อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ ถือเป็นคนหนึ่งที่คลุกคลีในวงการงานพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างมากว่าสิบปี จนพลิกผันตัวเองเข้าทำงานการเมืองในฐานะทีมงานของพรรคอนาคตใหม่ในจังหวัดกำแพงเพชร กระทั่งกลายเป็นผู้สมัครนายกฯ อบจ. กำแพงเพชร ในนามคณะก้าวหน้า
ในปีที่ผ่านมา เขายังตกเป็นผู้ต้องหาในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จากการเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ #กำแพงเพชรจะไม่ทน เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 นับได้ว่าเป็นคดีความแรกในชีวิตของเขา
ท่ามกลางผู้เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบดังกล่าวกว่า 400 คน ดูเหมือนเขาจะถูก “เลือก” จากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เป็นผู้ถูกดำเนินคดี ทั้งที่เขายืนยันว่าไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม และจริงๆ ทั้งกิจกรรมก็แทบไม่มีส่วนใดที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ทำให้เขาเห็นว่าคดีของตนเป็น “คดีการเมือง” ที่มีเป้าประสงค์ทางการเมืองอย่างชัดเจน
คดีของอภิสิทธิ์ถูกสั่งฟ้องที่ศาลจังหวัดกำแพงเพชร ในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังเขาไปรับทราบข้อกล่าวหา ก่อนมีการสืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยไปเสร็จสิ้น เมื่อวันที่ 10-11 พ.ค. 2565 และศาลได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 22 มิ.ย. ที่จะถึงนี้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนพูดคุยทำความรู้จักกับจำเลยในคดีคาร์ม็อบอีกหนึ่งคน ท่ามกลางคดีคาร์ม็อบนับร้อยคดีในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2564 ที่ยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดี
.
จากนักศึกษาผู้ทำกิจกรรม สู่คนทำงานพัฒนาชุมชน
อภิสิทธิ์ ปัจจุบันอายุ 45 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดสุโขทัย เขาจบการศึกษาจากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ก่อนมามีครอบครัวอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร
อภิสิทธิ์เล่าว่า เขาเป็นคนทำกิจกรรมตั้งแต่ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย โดยเข้าไปร่วมในชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และค่ายอาสาพัฒนาชนบท กิจกรรมที่ทำเป็นแนวออกค่ายอาสา และเรียนรู้ประเด็นทางสังคม โดยไปช่วยงานรุ่นพี่ๆ ที่จบไป ซึ่งไปทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน เช่น มูลนิธิดวงประทีป
“เรื่องที่แรงที่สุดตอนเรียน ก็คือเรื่องโม่หิน ที่ตำบลชมภู อำเภอเนินมะปราง มีเหตุที่พี่โจ (พิทักษ์ โตนวุธ) ถูกยิงตาย เราก็เคยเข้าไปทำงานในพื้นที่นั้น ช่วงปี 2 ไปร่วมนอนอยู่ที่หน้าเขื่อนที่เขาระเบิดหินนั่นแหละ ใส่ชุดนักศึกษาไป”
อภิสิทธิ์ย้อนเล่าถึงการไปร่วมเรียนรู้และสนับสนุนชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำคลองชมภู ที่เคลื่อนไหวคัดค้านโรงโม่หินและการสร้างเขื่อนในพื้นที่ต้นน้ำชมภู จังหวัดพิษณุโลก จนกระทั่งที่ปรึกษาของเครือข่ายอย่าง พิทักษ์ โตนวุธ ถูกคนร้ายลอบยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2544 จนถึงปัจจุบันผ่านไปกว่า 20 ปี ยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้
>> ชาวบ้านคลองชมภูทวงถาม 15 ปีลอบสังหารพิทักษ์ โตนวุธ หลังนายอำเภอ-ทหารให้ลงนามข้อตกลงงดชุมนุม
.
.
นอกจากงานกิจกรรมนักศึกษาแล้ว อภิสิทธิ์ยังต้องทำงานหารายได้เลี้ยงตัวเอง ในช่วงนั้นเขาไปช่วยงานรุ่นพี่ที่ทำงานเก็บข้อมูลการวิจัยชุมชน เรื่องการจัดการน้ำ การจัดการที่ดิน จึงทำให้มีพื้นฐานงานลักษณะนี้มาตั้งแต่ตอนเรียน
หลังเรียนจบ อภิสิทธิ์ไปเริ่มทำงานที่สำนักงานกองทุนเพื่อสังคมฯ ที่จังหวัดสุโขทัยอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนย้ายมาจังหวัดกำแพงเพชร เริ่มทำงานในด้านการวิจัยชุมชนเรื่องการจัดการน้ำ โดยเฉพาะชุมชนริมแม่น้ำปิง ในลักษณะแนวส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ด้วย ไม่ใช่วิจัยอย่างเดียว โดยมีการไปส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วม และการคิดค้นการแก้ปัญหาของชุมชน
“ตอนแรกไม่ได้สนใจเรื่องงานการเมือง ทำงานอาสา งานพัฒนาเป็นหลัก แล้วก็มีทำธุรกิจกับที่บ้านด้วย เคยเปิดร้านขายข้าวสารสักระยะหนึ่ง แล้วก็มาทำธุรกิจประกันภัยรถยนต์ แต่เป็นแบบเสริม แต่งานหลักคืองานสายพัฒนาเป็นส่วนใหญ่” อภิสิทธิ์สรุปถึงอาชีพของเขา
.
ลุยงานการเมือง ภายใต้อุดมการณ์ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง
พื้นฐานการทำกิจกรรมนักศึกษา ยังทำให้อภิสิทธิ์รู้จักเพื่อนๆ ที่มีบทบาทในสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ในช่วงปลายทศวรรษ 2530 โดยเขาในฐานะคณะกรรมการของสโมสรนิสิตคณะมนุษยศาสตร์ ได้เคยไปร่วมกิจกรรมและการประชุมของ สนนท. เป็นที่มาของการลงมาทำงานการเมืองในปัจจุบัน เมื่อมิตรสหายเหล่านั้น ที่กำลังริเริ่มการตั้งพรรคการเมือง มาชักชวนเขา
“เราก็ไม่ได้เป็นตัวหลักอะไร เพราะไม่ได้ไปสายทางการเมือง แต่จะมาทางสายงานพัฒนาชนบทมากกว่า ก่อนหน้านี้ ก็ติดตามการเมืองบ้าง แต่ไม่เคยคิดจะลงไปทำงาน จนกระทั่งมีเพื่อนสมัย สนนท. ลงพื้นที่เดินสายพูดคุย ในช่วงที่มีการเตรียมการตั้งพรรคอนาคตใหม่
“ช่วงริเริ่มก่อนจะประกาศตั้งพรรคอนาคตใหม่ ก็มีคุยกันสองสามครั้ง เป็นเครือข่าย 8 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เราก็เลยลองดู ก็เห็นวิธีคิดที่อยากจะเปลี่ยนแปลงร่วมกัน ก็เลยโดดเข้าไปทำ เราเห็นว่าในกำแพงเพชร มันมีข้อกำจัด มันมีการเมืองศักดินา ทุนผูกขาด คือมีการสืบทอดตำแหน่งในตระกูล คิดว่าถ้าเราอาสา แล้วมันอาจทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ เราก็ทำ”
ช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา จึงกลายเป็นช่วงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของอภิสิทธิ์ เมื่อเริ่มทำงานการเมือง เขากลายเป็นหัวหน้าคณะทำงานของพรรคอนาคตใหม่ในจังหวัดกำแพงเพชร
“งานการเมืองก็มีความยาก เราก็คิดว่าเราไม่ได้มีศัตรูอะไรกับใคร งานก่อนหน้านี้ก็มีแต่พรรคพวก ก็คุยได้กับหลายๆ ฝั่ง ตั้งแต่ นายกฯ อบจ. ที่ตอนหลังเราลงแข่งขัน ก็ยังเคยเข้าไปเป็นที่ปรึกษาของโครงการของเขาเลย แต่พอเราเริ่มไปลงแข่งขันกับเขาเมื่อไร ก็กลายเป็นความขัดแย้งกันที เขาจะมองเราต่างออกไป”
อภิสิทธิ์เล่าว่า การทำงานในนามพรรคอนาคตใหม่ ก็เผชิญแรงเสียดทานด้านต่างๆ โดยเฉพาะข้อกล่าวหาอย่างเป็น “พวกล้มเจ้า” หรือทีมงานบางคนเลือกจะถอย เมื่อต้องเจอการโจมตีหนักๆ เนื่องจากเกิดความกลัว ทั้งพรรคยังถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบไปอีก แต่อภิสิทธิ์ก็ยังยืนยันจะทำงานในจุดนี้ต่อไป
หลังจากยุบพรรคอนาคตใหม่ อภิสิทธิ์ยังคงทำงานต่อในส่วนคณะก้าวหน้าแทน โดยช่วยเป็นทีมประสานงานในพื้นที่ และเนื่องจากคณะก้าวหน้ามีเป้าหมายในการต่อสู้ในสนามการเลือกตั้งท้องถิ่น นำไปสู่การที่อภิสิทธิ์ตัดสินใจลงรับสมัครเลือกตั้งนายกฯ อบจ. ในจังหวัดกำแพงเพชร ช่วงปลายปี 2563
“พอมีเลือกตั้งนายกฯ อบจ. ก็ตัดสินใจลง ตอนนั้นเห็นว่ากำแพงเพชรมันไม่มีใครเป็นผู้สมัคร มันไม่มีคนที่มีวิธีคิดที่กล้าต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเดิม ผมก็ไม่ได้มองว่ากลุ่มอำนาจเดิมไม่ดีนะ แต่มันผูกติดอำนาจเกินไป กลายเป็นเชิงตระกูล มีการสืบทอดกัน โดยไม่ได้เป็นคนอื่นเลย แล้วที่ผ่านมา เราก็เห็นว่าเราไปทำงานกับ อบจ. ไปเป็นที่ปรึกษาหรือไปช่วยวิจัย แต่เรื่องร้องเรียนปัญหาต่างๆ มันก็ไม่เคยหายไปไหน สุดท้ายงบประมาณไปไหนหมด เราก็ตั้งคำถาม หรืออย่าง สจ. บางทีลงอำเภอเมือง ไม่มีใครลงแข่งเลย มันกลายเป็นประชาชนไม่มีทางเลือก
“แล้วถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคม ผมก็รู้สึกว่าต้องเอาการเมืองนี่แหละเป็นตัวเปลี่ยนแปลง ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงวิธีคิดคน ลองท้าทายคนกำแพงฯ ดูซิว่า ถ้าเกิดผมโนเนม ไม่เคยมีตำแหน่งอะไร ทำงานวิจัย ไม่เคยเป็นนักการเมืองเลย สรุปคือเราว่าการเมืองมันถึงเวลาต้องเปลี่ยนผ่าน ก็เลยตัดสินใจลง”
แม้ในสนามท้องถิ่น การต่อสู้ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่าย โดยอภิสิทธิ์เล่าว่าในตอนแรกมีทีมผู้สมัคร สจ. จะมาลงด้วย 9 คน แต่พอถูกโจมตีเรื่อง “ล้มเจ้า” บางคนก็ถอยออกไป หรือตัวเขาก็เองก็ถูกโจมตีว่าไม่ใช่คนกำแพงเพชร เป็นแค่เขยกำแพงเพชร จะไปเข้าใจกำแพงเพชรได้อย่างไร ในท้ายที่สุด การลงสมัครรับเลือกตั้งของอภิสิทธิ์เป็นครั้งแรก ได้คะแนนไปราว 40,000 กว่าเสียง ขณะที่ผู้ชนะ ซึ่งเป็นนายกฯ อบจ. คนเก่า ได้คะแนนไป 190,000 กว่าเสียง
“เราก็พยายามเสนอเป็นทางเลือก พอแพ้ก็ไม่ได้รู้สึกท้ออะไร แค่ทำให้คนรู้สึกว่า เฮ้ย มันมีคนบ้าอย่างนี้อยู่ มันกล้าสู้โว้ย ก็ดีแล้ว” นั่นคือมุมมองของเขาต่อความพ่ายแพ้ครั้งแรกในสนามการเลือกตั้ง
.
.
สนับสนุนการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ ภายใต้สถานการณ์การคุกคามเข้มข้น
นอกจากการลงทำงานการเมืองในช่วงที่ผ่านมา อภิสิทธิ์ยังติดตามความเคลื่อนไหวในจังหวัดกำแพงเพชร โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เขาพบว่ามีความตื่นตัวทางการเมืองของกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มเยาวชน ค่อนข้างมาก มีการตั้งกลุ่มอย่างกำแพงเพชรปลดแอก หรือราษฎรกำแพงเพชรขึ้น มีเด็กๆ กล้าเสนอปัญหาเรื่องสถาบันกษัตริย์ โดยส่วนใหญ่พบว่าเป็นเด็กระดับมัธยมด้วยซ้ำ ไม่ใช่ในมหาวิทยาลัย
ท่ามกลางการตื่นตัวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อภิสิทธิ์ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการคุกคามเยาวชนและคนที่เคลื่อนไหวเป็นระยะ โดยในปี 2563 ช่วงที่มีกระแสนักเรียนติดโบว์ขาว และร่วมกันชูสามนิ้วในโรงเรียน เขาเล่าว่ามีโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่มีนักเรียนแสดงออกมาก พบว่ามีตำรวจและฝ่ายความมั่นคง 3-4 คันรถ เข้าไปในโรงเรียน มีการไปไล่ถ่ายรูปเด็กนักเรียนในโรงเรียน ทั้งยังมีเด็กที่ถูกเรียกไปที่ห้องฝ่ายปกครอง โดยมีตำรวจเข้าไปนั่งคุยด้วย
“ถามใช่เรื่องไหม คุณเป็น ผอ. โรงเรียน แต่ปล่อยให้ตำรวจ 3-4 คันรถ เข้ามาในโรงเรียน ไปอยู่ตามจุดต่างๆ โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัยไม่ใช่หรือ ไม่ควรจะให้เข้าไปด้วยซ้ำ”
ในช่วงที่มีการจัดชุมนุมสนับสนุนข้อเรียกร้องของ “ราษฎร” อภิสิทธิ์ระบุว่ามีเยาวชนที่ขึ้นไฮด์ปาร์กในจังหวัดกำแพงเพชร ก็ถูกตำรวจติดตามไปพบถึงบ้าน หรือบางรายก็ไปพบผู้ปกครอง โดยบางคนก็ไม่ได้กลัว ยังออกมาร่วมกิจกรรมต่อ แต่บางคนก็กลัว และลดบทบาทการเคลื่อนไหวไป
ตัวเขาเองในฐานะผู้เปิดตัวทำงานกับพรรคการเมืองที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล ก็ถูกติดตามคุกคามไม่ต่างกัน โดยมากเป็นการมาหาที่บ้าน เพื่อถ่ายรูป และเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของเขา โดยมีทั้งในรูปแบบที่เปิดเผย และลับๆ ล่อๆ เขาประมาณว่าตัวเองน่าจะโดนติดตามมาบ้านไม่ต่ำกว่า 20-30 ครั้งแล้ว
“ส่วนของผมเอง ก็โดนประจำ อย่างถ้าจะมีกิจกรรมใหญ่ในกรุงเทพฯ ก็จะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาหาที่บ้าน บางทีมาถ่ายรูปหน้าร้านผม โดยไม่ขออนุญาตเลย เมื่อเข้าไปถามว่าถ่ายรูปนี่ขออนุญาตเจ้าของบ้านหรือยัง มีการขึ้นมาบนบ้าน บนลานปูนหน้าร้านเพื่อถ่ายรูป ก็ถือว่าเข้ามาในบ้าน ผมก็บอกว่าถ้าผมไม่อยู่บ้าน แล้วมาข่มขู่แฟนผมหรือคนในบ้านผมไม่ยอมนะ แล้วมีหลายหน่วย มีทั้งสืบเมือง สืบภูธรจังหวัด
“บางทีก็มีมาจอดรถข้างๆ บ้านผม แล้วมีคนลงมาเดินวนรอบบ้าน หรือไปจอดฝั่งตรงข้ามบ้าน แล้วแอบถ่ายรูป บางทีก็มาขอถ่ายรูปกับผม ผมนั่งปลูกต้นไม้อยู่ ก็มาขอถ่ายรูป แล้วก็คอยถามว่าเดี๋ยวจะมีกิจกรรมนี้ จะไปไหม แล้ววันไหนถ้าผมออกจากบ้านในวันเดียวกับที่จะมีการชุมนุม 10-15 นาที ก็จะมีคนโทรมาแล้ว อภิสิทธิ์จะไปไหนเนี่ย จะไปชุมนุมกับเขาหรือเปล่า มีแบบนี้เยอะมาก ถี่มาก จนกลายเป็นเรื่องเคยชิน” อภิสิทธิ์เล่าถึงสถานการณ์การคุกคามของตนเอง ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจนถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ
.
.
การต่อสู้คดีการเมืองแรกในชีวิต
จนมาถึงช่วงปี 2564 ภายใต้กระแสการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในกำแพงเพชรเอง ก็มีการจัดกิจกรรมครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564
อภิสิทธิ์ระบุว่าเขาไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมนี้ แต่ได้ไปเข้าร่วม และมีส่วนร่วมในการขับรถนำขบวน รวมทั้งได้พูดสรุปกิจกรรมเล็กน้อยในช่วงท้าย พร้อมขอบคุณผู้เข้าร่วม โดยผู้เข้าร่วมที่มีหลายร้อยคนในวันนั้น ไม่ได้มีการมารวมกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดกันแต่อย่างใด แต่ก็เป็นที่มาให้เขาถูกดำเนินคดีตามมา เป็นคดีแรกในชีวิต และเป็นคนเดียวของจังหวัดที่ถูกกล่าวหาจากกิจกรรมนี้
เขาทบทวนถึงกิจกรรมคาร์ม็อบในวันนั้นอีกว่า ตอนจัดกิจกรรมที่มีตำรวจเข้ามาพูดคุย ก็ไม่ได้มีการห้ามจัดกิจกรรมหรือแจ้งเตือนเรื่องโรค ตำรวจบอกเพียงว่าคุณก็มีสิทธิที่จะจัดชุมนุม มีห้ามเรื่องการดื่มสุรา และขอให้ขับรถไปตามเส้นทาง ไม่ให้มีปัญหาการจราจร แต่ต่อมากลับมีการมาดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในภายหลัง ทั้งที่ไม่เคยมีการแจ้งเตือนเรื่องนี้ให้ผู้เข้าร่วมทราบก่อนแต่อย่างใด
“ผมไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน อย่างมากก็เคยไปช่วยเพื่อนประกันตัวบ้างเท่านั้น ตอนส่งหมาย ตำรวจก็มีเอารถไซเรนมาจอดหน้าบ้าน แล้วมีตำรวจ 2 คนลงมา แล้วก็มาถ่ายรูปหน้าบ้านผมเลย ผมก็เลยออกไปคุยหน้าบ้าน เขาก็บอกผมมาตามคำสั่งนะครับ มาส่งหมาย ตอนตำรวจมาส่งหมาย ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะชินที่ตำรวจมาบ้าน ผมเข้าใจว่าตำรวจในพื้นที่ก็ถูก ‘นาย’ บีบมาเหมือนกัน ให้มีคดี”
หลังไปรับทราบข้อหาที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร คดีของอภิสิทธิ์ใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือน ก็ถูกสั่งฟ้องต่อศาล ในการนัดฟังคำสั่งของอัยการตั้งแต่ครั้งแรก แม้เขาได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ยืนยันว่าการฟ้องคดีลักษณะนี้ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทั้งข้อเท็จจริง เขาก็ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม แต่อัยการยังยืนยันสั่งฟ้องคดีในทันที โดยไม่ได้ใช้เวลาพิจารณาหนังสือของเขา
.
“ก็มีวันหวั่นๆ ในตอนที่เอาเราไปคุมขังระหว่างรอประกันตัวที่ศาล เราก็ไม่รู้เขาเล่นอะไรกัน มันมีอำนาจอะไรที่มากกว่านั้นหรือเปล่า วันนั้นเอาผมไปรวมกับนักโทษที่มาจากเรือนจำมาศาล ก็เอามาอยู่ในห้องขังเดียวกัน ล็อคประตูไว้สองชั้น แล้วก็ให้นั่งกันอยู่บนพื้น ช่วงนั้นโควิคก็ระบาดอยู่ เราก็กลัวเหมือนกัน พอมีการเอาไปขังรวมกัน”
ต่อมาอภิสิทธิ์จะได้รับการประกันตัว โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่น่าสังเกตว่าคดีของเขา อัยการสั่งฟ้องทั้งในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเรื่องการไม่แจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ทั้งที่ ตามมาตรา 3 (6) ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ นั้น กำหนดให้กฎหมายไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ
อภิสิทธิ์ระบุว่าการถูกดำเนินคดี ไม่ได้สร้างผลกระทบอะไรให้เขามาก ยังสามารถใช้ชีวิตตามปกติ ซ้ำยังยิ่งสร้างความรู้สึกถึงการถูกกระทำไม่ถูกต้อง และอยากต่อสู้ต่อไปด้วย
“คดีมันก็ทำให้เสียเวลาอยู่แล้ว อาจไม่ใช่ทุกคนที่รับได้ในการใช้เวลาต่อสู้คดี ต้องวิ่งไปวิ่งมา ดีว่าเราอยู่ในเมือง ต้นทุนก็เลยไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าบางคนที่โดน แต่อยู่ต่างอำเภอล่ะ หรือคนที่เป็นเด็กนักเรียนหรือนักศึกษาล่ะ มันจะกระทบการศึกษา ก็อาจจะกระทบอนาคต บางคนก็ถูกขู่ว่าถ้ามึงโดนนะ จะไปสอบราชการอะไรไม่ได้เลย ก็มีแบบนี้”
ผลกระทบอีกด้าน ที่อาจจะไม่ใช่ต่อตัวเขาโดยตรง แต่คือต่อผู้ทำกิจกรรมหรือคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่ได้มีความพร้อมในการต่อสู้คดี ก็ทำให้เกิดความกังวลว่าการไปจัดกิจกรรมอีก จะทำให้ถูกดำเนินคดีหรือไม่ กลายเป็นการสร้างความหวาดกลัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐขึ้นเพื่อระงับการแสดงออก
“หลังจากจัดกิจกรรมคาร์ม็อบรอบแรก ปรากฏว่ามีคนประกาศจัดกิจกรรมรอบที่ 2 แต่พอมีข่าว มีการไปลงข่าวของท้องถิ่นกำแพงเพชรนิวส์ ว่าอดีตผู้สมัครนายกฯ อบจ. เป็นผู้จัดคาร์ม็อบโดนคดีความ โดนตำรวจฟ้อง เด็กมันก็เกิดความกลัวไง ผู้ปกครองใครจะให้ลูกมา คนก็ไม่ค่อยมาร่วมตอนครั้งที่ 2 ทำให้กลายเป็นการแกงกันขึ้นมา”
ผลกระทบนี้จึงดูจะเป็นเป้าประสงค์หนึ่งในการใช้คดีความเป็นเครื่องมือในการยับยั้งหรือลดทอนการเคลื่อนไหวของฝ่ายคัดค้านต่อต้านลง
“ผมคิดว่าคดีก็เป็น ‘การเมือง’ ชัดเจน ต้องการจะจ้องเล่นทางการเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมาย” อภิสิทธิ์ระบุถึงนิยามคดีที่ตนต้องต่อสู้
.
.
ถ้าไม่ลงมือทำวันนี้ ก็อาจไม่มีวันข้างหน้า
เมื่อถามคำถามทิ้งท้ายต่อทีมงานคณะก้าวหน้าคนนี้ ถึงเป้าหมายหรือความฝันที่อยากเห็นในการออกมาทำงานการเมืองของเขา อภิสิทธิ์ย้ำว่าตนเองไม่ต้องการตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคมไทยในระดับต่างๆ แม้หลายอย่างจะยังไม่สำเร็จ แต่เขาเชื่อว่า ณ ตอนนี้วิธีคิดของคนจำนวนมากในสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว
“อันแรกเลยอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การเมืองในระดับท้องถิ่น และอยากเห็นคนออกมาต่อสู้มากขึ้น ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาสู้ บ้านเมืองมันก็จะเป็นแบบนี้ หรือท้องถิ่นในกำแพงเพชรก็จะเป็นอยู่แบบนี้ คือมันต้องเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างการเมือง สองคือสำนึกเรื่องความเท่าเทียมกัน แล้วก็เรื่องสิทธิในการแสดงออก ผมคิดว่าต้อง 3 ส่วนนี้มาด้วยกันในการสร้างความเปลี่ยนแปลง อันนี้คือฝันที่ผมอยากเห็น ทำให้ผมโดดเข้ามาต่อสู้
“ผมไม่ได้ต้องการตำแหน่งทางการเมือง แต่พยายามช่วยเปิดพื้นที่ในการต่อสู้ หลังจากนี้ผมจะได้ลงหรือไม่ได้ลง หรือจะได้มีโอกาสหรือไม่มีโอกาส ก็มีคนสู้แล้วไง ก็มีคนอื่นๆ ที่เขาจะสู้ต่อแล้ว ก็เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ในอนาคตที่จะรวมตัวต่อสู้กันต่อจากคนรุ่นผม แค่นี้แหละเราก็หวังแค่นี้ เราก็ไม่รู้หรอกอีก 10 ปี 20 ปีมันก็กำหนดไม่ได้ แต่ที่รู้คือถ้าไม่ทำวันนี้ ก็จะไม่มีวันข้างหน้า มันก็เลยต้องมีคนทำ หรือคนยอมเจ็บในช่วงนี้”
.