พิพากษาจำคุกรวม 6 ปี ลดเหลือ 3 ปี ไม่รอลงอาญา “ไบรท์ ชินวัตร” ข้อหา “ม.112 – ชุมนุมมั่วสุม” เหตุปราศรัยหน้า SCB ก่อนศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกัน

วันที่ 29 ก.พ. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาคดีของ “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ซึ่งมีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีปราศรัยในการชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB ที่บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2564 คดีนี้เคยถูกพนักงานอัยการสั่งฟ้องต่อศาลอาญา โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 8 ราย ได้แก่ อานนท์ นำภา, “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา, “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี, “ไบร์ท” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, “บอย” พงศธรณ์ ตันเจริญ และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก นอกจากนั้นยังมี “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ถูกอัยการแยกฟ้องต่างหาก ก่อนภายหลังจะมีการรวมการพิจารณาคดีเข้าด้วยกันในวันที่ 9 พ.ค. 2565

กระทั่ง วันที่ 25 ม.ค. 2567 ซึ่งเป็นนัดสืบพยานโจทก์ ชินวัตรตัดสินใจถอนคำให้การเดิมจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา คดีจึงเสร็จการพิจารณาในส่วนของชินวัตร และนัดฟังคำพิพากษาวันนี้ 

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 908 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า ศาลออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ สามารถสรุปได้ ดังนี้

เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 4 ปี, ข้อหา “มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป” และ “เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกมั่วสุมแต่ไม่เลิก” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ มาตรา 216 ลงโทษจำคุก 2 ปี, ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับ 10,000 บาท, ข้อหา “กีดขวางทางสาธารณะ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ลงโทษปรับ 2,000 บาท และข้อหา “ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ลงโทษปรับ 200 บาท

รวมจำคุก 6 ปี ปรับ 12,200 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี ปรับ 6,100 บาท ไม่รอลงอาญา

ต่อมาเวลา 16.07 น. ทนายความแจ้งว่าได้ยื่นขอประกันตัวชินวัตรระหว่างอุทธรณ์แล้ว  โดยนายประกันของชินวัตรวางหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 150,000 บาท ตามที่เจ้าหน้าที่ศาลประเมินมูลค่าให้

อย่างไรก็ตาม ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 2-3 วัน ทำให้ในวันนี้ ชินวัตรถูกนำตัวไปควบคุมยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงปัจจุบัน (29 ก.พ. 2567) มีผู้ถูกคุมขังในคดีจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมืองแล้วถึง 42 คน โดยมีชินวัตรเป็นรายล่าสุด จำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จำนวน 25 คน และเป็นผู้ต้องขังระหว่างการต่อสู้คดีโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวถึง 30 คน แยกเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 19 คน และคดีข้อหาอื่น ๆ อีก 11 คน 

(อัปเดต 4 มี.ค. 2567) เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวชินวัตร โดยอ้างเหตุว่า เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี ทำให้จนถึงปัจจุบัน ชินวัตรถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มา 5 วันแล้ว

.

ส่วนคดีของจำเลยอีก 7 ราย ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี และให้พนักงานอัยการแยกฟ้องจำเลยทั้งหมดเข้ามาใหม่ โดยได้สั่งฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลอาญาแล้วในวันที่ 7 ก.พ. 2567 สามารถสรุปได้ ดังนี้ 

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563 จำเลยทั้ง 7 กับพวก ได้ร่วมกันประกาศชักชวนประชาชนให้มาร่วมชุมนุมทางการเมืองที่มีชื่อว่า #25พฤศจิกา หรือ #25พฤศจิกาไปSCB ที่บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ผ่านทางบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยและผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และ “เยาวชนปลดแอก” 

กิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องทวงคืนทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์หรือทรัพย์สินที่ควรเป็นของชาติ โดยมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ และองคาพยพพ้นออกจากตำแหน่งไป เพราะมีที่มาไม่ถูกต้องและเพื่อเปิดทางให้ประเทศไทยกลับสู่ครรลองของระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากประชาชน 

ในวันเกิดเหตุ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 8,000 คน โดยมีการปราศรัยผ่านเครื่องกระจายเสียง ซึ่งมีใจความสำคัญในลักษณะว่าสถาบันกษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจแทรกแซงการทำงานของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติและทรงใช้ภาษีของประชาชนเพื่อประโยชน์ของสถาบันพระมหากษัตริย์ อาทิ การดำเนินงานพิธีการหรือการตกแต่งในงานเนื่องในวันพระราชพิธีต่างๆ หรือกิจการในส่วนสถาบันพระกษัตริย์

พนักงานอัยการระบุว่า จำเลยทั้ง 7 กับพวกได้ร่วมกันหมิ่นประมาทดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยผลัดเปลี่ยนกันพูดปราศรัยและเป็นดำเนินรายการในระหว่างชุมนุมสาธารณะ ดังนี้

อานนท์ นำภา จำเลยที่ 1 ได้พูดปราศรัยเกี่ยวกับความกังวลที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ทูลเกล้าถวายคืนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้องค์พระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว ได้ใช้จ่ายตามพระราชอัธยาศัย

พริษฐ์ ชิวารักษ์ จำเลยที่ 2 ได้พูดปราศรัยโดยเริ่มจากร้องเพลงฉ่อยร่วมกับ ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา ก่อนปราศรัยเกี่ยวกับการโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

ภาณุพงศ์ จาดนอก จำเลยที่ 3 ได้พูดปราศรัยเกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการมากที่สุด คือ การจะไม่ยอมให้ทรัพย์สินของแผ่นดินตกไปเป็นของใครคนใดคนหนึ่ง

วรรณวลี ธรรมสัตยา จำเลยที่ 4 ได้พูดปราศรัยเกี่ยวกับการที่ประชาชนเสียภาษีให้กับกษัตริย์เฉลี่ยปีละ 430 บาท ต่อคน และพูดแสดงความเห็นว่าหากวันใดที่เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำลง ก็ควรจะลดอัตราการเสียภาษีลงมาให้เกิดความเหมาะสม

พงศธรณ์ ตันเจริญ จำเลยที่ 5 ได้พูดปราศรัยเกี่ยวกับความต้องการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

พรหมศร วีระธรรมจารี จำเลยที่ 6 ได้เป็นผู้ดำเนินรายการ

ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา จำเลยที่ 7 ได้ร่วมกันกล่าวคำปราศรัย โดยนำเสนอผ่านการแสดงเพลงฉ่อย ร่วมกับพริษฐ์ ชิวารักษ์

อัยการระบุในฟ้องว่าเมื่อบุคคลที่ 3 ได้ฟังคำปราศรัยดังกล่าว ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ทรงมีเจตนาเอาทรัพย์สินส่วนรวมมาเป็นของตัวเอง เบียดเบียนเอาภาษีของประชาชนมาเป็นของส่วนตัว ทรงใช้พระราชอำนาจเข้าไปแทรกแซงการเมืองการปกครอง อันเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่ 3 ด้วยข้อความหยาบคาย เป็นเท็จหรือบิดเบือน โดยน่าจะทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

ในท้ายคำฟ้องพนักงานอัยการได้ระบุข้อกล่าวหาต่อจำเลยทั้ง 7 ราย ดังนี้

  1. ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
  2. ร่วมกันทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
  3. ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215
  4. เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกการกระทำแต่ไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216
  5. ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 10
  6. ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนเป็นอุปสรรคต่อความสะดวกในการจราจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 108, 114
  7. ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4
  8. ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย ตามข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

คดีใหม่นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่  1 ก.ค. 2567 เวลา 13.30 น.  

.

* เพิ่มเติมข้อมูล

ต่อมาวันที่ 3 มี.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวชินวัตร

.

ฐานข้อมูลคดี

คดี 112 “7 นักกิจกรรมราษฎร” ปราศรัยตั้งคำถามต่อทรัพย์สินกษัตริย์ในม็อบ #25พฤศจิกาไปSCB

X