ยกฟ้องชาวบ้านจัดระเบียบอีกราย หลังจำเลยยืนยันสู้ ไม่ได้ทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนฯ

ยกฟ้องชาวบ้านจัดระเบียบอีกราย หลังจำเลยยืนยันสู้ ไม่ได้ทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนฯ

ศาลพิพากษายกฟ้อง เก่ง มาตราช ชาวบ้านจัดระเบียบ สกลนคร คดีบุกรุกป่าสงวนฯ พยานโจทก์ให้การสอดคล้องกัน-ไม่เห็นจำเลยครอบครองทำประโยชน์ หลังจำเลยสู้มากว่า 7 เดือน  ขณะนโยบายทวงคืนผืนป่าส่งผลกระทบชาวบ้านในคดีเดียวกันสูญเสียที่ทำกิน ถูกตัดสินจำคุก 11 ราย    

18 พ.ย.59 ศาลจังหวัดสกลนครนัดฟังคำพิพากษาคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติดงชมภูพานและดงกระเฌอ คดีหมายเลขดำที่ 1093/59 ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดสกลนครเป็นโจทก์ฟ้อง นายเก่ง มาตราช ชาวบ้านบ้านบ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา อ.ภูพาน จ.สกลนคร ในความผิดฐาน ยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางป่าและที่ดินของรัฐ เนื้อที่ 23 ไร่ 2 งาน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484, พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และประมวลกฎหมายที่ดิน

คดีนี้จำเลยถูกจับกุมเมื่อวันที่ 7 เม.ย.59 ตามหมายจับที่ออกตั้งแต่ปี 2555 ก่อนหน้านี้ในเดือนตุลาคม 2557 หลังการประกาศนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลปัจจุบัน พนักงานอัยการจังหวัดสกลนครได้ส่งฟ้องชาวบ้าน 33 คน ด้วยมูลเหตุคดีเดียวกันนี้  

นายเก่ง จำเลยในคดีนี้ให้การปฏิเสธทั้งในชั้นสอบสวน และในชั้นศาล ยืนยันที่จะต่อสู้คดี แม้ศาลจะพยายามแนะจำเลยในนัดสมานฉันท์และนัดพร้อมว่า ถ้ารับสารภาพ ศาลจะรอลงอาญา นายเก่งให้เหตุผลว่า เขามีครอบครัวและรับจ้างกรีดยางอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมาโดยตลอด เพิ่งย้ายกลับมาอยู่บ้านจัดระเบียบเมื่อปี 2558 เขาจึงไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ที่กล่าวหาว่า เขาบุกรุกป่าสงวนฯ เมื่อปี 2555

แม้ในนัดสืบพยาน ก่อนนำพยานเข้าเบิกความศาลยังคงแนะให้จำเลยรับสารภาพ เนื่องจากพยานหลักฐานของโจทก์แน่นหนา หากจำเลยต่อสู้แล้วศาลฟังว่า จำเลยผิด ศาลจะลงโทษหนักเต็มที่ อย่างไรก็ตาม จำเลยยังคงขอต่อสู้คดีเช่นเดิม

ศาลอ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุปว่า พยานฝ่ายโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ 2 คน ให้การตรงกันว่า มีการประชุมชาวบ้านที่บุกรุกป่าสงวนบริเวณดังกล่าว และให้ชาวบ้านยื่นเอกสาร แต่ไม่ได้เห็นด้วยตาว่า จำเลยมายื่นเอกสารด้วยตัวเอง  อีกทั้งในตอนเข้าตรวจยึดพื้นที่ ไม่พบผู้กระทำผิด มีเพียงคำบอกเล่าของกำนันผู้ใหญ่บ้านในท้องที่เกิดเหตุว่า ที่ดินแปลงนี้มีนายเก่ง มาตราช จำเลยในคดีนี้เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์โดยการปลูกยางเป็นเนื้อที่ 23 ไร่ 2 งาน

แต่ในการเบิกความต่อศาลนายสมาน เที่ยงกลิ่น ผู้ใหญ่บ้านให้การว่า ที่ดินแปลงดังกล่าว นายทองอินทร์ มาตราช พ่อของจำเลยเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ ที่มีชื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินแปลงนี้ เพราะในการประชุมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ได้แจ้งชาวบ้านว่า จะให้ชาวบ้านได้สิทธิในที่ดินทำกิน ใครมีที่ดินเยอะให้แบ่งให้ลูกหลานให้เหลือไม่เกินคนละ 25 ไร่ พ่อของจำเลยจึงได้แบ่งที่ดินแล้วใส่ชื่อจำเลยเป็นผู้ครอบครองแปลงพิพาทนี้ ส่วนบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวน ที่ตนเองให้การว่า นายเก่งเป็นผู้ครอบครอง เนื่องจากพนักงานสอบสวนยื่นเอกสารจำนวนมากมาให้เซ็น จึงไม่ได้อ่านก่อนลงลายมือชื่อ สอดคล้องกับคำเบิกความของพนักงานสอบสวนว่า นายสมานมาให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน 10 คดี ในวันเดียวกัน และสอดคล้องกับคำเบิกความของนายอุดม วันทา ผู้ใหญ่บ้าน ม.7 ท้องที่เกิดเหตุเช่นเดียวกันว่า มีการประชุมชาวบ้านที่บุกรุก และเจ้าหน้าที่ป่าไม้แนะนำให้ชาวบ้านแบ่งที่ดินให้ลูกหลาน

ประกอบกับจำเลยให้การว่า มีอาชีพกรีดยางอยู่ภาคใต้ โดยมีหลักฐานว่าพักอาศัยอยู่กับภรรยาและบุตร ซึ่งมีที่อยู่ตามทะเบียนบ้านอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานีมาโดยตลอด สอดคล้องกับคำเบิกความของนายทองอินทร์ ผู้เป็นพ่อว่า ตนและภรรยาเป็นผู้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทนี้ และในการยื่นเอกสารต่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ภรรยาของตนเป็นผู้มายื่นเอกสารแทนจำเลย โดยที่จำเลยไม่ได้รู้เห็น    

ศาลพิเคราะห์ว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว จึงพิพากษายกฟ้อง

 

591118

 

เก่ง มาตราช ถูกคุมขังที่สถานีตำรวจภูธรภูพาน และเรือนจำจังหวัดสกลนคร เป็นเวลารวม 6 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จากการเช่าหลักทรัพย์มาค้ำประกัน โดยเปลี่ยนเป็นกองทุนยุติธรรมในภายหลัง และใช้เวลาอีกกว่า 7 เดือน ในการพิสูจน์ว่า ตนเองไม่ได้บุกรุกป่าสงวนฯ ตามที่เจ้าหน้าที่รัฐกล่าวหา ทั้งที่หากย้อนกลับไปดูเหตุแห่งคดี เขาไม่ควรถูกดำเนินคดีตั้งแต่เริ่มต้น หรือหากเจ้าหน้าที่มีกระบวนการดำเนินคดีที่ตรงไปตรงมา คดีของเขาก็ไม่ควรถูกส่งฟ้อง จนศาลพิพากษายกฟ้องในวันนี้

ก่อนหน้านี้ จำเลย 33 ราย ซึ่ง 29 รายให้การรับสารภาพโดยหวังให้ศาลรอลงอาญา ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง 3 ราย จำคุก 29 ราย โดยไม่รอลงอาญา 11 ราย และ 18 ราย รอลงอาญา กับมีโทษปรับเป็นหลักหมื่น  อีก 1 ราย ศาลเยาวชนและครอบครัว ให้คุมประพฤติ 1 ปี คนเหล่านี้ต้องได้รับผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและทางจิตใจในระหว่างกระบวนการยุติธรรมเป็นเวลานาน 2-3 ปี และไม่ว่าคำพิพากษาจะเป็นเช่นไร พวกเขาก็ต้องสูญเสียที่ดินที่เคยอาศัยทำกินมาเป็นเวลานาน สูญเสียอาชีพและรายได้ คนที่เป็นลูกหลานก็ไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตที่พ่อแม่ลงแรงปลูกสร้างไว้ เพราะคำพิพากษาลงท้ายด้วยว่า ให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินที่จำเลยเคยครอบครอง จนนำไปสู่การสนธิกำลังของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง เข้าตัดต้นยางพาราจำนวน 4 แปลง รวมเนื้อที่เกือบ 100 ไร่ เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 59 โดยอ้างคำสั่งศาล

กรณีชาวบ้านจัดระเบียบที่ถูกดำเนินคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติดงชมภูพานและดงกระเฌอนี้ถือได้ว่า เป็นอีกหนึ่งกรณีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า และคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 และ 66/57 เนื่องจากแม้เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าจะได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 แต่จากนโยบายของรัฐบาล และจากคำสั่ง คสช.ที่ 66/57 ข้อ 2.4 ซึ่งระบุว่า “กรณีใด ๆ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการดําเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ให้ดําเนินการต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดกระบวนการที่กําหนด” ทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเร่งรัดดำเนินคดีที่ค้างอยู่ โดยไม่ได้คำนึงว่า ชาวบ้านได้ยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมไว้ และยังไม่มีผลการพิจารณาจากหน่วยงานเหล่านั้น

นโยบายทวงคืนผืนป่าคงไม่ส่งผลกระทบอย่างหนักกับชาวบ้านจัดระเบียบและชาวบ้านอีกมากมายที่อาศัยทำกินในเขตป่าและที่ดินของรัฐ หากรัฐบาลไม่เลือกที่จะดำเนินการด้วยมาตรการทางกฎหมายที่เคร่งครัด แต่คำนึงถึงการแก้ไขปัญหาที่ทำกินของประชาชนไปพร้อมๆ กัน และโดยคำนึงถึงสิทธิของประชาชนในการมีมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ ตามที่มีการรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคี ข้อ 11 วรรค 1 ว่า “ทุกคนมีสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอสําหรับตนเองและครอบครัว ซึ่งรวมถึงอาหาร  เครื่องนุ่งห่ม  และที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ  และสภาพการครองชีพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง” และตามที่คณะกรรมการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมมีความเห็นทั่วไปว่า “ก่อนที่จะมีการขับไล่ใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมี่อเกี่ยวข้องกับคนกลุ่มใหญ่ รัฐภาคีจะต้องมีการปรึกษาหารือกับผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการขับไล่ ทําการสํารวจหาลู่ทางอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการบังคับหรือใช้ให้น้อยที่สุด  ควรจะมีการแก้ไขตามกฎหมายให้แก่ผู้ที่ต้องได้รับผลกระทบจากคำสั่งขับไล่ รัฐภาคีจะต้องดูว่าบุคคลที่ถูกขับไล่จะได้รับค่าชดเชย สำหรับทรัพย์สมบัติที่เสียไป  สำหรับทั้งบุคคลและที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากการขับไล่นี้”

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

สืบพยานคดีบุกรุกป่าสงวนฯ ดงชมภูพาน ผญบ.ชี้ จำเลยไม่ได้อยู่ในท้องที่ก่อนเกิดเหตุ

จำเลยตกค้างคดีบุกรุกป่าสงวนฯ บ้านจัดระเบียบ สกลนคร ยืนยันสู้คดี หลังศาลแนะให้รับสารภาพ

ศาลสกลนครพิจารณาคดีบุกรุกป่าสงวนฯ ดงชมภูพาน-ดงกระเฌอ พบมีทั้งฟ้องเกิน และฟ้องคนที่ไม่ได้ทำกิน

 

X