ศาลพิพากษาคดีม้งห้วยน้ำรินบุกรุกป่าสงวน จำคุก 1 ปี ให้รอลงอาญา

11 พ.ย.59 ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดอ่านคำพิพากษาในคดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ กับ นายบุญยิ่ง แซ่วะ ชายชาติพันธุ์ม้ง จากบ้านห้วยน้ำริน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ในข้อหาบุกรุกแผ้วถาง และเข้ายึดถือครอบครองในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ขานและป่าแม่วาง เป็นเนื้อที่ประมาณ 3 งาน 48 ตารางวา โดยคดีนี้เกิดขึ้นภายหลังรัฐบาลดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่า

สำหรับเหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ส.ค.58 เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ พร้อมกับฝ่ายปกครอง และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแม่วาง ให้ดำเนินคดีกับนายบุญยิ่ง โดยระบุว่าได้ตรวจพบว่านายบุญยิ่งได้ทำการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าสงวน โดยพื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่บุกรุกใหม่จากพื้นที่ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ทำแผนที่ควบคุมเอาไว้ โดยพื้นที่เกิดเหตุไม่มีเอกสารสิทธิ์และไม่ได้รับอนุญาตการทำประโยชน์จากเจ้าหน้าที่

ในคดีนี้ นายบุญยิ่งได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา จึงมีการสืบพยานไปในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยจำเลยยอมรับว่าเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่เกิดเหตุจริง แต่พื้นที่นั้น มารดาของจำเลยเป็นผู้ได้ครอบครองทำประโยชน์มาก่อน โดยทำมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2521 ต่อมาได้นำไปขึ้นทะเบียนตามมติ ครม. 30 มิ.ย.41 แล้ว และเมื่อปี พ.ศ. 2548 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้มานำรังวัดทำแผนที่ควบคุม แต่แผนที่คลาดเคลื่อน มีบางแปลงที่ทำกินมาก่อน แต่ตกสำรวจ รวมถึงพื้นที่พิพาทนี้ด้วย

ภายหลังการประกาศนโยบายทวงคืนผืนป่า ช่วงเดือนมิ.ย.57 ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินการฟื้นฟู ปลูกป่า และป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ของอำเภอแม่วาง ได้มีมติให้พื้นที่ตกสำรวจของราษฎร สามารถทำการสอบสวนพิสูจน์สิทธิ์ใหม่ หากดำเนินการมาก่อนปี 2545 ก็สามารถทำกินในพื้นที่ต่อไปได้

ห้วยน้ำริน

ศาลได้อ่านคำพิพากษาโดยพิเคราะห์ว่าจำเลยได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในพื้นที่ตามฟ้องจริง โดยพยานโจทก์เบิกความถึงการเข้าไปตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุ และพบการโปรยเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดในพื้นที่ ทั้งพื้นที่เกิดเหตุก็อยู่นอกที่ดินในแปลงควบคุมตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งทางราชการผ่อนผันให้ทำประโยชน์ได้ รวมทั้งจำเลยก็ไม่ได้มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินในแปลงควบคุมก่อนหน้านี้ และไม่ได้มีชื่อเป็นผู้ครอบครองก่อนมติครม.ปี 41

ศาลพิเคราะห์จากพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลย เห็นว่าจำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุ โดยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินนั้นอยู่นอกแปลงควบคุม และไม่ได้สำคัญผิดในข้อเท็จจริง ทั้งเจ้าหน้าที่ก็มีการปักหลักเขตป่าที่ชัดเจน พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักพอจะหักล้างพยานของโจทก์ได้

ศาลจึงพิพากษาให้จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท แต่เนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญา และกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายต่อรัฐเป็นจำนวนเงิน 3 หมื่นบาท ทั้งให้จำเลยออกจากการถือครองที่ดินตามฟ้องดังกล่าวด้วย

1

ในคดีนี้ นายบุญยิ่งและทนายความยังเปิดเผยว่าสาเหตุที่มีการดำเนินคดีนี้ ว่านอกจากผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลแล้ว ยังเนื่องเพราะมีความต้องการกลั่นแกล้ง โดยระหว่างเดือนมิ.ย.– ส.ค.58 นายบุญยิ่งและชาวบ้านห้วยน้ำรินได้รับความเดือดร้อน จากการถูกหน่วยงานของผู้กล่าวหา และผู้นำในชุมชนบางส่วน เข้ายึดที่ดินทำกินของชาวบ้านไปดำเนินโครงการปลูกป่าจำนวนมาก ทั้งยังมีการข่มขู่ว่าจะดำเนินคดี ชาวบ้านได้พยายามคัดค้านและยื่นหนังสือร้องเรียนการละเมิดสิทธิต่อหน่วยงานต่างๆ โดยที่นายบุญยิ่งมีบทบาทในการเป็นตัวแทนชาวบ้านในการติดตามเจรจาถึงปัญหาที่ดินนี้ ทำให้ถูกโกรธเคืองจากกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ในพื้นที่

ในช่วงกลางเดือนมิ.ย.-ส.ค.58 ผู้กล่าวหา ผู้นำชุมชน และพวกจำนวนมาก พร้อมด้วยอาวุธปืน ยังได้เข้าไปทำการปลูกป่าในพื้นที่ทำกินของนายบุญยิ่งและชาวบ้าน โดยชาวบ้านได้ยินเสียงปืนดังเป็นระยะๆ ในระหว่างที่มีการปลูกป่า หลังจากนั้นก็พบกระสุนปืนตกกระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่ และในช่วงเดียวกัน ยังมีบุคคลเข้าไปตัดฟันต้นลิ้นจี่ ลำไย ข้าวโพด และข้าวไร่ของชาวบ้านที่ปลูกไว้ ให้ได้รับความเสียหาย

สำหรับพื้นที่หมู่บ้านห้วยน้ำริน เคยถูกสัมปทานป่าจนกลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ก่อนที่กลุ่มชาวบ้านม้งจำนวนหนึ่งจะย้ายมาอยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2521 โดยได้รับอนุญาตจากกำนันในสมัยนั้น ปัจจุบัน บ้านห้วยน้ำรินมีสมาชิกอยู่ 34 หลังคาเรือน โดยยังไม่ได้รับการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ แต่เป็นหมู่บ้านสาขาของหมู่ 1 ตำบลทุ่งปี๊ อำเภอแม่วาง

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ชาวม้งห้วยน้ำรินให้การคดีรุกป่าสงวน ชี้เหตุคดีมาจากการกลั่นแกล้งของผู้นำในชุมชน

X