อช.ไทรทองสั่งชาวบ้านเก็บผลผลิตออกใน 6 วัน ตั้งด่านตรวจ-คุกคามแกนนำ

อช.ไทรทองสั่งชาวบ้านเก็บผลผลิตออกใน 6 วัน ตั้งด่านตรวจ-คุกคามแกนนำ

อุทยานแห่งชาติไทรทองเดินหน้าทวงคืนผืนป่า ให้ชาวบ้านเก็บผลผลิตออกในสิ้นพฤษภา ไม่รู้เรื่องสำนักนายกฯ มีหนังสือขอให้ชะลอดำเนินการ พร้อมตั้งด่านตรวจ-คุกคามแกนนำ ปลัดอำเภอ-ตำรวจสั่งแกนนำยุติการเคลื่อนไหว

หลังหัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทองออกคำสั่งให้ชาวบ้านในเขตอุทยานฯ ส่งคืนพื้นที่ให้แก่ทางราชการตามนโยบายทวงคืนผืนป่า ภายในวันที่ 30 เม.ย. 59  ซึ่งส่งผลกระทบต่อชาวบ้านกว่า 800 ครอบครัว ใน 6 หมู่บ้าน 2 ตำบล ของ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมายาวนาน เครือข่ายปฏิรูปภาคที่ดินภาคอีสาน เปิดเผยข้อมูลว่า วันที่ 26 พ.ค. 59 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง จำนวน 2 นาย ได้เข้าไปพบนายสมร สมจิต ชาวบ้านซับหวาย ต.ห้วยแย้ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ และบอกให้นายสมรเก็บผลผลิตออกจากพื้นที่ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ หากไม่ทำตามจะมีหมายเรียก เมื่อนายสมจิตบอกว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหนังสือแจ้งมาที่จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือในการชะลอการดำเนินการใดๆ อันจะเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้ง เจ้าหน้าที่กลับปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่อง

ช่วงบ่ายของวันเดียวกันเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทองกว่า 10 นาย พร้อมอาวุธ ได้เข้าไปบ้านหินรู ต.วังตะเฆ่ อ.หนองบัวระเหว โดยอ้างว่ามาปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า แต่ชาวบ้านได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่กรณีที่รองปลัดสำนักนายกฯ ลงพื้นที่เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับชาวบ้านผู้เดือดร้อนกรณีอุทยานแห่งชาติไทรทองปิดประกาศขับไล่ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ และในที่ประชุมได้ขอให้ยุติการดำเนินการใดๆ เพราะจะต้องนำข้อมูลข้อเท็จจริงมาพูดคุยในรูปแบบคณะกรรมการ เจ้าหน้าที่ชุดดังกล่าวจึงกลับออกจากพื้นที่

saithong

เจ้าหน้าที่ อช.ไทรทอง ลงพื้นที่ทวงคืนผืนป่า (ที่มา : สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน)

นอกจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จะเข้ามาข่มขู่ชาวบ้านเพื่อให้ออกจากพื้นที่แล้ว ก่อนหน้านี้ยังพบว่า มีการคุกคามแกนนำชาวบ้าน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองเข้าไปพบแกนนำชาวบ้านเพื่อติดตามและขอให้ยุติความเคลื่อนไหวด้วย โดยเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 59 เวลา 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วังตะเฆ่ และปลัดอำเภอหนองบัวระเหว ได้เดินทางมาพบและพูดคุยกับนายไพโรจน์  วงงาน, นายสวัสดิ์  วงงาน และนายสันติสุข จิววัฒนานนท์ แกนนำชาวบ้านหินรู โดยเจ้าหน้าที่ได้บอกให้ชาวบ้านยุติการเดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องกับหน่วยงานต่างๆ หากจะไปไหนมาไหน หรือต้องการยื่นหนังสือถึงใคร ให้แจ้งอำเภอก่อน แล้วทางอำเภอจะส่งเรื่องให้เอง โดยชาวบ้านไม่ต้องไป นอกจากนั้น ยังได้สอบถามความเคลื่อนไหวของแกนนำด้วยว่า จะเดินทางไปไหนหรือไม่ หลังจากเจ้าหน้าที่เดินทางกลับไปแล้ว ในช่วงหัวค่ำเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง ได้ตั้งด่านตรวจทางเข้าออก 3 จุด ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยตั้งด่านตรวจในลักษณะเช่นนี้  เมื่อชาวบ้านจะออกจากพื้นที่ เจ้าหน้าที่ก็จะถามว่า ไปไหน นายไพโรจน์กับนายสวัสดิ์ไปไหน ทำอะไรอยู่ ชาวบ้านคนหนึ่งระบายความรู้สึกภายหลังว่า “เจ้าหน้าที่ทำเหมือนพวกเราเป็นโจร ผมไม่เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมชาวบ้านอย่างพวกเราไม่มีสิทธิที่จะไปเรียกร้องความเป็นธรรมเลยหรือ”

ต่อมา เช้าวันที่ 25 พ.ค. 59 นายไพโรจน์ได้เดินทางออกจากบ้านเพื่อไปทำธุระที่ตลาดอำเภอหนองบัวระเหว ผ่านด่านตรวจของอุทยานฯ ขณะเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจเรียกรถของนายไพโรจน์ให้จอด ได้มองเห็นนายไพโรจน์อยู่ในรถ เจ้าหน้าที่หลายนายจึงพากันเข้ามาจะล้อมรถของนายไพโรจน์ แต่มีรถชาวบ้านตามหลังมา และชาวบ้านที่มากับรถคันหลังได้ถ่ายรูปไว้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงแยกย้ายกันออกจากรถของนายไพโรจน์ และปล่อยให้รถทั้งสองคันผ่านด่านตรวจไป เมื่อนายไพโรจน์เข้าไปที่ตลาดในตัวอำเภอก็พบเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาตรวจและสอบถามความเคลื่อนไหวของเขาอีก

เช่นเดียวกันกับแกนนำชาวบ้านซับหวาย นางสาวนิตยา  ม่วงกลาง ในวันที่ 24 พ.ค. 59 เวลาประมาณ 15.30 น. ได้มีตำรวจ 1 นาย เข้าไปพบและสอบถามถึงปัญหาเรื่องที่ทำกิน รวมทั้งความเคลื่อนไหวของชาวบ้าน ต่อมา เวลาประมาณ 21.20 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกจำนวน 3 นาย มาพบนางสาวนิตยาที่บ้าน พร้อมทั้งพูดคุยสอบถามความเคลื่อนไหวของชาวบ้าน และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสานอยู่นานกว่า 1 ชั่วโมง จึงกลับออกไป โดยบอกให้นางสาวนิตยาแจ้งตำรวจด้วยเวลาจะเดินทางไปไหนเพื่อจะได้อำนวยความสะดวกให้ อีกทั้งช่วงสายวันที่ 25 พ.ค. ตำรวจคนเดิมได้มาพบนางสาวนิตยาที่บ้านอีก แต่ไม่พบเนื่องจากนางสาวนิตยาไปทำธุระที่อำเภอ ขณะที่ที่อำเภอนางสาวนิตยาก็ถูกตำรวจเรียกเข้าไปสอบถาม

กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทองขับไล่ชาวบ้านตามนโยบายทวงคืนผืนป่านี้ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 เรื่อยมา มีทั้งการปักป้ายตรวจยึดพื้นที่ และบังคับให้ชาวบ้านเซ็นคืนพื้นที่บางส่วน และในปี 2559 เจ้าหน้าที่กดดันอย่างหนักให้ชาวบ้านเซ็นคืนพื้นที่ทั้งหมด บางครั้งมีการนำเฮลิคอปเตอร์มาบินวนเหนือหมู่บ้าน  จนกระทั่งออกคำสั่งหัวหน้าอุทยานฯ ขีดเส้นตายให้ชาวบ้านส่งคืนพื้นที่ภายใน 30 เม.ย.59

ชาวบ้านผู้เดือดร้อนกว่า 800 ครอบครัว ที่จะไร้ที่อยู่และที่ทำกิน จึงเดินทางไปยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อหน่วยงานต่างๆ  ให้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน โดยมีข้อเสนอให้ยกเลิกแผนการทวงคืนผืนป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง,   ให้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างชาวบ้านผู้เดือดร้อนกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสัดส่วนที่เท่ากัน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดินและพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหา และในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหา ให้ยุติการดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อราษฎรในพื้นที่ รวมทั้งผ่อนผันให้สามารถทำประโยชน์ได้ตามปกติ จนกระทั่ง ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 59 มีมติให้ชะลอการผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่ และให้ตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาตามที่ชาวบ้านเสนอ โดยสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ มีหนังสือขอความร่วมมือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรองปลัดสำนักนายกฯ ลงพื้นที่ประชุมร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เมื่อ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม แม้การเคลื่อนไหวของชาวบ้านจะทำให้ในระดับนโยบายยอมรับถึงความเดือดร้อนของชาวบ้าน และหาทางแก้ไขปัญหา แต่ปรากฏการณ์ในระดับพื้นที่ที่ยังมีความพยายามขับไล่ชาวบ้าน รวมทั้งติดตาม คุกคามแกนนำไม่ให้เคลื่อนไหวปกป้องวิถีชีวิตของตนเอง ทำให้ชาวบ้านไม่อาจดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข และมีศักดิ์ศรี ทั้งยังไม่อาจมั่นใจได้ว่า จะไม่ถูกบังคับไล่รื้อจนกลายเป็นกลุ่มคนไร้ที่อยู่อาศัยและที่ทำกินภายในเวลาอันใกล้นี้

X