ก่อนพิพากษาคดี “คาร์ม็อบกำแพงเพชร”: ไม่ใช่ผู้จัด – กิจกรรมไม่เสี่ยงแพร่โรค – การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สะท้อนปัญหาการใช้ กม. ของรัฐ

วันที่ 22 มิ.ย. 2565 นี้ เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดกำแพงเพชรนัดอ่านคำพิพากษาในคดี “คาร์ม็อบกำแพงเพชร” ซึ่งมี อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ อดีตผู้สมัคร นายก อบจ. กำแพงเพชร ของคณะก้าวหน้า วัย 45 ปี ถูกฟ้องเป็นจำเลย 

อภิสิทธิ์ถูกกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดกำแพงเพชร และข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ เหตุจากการเข้าร่วมกิจกรรม “คาร์ม็อบ” #กำแพงเพชรจะไม่ทน เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 

อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ ถือเป็นคนหนึ่งที่คลุกคลีในวงการงานพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างมากว่าสิบปี จนพลิกผันตัวเองเข้าทำงานการเมืองในฐานะทีมงานของพรรคอนาคตใหม่ในจังหวัดกำแพงเพชร กระทั่งกลายเป็นผู้สมัครนายกฯ อบจ. กำแพงเพชร ในนามคณะก้าวหน้า โดยเขาถูก “เลือก” จากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เป็นผู้ถูกดำเนินคดี ท่ามกลางผู้ร่วมกิจกรรมกว่า 400 คน

ย้อนอ่าน “ถ้าไม่ทำวันนี้ ก็จะไม่มีวันข้างหน้า” คุยกับจำเลยคดีคาร์ม็อบกำแพงเพชร จากนักพัฒนาชุมชน ถึงคนทำงานการเมือง

.

ภาพรวมของการสืบพยาน

คดีนี้ศาลนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยไปเมื่อวันที่ 10 และ 11 พ.ค. 2565 ข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์พยายามชี้ให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้ชักชวน นัดหมาย จัดกิจกรรมคาร์ม็อบในวันที่ 1 ส.ค. 2564 ให้บุคคลประมาณ 400 คนมาร่วมกันทำกิจกรรมขับยานพาหนะไปตามถนน และไปรวมกลุ่มที่บริเวณลานอนุรักษ์วัฒนธรรมสวนสาธารณะสิริจิตอุทยาน ซึ่งเป็นการกระทำที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และไม่แจ้งการชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

ข้อต่อสู้ของจำเลย ได้แก่ จำเลยไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นเพียงผู้มาร่วมชุมนุมเท่านั้น การชุมนุมเป็นลักษณะของการขับยานพาหนะของตนเองไปตามท้องถนนตามปกติ เป็นที่โล่งแจ้ง ไม่แออัด จึงไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด และการชุมนุมสาธารณะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ก็ไม่มีผลบังคับใช้ในห้วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุม

สำหรับฝ่ายอัยการโจทก์นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 3 ปาก ได้แก่ พ.ต.ท.เทวิน นาจารย์ รองผู้กำกับฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองกำแพงเพชร ในฐานะผู้กล่าวหา, ร.ต.อ.สมผล ศักดิ์สูง เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 3 กองบังคับการสันติบาล 1 และ พ.ต.ท.ไพศาล วรรณชัย พนักงานสอบสวน สภ.เมืองกำแพงเพชร 

ส่วนฝ่ายจำเลย นำพยานขึ้นเบิกความ 5 ปาก ได้แก่ 1. จำเลย 2. เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 3. นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวเนื่องกับปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 4-5. พยานผู้อยู่ในเหตุการณ์คาร์ม็อบ

.

ปากคำจากเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้กล่าวหา: เชื่อว่าเป็นผู้จัดกิจกรรม มีผู้มาเข้าร่วมเพราะจำเลย

พยานปากแรกของฝ่ายโจทก์คือ พ.ต.ท.เทวิน นาจารย์ รองผู้กำกับฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองกำแพงเพชร เป็นผู้กล่าวหาจำเลยในคดีนี้ เบิกความว่า ก่อนหน้าวันชุมนุม ในวันที่ 24 ก.ค. 2564 ได้ทราบจากโปรแกรมเฟซบุ๊กเพจ “คณะราษฎรแนวร่วมกำแพงเพชร” ว่าจะมีการนัดรวมตัวกันทำกิจกรรม “คาร์ม็อบ” ในวันที่ 1 ส.ค. 2564 ที่บริเวณวงเวียนต้นโพธิ์ จังหวัดกำแพงเพชร จึงได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และได้รับคำสั่งให้ทำการสืบสวนต่อไป

จากการสืบสวนเพจดังกล่าว “คณะราษฎรแนวร่วมกำแพงเพชร” เป็นเพจเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมีจำเลยเป็นสมาชิกของกลุ่มเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว และสืบทราบว่าจำเลยเคยเป็นผู้สมัครนายก อบจ. กำแพงเพชร ของพรรคก้าวไกล นอกจากนี้จำเลยยังโพสต์ข้อความเชิญชวนจากเฟซบุ๊กส่วนตัวไปยังเพจคณะราษฎรแนวร่วมกำแพงเพชร ให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว และโพสต์เชิญชวนในเฟซบุ๊กของตนเองโดยเปิดเป็นสาธารณะ โดยรูปภาพที่จำเลยนำมาโพสต์เป็นภาพที่จำเลยคัดลอกมาจากเพจเฟซบุ๊กต่างๆ มาโพสต์ใหม่

เมื่อถึงวันกิจกรรม 1 ส.ค. 2564 ก็พบว่าจำเลยขับรถยนต์กระบะไปยังที่จัดกิจกรรม โดยนอกจากรถของจำเลยก็มีรถยนต์กระบะที่มีเครื่องเสียงขับมาต่อท้ายรถของจำเลย และมีผู้นำรถยนต์และจักรยานยนต์มาเข้าร่วมกิจกรรมอีกจำนวนมาก ประมาณ 200 คน

เมื่อถึงเวลาประมาณ 16.00 น. ขบวนกิจกรรมคาร์ม็อบได้เคลื่อนออกจากบริเวณวงเวียนต้นโพธิ์ โดยเคลื่อนไปตามเส้นทางถนนในจังหวัดกำแพงเพชรที่มีการประกาศไว้ในเพจมาก่อนแล้ว มีระยะทาง 5-7 กิโลเมตร ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้เปิดไฟ บีบแตร และแสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้ว

เมื่อขบวนมาถึงลานอนุรักษ์วัฒนธรรมสวนสาธารณะสิริจิตอุทยาน ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง ไม่แออัด มีพื้นที่อยู่มาก อากาศถ่ายเทได้สะดวก มีผู้ชุมนุมบางส่วนเดินลงจากรถไปร่วมทำกิจกรรมประมาณ 150-200 คน โดยไม่มีการจัดมาตรการป้องกันโรคแพร่ระบาด และจำเลยได้ใช้เครื่องขยายเสียงของรถกระบะที่ขับตามมาในการกล่าวโจมตีรัฐบาล และกล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาอำนวยความสะดวกและขอบคุณผู้ชุมนุม ก่อนจะประกาศแยกย้าย

โดยรวมแล้วใช้เวลาทำกิจกรรมประมาณ 30 นาที ในที่โล่งแจ้งโดยมีกิจกรรมรวมกลุ่มกันถ่ายรูปภาพที่ใกล้ชิดกันและไม่เว้นระยะห่าง เป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ แต่เกิดความไม่ปกติในการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่และทำให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยเกิดความเดือดร้อน เช่น การจราจรติดขัด

พยานจึงเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่เป็นผู้เชิญชวนในเฟซบุ๊ก จัดการชุมนุม และนำขบวนตั้งแต่เริ่มจนจบเส้นทาง และมีการกล่าวปราศรัย ขอบคุณผู้มาร่วมกิจกรรม ประกอบกับจำเลยเป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมืองในระดับหนึ่ง จึงเชื่อว่าที่มีคนออกมาชุมนุมเพราะจำเลยเป็นผู้ชักชวน

การกระทำจึงเป็นการจัดกิจกรรมฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดกำแพงเพชรที่ห้ามไม่ให้รวมตัวกันเกิน 100 คน ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และไม่มีการขออนุญาตจัดการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

.

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมคาร์ม็อบวันที่ 1 ส.ค. 64 จากเพจราษฎรกำแพงเพชร

ตำรวจสันติบาล ผู้สังเกตการณ์การชุมนุม

พยานปากต่อมา ร.ต.อ.สมผล ศักดิ์สูง เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 3 กองบังคับการสันติบาล 1 มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง

ช่วงวันที่ 24-25 ก.ค. 2564 พยานพบเห็นว่าจำเลยโพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนบุคคลอื่นมาร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ และจำเลยก็ได้โพสต์ข้อความเชิญชวนในเพจแนวร่วมคณะราษฎรกำแพงเพชร โดยมีลักษณะให้บุคคลทั่วไปทราบว่าจะมีงานกิจกรรมคาร์ม็อบในวันที่ 1 ส.ค. 2564 ที่บริเวณวงเวียนต้นโพธิ์ นอกจากนี้จำเลยยังมีพฤติการณ์เป็นสมาชิกของคณะก้าวหน้า และเคยลงสมัครนายก อบจ. ในนามคณะก้าวหน้าด้วย 

ในวันกิจกรรม พยานพบเห็นว่าจำเลยขับรถกระบะมาจอดบริเวณวงเวียนต้นโพธิ์ มีคนขับรถเข้ามารวมกลุ่มประมาณ 200 คน โดยไม่มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 จนกระทั่งรวมพลได้ รถจักรยานยนต์ประมาณ 100 คัน รถยนต์ประมาณ 60 คัน รวมแล้วมีคนประมาณ 500 คน จึงเคลื่อนขบวนออกจากจุดเริ่มต้น โดยมีรถของจำเลยเป็นคนนำขบวน แต่ไม่มีพฤติการณ์ว่าจำเลยเป็นผู้จัดรูปขบวน ตามด้วยรถเครื่องขยายเสียง 2 คัน เป็นรถคันที่มีการประกาศจัดรูปขบวน และมีรถจักรยานยนต์ปิดท้าย ขับไปตามถนนเส้นทางในจังหวัดกำแพงเพชร 

ขบวนไปหยุดที่ลานอนุรักษ์วัฒนธรรมสวนสาธารณะสิริจิตอุทยาน โดยมีคนประมาณ 200 คนมาจอดรถ และยืนกระจายกัน มีจำเลยและบุคคลอื่นๆ ปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง โดยจำเลยเป็นคนประกาศเลิกงานและขอบคุณที่ออกมาขับไล่รัฐบาล ในงานกิจกรรมไม่ปรากฏว่ามีความวุ่นวายหรือพกพาอาวุธ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็ใส่หน้ากากอนามัยป้องกันโรค

แต่ในห้วงเวลาดังกล่าวเป็นห้วงที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมีคำสั่งจังหวัดกำแพงเพชรที่ห้ามรวมตัวกันเกินกว่า 100 คน โดยไม่มีการขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่

พยานเห็นว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมครั้งนี้ เนื่องจากจำเลยเป็นผู้เชิญชวน และกล่าวขอบคุณผู้ที่มาร่วมการชุมนุม และยังโพสต์ขอบคุณผู้มาร่วมงานในเฟซบุ๊กของตนเองอีกด้วย นอกจากนี้ยังคิดว่าการจัดกิจกรรมลักษณะนี้เป็นแนวคิดของกลุ่มก้าวหน้าหรือก้าวไกล ซึ่งจำเลยเคยลงสมัครนายก อบจ. จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมคาร์ม็อบครั้งนี้

.

พนักงานสอบสวน ผู้รวบรวมพยานหลักฐานและมีความเห็นสมควรฟ้องคดีจำเลย

พ.ต.ท.ไพศาล วรรณชัย พนักงานสอบสวน สภ.เมืองกำแพงเพชร เบิกความว่าเนื่องจากวันที่ 4 ส.ค. 2564 ผู้กำกับการ สภ.เมืองกำแพงเพชร ได้มอบหมายให้ตนเป็นผู้รับผิดชอบคดีนี้ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน พ.ต.ท.เทวิน นาจารย์ ได้ทำรายงานเสนอผู้กำกับการว่า มีการกระทำความผิดนี้เกิดขึ้น จึงได้ทำการสอบสวนและได้เชิญ พ.ต.ท.เทวิน และ ร.ต.อ.สมผล มาสอบปากคำ

ผู้กล่าวหาร้องทุกข์ต่อพยาน เนื่องจากเห็นว่าการชุมนุมไม่มีการขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และ เป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อป้องกันโรคแพร่ระบาดโคโรนา 2019 นอกจากนี้ยังเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจังหวัดกำแพงเพชร เรื่องห้ามทำกิจกรรมรวมกันเกินกว่า 100 คน โดยพฤติการณ์ทั้งหมด ตำรวจฝ่ายสืบสวนเป็นผู้นำมาให้พยาน

อย่างไรก็ตาม ไม่มีพยานหลักฐานใดบ่งชี้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมดังกล่าว มีเพียงแต่การอนุมาน โดยพยานไม่ได้ตรวจสอบเพจแนวร่วมคณะราษฎรกำแพงเพชร ว่าใครเป็นผู้ดูแลเพจดังกล่าว และเมื่อถึงเวลานัดหมาย ก็มีผู้มีแนวคิดเดียวกันออกมาร่วมชุมนุม

.

ไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม – การร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ จำเลย อ้างตนเองเป็นพยานในดคี โดยยืนยันว่าตนไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมตามฟ้อง โดยจำเลยพบเห็นข้อความเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบกำแพงเพชร จากเพจเฟซบุ๊ก “แนวร่วมคณะราษฎรกำแพงเพชร” ซึ่งจำเลยเป็นสมาชิกในเพจดังกล่าว และยืนยันว่าตนไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมในนามคณะก้าวหน้า แต่เข้าร่วมในฐานะส่วนตัว

จำเลยทำการคัดลอกรูปภาพจากเพจต่างๆ มาโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลย โดยไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดตั้ง แอดมินหรือผู้ดูแลเพจแนวร่วมคณะราษฎรกำแพงเพชร และได้โทรเชิญชวนเพื่อนให้เข้ามาร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบดังกล่าว 2 คน

การที่จำเลยขับรถนำขบวนเป็นคันแรก เนื่องจากเมื่อขับรถยนต์ไปถึงวงเวียนต้นโพธิ์ก็พบว่ามีการตั้งรูปขบวนกันอยู่แล้ว พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอำนวยความสะดวก มีผู้โบกรถให้จำเลยเข้าไปจอดรถเป็นคันแรก นอกจากนี้ในเพจดังกล่าวก็ได้โพสต์ประกาศระเบียบการเข้าร่วมกิจกรรม โดยให้ผู้ร่วมกันชุมนุมสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง อยู่แต่ในรถของตนเอง และไม่ให้มีการพกพาอาวุธ

ในงานกิจกรรมยังมีตำรวจขับรถจักรยานยนต์นำขบวนอีกครั้ง แต่เมื่อถึงหน้าสถานีดับเพลิง ตำรวจก็จอดรถ จำเลยจึงได้ขับต่อไปตามแผนที่ที่มีการประกาศในเพจอยู่ก่อนแล้ว จำเลยไม่ได้เป็นผู้กำหนดเส้นทางแต่อย่างใด

เมื่อเคลื่อนขบวนไปสิ้นสุดบริเวณสวนสาธารณะสิริจิตอุทยาน ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ อยู่แล้ว มีพื้นที่กว้างใหญ่ โล่งแจ้ง มีน้องผู้หญิงคนหนึ่งพูดผ่านเครื่องขยายเสียงว่ามีใครอยากจะพูดก็สามารถมาพูดได้ โดยบุคคลหลายคนได้กล่าวปราศรัยโจมตีรัฐบาลก่อนที่จำเลยจะพูดปราศรัย เรื่องการบริหารของรัฐบาลล้มเหลว เรียกร้องเรื่องวัคซีน ฯลฯ เมื่อพูดเสร็จแล้วจำเลยก็เดินทางกลับทันทีโดยไม่ได้ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณนั้นต่อ

จำเลยเข้าใจว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ นอกจากนี้จำเลยเห็นว่าตนเองไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว จึงไม่มีหน้าที่จะต้องแจ้งหรือขออนุญาตการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่รัฐแต่อย่างใด

.

พยานผู้อยู่ในเหตุการณ์ ยืนยันพฤติการณ์จำเลยไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม

พยานฝ่ายจำเลยอีก 2 ปาก เป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์กิจกรรมคาร์ม็อบกำแพงเพชร เบิกความสอดคล้องกันว่า ทั้งสองทราบว่าจะมีกิจกรรมคาร์ม็อบ เนื่องจากเห็นข้อความเชิญชวนในเพจ “แนวร่วมคณะราษฎรกำแพงเพชร” เมื่อเห็นแล้วจึงอยากเข้าร่วมกิจกรรม เนื่องจากเห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง 

พยานเบิกความสอดคล้องกันว่าพบเห็นจำเลยอยู่ในกิจกรรม แต่ไม่มีพฤติการณ์จัดรูปแบบขบวนรถ และไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียงระหว่างเคลื่อนขบวน

.

.

ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับการชุมนุมทางการเมืองหลายคดี

ทางฝ่ายจำเลย ยังได้มีเจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนขึ้นเบิกความถึงสถานการณ์การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งพบสถิติการบังคับใช้ข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการร่วมชุมนุมทางการเมือง ต่อประชาชนไม่ต่ำกว่า 1,450 คน มีผู้ถูกดำเนินคดีไม่ต่ำกว่า 630 คดีทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีคำพิพากษายกฟ้องหลายคดี เช่น คำพิพากษาของศาลแขวงอุดรธานี ศาลจังหวัดพะเยา ศาลแขวงลพบุรี ศาลแขวงดุสิต เป็นต้น 

พยานได้ยื่นส่งแนวทางคำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลประกอบการพิจารณาคดีนี้

.

พยานผู้เชี่ยวชาญชี้ปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ยอดพล เทพสิทธา อาจารย์กฎหมายมหาชน ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เบิกความโดยส่งเป็นความเห็นทางกฎหมายต่อปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในคดีนี้ไว้ 4 ประการ 

1. ในรัฐเสรีประชาธิปไตยนั้นยึดถือคุณค่าของหลักนิติรัฐเป็นสำคัญ โดยที่หลักนิติรัฐนั้นจะผูกพันทั้งกับประชาชนและกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเป็นหลักประกันว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ของรัฐจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจอันสะท้อนหลักการสำคัญของการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่ว่า ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ไม่สามารถกระทำได้ และการดำเนินการที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้น เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการให้กระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพจนประชาชนไม่อาจใช้เสรีภาพได้

2. เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิ่งที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญในมาตรา 44 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” และวรรคสอง “การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น”

3. ในการดำเนินมาตรการต่างๆ ของรัฐซึ่งรวมถึงกระบวนการนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการนั้น รัฐพึงยึดถือการใช้อำนาจภายใต้หลักแห่งความได้สัดส่วนหรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าหลักความพอสมควรแก่เหตุ กล่าวคือ มาตรการต่างๆ ที่รัฐพึงนำมาใช้บังคับกับประชาชนนั้นจะต้องได้สัดส่วนกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่สูญเสียไป ได้แก่ หลักความเหมาะสม หลักความจำเป็น และ หลักความได้สัดส่วนในความหมายอย่างแคบ

4. หากพิจารณาบริบทปัจจุบันที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันมีผลให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยที่กลไกการตรวจสอบในระบบปกติไม่สามารถทำงานได้  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนา แล้วนั้น จะเห็นว่ารัฐเองไม่สามารถจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากแต่ยังต้องคงไว้ซึ่งความสมดุลในการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์มหาชนกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยรัฐเองมีทางเลือกในการใช้มาตรการอื่นที่นอกเหนือจากการสั่งห้ามการชุมนุมได้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการคัดกรอง หรือมาตรการอื่นทางสาธารณสุข โดยรัฐมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ไม่ใช่การสั่งห้าม

นอกจากนี้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ มาตรา 3 (6) ไม่ให้ใช้บังคับในห้วงการประกาศใช้พระราชกำหนดฉุกเฉินฯ จึงไม่สามารถนำหลักการตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาใช้ในการแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งได้

.

X