10 วันแรกของ Walk for Rights ถูกจับตาเข้มหวั่นคุยประชามติ เล็งคุกคามชาวบ้าน

 

ขบวน “เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน” หรือ Walk for Rights ของขบวนการอีสานใหม่ ได้เดินเยี่ยมยามถามข่าวชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและแผนพัฒนาของรัฐทั่วภาคอีสานมาแล้วเป็นเวลา 10 วัน แม้ขบวนเดินที่มีเจตจำนงว่า “เรามีสิทธิที่จะเดิน และเราจะเดินเพื่อสิทธิ” จะยังสามารถเดิน แวะพักสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับชาวบ้านตามชุมชนรายทาง เปิดวงพูดคุยในประเด็นปัญหาของพี่น้องในพื้นที่ปัญหา และจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การแก้ไขปัญหาของแต่ละพื้นที่ไปได้เรื่อยๆ ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ แต่การเดินเท้าเพื่อยืนยันสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิในการเดินทาง ในยุคสมัยที่สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่สิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องให้หลักประกันแก่ประชาชน แต่กลายเป็นสิ่งที่ถูกจำกัด ควบคุม เพื่อความสงบเรียบร้อย เหตุการณ์การคุกคามในระดับของการจับตา สอดส่องก็เกิดขึ้นกับขบวนเดินฯ ทุกวัน และมีแนวโน้มที่จะเข้มข้นขึ้น

w1

เวทีเสวนาเรื่อง “คุณค่าของการเดิน” ในวันที่ 4 มิ.ย.59 ก่อนที่ขบวนฯ จะเริ่มเดินทาง จัดขึ้นบริเวณพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนโปร่งขุนเพ็ชร อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ โครงการที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งในรัฐบาล คสช. และกำลังเร่งเดินหน้าก่อสร้างให้แล้วเสร็จในปี 2559 มีเจ้าหน้าที่ชลประทานมาเยือน ตามด้วยตำรวจสถานีตำรวจภูธร (สภ.) หนองบัวระเหว และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านใกล้เคียง ทั้งหมดต้องการข้อมูลว่า ผู้จัดกิจกรรมเป็นใคร และจะจัดกิจกรรมอะไร เมื่อขบวนฯ เริ่มออกเดินในวันแรก ผ่านพื้นที่น้ำท่วมหากการก่อสร้างเขื่อนโปร่งชุนเพ็ชรแล้วเสร็จ และพื้นที่น้ำท่วมหากมีการก่อสร้างเขื่อนยางนาดี อ.บ้านเขว้า มีรถของกรมชลประทานขับผ่านไปมา และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเจ้าของท้องที่ปรากฏกายมาติดตาม ด้วยข้ออ้างว่ามาดูแลรักษาความปลอดภัย พร้อมกับการสอบถามข้อมูล และถ่ายรูป นอกจากนี้ยังมีปลัดอำเภอบ้านเขว้าและนายก อบต.ชีบน เข้ามาเยี่ยมเยียนเชิงสอดส่องขณะขบวนพักค้างคืน พร้อมฝ่ายความมั่นคงที่ไม่เปิดเผยตัวชัดเจนอีกจำนวนหนึ่ง ปลัดอำเภอหลุดปากมาว่า นึกว่าขบวนเดินเกี่ยวข้องกับประชามติและรัฐธรรมนูญ ขณะฝ่ายความมั่นคงติดตามขบวนจนพ้นเขต อ.บ้านเขว้า ในวันรุ่งขึ้น

w2

การเดินในวันต่อๆ มา เฉียดเข้าใกล้พื้นที่อุทยานแห่งชาติภูแลนคา และอุทยานแห่งชาติตาดโตน ที่ล้วนมีปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า ตามคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และแผนแม่บทป่าไม้ฯ แต่ที่เจ้าหน้าที่กังวลมากกว่า น่าจะเป็นเพราะขบวนฯ เดินเข้าและพักค้างคืนในตัวอำเภอหนองบัวแดง จึงมีตำรวจในเครื่องแบบเกาะติดตลอดเส้นทาง ถ่ายรูป จดยี่ห้อ สี และเลขทะเบียนรถในขบวนทุกคัน ไม่นับถึงการที่มีรถของสันติบาลและรถยนต์ไม่ทราบสังกัด มีทั้งติดป้ายทะเบียนและไม่ติด ขับวนเวียนไปมาและถ่ายรูป

จนเมื่อขบวนฯ เข้าพักที่ชุมชนโคกยาว ซึ่งถูกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามพยายามไล่ออกจากพื้นที่ตามนโยบาย คสช. และมีเรื่องราวการสูญหายอย่างไร้ร่องรอยของนายเด่น คำแหล้ แกนนำการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน วันรุ่งขึ้นออกเดินเข้าตัวอำเภอคอนสาร ร่วมเดินรณรงค์คัดค้านการตั้งโรงงานยางพารากับกลุ่มรักษ์คอนสาร และเข้าพักคืนที่ 5, 6 ที่บ่อแก้ว ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการที่สวนป่าคอนสาร ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ต้องการทวงคืนผืนป่า เพื่อนำพื้นที่ไปปลูกป่าเศรษฐกิจ รูปแบบการติดตามเชิงคุกคามยังคงเป็นตำรวจท้องที่ ด้วยข้ออ้างของการดูแลความปลอดภัย และรถยนต์ไม่ติดป้ายทะเบียนที่เปลี่ยนคันไป พร้อมทั้งเฮลิคอปเตอร์ไม่ทราบสังกัดแน่ชัด บินสังเกตการณ์ผ่านชุมชนโคกยาว

เวทีเสวนาปัญหาป่าไม้ที่ดินในภาคอีสานและการอุ้มหาย ซึ่งจัดวงคุยในบ้านดินกลางชุมชนบ่อแก้ว มีรองผู้กำกับ สภ.คอนสาร ในชุดนอกเครื่องแบบ มาสังเกตการณ์พร้อมแบบฟอร์มแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 โดยออกตัวว่า มาดูเวทีว่าพูดคุยเรื่องการเมืองหรือไม่ หากมีการพูดคุยการเมือง ผู้จัดจะต้องกรอกแบบฟอร์มแจ้งการชุมนุม ทำให้มีคำถามกลับไปว่า เวทีประชุมเสวนาเช่นนี้ ไม่ว่าจะมีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้องหรือไม่ เข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะด้วยหรือ

การเดินในวันที่ 7 เป็นการเดินออกจากเขตจังหวัดชัยภูมิ เข้าเขตจังหวัดขอนแก่นทางอำเภอชุมแพ โดยมีเป้าหมายไปพบปะชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่านทับที่อยู่และที่ทำกินในปี 2534 และกำลังได้รับผลกระทบจากทวงคืนผืนป่า เป็นที่น่าสังเกตว่า การเดิน 6 วันที่ผ่านมา ในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิซึ่งไม่มีมณฑลทหารบกหรือค่ายทหาร ขบวนเดินและชาวบ้านที่ขบวนฯ แวะเยี่ยมยามยังไม่เคยเผชิญกับการติดตาม/คุกคามจากทหารโดยตรง แต่เมื่อเดินทางเฉียดค่ายมหาศักดิพลเสพ ร.8 พัน 2 ใน อ.ชุมแพ เข้าอุทยานฯ ภูผาม่าน และเข้าใกล้เขตอำเภอภูกระดึง จ.เลย นอกจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่ใช้เฮลิคอปเตอร์บินสังเกตการณ์ และขับรถติดตามถามข้อมูล พร้อมทั้งถ่ายรูป โดยไม่แสดงตนชัด อ้างเป็นชาวบ้านบ้าง เป็นตำรวจบ้าง  ทหารก็เริ่มแสดงบทบาท โดยสัสดีอำเภอภูกระดึงโทรศัพท์มาคุยกับผู้นำชุมชนหนองจานที่มีชาวบ้านมาร่วมเดินและเป็นจุดพักค้างคืนของขบวนฯ มาถ่ายรูปขบวนฯ ในชุดนอกเครื่องแบบ และหลังจากขบวนเดินเข้าจังหวัดเลยไปแล้ว ทหารก็เข้าไปพบผู้นำชุมชนหนองจานในคืนวันที่ 13 มิ.ย.59 พร้อมคำขู่ว่าจะเชิญเข้าไปกินน้ำเย็นกับผู้พันในค่าย ร.8 พัน 2

w5

เช่นเดียวกับขบวนเดินเพื่อสิทธิฯ ที่เข้าเขตจังหวัดเลย ซึ่งเป็นเขตรับผิดชอบของมณฑลทหารบกที่ 28 ค่ายศรีสองรัก ทหารเข้าไปที่ศูนย์เพาะไส้เดือน อ.วังสะพุง ซึ่งขบวนฯ มีกำหนดจะเข้าพักในคืนที่ 9, 10 และมีคำถามถึงนักศึกษากลุ่มดาวดิน นอกจากนั้นก็มี กอ.รมน. ติดตามขบวน สันติบาล ฝ่ายปกครอง อ.วังสะพุง และรถยนต์ไม่ทราบสังกัด ก็ส่งกำลังติดตามอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น

“รู้สึกกังวลใจที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงติดตาม แม้เจ้าหน้าที่จะไม่ใช้ความรุนแรง แต่การเฝ้าติดตามและสอบถามพื้นที่ที่ให้เราเข้าพักเป็นวิธีการกดดันไม่ให้ชุมชนหรือใครก็ตามรับขบวนของเราเข้าพักในพื้นที่ และการติดตามอย่างใกล้ชิดของรัฐ ทำให้พี่น้องประชาชนตามเส้นทางที่ขบวนของเราผ่าน กลัว ไม่กล้าพูดคุยสื่อสารกับเรา บรรยากาศที่รัฐปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนแม้แต่ในเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวันอย่างการพูดคุยบอกเล่าความทุกข์ยาก ยิ่งขยายให้ปัญหาที่พี่น้องประสบพอกพูนมากขึ้น” ‘บี’ หรือ ณัฐพร อาจหาญ หนึ่งในผู้เดินหลักของขบวนฯ สะท้อนความรู้สึกต่อท่าทีของเจ้าหน้าที่รัฐ

ภายใต้สภาวะที่ถูกกดดันด้วยการจับตา และสอดส่องในการเดินเพื่อสิทธิฯ ช่วง 10 วันแรก ขบวนการอีสานใหม่อันเป็นเครือข่ายประชาชนอีสานที่ลุกขึ้นมากำหนดอนาคตตนเอง ยังคงสามารถยืนยันสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก การรวมกลุ่ม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสิทธิในการเดินทาง ขยายกรอบเสรีภาพที่ถูกควบคุมอยู่โดยอำนาจเบ็ดเสร็จของทหารตลอดช่วงเวลาหลังรัฐประหารออกไปได้บ้างเล็กน้อย แต่ไม่ครอบคลุมไปถึงการพูดคุยแลกเปลี่ยนในเรื่องรัฐธรรมนูญหรือประชามติ ซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบของพลเมืองทุกคน อีกทั้งการกดดัน คุกคามชาวบ้าน ข่มขู่ว่าจะเรียกปรับทัศนคติ  ทำให้เห็นว่า รัฐไม่ได้ลดระดับการควบคุมประชาชนลง แต่เลือกที่จะเข้าคุกคามกลุ่มคนที่อ่อนแอที่สุด

 

 

X