ศาลลงโทษจำคุก 1 ปี ข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีป้าเป้าและเพื่อน ชุมนุม #ม็อบ11สิงหา64 แต่ให้รอการลงโทษ ข้อหาอื่นยกฟ้อง

พิพากษาคดีชุมนุม #11สิงหาไล่ล่าทรราช จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท รอลงโทษ 3 ปี คุมประพฤติ 2 ปี “ป้าเป้า” และประชาชนรวม 8 ราย ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ยกฟ้องข้อหาอื่น ศาลระบุไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่ากิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดหรือไม่ เพียงทำก็เป็นความผิดแล้ว แต่พฤติการณ์ไม่รุนแรงถึงขนาดทำร้ายเจ้าพนักงาน จำเลยเตรียมสู้ชั้นอุทธรณ์ต่อไป

2 ส.ค. 2565 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของ วรวรรณ แซ่อั้ง หรือ “ป้าเป้า” และประชาชนรวม 8 รายที่ถูกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 215 และ 216 กรณีถูกจับกุมจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 หรือ #ม็อบ11สิงหาไล่ล่าทรราช จัดโดยกลุ่มทะลุฟ้า ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยทั้งหมดเป็นเพียงประชาชนทั่วไป ไม่ได้เป็นแกนนำหรือนักกิจกรรม

ผ่านมาหนึ่งเกือบหนึ่งปีเต็มนับจากวันเกิดเหตุ จำเลยและทนายความในคดีนี้ ทยอยเดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดี 713 ตั้งแต่ก่อนเวลา 9.00 น. จวบจน “ป้าเป้า” ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 เดินทางมาถึงห้องพิจารณาเป็นคนสุดท้ายเมื่อราว 9.20 น. วันนี้จำเลยทุกคนมาศาล ขาดแต่เพียงจำเลยที่ 5 ที่ไม่มาศาล เนื่องจากไม่สามารถติดต่อได้ตั้งแต่ช่วงการสืบพยาน ทำให้ถูกศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว เหลือจำเลยรวม 7 ราย 

อ่านบันทึกการสืบพยานในคดีนี้ เปิดบันทึกสืบพยานคดี 7 ผู้ถูกจับ #ม็อบ11สิงหา64 จำเลยยันไม่ได้ไปร่วมชุมนุม ซ้ำยังถูก คฝ. ทำร้ายขณะจับกุม

.

ด้านมาตรการรักษาความปลอดภัยของศาล มีตำรวจศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจำนวน 4 นาย คอยยืนเฝ้าระวังอยู่ภายนอกห้องพิจารณา ส่วนภายในห้องพิจารณามีเจ้าหน้าที่จากกรมราชทัณฑ์คอยเฝ้าประกบผู้ต้องหาอีกเป็นจำนวน 4 คน 

วันนี้ศาลนั่งบัลลังก์เพื่อพิจารณาคดีอื่นก่อนแล้ว ส่วนนัดฟังคำพิพากษานั้น เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์แจ้งแก่จำเลยและทนายความว่า ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดีขอนำคำพิพากษาไปปรึกษาหารือกับรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาก่อน และจะกลับลงมาอ่านคำพิพากษาในช่วงเวลาก่อนเที่ยง

ระหว่างรอคอย ด้วยความสนุกสนานและอารมณ์ดีของป้าเป้าและกลุ่มจำเลย บรรยากาศโดยรวมจึงเป็นไปโดยผ่อนคลาย จนเมื่อราวเวลา 11.00 น. ผู้พิพากษานั่งบัลลังก์ โดยได้เริ่มสอบถามว่าจำเลยคนใดที่ยังคงเรียนอยู่ เรียนอยู่ที่ใด และขอให้จำเลยกลับไปทบทวนว่าจะจัดการชีวิตของตนเองอย่างไรต่อหลังจากได้ฟังคำพิพากษาแล้ว หลังจากนั้นจึงเริ่มอ่านคำพิพากษา

เนื้อหาของคำพิพากษาในช่วงแรกได้กล่าวถึง ข้อกล่าวหาที่อัยการโจกท์ได้ฟ้องเป็นคดีแก่จำเลยทั้งหมด 3 ข้อหาหลัก คือ หนึ่ง จัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับที่ 30 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ 

สอง ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีหรือใช้อาวุธ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 และ 140 

สาม รวมตัวกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้กระทำการคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ และเจ้าพนักงานได้สั่งให้ผู้มั่วสุมเลิกไป แต่ไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ 216 

ต่อมาจึงเข้าสู่ส่วนของการวินิจฉัย สรุปใจความได้ว่า แม้ว่ากิจกรรมการชุมนุมจะจัดขึ้นในสถานที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก และไม่เข้าข่ายต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งจำเลยทั้งแปดไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรม เป็นแต่เพียงผู้เข้าร่วม แต่หากพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อใช้รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองแล้ว กรณีเช่นนี้ จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาในประเด็นอื่นอีก เช่นว่ากิจกรรมนั้นจัดขึ้นที่ใด เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดหรือไม่ หรือจำเลยเป็นผู้จัดกิจกรรมหรือไม่ เพียงแต่จำเลยได้เข้าร่วมกิจกรรมและมีจำนวนมากกว่าห้าคนขึ้นไป ในพื้นที่ที่ซึ่งประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดแล้ว หากปล่อยให้จำเลยสามารถกระทำกิจกรรมดังกล่าวได้ ย่อมไม่สามารถรักษาความสงบให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองได้ 

ส่วนข้อกล่าวหาที่สองและสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138, 140, 215 และ 216 พิจารณาจากคำเบิกความของปากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เบิกความว่า ผลการตรวจค้นอาวุธนั้นไม่พบในตัวจำเลย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าควบคุมสถานการณ์ก็ไม่ได้รับบาดเจ็บหรือได้รับอันตรายแต่อย่างใด จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ขว้างปาสิ่งของ ระเบิด หรือยิงหนังสติ๊กลูกแก้วใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ 

อาจเป็นไปได้ว่ามาจากผู้ชุมนุมคนอื่นซึ่งไม่ใช่จำเลย และแม้จะปรากฎภาพว่ามีการยื้อรั้งฉุดกระชากระหว่างจำเลยและเจ้าหน้าที่ตำรวจจริง แต่การกระทำดังกล่าวไม่รุนแรงถึงขนาดเป็นการต่อสู้หรือขัดขวางพนักงานเจ้าหน้าที่ ศาลเห็นควรให้ยกฟ้องทั้งสองข้อกล่าวหา

ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหมดในข้อหาเดียว คือ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับคนละ 20,000 บาท แต่เนื่องจากจำเลยหลายคนเป็นผู้มีการงานเป็นหลักแหล่ง บางคนยังอยู่ระหว่างศึกษาเล่าเรียน อีกทั้งเป็นการกระทำความผิดครั้งแรก จำเลยทั้งหมดไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสทบทวนความผิดของตนไว้เป็นบทเรียน จึงเห็นควรให้รอการลงโทษจำคุก มีระยะเวลา 3 ปี ให้คุมประพฤติจำเลยเป็นระยะเวลา 2 ปี รายงานตัวกับเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ 8 ครั้ง และทำงานบริการสังคมจำนวน 24 ชั่วโมง 

.

.

เมื่อฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้น ทนายความ นายประกันและจำเลยทั้ง 7 คน จึงได้เดินออกจากห้องพิจารณาคดี ไปทำเรื่องจ่ายค่าปรับที่ฝ่ายงานค่าปรับในชั้น 2 ของศาลอาญา

เมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจในคำตัดสินของคดี หลายคนบอกว่าโอเคในระดับหนึ่ง แต่ยังเรียกว่าพึงพอใจไม่ได้ คงต้องต่อสู้กันต่อไปในชั้นอุทธรณ์ 

“โอเคในระดับหนึ่ง ที่ศาลยกฟ้องในข้อหาอื่น อย่างเช่นข้อหาทำร้ายเจ้าหน้าที่ เพราะฝ่ายเราในวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ไม่มีใครที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่” เอกณัฏฐ์ จำเลยที่ 4 เป็นตัวแทนของกลุ่มจำเลยให้ความเห็น

“พวกเราในชุดที่ถูกจับกุม มีแต่ฝ่ายเราที่ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย แต่ละคนได้บาดแผล ได้รับบาดเจ็บกันถ้วนหน้า ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่ปรากฎในคลิปที่ถูกเจ้าหน้าที่ทำร้าย ซึ่งเดี๋ยวต้องสู้กันในศาลอุทธรณ์ต่อไป เพราะในวันนั้น หลายๆ คนที่ไป ไม่ได้ไปชุมนุม อย่างเช่นที่ผมที่ไปคือขับรถผ่านและแวะเข้าไปดู และถูกเจ้าหน้าที่จับกุม”

ป้าเป้าเสริมน้ำหนักให้กับเอกณัฏฐ์ เมื่อหันไปถามว่ารู้สึกเช่นเดียวกับเขาหรือไม่ “ก็รู้สึกเหมือนกันกับน้องเขา เราไม่ควรเป็นผู้ต้องหาด้วยซ้ำ พวกเขาบางคนอาจไปเรียกร้อง ยายเองก็ไปขายของ หลานๆ บางคนก็ไม่ได้ไปชุมนุม ผ่านไปเขาก็แวะ แต่ศาลเขาไม่ฟังหรอก” 

เอกณัฏฐ์ยังพูดทิ้งท้ายถึงความหมายของการดำเนินคดีในครั้งนี้ “ในเมื่อระบบยุติธรรมในประเทศไทยเป็นแบบนี้ ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ดีนะที่เราถูกจับกุมในวันนั้น มันเป็นเหมือนการสร้างเมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ ให้คนอื่นเห็น โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อน”

“อย่างหลายๆ เหตุการณ์ ที่ม็อบถูกทำร้าย ถูกเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม ถ้าวันต่อมามีการชุมนุมเกิดขึ้น ก็จะเห็นคนใหม่ๆ เห็นคนที่ไม่สามารถทนเห็นคนบริสุทธิ์ถูกทำร้ายได้ออกมาแสดงพลัง” 

.

X