จากกรณีเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 ศาลจังหวัดกำแพงเพชรอ่านคำพิพากษายกฟ้องในคดีของอภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ อดีตผู้สมัคร นายก อบจ. กำแพงเพชร ของคณะก้าวหน้า วัย 45 ปี กรณีร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ #กำแพงเพชรจะไม่ทน เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564
คดีนี้ศาลนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยไปเมื่อวันที่ 10-11 พ.ค. 2565 โดยโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยเป็นผู้ชักชวน นัดหมาย จัดกิจกรรมคาร์ม็อบในวันที่ 1 ส.ค. 2564 ให้บุคคลประมาณ 400 คนมาร่วมกันทำกิจกรรมขับยานพาหนะไปตามถนน และไปรวมกลุ่มที่บริเวณลานอนุรักษ์วัฒนธรรมสวนสาธารณะสิริจิตอุทยาน ซึ่งเป็นการกระทำที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ
ข้อต่อสู้ของจำเลย ได้แก่ จำเลยไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นเพียงผู้มาร่วมกิจกรรมเท่านั้น การชุมนุมยังเป็นลักษณะของการขับยานพาหนะของตนเองไปตามท้องถนนตามปกติ เป็นที่โล่งแจ้ง ไม่แออัด จึงไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด และการชุมนุมสาธารณะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธาณณะฯ ก็ไม่มีผลบังคับใช้ในห้วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุม
.
เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม
.
สำหรับคำพิพากษายกฟ้องในทุกข้อกล่าวหาของศาล โดยปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำฟ้องหรือไม่ แบ่งวินิจฉัยแยกเป็น 3 ประเด็นหลัก โดยสรุปได้แก่
.
1. การชุมนุมอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะต้องมีลักษณะก่อให้เกิดความวุ่นวาย ไม่สงบเรียบร้อย หรือมีลักษณะรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล
ศาลเห็นว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 บัญญัติคำนิยามความหมายของ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ไว้ว่า สถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นไปตามความมั่นคงของรัฐ หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันหรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้านตามประมวลกฎหมายอาญา การรบ หรือการสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและความบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง
ดังนั้น การชุมนุมอันจะเป็นความผิดตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริการราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จึงต้องเป็นการชุมนุมที่มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายและความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน หรือมีลักษณะเป็นการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล จึงจะถือว่ามิใช่เป็นการชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 44
ได้ความจากพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาเพียงว่าจำเลยชักชวนให้ผู้ชุมนุมมาร่วมชุมนุม และจำเลยได้เข้าร่วมการชุมนุมเท่านั้น การชุมนุมไม่ปรากฏเหตุรุนแรงหรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล
.
2. คำสั่งจังหวัดกำแพงเพชรที่ 1810/2564 ข้อที่ 20 ไม่มีสภาพบังคับเด็ดขาดว่าผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดตาม พระราชกำหนดฉุกเฉินฯ
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 บัญญัติว่า บุคคลจะต้องรับโทษทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ แต่ตามคำสั่งจังหวัดกำแพงเพชรที่ 1810/2564 ข้อที่ 20 ระบุว่า ผู้ว่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง มีความผิดตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
ตามคำสั่งดังกล่าวไม่มีสภาพบังคับเด็ดขาดว่าผู้ฝ่าฝืนจะมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
.
3. พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 3 (6) บัญญัติมิให้ใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
จำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
.