ชาวบ้านคลองชมภูทวงถาม 15 ปีลอบสังหารพิทักษ์ โตนวุธ หลังนายอำเภอ-ทหารให้ลงนามข้อตกลงงดชุมนุม

17 พ.ค.59 ที่ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก ตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำคลองชมภู ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือทวงถามถึงความคืบหน้ากรณีการสังหารนายพิทักษ์ โตนวุธ อดีตที่ปรึกษาของเครือข่ายอนุรักษ์ฯ ที่ถูกคนร้ายลอบยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 พ.ค.2544 และยังไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาได้จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 15 ปีแล้ว  ก่อนหน้านี้ในช่วงต้นปี ทางอำเภอและทหารเคยให้ตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์ฯ ทำบันทึกข้อตกลงให้งดการนำราษฎรไปที่บริเวณศาลากลางจังหวัด อนุญาตเฉพาะให้แกนนำไปยื่นหนังสือเท่านั้น

เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำคลองชมภู เป็นกลุ่มชาวบ้านที่เคลื่อนไหวคัดค้านโรงโม่หินและการสร้างเขื่อนในพื้นที่ต้นน้ำชมภูและพื้นที่ทุ่งแสลงหลวง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในวันที่ 17 พ.ค.กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ใช้เป็นโอกาสในการจัดกิจกรรมการรำลึกและการเข้าทวงถามถึงความคืบหน้าการลอบสังหารพิทักษ์ โตนวุธ มาอย่างต่อเนื่อง

แต่เมื่อปีที่แล้ว (2558) ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพภาคที่ 3 เข้ามาประชุมในหมู่บ้าน และ “ขอความร่วมมือ” ไม่ให้ชาวบ้านเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนที่จังหวัด โดยระบุว่าจะเข้าข่ายเป็นการชุมนุม และบ้านเมืองต้องการความสงบเรียบร้อยในช่วงของคสช. เมื่อชาวบ้านยังยืนยันจะเดินทางไป เพราะเป็นสิ่งที่ดำเนินการมาทุกปี เจ้าหน้าที่ทหารก็ระบุให้ชาวบ้านส่งตัวแทนไปได้เพียง 7 คน อีกทั้งยังให้เดินทางไปกับรถเจ้าหน้าที่ และยังห้ามจัดงานรำลึกใดๆ ในพื้นที่

ขณะที่ในช่วงต้นปี 2559 นี้ ได้มีความขัดแย้งกรณีการจัดเวทีเรื่องโครงการสร้างเขื่อนคลองชมพูในค่ายทหาร  ก่อนที่นายอำเภอเนินมะปรางจะได้เชิญตัวแทนชาวบ้านจำนวน 4 คน เข้าไปพูดคุยชี้แจงที่อำเภอ ร่วมกับทางฝ่ายปกครอง ทหาร และตำรวจ เมื่อวันที่ 7 มี.ค.59 ทางเจ้าหน้าที่ยังได้หยิบยกเรื่องการทำกิจกรรมวันที่ 17 พ.ค.ขึ้นมาพูดคุยกับตัวแทนชาวบ้าน โดยระบุว่าการเดินทางรวมตัวไปยื่นหนังสือจำนวนมากโดยไม่ขออนุญาตจะขัดต่อ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

ก่อนที่จะให้ตัวแทนชาวบ้านลงนามในบันทึกข้อตกลงระบุถึงการ “ขอความร่วมมือ” ให้งดการนำราษฎรไปคัดค้านที่บริเวณศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก หากมีการชุมนุมที่เข้าข่าย พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ทางเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย โดยขอให้เฉพาะแกนนำไปยื่นหนังสือกับทางจังหวัดเท่านั้น (ดูในรายงาน)

e0b881e0b8a5e0b8b8e0b988e0b8a1e0b8ade0b899e0b8b8e0b8a3e0b8b1e0b881e0b8a9e0b98ce0b88ae0b8a1e0b89ee0b8b9

นายโม คำคูณ ตัวแทนเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำคลองชมภู เปิดเผยว่าในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้มีทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร สันติบาล และฝ่ายปกครอง โทรศัพท์มาสอบถามเป็นระยะว่าทางเครือข่ายจะไปที่ศาลากลางแบบไหน มีกิจกรรมอื่นหรือไม่ ทางชาวบ้านระบุว่ามีเพียงการไปยื่นหนังสือ และการพูดคุยกับทางจังหวัดเหมือนเช่นทุกปี ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ยังไม่มีความพร้อมในการจัดในปีนี้ และยังมีข้อตกลงกับทางอำเภอ และทหารที่ตัวแทนชาวบ้านร่วมลงนามไปก่อนหน้านี้

ในการเดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดเช้านี้ ได้มีตัวแทนชาวบ้านจำนวน 11 คน ร่วมเดินทางไป โดยไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ติดตามเหมือนเมื่อปีที่แล้ว ในการประชุมได้มีรองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกเป็นประธานในที่ประชุม และมีปลัดจังหวัดเป็นผู้รับหนังสือร้องเรียน พร้อมกับเจ้าหน้าที่จากกรมชลประทาน และเจ้าหน้าที่ทหารจากค่ายนเรศวรมหาราช 3 นาย ร่วมประชุมด้วย

ข้อเรียกร้องในหนังสือของชาวบ้านระบุในสี่ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การขอให้เร่งติดตามความคืบหน้าคดีการลอบสังหารพิทักษ์ โตนวุธ 2.การคัดค้านการสร้างเขื่อนคลองชมพู 3.การขอให้ทางจังหวัดผลักดันให้พื้นที่ตำบลชมพูเป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 4.การขอให้ตรวจสอบบริษัทโรงโม่หิน เพราะยังมีการนำเครื่องจักรเข้าไปปรับพื้นที่อยู่ ทั้งที่มีการยกเลิกสัมปทานบัตรไปแล้ว

นายโม ระบุว่าในการประชุม ได้มีการพูดคุยถึงประเด็นการก่อสร้างเขื่อนคลองชมพู ที่ชาวบ้านเห็นว่ารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้มีการจัดทำมาเกือบ 10 ปีแล้ว ทั้งยังมีการระบุในรายงานว่าพื้นที่เป็นป่าเสื่อมโทรม ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นพื้นที่ต้นน้ำ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก และการสร้างเขื่อนจะสร้างผลกระทบให้กับคนต้นน้ำ การจัดเวทีต่างๆ ในเรื่องเขื่อน ชาวบ้านเรียกร้องว่าขอให้มีการจัดในพื้นที่และรับฟังคนที่เดือดร้อนจริงๆ ด้วย ไม่ใช่จัดในค่ายทหารเหมือนก่อนหน้านี้ ส่วนกรณีการติดตามผู้ลอบสังหารพิทักษ์ โตนวุธ ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากทางราชการ

Mr Pitak Tonwut, 30, was shot dead close to his village on the 17th May 2001. A consultant for the Conserve Chompoo River Basin Network in Nam Maprang District of Phitsanulok Province who were protesting the work done by a nearby quarry.
Mr Pitak Tonwut, 30, was shot dead close to his village on the 17th May 2001. A consultant for the Conserve Chompoo River Basin Network in Nam Maprang District of Phitsanulok Province who were protesting the work done by a nearby quarry.

ภาพถ่ายพิทักษ์ โตนวุธ โดย Luke Duggleby เป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการ “FOR THOSE WHO DIED TRYING” โดย Protection International จัดแสดงเรื่องราวของ 37 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่ถูกลอบสังหารในหลายทศวรรษที่ผ่านมา จัดแสดงที่กรุงเจนีวา ระหว่างการประชุมทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย (UPR)เมื่อช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา

สำหรับ พิทักษ์ โตนวุธ หรือ “โจ” เป็นอดีตประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาลงไปทำงานร่วมกับชาวบ้านลุ่มน้ำชมภูเพื่อต่อสู้คัดค้านโรงโม่หิน ก่อนได้รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำคลองชมภู แต่ได้ถูกคนร้ายลอบยิงเสียชีวิตที่ปากทางเข้าหมู่บ้านชมภู เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2544 ขณะมีอายุได้ 30 ปี

ต่อมา แม้มีการดำเนินคดีกับคนขับรถจักรยานยนต์ให้มือปืน แต่ศาลก็พิพากษายกฟ้องไป ขณะที่แม้ตำรวจจะออกหมายจับมือปืนมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถติดตามจับกุมมาดำเนินคดีได้

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในรายงาน “เขื่อนคลองชมพู จระเข้ ทหาร และการห้ามชุมนุมทวงถามถึงความตายของ ‘พิทักษ์ โตนวุธ’”

X