สืบพยานคดีบุกรุกป่าสงวนฯ ดงชมภูพาน ผญบ.ชี้ จำเลยไม่ได้อยู่ในท้องที่ก่อนเกิดเหตุ

สืบพยานคดีบุกรุกป่าสงวนฯ ดงชมภูพาน ผญบ.ชี้ จำเลยไม่ได้อยู่ในท้องที่ก่อนเกิดเหตุ

สืบพยานคดีบุกรุกป่าสงวนฯ ดงชมภูพาน บ.จัดระเบียบ สกลนคร จำเลยยืนยันเพิ่งกลับจากรับจ้างกรีดยางภาคใต้กว่าสิบปี ไม่เคยทำกินในดินพิพาท ผู้ใหญ่บ้าน 2 หมู่ พยานโจทก์-จำเลย เบิกความตรงกัน ไม่เคยเห็นจำเลยในท้องที่ก่อนเกิดเหตุ ศาลนัดฟังคำพิพากษา 18 พ.ย. นี้

26-27 ต.ค.59 ศาลจังหวัดสกลนครนัดสืบพยานคดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติป่าดงชมภูพานและดงกระเฌอ เนื้อที่ 23 ไร่ 2 งาน ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดสกลนครเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเก่ง มาตราช ชาวบ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา อ.ภูพาน จ.สกลนคร ในความผิดฐาน ยึดถือ ครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถางป่าและที่ดินของรัฐ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484, พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และประมวลกฎหมายที่ดิน หลังนายเก่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 7 เม.ย.59 ตามหมายจับที่ออกตั้งแต่ปี 2555

ก่อนหน้านี้ นายเก่งให้การปฏิเสธทั้งในชั้นสอบสวน และในชั้นศาล ยืนยันที่จะต่อสู้คดี แม้ศาลจะพยายามแนะจำเลยในนัดสมานฉันท์และนัดพร้อมว่า ถ้ารับสารภาพ ศาลจะรอลงอาญา นายเก่งให้เหตุผลว่า เขามีครอบครัวและรับจ้างกรีดยางอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีมาโดยตลอด เพิ่งย้ายกลับมาอยู่บ้านจัดระเบียบเมื่อปี 2558 เขาจึงไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ที่กล่าวหาว่า เขาบุกรุกป่าสงวนฯ เมื่อปี 2555

คดีบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติดงชมภูพานฯ มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าแจ้งความดำเนินคดี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 ตำรวจได้ออกหมายเรียกชาวบ้านจำนวน 34 คน มารับทราบข้อกล่าวหา แล้วปล่อยตัวไป โดยในจำนวนนี้ 7 คน เป็นคนที่ไม่ได้เข้าทำกินในที่ดินพิพาท เนื่องจากกำลังศึกษาอยู่หรือไปทำงานรับจ้างอยู่ต่างจังหวัด จากนั้น ตำรวจได้ส่งสำนวนคดีให้อัยการ โดยไม่ปรากฏชื่อของนายเก่ง มาตราช ซึ่งเคยถูกออกหมายเรียกมารับทราบข้อกล่าวหา

ต่อมา ชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีได้ยื่นเรื่องขอความเป็นธรรมกับหน่วยงานต่าง ๆ คดีจึงถูกชะลออยู่ในชั้นอัยการ จนกระทั่งหลังการประกาศนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาลปัจจุบัน มีการเร่งรัดการดำเนินคดี ทำให้อัยการส่งฟ้องคดีต่อศาลเมื่อเดือนตุลาคม 2557 แม้ชาวบ้านจะทำหนังสือขอเลื่อนฟ้อง เนื่องจากอยู่ในระหว่างการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในช่วงการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและสางคดีค้างเก่าตามนโยบายรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าจับกุมนายเก่ง ขณะเติมน้ำมันที่ร้านค้าในหมู่บ้าน โดยอ้างหมายจับในคดีดังกล่าว และปรากฏในสำนวนฟ้องด้วยว่า นายเก่งหลบหนีการจับกุม

IMG_20161026_154350

ก่อนนำพยานเข้าเบิกความ ศาลยังคงแนะให้จำเลยรับสารภาพ เนื่องจากพยานหลักฐานของโจทก์แน่นหนา หากจำเลยต่อสู้แล้วศาลฟังว่า จำเลยผิด ศาลจะลงโทษหนักเต็มที่ อย่างไรก็ตาม จำเลยยังคงขอต่อสู้คดีเช่นเดิม

โจทก์นำพยานเข้าเบิกความ 6 ปาก เป็นหัวหน้าหน่วย และเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สน.7 (พรรณนานิคม) ผู้ตรวจยึดพื้นที่ และแจ้งความ อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านที่ร่วมตรวจยึดพื้นที่ พนักงานสอบสวน 2 นาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าจับกุม 1 นาย

นายบุญธรรม สาระคำ เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่า สน.7 (พรรณานิคม) เบิกความว่า วันที่ 20 พ.ย.55 พยานและหัวหน้าหน่วยได้ตรวจยึดพื้นที่ป่าสงวนดงชมภูพานฯ ต่อมา จากการประสานกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านท้องที่ตำบลหลุบเลา ทำให้ทราบว่า ที่ดินแปลงในคดีนี้จำนวน 23 ไร่ 2 งาน มีนายเก่ง มาตราช เป็นผู้ครอบครอง ปลูกยางพาราซึ่งมีอายุได้ 8 ปี แล้ว คิดเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 3,525,000 บาท

นายสมาน เที่ยงกลิ่น ผู้ใหญ่บ้าน ม.6 ต.หลุบเลา ขณะเกิดเหตุเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เบิกความว่า เห็นนายเก่ง มาอยู่ในท้องที่เมื่อปี 2558 ก่อนหน้านี้ไม่เคยเห็นหรือรู้จักนายเก่งมาก่อน ส่วนที่ดินแปลงในคดีนี้ พยานเห็นพ่อของจำเลยเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ เกี่ยวกับคดีบุกรุกป่าสงวนดงภูพานฯ นี้ มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 37 คดี พยานให้การเป็นพยานกับตำรวจในทุกคดี แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ฯ พยานไม่ได้เล่าให้ตำรวจฟัง เนื่องจากตำรวจไม่ได้ถามคำให้การ เพียงแต่เอาเอกสารมาให้เซ็น ซึ่งมีจำนวนหลายคดี พยานก็ลงลายมือชื่อโดยไม่ได้อ่าน

นายพรภิรมย์ อุระแสง หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ สน.7 (พรรณนานิคม) เบิกความว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2555 มีการร้องเรียนผ่านระบบอินเตอร์เน็ตว่า มีการบุกรุกป่าที่บริเวณทิศตะวันออกของบ้านจัดระเบียบและบ้านกกแต้ ต.หลุบเลา อ.ภูพาน ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำ และมีการใช้สารเคมีในการปลูกยาง มันสำปะหลัง ทำให้ชาวบ้านที่ใช้น้ำในลำห้วยได้รับอันตราย วันที่ 20 พ.ย. 55 ป่าไม้ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และผู้นำท้องถิ่น ประมาณ 100 นาย จึงเข้าตรวจยึดพื้นที่หลายแปลง รวมทั้งแปลงในคดีนี้ แต่ไม่พบตัวผู้กระทำผิด สอบถามกำนันผู้ใหญ่บ้านยืนยันว่า ผู้ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าวคือ นายเก่ง มาตราช

พยานเบิกความต่ออีกว่า วันที่ 22-23 พ.ย.55 ได้เรียกประชุมชาวบ้านกลุ่มที่บุกรุกป่าในบริเวณดังกล่าว พยานและเจ้าหน้าที่ได้แสดงภาพถ่ายทางอากาศปี 45 แล้วแจ้งชาวบ้านว่า พื้นที่ที่ชาวบ้านครอบครองอยู่บุกรุกป่าสงวนฯ แปลงในคดีนี้ พยานได้สอบถามเจ้าของแปลง ยอมรับว่า บุกรุกจริง แต่จะเป็นตัวจำเลยเองหรือไม่ พยานจำไม่ได้ หลังจากชี้แจงแล้ว พยานให้ชาวบ้านนำสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านมายื่น โดยมีเจ้าหน้าที่หลายคนเป็นผู้รับเอกสารและตรวจสอบว่า เอกสารที่นำมายื่นเป็นเอกสารของบุคคลที่นำมายื่นจริง ไม่มีใครนำเอกสารของคนอื่นมายื่นแทนกัน แต่พยานไม่ได้ตรวจสอบเอง

นอกจากนี้ พยานได้ให้ชาวบ้านที่บุกรุกไปนำชี้แนวเขต แปลงในคดีนี้ก็มีคนนำชี้แปลง แต่พยานจำไม่ได้ว่า คนที่นำชี้แปลงคือจำเลยหรือไม่ ในการประชุมพยานไม่ได้ให้ชาวบ้านลงชื่อในสมุดทะเบียนว่า ได้มาร่วมประชุม เนื่องจากกระทำด้วยความฉุกละหุก  ต่อมา พยานได้ส่งมอบหลักฐานที่ชาวบ้านนำมายื่นพร้อมทั้งนำชี้แนวเขตให้กับพนักงานสอบสวน แต่พนักงานสอบสวนจะนำเข้ามาในสำนวนหรือไม่ พยานไม่ทราบ (เนื่องจากในสำนวนไม่มีสำเนาบัตรประชาชนของจำเลย)

ขณะที่พนักงานสอบสวน เบิกความว่า วันที่ 20 พ.ย.55 นายพรภิรมย์ อุระแสง หัวหน้าหน่วยป้องกันรักษาป่าฯ นำเอกสารการตรวจยึดพื้นที่ เข้าแจ้งความว่า มีคนร้ายไม่ทราบจำนวนบุกรุกทำประโยชน์ในที่ดิน เอกสารที่ผู้แจ้งนำมามอบมีแต่ลายชื่อผู้กล่าวหา ไม่มีผู้ต้องหา เนื่องจากยังไม่ทราบตัวผู้ต้องหา เกี่ยวกับคดีนี้จากการสอบปากคำนายพรภิรมย์ในเวลาต่อมา อ้างว่า นายเก่ง นำสำเนาทะเบียนบ้าน (พยานไม่แน่ใจว่า มีบัตรประชาชนด้วยหรือไม่ แต่ในสำนวนไม่มี) มาแสดงกับเจ้าหน้าที่ว่า เป็นผู้ครอบครองที่ดินแปลงพิพาทนี้ และจากการสอบปากคำนายสมาน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น (ในบันทึกคำให้การระบุตำแหน่งสารวัตรกำนัน) อ้างว่า ผู้แจ้งได้มาพบและขอให้ยืนยันว่า นายเก่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินแปลงดังกล่าว พยานได้อ่านบันทึกคำให้การให้นายสมานฟัง และให้นายสมานลงลายมือชื่อโดยไม่ได้บังคับ

IMG_20141030_071354

ด้านทนายจำเลย นำพยานเข้าเบิกความเป็นพยานฝ่ายจำเลย 2 ปาก คือ นายเก่ง จำเลย และผู้ใหญ่บ้าน ม.7 ต.หลุบเลา ซึ่งร่วมตรวจสอบพื้นที่และประชุมชาวบ้าน

จำเลยเบิกความว่า เกิดเมื่อ พ.ศ. 2523 ต่อมาปี 2540 ไปทำงานรับจ้างกรีดยางที่ จ.สุราษฎร์ธานี และมีครอบครัวอยู่ที่นั่น มีลูกชาย 2 คน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2545 และ 2549 จำเลยไม่ได้ย้ายชื่อในทะเบียนไปบ้านไปอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ฯ แต่สามารถทำบัตรสุขภาพได้ เนื่องจากมีนายจ้างรับรอง (มีหลักฐานบัตรประกันสุขภาพ เริ่มใช้ 2545) ส่วนยางที่ปลูกอยู่ในดินพิพาท พ่อเป็นคนทำ จำเลยไม่เคยรู้เรื่องแต่อย่างใด

จำเลยเบิกความต่อว่า ปี 2555 พ่อโทรศัพท์แจ้งตนเองซึ่งอยู่ที่สุราษฎร์ฯ ว่า มีหมายเรียกจากตำรวจ จึงเดินทางจากสุราษฎร์ฯ มาพบตำรวจ และเข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนสอบปากคำ แล้วจึงปล่อยตัว จากนั้น ตนเองก็เดินทางกลับสุราษฎร์ฯ ปี 2557 อัยการนัดส่งฟ้อง พ่อโทรศัพท์แจ้งให้ทราบ ตนจึงเดินทางมาจาก จ.สุราษฎร์ฯ แต่พอมาถึงสำนักงานอัยการจังหวัดสกลนครกลับไม่มีรายชื่อของตนเองในคดีที่ส่งฟ้อง หลังจากนั้น จึงเดินทางกลับ จ.สุราษฎร์ฯ ส่วนพ่อของตน ถูกส่งฟ้อง จนกระทั่งปี 2558 จำเลยจึงได้ย้ายครอบครัวมาอยู่กับพ่อแม่ที่ จ.สกลนคร เนื่องจากต้องการมาติดตามผลคดีของพ่อ และพาภรรยามารักษาโรคต้อกระจก พร้อมทั้งเรียนการศึกษานอกโรงเรียน

นายอุดม วันทา ผู้ใหญ่บ้าน ม. 7 ต.หลุบเลา รับตำแหน่งตั้งแต่ปี 2553 เบิกความว่า เมื่อปี 2555 หลังจากป่าไม้ ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ พากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ออกตรวจท้องที่ และทำการตรวจยึดเป็นพื้นที่พิพาทนี้เป็นแปลงรวมแล้ว เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้เรียกชาวบ้านประชุมที่ศาลาหมู่ 6 เฉพาะคนที่ทำประโยชน์ในที่ดินที่ถูกตรวจยึด เจ้าหน้าที่ให้ชาวบ้านเซ็นเข้าร่วมประชุม ชาวบ้านก็เซ็น เข้าใจว่าป่าไม้จะจัดสรรที่ทำกินให้ นอกจากนี้ ป่าไม้ยังแจ้งว่า หากผู้ใดครอบครองที่ดินเนื้อที่จำนวนมากให้แบ่งให้ลูกหลาน โดยให้เหลือที่ไม่เกินคนละ 25 ไร่ จากนั้น เจ้าหน้าที่นัดชาวบ้านอีกครั้งที่ ร.ร.น้ำพุงจัดระเบียบวิทยา 2 วัน วันแรก พยานไม่ได้เข้าร่วม พยานเข้าร่วมในวันที่ 2 ซึ่งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ขึ้นไปพื้นที่พิพาท ยืนแปลงถ่ายรูป แล้วกลับมาทำเอกสารว่า แต่ละคนครอบครองคนละกี่ไร่ พยานจำไม่ได้ว่า มีจำเลยไปยืนแปลงถ่ายรูปและยื่นเอกสารในวันนั้นด้วยหรือไม่ ก่อนเกิดเหตุ พยานไม่เคยเห็นจำเลยมาก่อน และจำเลยก็ไม่ได้เป็นลูกบ้านของพยานด้วย พยานเริ่มเห็นจำเลยในท้องที่ในปี 58-59 นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่ได้ให้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเซ็นรับรองว่า เอกสารที่ชาวบ้านมอบให้ป่าไม้เป็นของเจ้าตัวที่ยื่นเอกสารจริงหรือไม่

หลังจากสืบพยานจำเลย 2 ปากแล้ว ศาลให้นำนายทองอินทร์ มาตราช อายุ 62 ปี พ่อของนายเก่ง เข้าสืบเพื่อให้รู้ว่า ใครเป็นคนยื่นเอกสารของจำเลยแทนจำเลย หลังจากที่ทนายจำเลยได้ตัดพยานปากนี้ออก พยานเบิกความว่า เมื่อปี 2555 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้เรียกประชุมชาวบ้าน ให้ไปยืนแปลง ถ่ายรูป และเซ็นเอกสาร โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า จะให้ชาวบ้านมีสิทธิในที่ดินที่ทำกิน ภรรยาของพยานเป็นผู้ยืนแปลงถ่ายรูปแปลงในคดีนี้ และเซ็นเอกสารยื่นแทนจำเลย เนื่องจากจำเลยอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ฯ เจ้าหน้าที่ให้แบ่งที่ดินให้ลูกหลาน พยานจึงแบ่งที่ดินเป็น 3 แปลงๆ ละ ประมาณ 12 ไร่ แต่จำเลยถูกฟ้องว่าครอบครองที่ดิน 23 ไร่ 2 งาน ได้อย่างไรพยานไม่ทราบ พยานเข้าทำกินในที่ดินพิพาท ตั้งแต่ปี 2544 ลงแรงมาร่วมกันกับภรรยา ลูกทั้งสองไม่ได้เข้าทำด้วย

ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 18 พ.ย. ที่จะถึงนี้ ก่อนหน้านี้ ในคดีบุกรุกป่าสงวนดงชมภูพานฯ ที่อัยการยื่นฟ้องในเดือนตุลาคม 2557 ศาลจังหวัดสกลนครได้ทยอยตัดสินในปี 2558 จำเลย 3 ราย ที่ขอต่อสู้คดี เนื่องจากมีข้อเท็จจริงว่า กำลังศึกษาอยู่หรือไปทำงานรับจ้างอยู่ต่างจังหวัด ไม่ได้เข้าทำประโยชน์ในป่าสงวนฯ ตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลได้พิพากษายกฟ้องทั้ง 3 ราย จำเลยอีก 1 ราย ซึ่งสู้คดีว่า ทำประโยชน์ในที่ดินเพียง 4 ไร่ ไม่ใช่ 54 ไร่ ตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลพิพากษาจำคุก 5 ปี 3 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ปัจจุบันได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่รับสารภาพโดยคาดหวังให้ศาลรอลงอาญา ศาลพิพากษาจำคุก โทษจำคุกรอลงอาญา 18 ราย ไม่รอลงอาญา 10 ราย ยื่นอุทธรณ์ 6 ราย ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอคำสั่งให้ยื่นฎีกา 3 ราย

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

จำเลยตกค้างคดีบุกรุกป่าสงวนฯ บ้านจัดระเบียบ สกลนคร ยืนยันสู้คดี หลังศาลแนะให้รับสารภาพ

ศาลสกลนครพิจารณาคดีบุกรุกป่าสงวนฯ ดงชมภูพาน-ดงกระเฌอ พบมีทั้งฟ้องเกิน และฟ้องคนที่ไม่ได้ทำกิน

จำเลยคดีบุกรุกป่าดงกระเชอรับสารภาพ แม้ถูกฟ้องเกินกว่าที่ที่ครอบครองจริง

 

X