“เรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พรุ่งนี้จะมีการประชุมกันอีกครั้งหนึ่งว่ามันมีความจำเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดคือ พ.ร.ก.ฉบับนี้มีไว้เพื่ออะไร ผมเคยพูดมาหลายครั้งแล้วว่าหลายกฎหมายมันไม่ครอบคลุม ผมไม่ได้เอากฎหมายไปยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมอะไรทั้งสิ้นเลย ไม่เกี่ยวเลย พ.ร.บ.ชุมนุมการชุมนุมสาธารณะก็มีอยู่แล้ว ผมไม่ต้องไปสั่งการอะไรเพิ่มเติม”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึง การต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 63
“เรายังคงจำเป็นที่จะต้องต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปอีก 1 เดือน ด้วยเหตุผลที่เกี่ยวกับการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งตอนนี้ยังคงต้องระมัดระวังอยู่ เพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นยิ่งขึ้น ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า ไม่ได้เกี่ยวกับการชุมนุมของนักศึกษาในช่วงนี้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร ตอบว่า ไม่เกี่ยวๆ”
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ให้สัมภาษณ์ เรื่องการต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 63
“กรณีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองและการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษานั้น ฝ่ายความมั่นคงประเมินอย่างไร ว่า หากอยู่ในกรอบกฎหมาย ก็ไม่มีปัญหาอะไร และเราจะไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุมของเขาอยู่แล้ว”
พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 63
ข้อความดังกล่าวเป็นตัวอย่างคำให้สัมภาษณ์บางส่วนของทั้งรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคง ที่ย้ำเรื่อยมาว่าการต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ยังมีความจำเป็นต้องใช้กฎหมายเพื่อควบคุมโรค และ “บูรณาการ” การทำงานของหน่วยงานรัฐที่ดูแลเรื่องโรคระบาดต่อไป
ล่าสุด คณะรัฐมนตรียังได้มีมติให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือน คือตั้งแต่วันที่ 1-30 ก.ย. 63 ทำให้การประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ในประเทศไทยจะดำเนินไปไม่ต่ำกว่าครึ่งปีต่อเนื่องกันแล้ว ทั้งที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศก็ได้ลดระดับลงไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา แต่ก็ยังมีการต่ออายุการใช้กฎหมายมาโดยตลอดทุกเดือน และยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดลง
อีกทั้ง ข้อกล่าวอ้างเรื่องการไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับการชุมนุมทางการเมือง ก็ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐได้มีการนำกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินนี้มาใช้กล่าวหานักกิจกรรมและประชาชนที่ออกมาแสดงออกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่การดำเนินการในลักษณะนี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่ถูกกล่าวอ้างถึงความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายแต่อย่างใด
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าตั้งแต่มีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 63 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 26 ส.ค. 63 มีการนำกฎหมายฉบับนี้มาใช้กล่าวหาดำเนินคดีกับประชาชนซึ่งออกมาแสดงออกทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อยใน 17 คดี คิดเป็นผู้ถูกกล่าวหาจำนวน 63 คน โดยในจำนวนคดีดังกล่าว แทบทั้งหมดยังอยู่ในชั้นสอบสวน และมีจำนวน 1 คดี ที่มีรายงานการสั่งฟ้องคดีต่อศาลแล้ว
นอกจากนั้นนักกิจกรรมที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวหลายคนยังถูกกล่าวหาในหลายคดีด้วยกัน และบางคดีก็ถูกกล่าวหาในหลายข้อหาไปพร้อมกับข้อหาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกด้วย อีกทั้งการกล่าวหาดำเนินคดีก็ยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์การชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าในการขยายอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคม ได้มีการออกข้อกำหนดฉบับที่ 13 ความตอนหนึ่งระบุให้การใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าแม้ในการชุมนุมทางการเมืองในเดือนสิงหาคมนี้ ก็ยังพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีการนำข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้กล่าวหาผู้จัดการชุมนุมอยู่อีกด้วย ได้แก่ คดีการชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63
ต่อไปนี้เป็นตารางภาพรวมของกิจกรรมการชุมนุมทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาดำเนินคดีตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่าที่ศูนย์ทนายฯ ติดตามข้อมูลจนถึงปัจจุบัน
.
.
ข้อมูลคดีที่ถูกกล่าวหาตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ การชุมนุม จำนวน 17 คดี ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 63 คน
(ข้อมูลวันที่ 26 มี.ค. – 26 ส.ค. 63)
คดีที่ | วันที่เกิดเหตุ | จังหวัด | กิจกรรมที่เป็นสาเหตุของคดี | ชื่อ/จำนวนผู้ถูกกล่าวหา | สถานีตำรวจเจ้าของคดี | สถานะคดี |
1 | 13 พ.ค. 63 | กรุงเทพ | กิจกรรมรำลึก 10 ปี การถูกยิงเสียชีวิตของ “เสธฯ แดง” พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล บริเวณสวนลุมพินี | นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ กับพวก รวม 8 คน | สน.ลุมพินี | ชั้นอัยการ |
2 | 19 พ.ค. 63 | กรุงเทพ | กิจกรรมรำลึกครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์ล้อมปราบการชุมนุมคนเสื้อแดง บริเวณลานหน้าหอศิลป์กรุงเทพ | นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ กับพวก รวม 2 คน (ซ้ำ 1 คน) | สน.ปทุมวัน | ฟ้องคดีที่ศาลแขวงปทุมวัน นัดสอบคำให้การ 15 ก.ย. |
3 | 5 มิ.ย. 63 | กรุงเทพ | สนท.จัดกิจกรรม #Saveวันเฉลิม ที่สกายวอล์กปทุมวัน | นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กับพวก รวม 3 คน | สน.ปทุมวัน | ชั้นอัยการ และบางส่วนยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา |
4 | 8 มิ.ย. 63 | กรุงเทพ | ตัวแทนกป.อพช.ยื่นหนังสือถึงสถานทูตกัมพูชา เรียกร้องให้ติดตามกรณีหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ | นายณัฐวุฒิ อุปปะ กับพวก รวม 4 คน | สน.วังทองหลาง | ชั้นอัยการ |
5 | 8 มิ.ย. 63 | กรุงเทพ | กิจกรรหน้าสถานทูตกัมพูชา เรียกร้องขอความเป็นธรรมและให้ติดตามกรณีหายตัวไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ | นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข กับพวก รวม 6 คน | สน.วังทองหลาง | ชั้นอัยการ |
6 | 14 มิ.ย. 63 | ระยอง | กิจกรรม “ใครสั่งอุ้มวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” ที่สวนศรีเมือง อำเภอเมืองระยอง | นายภานุพงศ์ จาดนอก รวม 1 คน | สภ.เมืองระยอง | ชั้นตำรวจ |
7 | 24 มิ.ย. 63 | กรุงเทพ | สนท.-เยาวชนปลดแอก จัดรำลึก 88 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่สกายวอล์กปทุมวัน | นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กับพวก รวม 3 คน (ซ้ำ 3 คน) | สน.ปทุมวัน | ชั้นตำรวจ และบางส่วนยังไม่ได้เข้ารับข้อกล่าวหา |
8 | 15 ก.ค. 63 | ระยอง | แกนนำเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย ชูป้ายไล่พล.อ.ประยุทธ์ ระหว่างลงตรวจเยี่ยมพื้นที่ระยอง | นายภานุพงศ์ จาดนอก กับพวก รวม 2 คน (ซ้ำ 1 คน) | สภ.เมืองระยอง | ชั้นตำรวจและบางส่วนยังไม่ได้เข้ารับข้อกล่าวหา |
9 | 19 ก.ค. 63 | เชียงใหม่ | กิจกรรมชุมนุม #เชียงใหม่จะไม่ทนtoo ข่วงประตูท่าแพ | นายธนาธร วิทยเบญจางค์ กับพวก รวม 4 คน | สภ.เมืองเชียงใหม่ | ชั้นอัยการ |
10 | 20 ก.ค. 63 | กรุงเทพ | กิจกรรมคัดค้านความคิดเห็นของอดีตรองโฆษกกองทัพบก กล่าวหาการชุมนุมนักศึกษาเป็น #ม็อบมุ้งมิ้ง หน้ากองบัญชาการกองทัพบก | นายอานนท์ นำภา กับพวก รวม 5 คน (ซ้ำ 2 คน) | สน.นางเลิ้ง | ชั้นตำรวจ |
11 | 24 ก.ค. 63 | ลำพูน | กิจกรรมชุมนุม #คนลำพูนก็จะไม่ทนโว้ย ลานอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี | นายธนวัฒน์ วงค์ไชย กับพวก รวม 2 คน (ซ้ำ 1 คน) | สภ.เมืองลำพูน | ชั้นตำรวจ |
12 | 25 ก.ค. 63 | เชียงราย | กิจกรรมชุมนุม #คนเจียงฮายก้ายคนง่าวบ่เอาคนหลายใจ ที่หอนาฬิกาเชียงราย | นักศึกษาในจังหวัดเชียงราย 1 คน | สภ.เมืองเชียงราย | ชั้นตำรวจ |
13 | 26 ก.ค. 63 | ลำปาง | กิจกรรมชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ ที่หอนาฬิกาลำปาง | นายพินิจ ทองคำ กับพวก รวม 4 คน (ซ้ำ 3 คน) | สภ.เมืองลำปาง | อยู่ระหว่างออกหมายเรียก |
14 | 27 ก.ค. 63 | พะเยา | กิจกรรมชุมนุม #คนพะเยาบ่เอาแป้ง ที่หน้ามหาวิทยาลัยพะเยา | นายชินภัทร วงค์คม กับพวก รวม 5 คน (ซ้ำ 3 คน) | สภ.แม่กา | อยู่ระหว่างออกหมายเรียก |
15 | 18 ก.ค. 63 | กรุงเทพ | กิจกรรมชุมนุม #เยาวชนปลดแอก อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย | นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวก รวม 31 คน (ซ้ำ 8 คน) | สน.สำราญราษฎร์ | ชั้นตำรวจ และบางส่วนยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อหา |
16 | 23 ก.ค. 63 | ขอนแก่น | กิจกรรมชุมนุม #อีสานบ่ย่านเด้อ ที่สวนรัชดานุสรณ์ | นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา กับพวก (ทราบรายชื่อผู้ถูกออกหมายเรียก 2 ราย) (ซ้ำ 1 คน) | สภ.เมืองขอนแก่น | อยู่ระหว่างออกหมายเรียก |
17 | 10 ส.ค. 63 | ปทุมธานี | กิจกรรมชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่มธ.ศูนย์รังสิต | นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กับพวก รวม 6 คน (ซ้ำ 3 คน) | สภ.คลองหลวง | ชั้นตำรวจ และบางส่วนยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อหา |
อ่านปัญหาการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่มเติมใน
ข้อสังเกตทางกฎหมายต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อรับมือโควิด-19
5 เหตุผล “ไม่ควร” ต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ อีกต่อไป
ก่อนการต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ รอบ 2 ที่ไม่ฉุกเฉิน-ไม่ยึดโยงประชาชน: ข้อสังเกตทางกฎหมายฯ
ส่องการผลักดันโครงการรัฐที่กระทบประชาชน ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วม
‘โควิด-19’ กับสิทธิที่หายไป: สำรวจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประเด็นการละเมิดสิทธิ และหนทางออกจากวิกฤตโรคระบาด