาธิปไตย หากประชาชนชุมนุมไม่ไ่ด้ รวมตัวกันไม่ได้ ประชาธิปไตยก็จะไม่มีเช่นกัน คำพิพากษาวันนี้เป็นข้อยืนยันว่า ประเทศไทยตกต่ำเข้าสู้ยุคเผด็จการมากขึ้น เหมือนกับเข้าสู่ยุค คสช. อีกครั้ง 

“แม้การเมืองไทยจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่กฎหมายจะต้องมีความเที่ยงธรรม มีความเสถียร เพราะสถาบันตุลาการถูกออกแบบมาไม่ให้เพื่อประเทศแกว่งเกินไป แต่ตอนนี้กลายเป็นว่ากระบวนการยุติธรรมทำให้ประเทศเหวี่ยงไปทางเผด็จการมากขึ้น ในอนาคตคงจะต้องสู้กันต่อไป” พริษฐ์กล่าว 

ด้านจุฑาทิพย์กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกใช้เป็นเหมือนเครื่องมือทางการเมืองมาโดยตลอด ขาดความชอบธรรมและไม่ได้เอามาใช้ในการควบคุมโรค แต่นำมาบังคับใช้กับประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาล 

“ในเรื่องของการควบคุมโรค ไม่จำเป็นที่จะต้องออกกฏหมายพิเศษแบบนั้นออกมา การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ทำให้คนติดโควิดลดลง หรือเศรษฐกิจดีขึ้น มีแต่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ คนที่ได้รับผลกระทบก็ยังได้รับผลกระทบเหมือนเดิม และคำตัดสินของศาลในวันนี้ก็มีการตั้งธงมาแล้วว่าเรากระทำผิด ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ผิด เราเพียงใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ คำตัดสินแบบนี้จะทำให้กฎหมายบิดเบี้ยวและจะเป็นแบบนี้ตลอดไป ไม่ได้รับการแก้ไข” 

.

ทั้งนี้ คดีนี้เป็นคดีการชุมนุมทางการเมืองคดีแรก ที่ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีการต่อสู้คดี และศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก (เท่าที่ทราบข้อมูล) หลังจากแนวทางก่อนหน้านี้ มีศาลซึ่งมีคำพิพากษาลงโทษปรับใน 2 คดีที่ต่อสู้คดี และไม่น้อยกว่า 16 คดี ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง 

ทั้งยังปรากฏแนวทางคำวินิจฉัยในอย่างน้อย 2 คดี ที่ศาลจังหวัดพะเยาและศาลแขวงลพบุรี เห็นว่าประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง หรือ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ห้ามการชุมนุมทำกิจกรรม กำหนดองค์ประกอบเพิ่มเติมไปจากข้อกำหนดที่ให้อำนาจ จึงไม่มีผลบังคับใช้ ความเห็นของศาลแขวงปทุมวันในคดีนี้ จึงแตกต่างไปจากแนวทางคำวินิจฉัยในหลายคดีก่อนหน้านี้

ดู สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

.

X