แม้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม กว่า 574 คดี ยังต้องต่อสู้ต่อ

30 ก.ย. 2565 เป็นวันสุดท้ายของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 หลังคณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเลิกการประกาศในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร หากนับตั้งแต่ที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2563 และมีการขยายอายุการประกาศต่อเนื่องมาทุก 1-2 เดือน รวมทั้งหมด 19 ครั้ง จะรวมระยะเวลาที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉินคิดเป็น 919 วัน หรือ 2 ปี 6 เดือน กับอีก 6 วัน

ขณะเดียวกัน สองปีครึ่งที่ผ่านไป ก็เป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นไปด้วยความเข้มข้น ทั้งการเคลื่อนไหวของประชาชนภาคส่วนต่างๆ ในการขับไล่รัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากการรัฐประหาร และประเด็นความไม่เป็นธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม หรือการเคลื่อนไหวเรียกร้องด้านเศรษฐกิจของผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลในสถานการณ์โรคระบาด การชุมนุมในรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแทบจะรายวันในบางช่วง พร้อมๆ กับการใช้ “กฎหมาย” อย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดำเนินคดีต่อแกนนำและประชาชนที่ออกมาร่วมชุมนุมและแสดงออก ทำให้คดีเหล่านี้พุ่งสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และกระจายตัวในทั่วประเทศ

แม้จะมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ไม่ใช่การประกาศยกเลิกตัวบทกฎหมายอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลเป็นเพียงการประกาศยกเลิกอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงหน่วยงานที่ถูกตั้งขึ้นเฉพาะสำหรับรับมือสถานการณ์ยุติลง แต่คดีที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมทางการเมืองเหล่านี้ยังดำเนินต่อไปในกระบวนการยุติธรรม

>> 9 ข้อสังเกต กับ 2 ปี การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อการชุมนุม

.

ยอดผู้ถูกดำเนินคดีเฉียด 1,500 ราย ส่วนใหญ่เป็นคดีในกรุงเทพฯปริมณฑล

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสถานการณ์โควิด-19 จนถึงวันที่ 29 ก.ย. 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมืองไม่น้อยกว่า 1,468 คน ในจำนวน 661 คดี (หลายคนถูกดำเนินคดีในหลายคดี) ในจำนวนนี้เป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 241 คน ใน 157 คดี

หากเทียบเป็นค่าเฉลี่ย ในทุกๆ 1 วันตลอดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จะมีการดำเนินคดีข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อประชาชนจำนวน 1.59 คน หรือในทางกลับกันทุกๆ 1.39 วัน จะมีการดำเนินคดีข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมเกิดขึ้นจำนวน 1 คดี

หากพิจารณาพื้นที่ที่มีการดำเนินคดีในภูมิภาคต่างๆ พบว่าแยกเป็น

  • คดีในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวนอย่างน้อย 569 คดี ผู้ถูกดำเนินคดี 1,257 คน
  • คดีในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก จำนวนอย่างน้อย 12 คดี ผู้ถูกดำเนินคดี 22 คน
  • คดีในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวนอย่างน้อย 29 คดี ผู้ถูกดำเนินคดี 74 คน
  • คดีในพื้นที่ภาคอีสาน จำนวนอย่างน้อย 36 คดี ผู้ถูกดำเนินคดี 105 คน
  • คดีในพื้นที่ภาคใต้ จำนวนอย่างน้อย 15 คดี ผู้ถูกดำเนินคดี 54 คน

.

สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม แยกตามภูมิภาค (ข้อมูลวันที่ 29 ก.ย. 2565)

.

จะเห็นได้ว่าคดีส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล คือมากกว่า 4 ใน 5 ของคดีทั้งหมด ขณะที่ภาคอีสานและภาคเหนือมีจำนวนคดีในลำดับรองลงมา

หากแยกตามประเภทหรือช่วงเวลาของคดี จะพบว่ามี

  • คดีในช่วงระหว่างวันที่ 26 มี.ค. 2563 ถึงก่อนการชุมนุมเยาวชนปลดแอก วันที่ 18 ก.ค. 2563 มีจำนวน 7 คดี  
  • คดีในช่วงระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (ระหว่างวันที่ 15-22 ต.ค. 2563) จำนวน 35 คดี
  • คดีที่เป็นข้อหาเรื่องการฝ่าฝืนการออกนอกเคหสถานหลังเวลาเคอร์ฟิว จำนวน 88 คดี (ส่วนใหญ่เป็นคดีช่วงการชุมนุมที่บริเวณดินแดงในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 หลายคดีมีการแจ้งข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการควบคุมโรคด้วย)
  • คดีในลักษณะกิจกรรมคาร์ม็อบโดยขับยานพาหนะไปในพื้นที่ต่างๆ ของเมือง ส่วนใหญ่จัดในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม 2564 จำนวน 109 คดี โดยช่วงนี้เป็นช่วงที่มีคดีเกิดขึ้นกระจายตัวไปในหลายจังหวัดมากที่สุด (ดูรายงานคดีคาร์ม็อบ)
  • คดีที่มีข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ่วงกับข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ จำนวน 41 คดี  แม้ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ได้บัญญัติไม่ให้บังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่ตำรวจยังคงมีการกล่าวหาด้วยข้อหาจากกฎหมายสองฉบับนี้ซ้อนกัน

.

ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้องไปแล้วรวมกันไม่น้อยกว่า 51 คดี

ขณะเดียวกัน หากพิจารณาผลของคดีที่ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ล่าสุด จนถึงวันที่ 29 ก.ย. 2565 จะพบว่า

  • คดีที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นศาลอย่างน้อย 41 คดี ส่วนใหญ่ศาลพิพากษาลงโทษปรับ หรือให้รอการกำหนดโทษไว้
  • คดีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้วจำนวนอย่างน้อย 23 คดี
  • คดีที่ต่อสู้คดี และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วจำนวนอย่างน้อย 28 คดี
  • คดีที่ต่อสู้คดี และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเห็นว่ามีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 8 คดี

>> ดูข้อมูลเพิ่มเติม สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

.

ผลทางคดีเท่าที่ทราบข้อมูล ณ วันที่ 29 ก.ย. 2565

.

สำหรับคดีที่ต่อสู้คดีและศาลเห็นว่ามีความผิด พบว่าส่วนใหญ่ศาลพิพากษาลงโทษปรับ แต่มีจำนวน 2 คดี ที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก แต่ให้รอลงอาญาไว้ ได้แก่ คดีชุมนุม #Saveวันเฉลิม บริเวณสกายวอล์กปทุมวัน เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2563 ที่มี “เพนกวิน” พริษฐ์ และ “อั๋ว” จุฑาทิพย์ ถูกฟ้อง ศาลแขวงปทุมวันลงโทษจำคุก 2 เดือน โดยให้รอลงอาญาไว้ และคดีชุมนุม #ม็อบ11สิงหาไล่ล่าทรราช ที่มีประชาชน 7 ราย นำโดย “ป้าเป้า” วรวรรณ ถูกฟ้อง ศาลอาญาลงโทษจำคุกถึง 1 ปี โดยให้รอลงอาญาไว้

ในการวินิจฉัยในคดีกลุ่มนี้ซึ่งเป็นส่วนน้อยนั้น ศาลมีความเห็นไปในแนวทางที่ว่า ไม่จำเป็นต้องพิจารณาพฤติการณ์ชุมนุมว่าเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรค เกิดขึ้นในสถานที่แออัดหรือไม่ หรือมีความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่ เพราะมีผลเท่ากับว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่สามารถใช้บังคับ เพียงแค่จำเลยจัดการชุมนุมหรือเดินทางมาเข้าร่วม ก็ถือเป็นความผิดแล้ว

ขณะเดียวกัน แนวทางคดีกลุ่มใหญ่ ที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง หรือพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องนั้น สามารถสรุปเป็นประเด็นโดยภาพรวม ได้ดังต่อไปนี้

1. ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีหลายคน ต่อสู้ว่าตนเป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรมเท่านั้น ไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม แต่มีการเลือกดำเนินคดีต่อบางบุคคลอย่างเฉพาะเจาะจง ทั้งที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก พยานหลักฐานของผู้กล่าวหาคือตำรวจ ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้จัดกิจกรรม เมื่อไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้จัดกิจกรรม จึงไม่มีหน้าที่ต้องขออนุญาตในการจัดกิจกรรม และจัดมาตรการป้องกันโควิด-19 ต่างๆ

2. การชุมนุมที่เกิดขึ้นในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก แม้มีการรวมตัวกันบ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับแออัดเต็มพื้นที่ ผู้ชุมนุมและตำรวจยังเคลื่อนย้ายไปมาสะดวก เป็นไปในระยะเวลาอันสั้น และผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มีการสวมหน้ากากอนามัย ยังไม่เข้าข่ายเป็นการชุมนุมในสถานที่แออัดที่เป็นการเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค

ศาลที่มีคำพิพากษาเห็นว่าการตีความความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะต้องตีความภายใต้เจตนารมณ์ของการควบคุมมิให้โรคระบาดออกไปในวงกว้าง กรณีที่มีการรวมกลุ่มใกล้ชิดกันในพื้นที่เพียงบางส่วนของสถานที่ชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้อยู่ในสภาพคับแคบหรือหนาแน่นไปด้วยผู้คน จึงยังไม่อาจตีความว่าเข้าข่ายความผิดได้ 

3. การชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เพียงปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ถือเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้สิทธิตรวจสอบการทำงานของผู้ใช้อำนาจรัฐตามวิถีทางแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ยังไม่ถือเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยที่จะเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

4. คำพิพากษาของศาลบางคดี ได้ชี้ลงไปว่า ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง (หมายถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยตำแหน่ง) เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้กำหนดองค์ประกอบเพิ่มเติมไปจากข้อกำหนดที่ให้อำนาจไว้ ประกาศดังกล่าวย่อมไม่มีผลใช้บังคับ ศาลจึงไม่อาจนำมาลงโทษได้

นอกจากนั้น ยังมีศาลที่เห็นว่าการชุมนุมจะเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะต้องเป็นการชุมนุมที่มีลักษณะเป็นการกระทบต่อความมั่นคงต่อรัฐตามนัยความหมายของ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ในมาตรา 4 การที่จำเลย ชักชวนและมาร่วมการชุมนุมโดยสงบ จึงยังไม่ถือเป็นการกระทบต่อความมั่นคงของรัฐได้

ทั้งนี้ คดีเหล่านี้ ยังเป็นคำพิพากษาในส่วนของศาลชั้นต้น ฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยในคดีต่างๆ ยังมีการอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป หรืออยู่ระหว่างรอว่าจะมีการอุทธรณ์หรือไม่ ขณะที่ก็มีคดีที่สิ้นสุดแล้ว โดยไม่มีคู่ความอุทธรณ์คดีอีก ได้แก่ คดีชุมนุมที่จังหวัดอุดรธานี, คดีชุมนุมที่จังหวัดพะเยา หรือชุดคดีชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย ที่นักกิจกรรมถูกฟ้องแยกเป็นรายบุคคลในแต่ละคดี

.

ภาพรวมคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในชั้นต่างๆ ของกระบวนการยุติธรรม (ข้อมูลวันที่ 29 ก.ย. 2565)

.

คดีอีกไม่น้อยกว่า 574 คดี ยังดำเนินคดีอยู่

ขณะเดียวกันหากพิจารณาจากความคืบหน้าของคดีจำนวนไม่น้อยกว่า 661 คดี ดังกล่าว ณ วันที่ 29 ก.ย. 2565 พบว่ามี

  • คดีที่สิ้นสุดไปแล้ว จำนวน 87 คดี
  • คดีที่อยู่ในชั้นสอบสวน จำนวน 354 คดี
  • คดีที่อยู่ระหว่างต่อสู้ในศาลชั้นต้น จำนวน 190 คดี
  • คดีที่อยู่ระหว่างชั้นอุทธรณ์ หรือรอว่าจะมีการอุทธรณ์คดีหรือไม่ จำนวน 30 คดี

เท่ากับว่ายังมีคดีอีกไม่น้อยกว่า 574 คดี ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการยุติธรรมชั้นต่างๆ แม้จะยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วก็ตาม

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้นักกิจกรรมและประชาชนนับพันราย ยังคงมีภาระในการเดินทางมาต่อสู้คดี รวมทั้งการรายงานตัวในชั้นสอบสวนตามวันนัดหมาย ทำให้มีรายจ่าย ทั้งด้านค่าเดินทาง บางรายต้องเดินทางข้ามจังหวัด มีค่าที่พัก ค่าเสียเวลา รวมถึงผลกระทบต่อคนรอบข้าง และจิตใจของผู้ถูกดำเนินคดี

สุดท้ายแม้ผลคดีจะออกมาในรูปแบบของคำพิพากษาว่า จำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ไม่ได้มีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา หรืออัยการจะสั่งไม่ฟ้องคดีก็ตาม แต่ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายที่ต้องสูญเสียไปในกระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ว่าเป็น “ผู้บริสุทธิ์” มาตั้งแต่ต้นนั้น เป็นความสูญเสียที่ไม่อาจเรียกกลับคืนมาได้ รวมทั้ง “ต้นทุน” ของกระบวนการยุติธรรมเอง ที่ต้องใช้บุคลากรทั้งตำรวจ อัยการ และศาล มาดำเนินกระบวนการในคดีจำนวนมากเช่นนี้

ภาระทางคดีเช่นนี้ยังส่งผลเป็นการลดทอนการเคลื่อนไหวหรือกลายเป็นอุปสรรคในการแสดงออกของนักกิจกรรมเพิ่มขึ้นด้วย กล่าวได้ว่าการดำเนินคดีเหล่านี้มีลักษณะเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ หรือการฟ้องปิดปาก (SLAPPs) ที่เกิดขึ้นจำนวนมาก และอย่างกว้างขวางเป็นระบบ

ณ โอกาสที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลงนี้ รวมทั้งภาวะโควิด-19 ที่สิ้นสุดความเป็นโรคระบาดที่ร้ายแรงลง การดำเนินคดีต่างๆ เหล่านี้ ก็ควรยุติลงเช่นกัน

.

X