นายอำเภอชุมแพปลดผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เหตุพาชาวบ้านเดิน Walk for Rights

นายอำเภอชุมแพปลดผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เหตุพาชาวบ้านเดิน Walk for Rights

นายอำเภอชุมแพปลดผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซำผักหนาม เหตุพาชาวบ้านเดิน Walk for Rights โดยไม่ให้ชี้แจงหรือตั้งกรรมการสอบ อ้างมีรูปถ่ายชัดเจน และทหารสั่ง อาจตามด้วยถูกดำเนินคดี

1 ก.ค.59 เวลา 13.00 น. นายจรูญ เซรัมย์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซำผักหนาม ต.นาหนองทุ่ม เข้าพบนายพันธ์เทพ เสาโกศล นายอำเภอชุมแพ จ.ขอนแก่น หลังนายอำเภอโทรศัพท์เรียกตัวในตอนเช้า นายอำเภอได้แจ้งว่า นายจรูญมีความผิดฐานพาชาวบ้านชุมนุมเกิน 5 คน มีหลักฐานเป็นภาพถ่ายชัดเจน จึงมีความเห็นให้ปลดนายจรูญออกจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โดยการประชุมกำนัน – ผู้ใหญ่บ้านประจำเดือน ในวันที่ 4 ก.ค. ที่จะถึงนี้ ผู้ใหญ่บ้านซำผักหนามจะเลือกผู้ช่วยคนใหม่มาประชุม นายอำเภอกล่าวอีกว่า ผู้พันสั่งให้ปลดออก และดำเนินคดีด้วย แต่นายอำเภอมีหน้าที่ปลดออกเท่านั้น ส่วนการดำเนินคดี ทหารจะดำเนินการต่อไปอย่างไรก็เป็นเรื่องของทหาร

นายจรูญให้ข้อมูลว่า นายอำเภอไม่ได้ถามเหตุผล หรือให้ตนเองอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด นายอำเภอแค่เรียกมาแจ้งว่า ปลดตนเองออกแล้วเท่านั้น ตามที่ทหารสั่งมา ซึ่งตนเองก็ไม่คิดจะโต้แย้งอะไร ถ้าตนเองผิดก็พร้อมจะออก แต่ถ้าไม่ผิดก็จะสู้

นอกจากนี้ นายจรูญยังเล่าว่า นายอำเภอได้เอ่ยชื่ออีกหลายคนว่า มีภาพร่วมเดินกับขบวน Walk for Rights และทหารจะดำเนินการทางกฎหมายด้วย

ทั้งนี้ นายจรูญเปิดเผยว่า เงินเดือนผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเดือนละ 5,000 บาท ต้องเข้ามาประชุมที่อำเภอชุมแพ ระยะทางประมาณ 30 กม. ประมาณเดือนละ 3 ครั้ง โดยไม่มีเบี้ยประชุม ถูกปลดออกครั้งนี้ นายจรูญกล่าวว่า “ต่อไป ผมก็จะได้ต่อสู้ในฐานะประชาชน”

อย่างไรก็ตามศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เห็นว่า หากข้อเท็จจริงมีเพียงนายอำเภอเรียกผู้ใหญ่บ้านมาแจ้งปลดจากตำแหน่งเท่านั้น กระบวนการดังกล่าวอาจกระทำไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่พ.ศ.2457 มาตรา 18 กำหนดว่า “นอกจากออกจากตําแหน่งตามวาระ ผู้ช่วยผู้ใหญ่ต้องออกจากตําแหน่งเพราะขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 12 หรือเพราะเหตุเช่นเดียวกับที่ผู้ใหญ่บ้านต้องออกจากตําแหน่งตามมาตรา 14(2) ถึง (7)” ซึ่งกรณีที่ใกล้เคียงคือ มาตรา 14(7)  แต่กรณีดังกล่าวนั้นให้อำนาจ “ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งให้พ้นจากตําแหน่ง เมื่อได้รับรายงานการสอบสวนของนายอําเภอว่าบกพร่องในหน้าที่ หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตําแหน่ง” เมื่อกรณีนี้ไม่ใช่เป็นกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนสั่งให้พ้นตำแหน่ง ยังไม่มีการสอบสวนว่านายจรูญบกพร่องต่อหน้าที่หรือประพฤติตนไม่เหมาะสมอย่างไร อีกทั้งยังไม่มีการเปิดโอกาสให้คู่กรณีโต้แย้งสิทธิใดๆ กระบวนการดังกล่าวอาจกระทำไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

w3

กรณีนี้สืบเนื่องมาจากเครือข่ายประชาชนภาคอีสานที่เรียกตัวเองว่า ‘ขบวนการอีสานใหม่’ ได้มีกิจกรรม ‘เดินเพื่อสิทธิ ชีวิตคนอีสาน’ หรือ Walk for Rights โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเดินเยี่ยมยามถามข่าวชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและแผนพัฒนาของรัฐทั่วภาคอีสาน ขบวนเดินเริ่มต้นเดินจากพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนโปร่งขุนเพ็ชร ที่ อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.59

จนกระทั่งวันที่ 11 มิ.ย.59 ขบวนเดินได้ผ่านเข้าเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ทางอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เพื่อเยี่ยมเยียนบ้านซำผักหนามและชุมชนหนองจาน ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานฯ และกำลังได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล โดยมีชาวบ้านหนองจานออกมาต้อนรับที่ทางเข้าอุทยานฯ เดินเข้าบ้านซำผักหนาม และพักค้างคืนที่ชุมชนหนองจาน เช้าวันที่ 12 มิ.ย.59 ชาวบ้านหนองจานยังได้เดินออกมาส่งขบวนเดินจนพ้นเขตอุทยานฯ ภูผาม่าน ท่ามกลางการติดตามถ่ายรูปของเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวนหลายนาย

ทั้งนี้ ในเช้าวันที่ 12 มิ.ย.59 สัสดีอำเภอภูกระดึงได้โทรศัพท์มาหานายจรูญ ถามว่าจะพาชาวบ้านชุมนุมหรือไม่ นายจรูญตอบว่า ไม่ใช่ นักศึกษามาเดินรณรงค์เฉยๆ สัสดีจึงบอกว่าจะหาน้ำไว้ต้อนรับตามทาง ต่อมา คืนวันที่ 13 มิ.ย.59 เวลาประมาณ 21.00 น. ขณะนายจรูญ ดับไฟจะเข้านอน ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ 3 นาย อ้างว่ามาจากค่ายมหาศักดิพลเสพ (ร.8 พัน 2) อำเภอชุมแพ มาเรียก และสอบถามถึงขบวนเดินเพื่อสิทธิฯ ว่า เป็นใคร มาจากไหนบ้าง มีชาวบ้านร่วมเดินหรือไม่ ซึ่งนายจรูญก็ให้ข้อมูลว่า นักศึกษาเคยมาบำเพ็ญประโยชน์ที่หนองจาน ทำบ้านดิน ทำฝายแม้ว ครั้งนี้กลับมาเยี่ยมค่าย ชาวบ้านก็ออกไปต้อนรับ  ก่อนกลับ ทหารบอกนายจรูญว่า จะเชิญเข้าไปกินน้ำเย็นกับผู้พันในค่าย ร.8 พัน 2 แต่ยังไม่บอกเวลา

นายจรูญ เซรัมย์ ปัจจุบันอายุ 57 ปี เป็นชาวชุมชนหนองจาน ซึ่งขึ้นกับบ้านซำผักหนามที่อยู่ห่างออกไปราว 8 กม. นายจรูญได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านซำผักหนาม ทำหน้าที่ดูแลชุมชนหนองจานแทนผู้ใหญ่บ้านมาแล้วเกือบ 40 ปี ตั้งแต่ชุมชนยังขึ้นอยู่กับบ้านผานกเค้า อ.ภูกระดึง จ.เลย รวมทั้งนำพาชาวบ้านต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินมาโดยตลอด

ทั้งบ้านซำผักหนามและชุมชนหนองจาน เคยได้รับผลกระทบจากโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) จนถูกอพยพออกจากพื้นที่ในปี 2534 และกลับเข้าทำกินอีกครั้งเมื่อโครงการ คจก. ถูกยกเลิกจากการต่อสู้คัดค้านของชาวบ้านทั่วภาคอีสาน ชุมชนถูกซ้ำเติมอีกจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่านทับที่อยู่และที่ทำกิน แต่ชาวบ้านได้ต่อสู้ให้เกิดกระบวนแก้ไขปัญหาร่วมกันกับรัฐ จนเกิดเป็นโครงการจอมป่า (Joint Management of Protected Areas – JoMPA) ที่ชาวบ้านร่วมมือกับอุทยานฯ ในการดูแลรักษาป่า และใช้ประโยชน์จากป่าอย่างยั่งยืน

หลังรัฐประหาร รัฐบาลได้ประกาศใช้แผนแม่บทป่าไม้ฯ เพื่อ ‘ทวงคืนผืนป่า’ ให้ได้ 40% ของพื้นที่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน จึงมีหนังสือแจ้งในเดือนมิถุนายน 2558 ว่า จะลงพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินทำกินในพื้นที่อุทยานฯ ภูผาม่านกว่า 10 ชุมชน ชาวบ้านจึงเกรงว่าจะเป็นการดำเนินการตามนโยบายการทวงผืนป่า และใช้การพิสูจน์สิทธิ์ตามมติ ครม. 30 มิ.ย.41 ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน จึงได้ร่วมกันคัดค้านการดำเนินการดังกล่าว โดยการเข้ายื่นหนังสือและเจรจากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ชะลอการดำเนินการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยังมีความพยายามที่จะลงสำรวจอีกหลายครั้ง ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.59 เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้เรียกประชุมชี้แจงเรื่องการลงพิสูจน์สิทธิอีกครั้ง และมีคำขู่ว่า หากใครไม่ยินยอมให้สำรวจการถือครองที่ดิน จะไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน และอาจจะถูกดำเนินคดี

X