1 พ.ย. 2564 ศุภากร คำประดิษฐ นักกิจกรรม “คณะราษฎรชัยภูมิ” วัย 28 ปี ไปที่ศาลจังหวัดชัยภูมิในนัดถามคำให้การและตรวจพยานหลักฐาน คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากคาร์ม็อบชัยภูมิ “1 สิงหา คาร์ม็อบทั่วไทย ขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิเป็นโจทก์ฟ้องศุภากร รวม 2 กรรม คือ เป็นผู้จัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 50 คน ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34, 35 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยการใช้เครื่องขยายเสียง มาตรา 4
11.20 น. ผู้พิพากษาออกพิจารณาคดี อัยการโจทก์, ศุภากร จำเลย และพัฒนะ ศรีใหญ่ ทนายเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายจำเลย มาศาล โดยมีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล ร่วมสังเกตการณ์
ศาลเริ่มด้วยการอ่านและอธิบายคำฟ้องให้ศุภากรฟัง ก่อนถามคำให้การ ศุภากรแถลงให้การรับสารภาพตามคำให้การที่ได้ยื่นต่อศาลแล้ว
ศาลจึงมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ให้ลงโทษทุกกรรม ฐานจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มฯ ให้ลงโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 2 เดือน ปรับ 10,000 บาท ฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 200 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุก 1 เดือน ปรับ 5,100 บาท จำเลยไม่เคยมีประวัติต้องโทษมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญามีกำหนด 1 ปี
หลังศาลอ่านคำพิพากษาจบ ตำรวจได้เข้ามาในห้องพิจารณาพร้อมกุญแจมือ ทนายจำเลยจึงถามศาลว่า จำเลยมีเพียงโทษปรับต้องใส่กุญแจมือด้วยหรือ ศาลจึงบอกตำรวจว่า ไม่ต้องใส่ ก่อนกล่าวกับทนายจำเลยว่า ให้จำเลยรออยู่ในห้องก่อน ถ้าชำระค่าปรับเสร็จก็กลับได้
11.30 น. ระหว่างทนายจำเลยไปชำระค่าปรับที่งานการเงินและศาลออกจากห้องพิจารณาแล้ว ตำรวจได้นำตัวศุภากรไปที่ห้องขังด้านหลังศาล ท่ามกลางความงุนงงของศุภากร
ขณะทนายจำเลยยังรอจ่ายค่าปรับด้วยเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ เจ้าหน้าที่ได้แจ้งในเวลาเที่ยงตรงว่า ให้มาอีกครั้งตอนบ่ายโมง เนื่องจากสำนวนคดีจากห้องพิจารณายังมาไม่ถึง แต่ทนายจำเลยรีบกล่าวว่า ต้องขอให้ช่วยดำเนินการให้ก่อน เพราะจำเลยถูกคุมขังอยู่ ไม่ควรต้องรออีก 1 ชม. เจ้าหน้าที่จึงกลับไปเช็คสำนวนอีกครั้ง
15 นาทีต่อมา ทนายจำเลยได้รับใบเสร็จค่าปรับนำไปแสดงต่อตำรวจที่ห้องขัง ศุภากรจึงได้รับการปล่อยตัวหลังถูกคุมขังราว 45 นาที แม้ศาลมีคำพิพากษาแล้วให้ลงโทษเพียงปรับ โทษจำคุกให้รอการลงอาญา
คดีแรก หลังอยากจัดชุมนุมเองครั้งแรก ก่อนรับสารภาพให้คดีจบๆ ไป
กิจกรรม #CarMobชัยภูมิ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 นั้น เพจ “คณะราษฎรชัยภูมิ” ได้โพสต์ประชาสัมพันธ์ว่า
“ทนไม่ไหวแล้วใช่ไหม กับวัคซีนคุณภาพที่ไม่มาสักที
ทนไม่ไหวแล้วใช่ไหม กับคนตายรายวันที่รัฐบาลไม่เคยใยดี
ทนไม่ไหวแล้วใช่ไหม กับการบริหารที่ล้มเหลวของฆาตกรประยุทธ์ จันทร์โอชา
เมื่อพูดแล้วไม่ยอมไป ก็ต้องขับรถไล่มัน!”
หลังกิจกรรมซึ่งมีผู้ถูกออกหมายเรียกดำเนินคดีเพียงคนเดียว “หนึ่ง” ศุภากร ไรเดอร์อิสระ แบรนด์ “เดลิเวอรี่ชัยภูมิ” บริการส่งอาหารและสิ่งของ ให้การปฏิเสธทั้งในชั้นสอบสวน และหลังอัยการยื่นฟ้องต่อศาล โดยยืนยันว่า เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งรูปแบบกิจกรรม “คาร์ม็อบ”, สถานที่ และระยะเวลาในการจัดกรรมในวันดังกล่าวไม่ได้เสี่ยงต่อการแพร่ของโควิด-19 ดังที่อัยการฟ้อง ก่อนและหลังคาร์ม็อบก็ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดในพื้นที่จากกิจกรรมดังกล่าว รวมทั้งยังเป็นการแสดงออกเพื่อเรียกร้องให้รัฐป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตราย ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 อันเป็นความชอบธรรมที่พลเมืองจะเรียกร้องไปยังรัฐ
อย่างไรก็ตาม เช้าวันนัดตรวจพยานหลักฐาน หนึ่งปรึกษาทนายความอีกครั้งก่อนเข้าห้องพิจารณาว่า ถ้าเขารับสารภาพ ศาลจะตัดสินอย่างไร จะตัดสินวันนี้แล้วคดีจบเลยมั้ย และถ้าเขาสู้คดีต่อไป เขายังจะต้องมาศาลอีกกี่ครั้ง เมื่อทนายอธิบายถึงแนวทางที่เป็นไปได้ หนึ่งใช้เวลาไตร่ตรองอยู่ซักพัก ก่อนแจ้งการตัดสินใจว่า เขาต้องการรับสารภาพ ทนายความจึงเขียนคำให้การและยื่นต่อเจ้าหน้าที่ประจำห้องพิจารณาที่ 4
ภายหลังจบภาระทางคดีและได้ออกจากห้องขังศาล หนึ่งเปิดเผยถึงที่มาที่ไปของการตัดสินใจในครั้งนี้ว่า
“ผมทำงานแบบนี้ก็อยากให้คดีมันจบไวๆ อีกอย่างทางครอบครัว แม่ก็บอกว่าให้รับสารภาพให้มันจบๆ ไป แม่รับรู้แนวทางของผมทั้งหมดและเชียร์อยู่ห่างๆ คาร์ม็อบแม่ขี่รถก็ไปอยู่ข้างหน้าเลย แต่ในเรื่องคดีแม่บอกว่าให้มันจบไปเลยลูก เราจะได้มาทำมาหากิน ผมก็เลยตัดสินใจรับสารภาพ”
หนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า เขาสนใจติดตามการเมืองมาตั้งแต่ครั้งคนเสื้อแดงมีบทบาทในการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย โดยตามแม่และยายไปร่วมชุมนุม ไม่ต้องสงสัยเลยว่า หนึ่งและแม่มีจุดยืนทางการเมืองไม่ต่างกัน แต่สำหรับคดีที่มาถึงโดยไม่ได้คาดคิดนั้น มันส่งผลต่อการงานที่เลี้ยงชีวิต การต่อสู้คดีจึงเป็นหนทางที่ค่อนข้างยาก แม้เคยตั้งใจว่าจะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดเพื่อยืนยันสิทธิของประชาชน
“ที่ผมต้องไปสถานีตำรวจไปศาลในหลายๆ ครั้ง ทำให้งานมันขาดตอน ผมจะมีลูกค้าประจำเป็นพยาบาล เป็นคุณครูบ้าง เขาจะสั่งข้าวกล่องบางทีก็ครั้งละ 20 กล่อง ส่วนมากในช่วงเที่ยงและ 5 โมงเย็น ผมก็ต้องบอกเขาก่อนว่าวันนี้จะไปสถานีตำรวจหรือไปศาล เขาจะได้หาคนอื่นไปส่งแทน ซึ่งมันก็ยาก เพราะว่าผมรู้จักร้านที่เขาทานประจำ”
ไม่เพียงแต่งานสะดุด ใจของหนึ่งก็สะดุดด้วย “ผมไปม็อบที่กรุงเทพฯ เป็นประจำ เวลาไปก็จะต้องหยุดงาน แต่มันไม่เหมือนกัน หยุดงานไปศาลมันจะเหนื่อยๆ มันยังไงไม่รู้ ทั้งชีวิตผมไม่เคยโดนคดี มันดูเหมือนไม่ใช่ตัวผม มันลำบากใจ ใจผมก็เลยอยากให้มันจบๆ ไป ไปสถานีตำรวจ ไปศาลแต่ละครั้ง ผมก็จะเกร็งๆ พูดอะไรไม่ค่อยออก จริงๆ ผมก็รู้ว่าคดีมันไม่ร้ายแรง แต่ในใจผมคิดว่าทำไมเราต้องมาโดนคดีอะไรพวกนี้”
.
“เป็นแกนนำมันลำบาก”
เมื่อถามถึงความรู้สึกขณะอยู่ในห้องขังศาล 2 ครั้ง ครั้งแรกในวันที่อัยการฟ้อง ซึ่งเขาถูกขังอยู่ 3 ชั่วโมง ครั้งหลังก็อีกเกือบชั่วโมง หนึ่งพูดด้วยเสียงเครือปนอ่อนใจ แม้พยายามจะหัวเราะว่า “ผมนึกในใจว่าทำไมเราต้องมาโดนขังด้วยเนี่ย ต้องมาอยู่อะไรในห้องขังนี่ ครั้งแรกตำรวจตะคอกใส่ผมด้วย รู้งี้เราเป็นพวกผู้ชุมนุมดีกว่า ไม่ต้องเป็นหรอกพวกแกนนงแกนนำ มันลำบาก”
หนึ่งเล่าย้อนไปว่า ก่อนที่จะเป็นคณะราษฎรชัยภูมิ ทุกครั้งที่เขาไปม็อบที่กรุงเทพฯ ก็จะไปอยู่ท้ายๆ แต่ครั้งที่มีการสลายการชุมนุมครั้งแรกที่แยกปทุมวัน เขาไปยืนอยู่แถวหน้าแล้วก็เปียกทั้งตัว พอโพสต์รูปในเฟซส่วนตัวก็เริ่มมีคนมาติดตามเยอะ ดูเหมือนเป็นฮีโร่ของชัยภูมิ เพราะชัยภูมิไม่ค่อยมีใครไป หลังจากนั้นม็อบก็มีการปะทะมากขึ้น เขาก็ไปตลอด นั่งรถทัวร์ไปคนเดียวไปกลับๆ และไปช่วยเขาอยู่ข้างหน้า หนึ่งบอกว่าช่วงนั้นเขาแทบจะทิ้งงาน เดือนนึงทำงานไม่ถึง 5 วัน แต่ลูกค้าก็เข้าใจ
เมื่อคณะราษฎรชัยภูมิจัดชุมนุม หนึ่งก็ยังคงอยู่แนวหลังคอยสนับสนุนทุกครั้ง แต่คาร์ม็อบ 1 สิงหานั้น เขาเห็นจังหวัดอื่นหลายจังหวัดจัดกัน ในแคมเปญ “1 สิงหา คาร์ม็อบทั่วไทย ขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เขาก็เลยอยากจัดร่วมด้วย แต่แกนนำไม่อยู่ เขาจึงออกตัวเป็นคนจัดเองเป็นครั้งแรก และกลายเป็นคดีแรกในชีวิตของเขา “ครั้งก่อนหน้าหรือหลังจากนั้นที่ไม่ใช่ผมจัด ก็ไม่เคยโดนดำเนินคดี ผมก็งงเหมือนกัน ไม่รู้เพราะอะไร ครั้งนั้นผมก็ให้ความร่วมมือกับตำรวจ บอกเส้นทาง บอกว่าจะมีกิจกรรมอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ก็เป็นการขับรถ ระยะทางก็ไม่ได้ไกลมาก ขับ 10 กว่านาทีก็ถึงจุดหมายแล้ว หยุดปราศรัยก็ไม่กี่นาที ผมก็ไม่ได้จับไมค์ด้วย”
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครถูกดำเนินคดีเขาก็รู้สึกว่าไม่เป็นธรรม “ประชาชนควรมีสิทธิเสรีภาพที่เปิดกว้างกว่านี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ น่าจะออกมาเพื่อจำกัดการชุมนุมโดยเฉพาะ เขาไม่เปิดทางให้มีม็อบเลย โดยเอาโรคมาอ้าง”
.
“ผมยังลุยต่อเหมือนเดิม”
มาถึงโทษปรับที่ศาลตัดสิน ในความเห็นของหนึ่ง เขาคิดว่า ศาลลงโทษหนักเกินไป “มันน่าจะอยู่ที่สัก 3,000 บาท เพราะว่ามันไม่ใช่คดีที่ร้ายแรง ตำรวจที่มาถามผมยังบอกว่า ทำไมศาลปรับเยอะจัง ถ้าผมต้องเสียค่าปรับเองก็คงจะหนักพอสมควร ดีที่กองทุนราษฎรประสงค์ช่วยเรื่องค่าปรับนี้มา” และแม้หนึ่งจะอยากให้คดีจบๆ ไป แต่เมื่อทนายถามว่า อยากยื่นอุทธรณ์ว่าค่าปรับแพงไปมั้ย หนึ่งก็คิดว่า อยากลองดูอีกรอบนึง
สำหรับหนทางข้างหน้า “ผมก็ยังจะเคลื่อนไหวเหมือนเดิม ร่วมกับกลุ่มราษฎรโขงชีมูลและราษฎรชัยภูมิ แต่ว่าจะไม่ออกตัวมากขนาดนั้นอีก ผมไม่ได้เก่ง ผมก็อยู่ข้างหลังพอ ทาสี หาอุปกรณ์ ซื้อของ ผมก็ยังลุยต่อเหมือนเดิม สู้ช่วยกันไป”
.