ออกหมายจับ! 7 ผู้ชุมนุม ‘อยากเลือกตั้ง’ หน้า ทบ. ละเมิดสิทธิการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

ออกหมายจับ! 7 ผู้ชุมนุม ‘อยากเลือกตั้ง’ หน้า ทบ. ละเมิดสิทธิการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

21 เม.ย. 61 จากการตรวจสอบข้อมูลไปที่ สน.ชนะสงคราม เจ้าของคดีชุมนุมที่หน้ากองทัพบกของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง หรือคดี ARMY57 พบว่า ศาลแขวงดุสิตอนุมัติหมายจับผู้ชุมนุม 7 คน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 61

สำหรับรายชื่อผู้ที่ถูกออกหมายจับทั้ง 7 คน ได้แก่ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว, นายกรกช แสงเย็นพันธ์, นายภัทรพล ธนเดชพรเลิศ, นายวิศรุต อนุกูลการย์, ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร, น.ส.มัญจา หม่องคํา และนายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์  

ภาพการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งที่หน้ากองทัพบกเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 61

ทั้งนี้ พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ได้ออกหมายเรียก ลงวันที่ 29 มี.ค. 61 ให้ผู้ชุมนุมหน้ากองทัพบกจำนวน 47 คน ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ชุมนุมตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป และร่วมกันชุมนุมสาธารณะโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในวันที่ 9 เม.ย. 61 แต่ผู้ชุมนุมได้ส่งหนังสือเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากตำรวจออกหมายเรียกกระชั้นชิด โดยขอเลื่อนวันนัดเป็นวันที่ 18 เม.ย. 61 รวม 41 คน ที่เหลือไม่สามารถเข้ารายงานตัวในวันที่ 18 เม.ย. ได้ เนื่องจากมีกำหนดนัดหมายในวันดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว จึงขอเลื่อนนัดเป็นวันที่ 27 และ 30 เม.ย. 61 โดยมี 1 คน ไม่ได้ส่งหนังสือเลื่อน เนื่องจากไม่สามารถติดต่อได้

ต่อมา พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกครั้งที่ 2 ลงวันที่ 10 เม.ย. 61 ถึงผู้ชุมนุมทั้ง 47 คน ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 18 เม.ย. 61 โดยผู้ชุมนุมหลายคนให้ข้อมูลว่าได้รับหมายเรียกวันที่ 16-17 เม.ย. อย่างไรก็ตาม ผู้ได้รับหมายเรียก 5 คน ได้ส่งหนังสือขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาครั้งที่ 2 โดยยืนยันว่า มีกำหนดนัดหมายล่วงหน้าในวันดังกล่าวแล้ว ไม่สามารถเข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกได้ และยืนยันจะเข้าพบในวันที่ 27 และ 30 เม.ย. 61

และในวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา ผู้ชุมนุม 41 คน ก็ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามที่ได้นัดหมาย โดยหลังจากพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558, ร่วมกันชุมนุมสาธารณะโดยก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชน, เดินขบวนระหว่างเวลา 18.00-06.00 น.ของวันรุ่งขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาต, ไม่เลิกการชุมนุมตามที่ได้แจ้งไว้ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ และเดินเป็นขบวนในลักษณะการกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ พนักงานสอบสวนได้นัดหมายผู้ต้องหาไปที่ศาลแขวงดุสิตในวันเดียวกัน เพื่อผัดฟ้อง เนื่องจากไม่สามารถสรุปสำนวนคดีส่งอัยการ และส่งฟ้องต่อศาลแขวงได้ภายใน 48 ชม. (ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง) และขออำนาจศาลฝากขัง ทั้งนี้ ศาลแขวงดุสิตยกคำร้องขอฝากขัง ให้ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากผู้ต้องหาทั้งหมดมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก จึงไม่มีเหตุที่จะต้องควบคุมตัวไว้ (อ่านเพิ่มเติมที่ ศาลสั่งปล่อยผู้ต้องหาคดีคนอยากเลือกตั้งกองทัพบก)

โดยที่ อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ เป็น 1 ใน 41 คน ที่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้วเมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา แต่ปฏิเสธไม่เดินทางไปศาลแขวงดุสิต เพื่อผัดฟ้องและฝากขัง เนื่องจากอภิสิทธิ์เห็นว่าพนักงานสอบสวนทำเกินหน้าที่

ทั้งนี้ ผู้ที่มีรายชื่อถูกออกหมายจับที่ติดต่อได้ 6 คน ยืนยันเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ และยืนยันที่จะเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ไม่มีความคิดที่จะหลบหนีแต่อย่างใด

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า ภายหลังจากที่รัฐบาลประกาศให้การดำเนินการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เป็นวาระแห่งชาติในปี 2561 สถานการณ์ด้านการใช้สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนกลับถดถอยลง มีการเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษโดยเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งรับมอบอำนาจโดยตรงจาก คสช. เพื่อให้ดำเนินคดีกับประชาชนซึ่งออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ เฉพาะกรณีชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง อย่างน้อย 5 กรณี โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีแล้วรวม 105 คน ซึ่งกรณีดังกล่าว แม้รัฐจะอ้างว่าเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนโดยการอาศัย “กฎหมาย” อย่างคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาซึ่งประกอบด้วยพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาล เป็นผู้ดำเนินการ แต่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าวเป็นผลจากการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของรัฐละเมิดสิทธิของประชาชนโดยกระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบอย่างร้ายแรง จนถึงขนาดที่ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้มาตลอดระยะเวลา 4 ปี
 
การออกหมายจับผู้เข้าร่วมชุมนุมทั้ง ุ6 คน ที่ได้ส่งหนังสือเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้วในกรณีนี้นั้น เป็นผลต่อเนื่องจากการที่พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ไม่แม้แต่จะแจ้งว่าอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมเลื่อนนัดเข้ารับทราบข้อกล่าวหาหรือไม่ ทั้งที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมได้แสดงเจตนาและพยานหลักฐานต่อพนักงานสอบสวนอย่างชัดแจ้งแล้วว่าไม่สามารถเข้ารับทราบข้อกล่าวภายในวันและเวลาที่พนักงานสอบสวนกำหนด เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่กระชั้นชิดและหรือมีภารกิจที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ต้องกระทำ โดยเฉพาะกรณีของอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ที่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ก็ยังถูกออกหมายจับ ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบหลักการในการออกหมายจับตามมาตรา 52 มาตรา 54 และมาตรา 66 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และอัตราโทษสูงสุดในคดีที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมอาจถูกจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับแล้ว การขอออกหมายจับในครั้งนี้จึงเป็นการละเมิดโดยตรงต่อสิทธิที่จะได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ของผู้เข้าร่วมชุมนุมทั้ง 6 คน ทั้งการใช้หมายจับ และหากมีการจับกุมเกิดขึ้นจริง ก็จะถือว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมทั้ง 6 คน ถูกรัฐจับกุมและหรือควบคุมตัวโดยพลการด้วยเหตุจากการใช้สิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ ตามข้อบทที่ 9 ข้อบทที่ 14 ข้อบทที่ 19 และข้อบทที่ 21 ของกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) อีกด้วย
ข้อมูลประกอบ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 52 การที่จะให้บุคคลใดมาที่พนักงานสอบสวนเนื่องในการสอบสวน ต้องมีหมายเรียกของพนักงานสอบสวน
มาตรา 54 ในการกำหนดวันและเวลาที่จะให้มาตามหมายเรียกนั้น ให้พึงระลึกถึงระยะทางใกล้ไกล เพื่อให้ผู้ถูกเรียกมีโอกาสมาถึงตาม วันเวลากำหนดในหมาย
มาตรา 66 เหตุที่จะออกหมายจับได้มี ดังต่อไปนี้
(1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ
(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี

 

X