จับตาหลัง 30 เม.ย. ทวงคืนอช.ไทรทอง ชัยภูมิ ชาวบ้านร่วม 3,000 เผชิญมาตรการผลักดัน

จับตาหลัง 30 เม.ย. ทวงคืนอช.ไทรทอง ชัยภูมิ ชาวบ้านร่วม 3,000 เผชิญมาตรการผลักดัน

30 เม.ย.59 เป็นเส้นตายที่อุทยานแห่งชาติไทรทองขีดไว้ ให้ชาวบ้านที่ครอบครองพื้นที่นอกเหนือจากแปลงที่ราชการได้รับรองสิทธิตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย.41 ยื่นเรื่องส่งคืนพื้นที่ให้แก่ทางราชการ หากฝ่าฝืนไม่ส่งคืนพื้นที่จะถูกดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป โดยออกเป็นคำสั่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรทอง ลงวันที่ 1 เม.ย.59

คำสั่งดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านกว่า 800 ครอบครัว ใน 6 หมู่บ้าน 2 ตำบล ของ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ ซึ่งในอดีตก็เคยได้รับผลกระทบจากโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) และจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติไทรทองทับที่ดินทำกิน และทับที่อยู่อาศัยในปี 2535

การประกาศนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล คสช. ที่มีเป้าหมายเป็นพื้นที่นับสิบล้านไร่ ทำให้ชาวบ้านที่อยู่อาศัยและทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทองได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งถูกปักป้ายตรวจยึดพื้นที่ และถูกบังคับให้เซ็นคืนพื้นที่มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 เรื่อยมา บางรายถูกขอแกมบังคับให้คืนพื้นที่บางส่วน แต่มีการบังคับให้คืนหลายครั้ง

เดือนมกราคม – มีนาคม 2559 เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ไทรทอง เร่งปฏิบัติการตามนโยบายอย่างหนัก โดยลงพื้นที่กดดันให้ชาวบ้านเซ็นคืนพื้นที่ทั้งหมด โดยมีชาวบ้านซับหวาย ต.วังตะเฆ่ 55 ราย ถูกชักนำให้เซ็นยินยอมออกจากพื้นที่ และถูกกำหนดให้ออกจากพื้นที่หลังการเก็บเกี่ยวภายในเดือนมีนาคม 59 ขณะที่หมู่บ้านอื่นๆ ยังไม่ยอมเซ็นชื่อ

12963567_1088082841258474_7562108010520265930_n 12670908_1088082917925133_2581585582966478701_n

หนังสือของอุทยานแห่งชาติไทรทอง ลงวันที่ 1 เม.ย.59 ระบุอำนาจตามคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ภายใน 30เม.ย.59

31 มี.ค.59 กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ขอให้แก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยมีข้อเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างชาวบ้านผู้เดือดร้อนกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการถือครองทำประโยชน์ที่ดิน และพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยในส่วนของชาวบ้านให้มีตัวแทนจาก 6 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 5 คน และที่ปรึกษา 2 คน รวม 32 คน ส่วนราชการอีก 32 คน และมีผู้ว่าฯ เป็นประธาน ผลการปรึกษาหารือได้ข้อสรุปให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาและตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อเสนอของชาวบ้าน ทั้งนี้ในระหว่างกระบวนการแก้ไขปัญหา ให้ชาวบ้านสามารถทำประโยชน์ได้ตามปกติสุข อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชัยภูมิ กลับแจ้งว่า ไม่สามารถตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากมีคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/57 อยู่แล้ว

21 เม.ย.59 ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเข้าเสนอปัญหาในที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ร่วมกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมมีมติให้ชะลอการผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่ และให้ตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาเช่นกัน

27 เม.ย.59 ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ กว่า 200 คน เข้าพบ พ.อ.ยงยุทธ สอนไม้ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จ.ชัยภูมิ (กกล.รส.จว.ชัยภูมิ) เพื่อร้องเรียนให้ชะลอการใช้มาตรการทวงคืนผืนป่า ที่จะส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 800 ครอบครัวออกจากพื้นที่ทำกิน ภายในวันที่ 30 เม.ย. 59 ตัวแทนชาวบ้านได้รับอนุญาตให้เข้าพูดคุยเพียง 10 คน ขณะที่ชาวบ้านที่เหลือต้องลงมารอฟังผลการประชุมอยู่ด้านข้างศาลากลางจังหวัดและตัวแทนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ถูกขู่ว่าจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

ในการพูดคุย ชาวบ้านยืนยันข้อเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่มีสัดส่วนของราชการและชาวบ้านเท่าๆ กันตามที่ได้คุยกับผู้ว่าฯ เมื่อ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา และมีมติร่วมกันแล้ว แต่ รองผบ.กกล.รส.จว.ชัยภูมิเสนอให้ตั้งคณะกรรมการร่วม ราชการ-เอกชน-ชาวบ้าน ในรูปแบบประชารัฐ โดยมีตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมหมู่บ้านละ 1 คน และเร่งรัดให้แต่งตั้งและประชุมให้เสร็จก่อนวันที่ 30 เม.ย. ที่จะถึงซึ่งชาวบ้านผู้เดือดร้อนได้ขอกลับไปหารือกันก่อน

หลังปิดการประชุม ชาวบ้านกลับไปหารือในพื้นที่ ท่ามกลางตำรวจ 4 นาย ที่ติดตามไปสังเกตการณ์ที่ประชุมชาวบ้านยังไม่แน่ใจว่า คณะกรรมการในรูปแบบประชารัฐตามข้อเสนอของ รอง ผบ.กกล.รส.จว.ชัยภูมิ จะมีหน้าตาแบบไหน และจะมีอำนาจหน้าที่อย่างไรบ้าง จึงมีข้อสรุปว่า จะรอดูรายละเอียดคำสั่งแต่งตั้ง ซึ่งได้พูดคุยไว้กับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชัยภูมิ (ทสจ.ชัยภูมิ) แล้วว่าจะมีการพิจารณาร่วมกันก่อนเสนอให้ นายนิพนธ์ สาธิตสมิตพงษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ลงนาม

13081717_1100919129974845_51466330_n

อย่างไรก็ตาม เช้าวันที่ 28 เม.ย.59 ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ได้รับคำสั่งจังหวัดชัยภูมิ เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานชี้แจงข้อเท็จจริงและพิจารณาผลกระทบตามนโยบายทวงคืนผืนป่าในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ ที่ลงนามโดยรองผู้ว่าฯ แล้ว โดยยังไม่มีการหารือร่วมกับชาวบ้านผู้เดือดร้อน คณะทำงานฯ ดังกล่าว ประกอบด้วย ข้าราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวแทนฝ่ายชาวบ้าน รวมทั้งสิ้น 21 คน มีนายอำเภอหนองบัวระเหวเป็นประธาน โดยมีฝ่ายชาวบ้านเพียง 4 คน เป็นตัวแทนของชาวบ้าน 6 หมู่บ้าน จำนวนกว่า 800 ครอบครัว ในคำสั่งยังระบุให้คณะทำงานฯ มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานและข้อมูล พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหา และชี้แจงให้ราษฎรในพื้นที่ทราบ

คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานฯ มาพร้อมกับจดหมายเชิญประชุมคณะทำงานฯ ครั้งแรกในบ่ายวันเดียวกันนี้เอง ทำให้ไม่มีตัวแทนในส่วนของชาวบ้านเข้าร่วมประชุม เนื่องจากปัญหาเรื่องการสื่อสารกับชาวบ้านในพื้นที่

“ประมาณ 11.00 น. พ.อ.ยงยุทธ ก็โทรศัพท์มาย้ำว่า ให้เข้าร่วมประชุมให้ได้ ทางเราก็เรียนไปว่า ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้จริงๆ เนื่องจากติดธุระทางบ้าน และไม่สามารถติดต่อชาวบ้านในพื้นที่ได้ทัน เนื่องจากในพื้นที่อุทยานฯ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์” อรนุช ผลภิญโญ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน หนึ่งในคณะทำงานที่เป็นตัวแทนฝ่ายชาวบ้าน กล่าวถึงเหตุผลที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม กรณีการแต่งตั้งคณะทำงานฯ หลังชาวบ้านเข้าพบ รอง ผบ.กกล.รส.จว.ชัยภูมิ

อรนุชให้ความเห็นว่า “สัดส่วนของชาวบ้านในคณะทำงานฯ ไม่ได้เป็นไปตามที่ชาวบ้านเสนอตั้งแต่ต้นว่า ต้องมีเท่าๆ กัน เห็นได้ตั้งแต่เริ่มว่า จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่ไม่เป็นธรรม  ในเรื่องอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานฯ หลังจากที่เราศึกษารายละเอียดแล้ว ก็มีความเห็นว่า คณะทำงานฯ ชุดนี้ ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ต้องชงข้อมูลให้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นหลังมีคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 ซึ่งไม่มีชาวบ้านร่วมอยู่ด้วยเลย ทำให้ไม่อาจคาดหวังว่า จะแก้ปัญหาได้อีกทั้งแนวทางการทำงานก็ยึดกฎหมายเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาสังคมไทยก็มีข้อสรุปกันแล้วว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตป่าได้ ในเบื้องต้นจึงได้พูดคุยกับทาง ทสจ. ขอให้มีการทบทวนคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานฯ ดังกล่าว”

12814526_614519892037032_3114914612686749172_n

12935434_1023769031003473_1012794864_n

ชาวบ้านหนองบัวระเหวเข้ายื่นหนังสือหน่วยงานต่างๆ ให้พิจารณาแก้ไขปัญหาผลกระทบการทวงคืนผืนป่า

ด้านตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนกล่าวถึงคณะทำงานฯ ที่ตั้งขึ้นอย่างไม่ให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมของชาวบ้านว่า “ฝ่ายชาวบ้านมีแค่ 4 คน นอกนั้นมีแต่ข้าราชการเกือบยี่สิบคน คณะทำงานฯ ต้องหารือแล้วลงคะแนนเสียง ถ้ามีจำนวนแค่นี้ ยังไงความเห็นของชาวบ้านก็ไม่มีทางโหวตชนะข้าราชการได้ อย่างนี้จะเป็นธรรมได้อย่างไร ตัวแทนชาวบ้านก็จะมีหน้าที่แค่เอาสิ่งที่เขาตัดสินใจมาบอกพี่น้อง เท่ากับให้ชาวบ้านทะเลาะกันเอง”

“เราเสนอ รอง ผบ. (กกล.รส.จว.ชัยภูมิ) ในที่ประชุมว่า ไม่ต้องผลักดันชาวบ้านออก ชาวบ้านยินดีที่จะร่วมโครงการปลูกป่า และดูแลป่า โดยรัฐบาลไม่ต้องเสียงบประมาณมหาศาลในการปลูกป่า แต่แล้ว รอง ผบ.ให้สัมภาษณ์สื่อว่า พี่น้องยิมยอมที่จะออกจากพื้นที่ ถ้าหากมีมาตรการรองรับ ชาวบ้านก็งงว่า ไม่มีการคุยอย่างนี้ในที่ประชุม” ตัวแทนชาวบ้านคนเดิม เล่าถึงข้อเสนอ ปัญหา และสิ่งที่เขาต้องการเห็น

“ที่ผ่านมา อุทยานฯ ใช้แนวทางมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย.40 ซึ่งรัฐมีอำนาจเด็ดขาดในการพิจารณาว่า ใครผ่านเกณฑ์มีสิทธิได้อยู่ ใครไม่ผ่าน ผลก็คือ พวกเราชาวบ้านจนๆ ซึ่งทำกินกันมาแต่รุ่นพ่อแม่ ก่อนตั้งอุทยานฯ มีที่ทำกินคนละ 20-30 ไร่ ไม่ผ่านเกณฑ์ ต้องถูกผลักดันให้ออก แต่คนมาอยู่ทีหลัง มีที่ดินเป็นร้อยๆ ไร่ กลับผ่านเกณฑ์ สิ่งที่ราชการควรจะทำเพื่อแก้ไขปัญหาคือ จับเข่าคุยกับชาวบ้าน ลงไปดูวิถีชีวิตว่าเขาอยู่กันมาอย่างไร เอาข้อมูลจากตรงนั้นมาพิจารณา”

วันเดียวกันกับที่รองผู้ว่าฯ ลงนามแต่งตั้งคณะทำงานฯ สภ.วังตะเฆ่ ซึ่งสารวัตรใหญ่เป็นหนึ่งในคณะทำงานฯ ก็ได้ออกหมายเรียกชาวบ้านซับหวายจำนวน 3 ราย ที่ได้เซ็นยินยอมคืนพื้นที่ให้อุทยานฯ ไปแล้ว หลังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ บังคับ แต่ยังยืนยันไม่ออกจากพื้นที่ สิ่งที่เกิดขึ้นขัดแย้งกัน และสะท้อนถึงความไม่จริงใจที่จะแก้ไขปัญหาของภาครัฐ

ภายใต้นโยบายทวงคืนผืนป่า ที่รัฐบาลและข้าราชการทุกฝ่ายแสวงหาตัวเลขของพื้นที่ที่ไร้คนอยู่อาศัยและทำประโยชน์ไปแสดงเป็นผลงาน ยิ่งไปกว่าการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนมีที่ทำกินหรือมีสิทธิเข้าถึงมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดีถ้วนหน้ากัน ชะตากรรมของชาวบ้านที่ดำรงชีวิตในเขตอุทยานแห่งชาติไทรทองมาเนิ่นนาน ราว 3,000 ชีวิตหลังวันที่ 30 เม.ย.59 จึงเป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง

ข้อมูลและภาพประกอบจาก เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

X