ระหว่างวันที่ 21-22 และ 24 มิ.ย. 2565 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ห้องพิจารณาคดี 713 มีนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยคดีของ วรวรรณ แซ่อั้ง หรือ “ป้าเป้า” พร้อมประชาชน รวม 8 ราย ซึ่งถูกจับกุมจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 หรือ #ม็อบ11สิงหาไล่ล่าทรราช จัดโดยกลุ่มทะลุฟ้า ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยทั้งหมดเป็นเพียงประชาชนทั่วไป ไม่ได้เป็นแกนนำหรือนักกิจกรรม
บรรยากาศในห้องพิจารณาตลอดสามวันเป็นไปอย่างราบรื่น จำเลยทุกรายมาศาล ยกเว้นจำเลยที่ 5 ที่ไม่มาศาล เนื่องจากติดต่อจำเลยไม่ได้ ทำให้ถูกศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว เหลือจำเลยรวม 7 ราย ในการสืบพยาน ศาลไม่ได้สั่งเก็บเครื่องมือสื่อสารและไม่ได้ห้ามการจดบันทึก รวมถึงให้ญาติและผู้เกี่ยวข้องกับจำเลยเข้าฟังการพิจารณาได้
หลังสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลอาญากำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 2 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนทบทวนแนวทางการต่อสู้ในคดีนี้ และปากคำของพยานที่ถูกเบิกความระหว่างพิจารณาในชั้นศาล
.
ย้อนลำดับเหตุการณ์ #ม็อบ11สิงหา64 ก่อนอ่านบันทึกสืบพยานระหว่างจนท.รัฐและจำเลย
การชุมนุม #ม็อบ11สิงหา เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 เวลา 15.00 น. กลุ่มทะลุฟ้าได้นัดมวลชนทำกิจกรรม “ไล่ทรราช” บริเวณเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเตรียมเคลื่อนขบวนไปยังบ้านพักของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กรมทหารราบที่ 1 เพื่อเรียกร้องให้ลาออก
เวลา 15.10 น. กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการปราศรัยโจมตีรัฐบาล ต่อด้วยกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เผาศาลพระภูมิและหุ่นจำลองของผู้พิพากษาที่มักมีคำสั่งไม่ให้ประกันผู้ต้องขังทางการเมือง
เวลา 15.40 น. หลังกลุ่มทะลุฟ้าเริ่มทำกิจกรรม “เผาศาลพระภูมิจำลองและหุ่นจำลอง” บนถนนราชวิถี เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรและเจ้าหน้าที่ขนส่งมวลชนกรุงเทพได้ปิดถนนพหลโยธิน ขาเข้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) ได้ตั้งแนว ถือโล่ เพื่อเป็นการผลักดันให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นผิวการจราจร
.
.
ด้านกลุ่มผู้ชุมนุมรวมกลุ่มคล้องแขนกัน เรียงแถวหน้ากระดานยืนประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ และเริ่มขว้างปาสิ่งของ รวมถึงถุงบรรจุสีม่วง และสีเหลืองใส่เจ้าหน้าที่ โดยมีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งคอยตะโกนห้ามปรามไม่ให้โยนสิ่งของเข้าไป ก่อนที่ 5 นาทีต่อมาจะมีเสียงดังคล้ายระเบิดคาดว่าเป็นการยิงแก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ พร้อมกับการเข้าควบคุมสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ด้วยการยิงกระสุนยาง แก๊สน้ำตา ทำให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายไปคนละทิศละทาง ระหว่างนั้นมีรายงานว่าผู้ชุมนุมบางส่วนถูกควบคุมตัวขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาไป
ต่อมาเวลา 15.55 น. กลุ่มทะลุฟ้าประกาศยุติการชุมนุมหลังเริ่มกิจกรรมได้ไม่ถึง 1 ชั่วโมง
.
.
หลังการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผู้ชุมนุมบางส่วนได้มุ่งหน้าไปยังถนนวิภาวดี แต่เจ้าหน้าที่ได้ใช้คอนเทนเนอร์ปิดกั้นถนนวิภาวดีช่วงบริเวณแยกดินแดง และมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ คฝ. บนทางด่วนดินแดง ด้าน คฝ. ยังคงใช้กระสุนยาง และแก๊สน้ำตายิงลงมาใส่กลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ด้านล่างต่อเนื่อง จนทำให้ผู้ชุมนุมถอยร่นกลับไป
กระทั่งเวลา 19.30 น. เจ้าหน้าที่ คฝ.เข้ากระชับพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง มีผู้ถูกจับกุมบริเวณถนนดินแดง จำนวน 3 ราย และมีเยาวชนถูกจับกุม บริเวณกรมแพทย์ทหารบก อีก 1 ราย
.
คฝ.เดือดไล่จับปชช. 17 ราย พร้อมแจ้งข้อหาหลัก “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” มีปชช.หลายรายบาดเจ็บจากการสลายชุมนุม
ในวันดังกล่าวมีประชาชนถูกจับกุมรวมกัน 17 ราย (ผู้ใหญ่ 15 ราย และเยาวชน 2 ราย) ทั้งหมดถูกควบคุมตัวไปที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ภายในสโมสรตำรวจ
สำหรับประชาชนที่ถูกจับกลุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จำนวน 14 ราย (เป็นเยาวชน 2 ราย อายุ 17 ปี และ 15 ปี) ถูกแจ้งข้อหา 4 ข้อหา
ส่วนเยาวชนชายอายุ 15 ปี ถูกจับกุมจากบริเวณหน้ากรมการแพทย์ทหารบก และถูกนำตัวไปภายใน บช.ปส. ก่อนถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกจากเคหสถานในช่วงเวลาเคอร์ฟิว
ก่อนที่ 2 วันถัดมา ศาลอาญา รัชดาฯ ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุม 11 ราย ด้วยวงเงินทั้งหมดเกือบสี่แสนบาท
สำหรับผู้ที่ถูกจับกุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อัยการได้สั่งฟ้อง 2 ชุดต่อศาลอาญา ได้แก่ ชุด “ป้าเป้า” พร้อมกับผู้ชุมนุมรายอื่น รวม 8 ราย และ ชุด “เมษา” พร้อมกับผู้ชุมนุมรายอื่น รวม 4 ราย ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่าได้ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 215 และ 216
คำฟ้องของทั้งสองกลุ่มคล้ายคลึงกัน แตกต่างเพียง ชุดป้าเป้า ถูกกล่าวหาว่า ขัดขวางโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนเจ้าหน้าที่ คฝ. บาดเจ็บ 1 ราย ส่วนชุดเมษา มีเจ้าหน้าที่ คฝ. บาดเจ็บ 2 ราย
จากปฏิบัติการปราบปรามผู้ชุมนุมในวันดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีประชาชนได้รับบาดเจ็บซึ่งสามารถระบุตัวผู้บาดเจ็บได้อย่างน้อย 13 ราย เป็นเยาวชนชายอายุ 17 ปี 1 ราย
ทั้งนี้ ในวันดังกล่าวผู้ถูกจับกุมหลายรายมีบาดแผลจากการถูกทำร้าย ทั้งแผลจากการถูกกระบองของเจ้าหน้าที่ตี หรือบางรายถูกกระสุนยาง รวมไปถึงประชาชนที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมก็ถูกลูกหลงจากปฏิบัติของเจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บ และระบุผู้บาดเจ็บไม่ได้ 3 ครั้ง
.
.
จากจำนวนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเช้าบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถูกเจ้าหน้าที่ไล่ตี กระชากลงจากพาหนะหรือโดนกระสุนยาง เช่น หญิงไม่ทราบชื่อเปิดหน้าท้องโชว์แผลกระสุนยางให้ผู้สื่อข่าวดู หรือกรณี ไลลา ช่างภาพสื่ออิสระ (ไม่มีปลอกแขน) ถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. ตีเข้าที่ไหล่ เธอได้ใช้กล้องขึ้นมาบังพอดี ทำให้ฟิลเตอร์แตกและเลนส์บุบ พร้อมระบุว่า จังหวะที่เจ้าหน้าที่ คฝ. กำลังไล่จับผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการเตือนหรือพูดอะไรก่อนที่จะตี
ส่วนอีกกลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บ คือ ช่วงกลางคืนบริเวณถนนดินแดง กรณีแรกผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเนชั่นไลฟ์สด บริเวณหน้าแฟลตดินแดง ช่วงเวลาประมาณ 21.00 น. พบเจ้าหน้าที่ คฝ. ชุดเคลื่อนที่เร็ว อย่างน้อย 5 คันรถ ได้ใช้ปืนลูกซองบรรจุกระสุนยางไล่ยิงกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนที่ยังไม่สลายตัว ทำให้ประชาชนบริเวณนั้น รวมไปถึงผู้ใช้รถบนท้องถนนรายอื่นๆ เกิดความแตกตื่น และหนีกระจายตัวเข้าซอยไป
ในเหตุชุลมุนดังกล่าว ผู้สื่อข่าวยังได้รายงานว่า เจ้าหน้าที่ คฝ. กว่า 10 ราย ยืนล้อมชายไม่ทราบชื่อรายหนึ่งพร้อมรถจักรยานยนต์ที่ล้มลงมา ทำให้ถนนเส้นนั้นเกิดการจราจรติดขัด ขณะผู้สื่อข่าวพยายามเข้าไปถ่ายภาพเหตุการณ์ แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่กีดขวาง พร้อมไล่ให้ออกไป เนื่องจากไม่ใช่ผู้ที่เกี่ยวข้อง แม้ผู้สื่อข่าวจะมีปลอกแขนที่แสดงตัวและยินดีที่จะให้เจ้าหน้าที่ตรวจบัตรผู้สื่อข่าว แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปรายงานเหตุการณ์บริเวณที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการได้
หลังชายรายดังกล่าวถูกปล่อยตัวผู้สื่อข่าวได้ตามไปก่อนพบว่า เป็นชายสูงวัยที่กำลังเดินทางกลับบ้านหลังเยี่ยมลูกชายที่ย่านดินแดง โดยมีบาดแผลที่ตาซ้ายพร้อมเลือดที่ไหลออกมา ด้านผู้บาดเจ็บระบุว่าถูกไม้ของเจ้าหน้าที่ตี หนำซ้ำเจ้าหน้าที่ยังได้บอกตนอีกว่า “หากไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลจะถูกจับ” ก่อนที่ผู้สื่อข่าวจะเรียกแพทย์อาสาที่ขับรถผ่านมาปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้กับชายรายดังกล่าว
ส่วนอีกรายเป็นเพียงเยาวชนอายุ 17 ปี ขณะกำลังขับขี่รถเพื่อกลับบ้าน ถูกเจ้าหน้าที่คฝ.ชุดเคลื่อนที่เร็วยิงกระสุนยางมาถูกที่ศีรษะจนหมดสติ ก่อนถูกนำส่งตัวไปโรงพยาบาลในเวลาต่อมา
นอกจากผู้บาดเจ็บที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น ยังมีประชาชนอีกหลายรายที่ได้รับบาดเจ็บจากเจ้าหน้าที่ คฝ. ในช่วงเช้า และช่วงเวลากลางคืนอีกด้วย
ย้อนอ่าน >>> ยอดคนเจ็บม็อบเดือนสิงหา ไม่น้อยกว่า 115 ราย เป็นเด็กเยาวชน 32 ราย และไม่สามารถระบุผู้บาดเจ็บได้อีก 19 กรณี
.
ภาพรวมของการสืบพยาน
คดีนี้ ศาลนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยไปเมื่อวันที่ 21-22 และ 24 มิ.ย. 2565 ข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์พยายามชี้ให้เห็นว่า จำเลยทั้งหมดได้ร่วมกันทำกิจกรรมรวมกลุ่ม “11 สิงหา ไล่ล่าทรราช” ในวันดังกล่าวมีการปราศรัยวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เรื่องการจัดหาวัคซีน กล่าวโจมตีการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 มีการเผาหุ่นฟางใกล้บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่แออัด ไม่ได้มีมาตรการป้องกันโรคระบาดตามที่ทางรัฐบาลกำหนด
อีกทั้ง จำเลยทั้งหมดยังได้ร่วมกันกีดขวางการจราจร และยังได้ขว้างปาสิ่งของ ใช้หนังสติ้กยิงลูกเหล็ก ปาระเบิดปิงปองใส่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ควบคุม ทั้งยังเป็นการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้กระทำการคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ และเมื่อเจ้าหน้าที่ประกาศให้หยุดการกระทำ กลับไม่ยอมหยุด
สำหรับข้อต่อสู้ของจำเลย ได้แก่ จำเลยไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม ผู้ชุมนุม หรือสมาชิกทะลุฟ้า เป็นเพียงมวลชนที่อยู่ในเหตุการณ์ จึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งการชุมนุม และการชุมนุมดังกล่าวเป็นการเรียกร้องเกี่ยวกับเรื่องรักษาพยาบาล และการสาธารณสุข ซึ่งเป็นข้อยกเว้นที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
รวมไปถึงตัวจำเลยได้สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ทั้งพื้นที่เกิดเหตุเป็นที่โล่งแจ้ง ไม่แออัด จึงไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด สำหรับข้อกล่าวหาที่ระบุว่าจำเลยได้ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ทนายได้ยื่นหลักฐานคลิปวิดีโอที่จำเลยถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. ทำร้ายขณะจับกุม เพื่อชี้ให้เห็นปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นไปเกินกว่าเหตุ และการตรวจค้นจำเลยแต่ละรายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ไม่ได้พบอาวุธใดๆ ตามข้อกล่าวหา
.
ตร.ยันการชุมนุมแออัด ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งยังกล่าวหาจำเลยทั้ง 7 ว่าก่อเหตุ “โยนระเบิด-ยิงหนังสติ๊ก” ใส่ คฝ. แต่หลังค้นตัวไม่พบสิ่งผิด กม.
สำหรับพยานในฝ่ายโจทก์แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด 4 นาย ได้แก่ พ.ต.ท.ฐิติวุธ ร่อนแก้ว ผู้กำกับการชุดควบคุมฝูงชน 7, พ.ต.ท.ธวัช เนียมสิน เจ้าหน้าที่ คฝ. ผู้เสียหาย, พ.ต.ต.นิติพงษ์ มหศักดิ์สุนทร พนักงานสืบสวน สน.พญาไท และ ร.ต.อ.จีรศักดิ์ บุญยืนนาน พนักงานสอบสวน สน.พญาไท หนึ่งในคณะผู้จัดทำสำนวนคดี และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง 1 ราย คือ วิชัย บุญช่วยชู นักวิชาการสำนักงานเขตราชเทวี
ในภาพรวม พยานกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าเบิกความในลักษณะคล้ายคลึงกันโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 เพจเฟซบุ๊กทะลุฟ้าได้โพสต์เชิญชวนชุมนุมในกิจกรรม “11สิงหาไล่ล่าทรราช” ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เวลา 15.00 น. ด้าน พ.ต.ท.ฐิติวุธ ได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการแต่งตั้งเป็น ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 7 เพื่อไปควบคุมดูแลการชุมนุมดังกล่าว
เวลา 15.30 น. พ.ต.ท.ฐิติวุธ พร้อมชุดเจ้าหน้าที่ คฝ. 1 กองร้อย และมีอีกหนึ่งกองร้อยตามมาสมทบในภายหลัง พบว่ามีผู้ชุมนุมราว 200 คน พร้อมรถติดตั้งเครื่องขยายเสียง 1 คัน ได้ร่วมกันทำกิจกรรมรวมกลุ่มกัน โดยมีการปราศรัยวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล รวมไปถึงปราศรัยเรื่องการจัดหาวัคซีน
ขณะทำกิจกรรมผู้ร่วมชุมนุมยืนในลักษณะที่ใกล้ชิดกัน ไม่มีมาตรการคัดกรองผู้เข้าร่วมและป้องกันโควิด แม้ว่าทุกคนจะใส่หน้ากากอนามัย แต่บางช่วงเวลาก็มีบางคนดึงหน้ากากลง รวมถึงมีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่สามารถให้บริการมวลชนทั้งหมดได้ อันมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคได้
เวลาต่อมา ผู้ชุมนุมได้เดินลงถนน ทำกิจกรรมเผาหุ่นและศาลจำลอง เพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ บนถนนราชเทวี พ.ต.ท.ฐิติวุธ เบิกความว่า หลังผู้ชุมนุมเจตนาลงไปถนนเพื่อทำกิจกรรม ซึ่งขัดขวางการจราจรจึงสั่งการเคลื่อนกำลังพล จัดกองกำลังตั้งแนว เพื่อยุติการกระทำดังกล่าว
ด้าน พ.ต.ท.ธวัช เบิกความว่า เมื่อชุมนุมเห็นดังนั้น “เหมือนผู้ชุมนุมจะวิ่งปรี่เข้ามาหาตำรวจ” พร้อมคล้องแขนตั้งแถวหน้ากระดานประจันหน้ากับเจ้าหน้าที่ ก่อนเจ้าหน้าที่จะถอยหลังปรับตั้งแนว แสดงกำลัง และยืนยันว่า เจ้าหน้าที่คฝ.ไม่ได้เข้าปะทะกลุ่มผู้ชุมนุม
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังเบิกความในลักษณะเดียวกันว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมได้ขว้างปาสิ่งของใส่แนวตำรวจ อย่างการขว้างปาสี ปาระเบิดปิงปอง ยิงหนังสติ๊กลูกแก้ว และหัวน็อต ทั้งผู้ชุมนุมได้ต่อต้านเจ้าหน้าที่ที่ทำการจับกุม โดยยื้อกระชากกับเจ้าหน้าที่
พ.ต.ท.ธวัช เจ้าหน้าที่ คฝ. ผู้เสียหายเบิกความว่า พยานไม่ได้รับบาดเจ็บมาก โดยถูกสีที่ผู้ชุมนุมขว้างมาโดนหน้าแข้ง แม้การชุมนุมดังกล่าวไม่มีการรายงานว่ามีการได้รับบาดเจ็บรุนแรง เนื่องจากมีอุปกรณ์ป้องกัน แต่พยานยืนยันว่าในขณะนั้นได้ยินเสียงลูกแก้วกระทบกับโล่
ขณะที่ พ.ต.ต.นิติพงษ์ พนักงานสืบสวน สน.พญาไท ในวันเกิดเหตุแต่งกายนอกเครื่องแบบ เพื่อสังเกตการณ์ และสืบสวนคดี รวมถึงเป็นผู้บันทึกภาพและวิดีโอในสำนวน เบิกความยืนยันว่า ผู้ชุมนุมปาระเบิดปิงปองและประทัด ทำให้เจ้าหน้าที่ คฝ. ใช้แก๊สน้ำตาเพราะผู้ชุมนุมไม่ยอมสลายการชุมนุม ก่อนเข้าจับกุมผู้ชุมนุมได้ 13 ราย และนำตัวไปควบคุมที่ บช.ปส.
ก่อนทนายจำเลยถามค้านถึงเครื่องแต่งกายของเจ้าหน้าที่ คฝ. พ.ต.ท.ฐิติวุธ และ พ.ต.ท.ธวัช เบิกความตรงกันว่า วันดังกล่าวได้สวมหมวกกันสะเก็ด ใช้กระจกป้องกันหน้าที่ติดมากับหมวกป้องกันใบหน้า และมีการสวมเสื้อคลุมสะเก็ดเพื่อป้องกันอันตรายต่อร่างกาย รวมถึงมีสนับหน้าแข้ง สวมรองเท้าคอมแบทและมีอาวุธปืนลูกซองยิงกระสุนยางเป็นอาวุธประจำกาย ซึ่งปืนทุกกระบอกถูกบรรจุด้วยกระสุนยางทั้งหมด
พ.ต.ท.ฐิติวุธ ยืนยันว่า วันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ คฝ. ผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่มีการใช้กระสุนยาง แต่อีกกองร้อยหนึ่งจะมีการใช้หรือไม่ พยานไม่ยืนยัน
ส่วนของกลางในคดี อย่างระเบิด หนังสติ๊ก ลูกแก้ว หัวน็อต หรือถุงสี พยานไม่ได้ยึดสิ่งของเหล่านี้โดยอ้างว่าบุคคลที่กระทำดังกล่าวได้หลบหนีจึงไม่ได้ยึด และหลังจากตรวจค้นร่างกายผู้ถูกจับกุมไม่ผิดสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด
.
.
พนักงานสอบสวนรับจำเลยทั้ง 7 ไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม “ทะลุฟ้า” ผู้จัดกิจกรรม
ร.ต.อ.จีรศักดิ์ หนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนผู้รวบรวมพยานหลักฐาน และมีความเห็นสั่งฟ้องในคดี เบิกความว่า หลังได้รับแจ้งจากวิทยุสื่อสารว่า ในวันที่ 11 ส.ค. 2564 มีการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมด 8 ราย กำลังนำส่งไปที่ บช.ปส พยานจึงติดตามไปสถานที่ดังกล่าวเพื่อสอบสวน พร้อมระบุเหตุผลที่ส่งตัวผู้ถูกจับไปควบคุมที่นั่น เนื่องจากมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก เลยได้รับคำสั่งให้นำตัวไปควบคุมตัวที่ บช.ปส.
จากการตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุที่พยานไม่ได้ลงพื้นที่เอง แต่เขียนจากคำบอกเล่าของคณะทำงานพบว่า มีร่องรอยการเผาหุ่นฟาง ริมถนนมีขวดน้ำสีที่ผู้ชุมนุมขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ คฝ. และในวันดังกล่าวไม่ปรากฏว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือทรัพย์สินราชการเสียหายแต่อย่างใด
พยานกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจยังให้การยืนยันสอดคล้องกันว่า จำเลยที่ถูกจับในคดีนี้ไม่มีพยานหลักฐานใดบ่งชี้ว่าเป็นแกนนำหรือสมาชิกกลุ่ม “ทะลุฟ้า” ที่จัดกิจกรรม และไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าจำเลยได้ทำร้ายขัดขืนเจ้าพนักงาน พร้อมเบิกความรับว่า จำเลยทุกรายให้การว่าไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม ตามบันทึกคำให้การ
ก่อนทนายจำเลยถามค้าน ร.ต.อ.จีรศักดิ์ทำบันทึกการแจ้งสิทธิ์พยานก่อนหรือหลังสอบคำให้การจำเลย พยานตอบว่าแจ้งสิทธิ์ก่อน แต่ในเอกสารระบุว่าแจ้งข้อหาเวลา 21.00 น. หลังการจับกุมประมาณ 6 ชั่วโมง ก่อนพยานยืนยันตามเอกสาร
ทนายจำเลยถามว่า เอกสารระบุถึงจำเลยแต่ละคนว่าถูกแจ้งสิทธิ์สถานที่ต่างกัน เช่น สน.พญาไทบ้าง สน.บางโพบ้าง ทั้งที่ทำบันทึกจับกุมในสถานที่เดียวกัน จากข้อเท็จจริงดังกล่าวบันทึกแจ้งสิทธิ์ที่พยานได้จัดทำขึ้นมาไม่ถูกต้องใช่หรือไม่ พยานตอบทนายจำเลยว่า เนื่องจากคณะทำงานมาจากหลายพื้นที่จึงได้ร่วมกันทำบันทึกจับกุมและเป็นไปตามเอกสาร
ส่วนบันทึกพฤติการณ์นั้น พยานยืนยันว่าเป็นจริงตามคำบอกเล่า แต่ในบันทึก พยานไม่ได้ให้คณะลงชื่อกำกับคำบอกเล่านั้นไว้ และคณะที่บอกเล่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ คฝ. หรือไม่ พยานจำไม่ได้
ก่อนทนายถามว่าได้นำวิดีโอที่ประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. ทำร้ายจากปฏิบัติการสลายการชุมนุมเข้ามาพิจารณาหรือไม่ เพราะไม่มีการนำเข้ามาในสำนวน พยานตอบว่าไม่เคยมีผู้ใต้บังคับบัญชาหรือคณะทำงานนำคลิปมาให้ดูแต่อย่างใด
ทั้ง ร.ต.อ.จีรศักดิ์ ยังเบิกความรับว่า ไม่ทราบว่าผู้ถูกจับกุมจะถูกทำร้ายหรือไม่ และไม่ได้สอบสวนจำเลยในประเด็นดังกล่าว สำหรับจำเลยที่ 6 จะขาหักหรือร้องขอให้เจ้าหน้าที่นำส่งโรงพยาบาล เนื่องจากได้รับบาดเจ็บจากการที่เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมหรือไม่ พยานไม่ทราบเรื่องดังกล่าว และคณะทำงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ได้รายงาน และไม่ปรากฏในบันทึกการสอบสวนของพยาน
ในประเด็นดังกล่าว พ.ต.ท.ฐิติวุธ ได้เบิกความในวันแรกว่า ตนไม่ทราบว่าจำเลยจะขาหักจากการเข้าจับกุมหรือไม่ ทั้งตอนจับกุมจำเลยไม่มีการร้องขอว่าตนเองได้รับบาดเจ็บหรือขอรถพยาบาลตามสิทธิ์แต่อย่างใด
ร.ต.อ.จีรศักดิ์ยังรับว่า ทำคดีที่เกี่ยวข้องกับ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพียงคดีเดียว และไม่ทราบว่าคดีในลักษณะเดียวกัน เช่น คดีชุมนุม #อุดรธานีสิบ่ทน หรือ คดีชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัยของ “มายด์” ภัสราวลี ศาลได้มีคำสั่งยกฟ้อง หรือพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องในหลายคดีแล้ว
.
พยานฝ่ายปกครองยืนยันไม่มีการขอชุมนุม และย้ำว่าใส่แมสอย่างเดียวอาจพอต่อการป้องกันโควิด
ขณะที่พยานโจทก์ปาก วิชัย บุญช่วยชู นักวิชาการสำนักงานเขตราชเทวี ถูกพนักงานสอบสวน สน.พญาไท เรียกมาสอบถามว่าการจัดกิจกรรมของผู้ชุมนุมนั้นได้มีการขออนุญาตหรือไม่
พยานเบิกความว่า ไม่ได้มีการขออนุญาต โดยในวันดังกล่าว ประกาศกรุงเทพฯ ฉบับที่ 39/2564 ระบุว่า การจัดกิจกรรมมากกว่า 5 คนต้องขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานอนามัยหรือสำนักงานเขต หากผู้ชุมนุมยื่นขอจัดกิจกรรม ทางหน่วยงานของพยานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาจัดการมาตรการให้เหมาะสม เช่น จัดตั้งจุดตรวจวัดอุณหภูมิ หรือจุดให้บริการเจลล้างมือ
ในวันเกิดเหตุพยานไม่ได้ลงพื้นที่ แต่จากภาพที่พนักงานสอบสวนให้ดูพบว่า ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ใส่หน้ากากอนามัย แต่ว่าอยู่ใกล้ชิดกันมากกว่า 1 เมตร และการใส่หน้ากากอนามัยเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการป้องกันการติดต่อของโรคโควิด-19 ได้ ทั้งการใกล้ชิด ตะโกน หรือสัมผัสตัวก็เป็นช่องทางที่ติดต่อโรคระบาดได้ ซึ่งในภาพไม่เป็นไปตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
ก่อนทนายจำเลยถามค้าน พยานเบิกความรับว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดกิจกรรม และการขออนุญาตไม่ต้องแจ้งกับพยาน แต่สามารถแจ้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ และผู้ที่มีหน้าที่แจ้งคือ “ผู้ที่จัดกิจกรรม” หากจำเลยทั้งหมดเป็นผู้ที่ร่วมชุมนุม ก็ไม่ได้มีหน้าที่แจ้งการชุมนุม
ทั้งยังเบิกความรับว่า จากภาพที่พนักงานสอบสวนให้ดูนั้นเป็นเกาะพญาไทที่เป็นพื้นที่โล่งแจ้ง เป็นสถานที่ที่เขตจัดไปให้ประชาชนทั่วไป และการที่ผู้คนสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่โล่งกว้าง มีโอกาสติดเชื้อโควิดน้อยกว่า คนที่ใส่ในพื้นที่แคบและแออัด
สำหรับประเด็น ประกาศของกรุงเทพมหานคร ทนายจำเลยได้ให้พยานดู ข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศใช้ วันที่ 3 ส.ค. 2564 ระบุว่า ห้ามมิให้ชุมนุม แต่ยกเว้นการชุมนุมใน 5 ลักษณะที่ไม่ต้องขออนุญาต ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและสาธารณสุข ก่อนพยานยืนยันตามเอกสาร
ทนายจำเลยยังได้ถามย้อนถึงคำที่พยานได้เบิกความก่อนหน้านี้ว่า “การใส่หน้ากากอนามัยอาจจะไม่เพียงพอต่อการป้องกันโรคโควิด” อีกนัยหนึ่งนั้นหมายความว่า มันอาจจะเพียงพอก็ได้ใช่หรือไม่
พยานตอบว่าใช่ แต่ตามความเห็นของพยานที่เห็นภาพกิจกรรมที่เจ้าพนักงานสอบสวนนำมาให้ดูนั้น อาจจะไม่เพียงพอต่อมาตรการ พร้อมย้ำว่าต้องป้องกันให้ครบทุกด้าน อีกทั้งในภาพดังกล่าว ผู้ชุมนุมไม่ได้ยืนห่าง 1-2 เมตร
หลังการสืบพยานโจทก์ทั้งสองวันเสร็จสิ้น อัยการแถลงต่อศาลว่า ติดใจสืบพยานปาก ร.ต.อ.สันติราช ดีบุปผา อีก 1 ปาก แต่หากจําเลยทั้งหมดรับได้ว่า ร.ต.อ.สันติราช เป็นผู้สอบคําให้การ และได้ร่วมกันแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมกับจําเลยที่ 3 และที่ 6 จริง ก็จะไม่ติดใจสืบพยานปากนี้ ด้านจําเลยทั้งเจ็ดและทนายจําเลยแถลงรับประเด็นพยานปากนี้ได้ อัยการจึงแถลงหมดพยานฝ่ายโจทก์
ส่วนทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่า ประสงค์จะสืบพยานจำเลยทั้งเจ็ดเพียงวันเดียว คือวันที่ 24 มิ.ย. 2565 ตามนัดเดิม
.
7 จำเลย ยันเป็นเพียง “มวลชน” ไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม หนำซ้ำยังถูก คฝ. ทำร้ายบาดเจ็บ จำเลยที่ 6 ขาซ้ายหัก แต่ตร.ไม่ส่งรักษา ต้องไป รพ. เอง หลังศาลให้ประกัน
ทางด้านจำเลยทั้ง 7 ราย ได้ขึ้นเบิกความโดยอ้างตนเองเป็นพยาน โดยยืนยันให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และเบิกความว่าทั้งหมดไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมตามข้อกล่าวหา เป็นเพียงมวลชนที่ไปอยู่ร่วมในเหตุการณ์เท่านั้น ทั้งยังสวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตัวตลอดเวลา นอกจากนี้จำเลย 3 ราย เบิกความพร้อมยื่นหลักฐานคลิปวิดีโอขณะถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. เข้าจับกุม
จำเลยที่ 1: “ป้าเป้า” วรวรรณ แซ่อั้ง ประกอบอาชีพ ค้าขาย เสื้อผ้าและของเล่นเป็ดยางสีเหลือง
จำเลยเบิกความต่อศาลว่า ในวันเกิดเหตุทราบข่าวผ่านเฟซบุ๊กว่าจะมีการจัดชุมนุม ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เวลา 15.00 น. จึงได้เดินทางไปก่อนเวลานัดหมาย ในวันนั้นมีคนขายของจำนวนมาก จำเลยได้นำของออกมาขายบนพื้นถนนฟุตบาท บริเวณใต้สะพานก่อนทางขึ้นรถไฟฟ้า เกาะพญาไท
ต่อมาช่วงเวลาประมาณ 15:00 น. ได้ยินมวลชนตะโกนว่าเจ้าหน้าที่ คฝ. มาแล้ว จำเลยจึงรีบเก็บของออกจากที่เกิดเหตุ ขณะนั้นเห็นเด็กถูกเจ้าหน้าที่ดึงลงมาจากรถจักรยานยนต์ และกำลังทำร้ายเด็กรายดังกล่าว จำเลยจึงเข้าไปห้ามพร้อมบอกเจ้าหน้าที่ว่า “ปล่อย เด็กคนนี้ไม่เกี่ยว” แต่ถูกเจ้าหน้าที่ผลักล้มออกมา จึงพยายามแหวกเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ถูกทำร้ายอีกครั้ง ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่จับตัวไปขึ้นรถควบคุมตัว ทนายจำเลยยังได้ยื่นหลักฐานวิดีโอขณะจำเลยที่ 1 เข้าช่วยเหลือจำเลยที่ 3 ต่อศาล
.
.
ศาลถามจำเลยว่า ทราบได้อย่างไรว่าบุคคลดังกล่าวเป็นเด็ก จำเลยตอบว่า จำเลยอายุมากแล้วใครอายุน้อยกว่าก็ถือเป็นเด็ก พร้อมทั้งได้เบิกความต่อศาลว่า จำเลยไม่ได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ แต่เจ้าหน้าที่เป็นคนผลักจำเลยจนล้มต่างหาก
ศาลยังถามถึงการประท้วงด้วยการถอดเสื้อผ้าเปลือยกายในการชุมนุมอีกครั้งหนึ่งว่า เป็นมาอย่างไรถึงได้กระทำการเช่นนั้น ป้าเป้าตอบว่า วันดังกล่าวตนไปขายของ แต่ยังไม่ทันได้เริ่มขาย เจ้าหน้าที่ก็ได้ทำปิดหัวและปิดท้ายกลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางเข้ามา จำเลยจึงตัดสินใจแก้ผ้าเพื่อให้เจ้าหน้าที่เห็นว่ามีเพียงมือเปล่า ไม่มีอาวุธ และมาเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลเท่านั้น
หลังศาลได้ฟังเรื่องราวดังกล่าวจึงได้กล่าวตักเตือนว่า อย่าทำอีก ด้านจำเลยตอบว่า หากไม่ทำก็โดนตี โดนจับอีก ศาลจึงถามกลับไปว่า มันอาจจะมีวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ไหม ก่อนจำเลยพยักหน้าเข้าใจ
จากนั้นอัยการได้ถามค้านเกี่ยวกับอาชีพค้าขายของจำเลย จำเลยตอบว่า ตนขายของมานานแล้ว ขายมาตลอดชีวิต ส่วนใหญ่ขายเสื้อผ้า และของเล่น บางครั้งก็ขายของกินบ้าง แต่ปกติไม่ได้ขายตามตลาดนัด อยากไปขายของวันไหนก็ไป
อัยการถามอีกว่า จำเลยขายของทุกครั้งที่มีการชุมนุมจริงหรือไม่ ป้าเป้าตอบว่า ไม่ได้ไปขายทุกที่ที่มีการชุมนุม พร้อมทั้งเบิกความถึงวันเกิดเหตุอีกครั้งว่า ตนมาที่จุดเกิดเหตุเวลาประมาณเที่ยงวัน ขายของบนฟุตบาท ไม่มีเจ้าหน้าที่มาไล่ พอมวลชนเริ่มมาชุมนุมจึงนำของออกมาขายประมาณ 13.30 น. ขณะนั้นมีผู้ชุมนุมมาประมาณ 50 คนขึ้นไป
ต่อมาเมื่อมีการทำกิจกรรมบนถนน “กลุ่มทะลุฟ้า” ได้ลงถนนไป แต่กลุ่ม “มวลชน” ยังไม่ได้ลงถนน ด้านเจ้าหน้าที่ คฝ. มาทีหลัง แล้วตั้งแถวประสานมือเพื่อไม่ให้ประชาชนเคลื่อนย้ายจากถนน
ด้านทนายถามติงเกี่ยวกับการขายค้าของจำเลย จำเลยเบิกความรับว่า นอกจากงานชุมนุมก็ได้ไปขายที่งานอื่นๆ ด้วย ไม่ได้มุ่งจะขายที่งานชุมนุมเพียงอย่างเดียว รวมไปถึงประเด็น “มวลชน” ที่พยานพูดนั้นหมายถึงคนทั่วไป คนขายของ รวมไปถึงจำเลยที่ไม่ได้ลงถนนด้วย
.
จำเลยที่ 2: นพดล ประกอบอาชีพขายอุปกรณ์แคมป์ปิ้ง และออกบูธอาหารตามห้างสรรพสินค้า
วันเกิดเหตุ นพดลกำลังขับขี่รถจักรยานยนต์จากพระราม 9 ไปทำบุญบริจาคโลงศพที่มูลนิธิร่วมกตัญญู วัดหัวลำโพง แถวสามย่าน ช่วงเวลา 15.30 น. จำเลยใช้ถนนดินแดงเดินทางมายังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิการจราจรยังไม่ติดขัด และสามารถขับขี่รถจักรยานยนต์เข้าไปได้ ขณะนั้นไม่ได้สังเกตว่ารถไฟฟ้าวิ่งเป็นปกติหรือไม่ แต่เห็นว่ามีคนเยอะ และมีไฟไหม้ จึงตัดสินใจไปจอดรถตรงบริเวณใกล้ๆ ริมฟุตบาทเกาะพญาไท แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตีและเข้าจับกุมเสียก่อน จำเลยจึงไม่ได้ตั้งใจไปเป็นผู้ชุมนุมแต่อย่างใด
อัยการถามค้าน ใน 2 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นที่ 1 เรื่องเส้นทางที่จำเลยใช้ และประเด็นที่ 2 ในวันเกิดเหตุแม้พยานไม่มีอาวุธ แต่เคยถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับอาวุธใช่หรือไม่
จำเลยตอบว่า ประเด็นแรกตนได้ใช้อุปกรณ์นำทาง GPS และไม่ทราบว่าหากต้องการเดินทางจากพระราม 9 ไปสามย่านจะมีเส้นทางอื่นอีกไหม
ส่วนประเด็นคดีครอบครองอาวุธนั้น เป็นคดีตั้งแต่ปี 2557 เป็นเวลานานมากแล้ว โดยเหตุผลที่พกอาวุธ เนื่องจากจำเลยทำธุรกิจที่พกเงินสดเป็นจำนวนมาก จึงต้องมีอาวุธติดตัวไว้ใช้ป้องกันตัว
ทั้งนี้กรณีของนพดล หลังเขาถูกจับกุมดำเนินคดีนี้ เขาได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ เดินทางมาหาที่บ้านพักอาศัยย่านจังหวัดนนทบุรี และโรงงานที่เขาทำงานไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง เพื่อติดตามถ่ายรูป และตักเตือนไม่ให้ออกไปร่วมกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง
.
จำเลยที่ 3: ธนา ประกอบอาชีพ ไรเดอร์ประจำแอปพลิเคชันแห่งหนึ่ง
วันเกิดเหตุ ธนากำลังเลิกงานจากการเป็นไรเดอร์ โดยใช้เส้นทางจากราชวิถีไปดินแดง ก่อนพบเห็นเหตุการณ์การชุมนุมจึงจอดรถดู ซึ่งไม่เกิน 3 นาที ก็พบเจ้าหน้าที่ คฝ. กรูกันเข้ามา จำเลยที่นั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์ไม่ได้ตกใจ เนื่องจากไม่ได้มาชุมนุม ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะเข้ามารุมทำร้าย ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด
จากนั้นจำเลยที่ 1 คือป้าเป้า ได้เข้ามาพยายามช่วยเหลือ ซึ่งตอนนั้นตนไม่รู้จักกับจำเลยที่ 1 หรือคนที่เข้าร่วมชุมนุมแต่อย่างใด
ก่อนอัยการถามค้านว่า จากคำให้การของพยานที่ได้รับบาดเจ็บ พยานก็ไม่ได้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่รายใดถึงการทำร้ายดังกล่าวใช่หรือไม่ จำเลยตอบว่าใช่ เหตุที่ไม่เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากคิดว่าไม่มีประโยชน์ รวมไปถึงไม่ได้ไปร้องเรียนถึงการกระทำที่ไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ด้วย
.
จำเลยที่ 4: เอกณัฏฐ์ ประกอบอาชีพ พนักงานขายหมวกกันน็อคบริษัทเอกชน
วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 15:00 น. เอกณัฏฐ์กำลังไปหาลูกค้าบริเวณสะพานควาย 2 ราย เพื่อวางบิลสินค้า แต่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเสียก่อน พยานเบิกความถึงสาเหตุที่ถูกจับว่า ตอนที่จำเลยเข้ามาถึงบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พยานดูเหตุการณ์ไม่ถึง 5 นาที เจ้าหน้าที่ก็เข้าควบคุมสถานการณ์
ช่วงเวลานั้นจำเลยเห็นผู้ชุมนุมกำลังขว้างปาถุงสีจึงเข้าไปห้ามปราม ซึ่งก็ไม่ได้รู้จักกับผู้ชุมนุมแต่อย่างใด เพียงแค่ต้องการห้ามปรามไม่ให้เกิดความวุ่นวาย ก่อนเจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางเข้าหาฝั่งผู้ชุมนุม คนอื่นๆ ที่เข้าไปห้าม ก็กลับถูกกระสุนยางยิง
ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่ คฝ. สลายการชุมนุมมีการยิงกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และล้อมวงเข้าจับผู้ชุมนุม ซึ่งตนก็ถูกเจ้าหน้าที่รุมทำร้าย พร้อมทั้งระบุเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ยิงกระสุนยางมั่ว โดยไม่มีการแยกแยะว่าเป็นผู้ชุมนุมหรือมวลชนทั่วไป
ในวันดังกล่าวจำเลยไม่มีอาวุธใดๆ มาต่อสู้ ด้านเจ้าหน้าที่มีกระบอง ปืนลูกซอง และชุดป้องกัน พร้อมยืนยันว่า ในวันดังกล่าวพยานไม่ได้มีเจตนามาชุมนุม
อัยการถามค้าน เส้นทางจากถนนสาธุประดิษฐ์ไปสะพานควายมีเส้นเดียวใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่และเป็นเส้นทางที่ผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งวันดังกล่าวจำเลยได้สวมชุดยูนิฟอร์มของบริษัท เป็นเสื้อโปโลน้ำเงิน คอปกสีแดง พร้อมมีโลโก้บริษัทขนาดเล็กตรงหน้าอก และไม่มีสัญลักษณ์อื่นว่ามาเข้าร่วมการชุมนุมหรือเข้ามาเป็นอาสาสมัครในการชุมนุมแต่อย่างใด
.
จำเลยที่ 6: กฤษณะ ประกอบอาชีพ พนักงานซ่อมรถของบริษัทแห่งหนึ่ง
วันเกิดเหตุ กฤษณะพาภรรยาไปรับประทานก๋วยเตี๋ยวเรือที่เกาะดินแดง แต่ยังไม่ได้กิน เนื่องจากถูกจับกุมเสียก่อน โดยระบุว่า ขณะขับขี่ขับรถจักรยานยนต์ไปถึงบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ได้มีเจ้าหน้าที่ คฝ. ใช้โล่วิ่งมาชนกระแทกจนจำเลยและภรรยาจนล้มลงไป ทนายจำเลยได้ยื่นหลักฐานวิดีโอและใบรับรองแพทย์ประกอบต่อศาล
.
.
พยานเบิกความต่อว่า หลังรถจักรยานยนต์ล้มเจ้าหน้าที่ คฝ. ได้ลากจำเลยไปรถควบคุมผู้ต้องขัง และได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า บาดเจ็บที่ขา แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้สนใจ ส่วนภรรยาไม่ได้ถูกจับกุมไปด้วย
กฤษณะทั้งยังเบิกความสอดคล้องกับจำเลยที่ 4 ว่า ตนไม่มีอาวุธใดๆ ที่จะต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ส่วนเจ้าหน้าที่มีกระบองปืนโล่ และสวมชุดป้องกันมิดชิด
แม้ตอนที่ถูกควบคุมตัวที่ บช.ปส. จำเลยได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ว่า ได้รับบาดเจ็บเท้าซ้าย แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งสิทธิ์การรักษา ต่อมามีเจ้าหน้าที่ทราบจึงให้ยามานวด แต่ก็ไม่ได้ถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล
กฤษณะได้ถูกควบคุมตัวรวมกับผู้ถูกจับกุมรายอื่นๆ เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน โดยที่ไม่มีการส่งตัวไปรักษา หลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เขาต้องเดินทางไปรักษาที่โรงพยาบาลเอง โดยแพทย์วินิจฉัยว่ากระดูกเท้าซ้ายหัก ต้องรักษาตัวนานกว่า 2 อาทิตย์
.
จำเลยที่ 7: ปภังกร ประกอบอาชีพ วิศวกรประจำอาคารในโรงแรมแห่งหนึ่ง
วันเกิดเหตุ ปภังกรมีนัดพบแพทย์ที่โรงพยาบาลราชวิถีที่เขามีประกันสังคมอยู่ เพื่อรักษาอาการปวดหลังเรื้อรัง เวลาประมาณ 15.00 น. จำเลยมาถึงวงเวียนอนุสาวรีย์ เห็นมีคนค้าขายบนเกาะพญาไท จึงได้จอดรถและซื้อของอยู่ประมาณ 10 นาที
ต่อมาเห็นคนถูกตำรวจไล่และได้ยินเสียงกระสุนยาง รวมไปถึงได้กลิ่นแก๊สน้ำตา จำเลยตัดสินใจขี่รถจักรยานยนต์ไปโรงพยาบาลทันที แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ คฝ. เข้าจับกุม แม้ขณะนั้นได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่แล้วว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้สนใจ กลับจับเขาโดยใช้สายเคเบิ้ลไทร์มัด พร้อมนำตัวไปที่รถควบคุม
.
จำเลยที่ 8: กัณฐกะ เป็นนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)
วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 15.30 น. กัณฐกะและแฟนสาวขับขี่รถจักรยานยนต์เดินทางจากซอยจรัญ 35 ไปหาของกินที่เกาะพญาไท ช่วงเวลานั้นพบเห็นเจ้าหน้าที่ คฝ. กำลังตั้งกองกำลัง จึงวกรถกลับเข้าไปในตรอกอาหารในเกาะพญาไท ก่อนถูกเจ้าหน้าที่กระชากตัวลงจากรถจักรยานยนต์ เขาและแฟนสาวถูกทำร้าย โดยแฟนถูกตีเข้าที่ท้ายทอย ทนายจำเลยได้ยื่นคลิปวิดีโอต่อศาลประกอบ
.
.
ขณะนั้นกัณฐกะได้อธิบายกับเจ้าหน้าที่ว่าไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่รับฟัง พร้อมทั้งลากเขาไปยังรถควบคุมผู้ต้องขัง ส่วนแฟนสาวถูกเจ้าหน้าที่ไล่ให้ไปที่อื่น หลังจากนั้นพบว่าตัวเองถูกพาตัวไปที่สโมสรตำรวจ โดยเจ้าหน้าที่ปล่อยให้ผู้ถูกจับกุมนั่งเฉยๆ บนรถประมาณ 1 ชั่วโมง โดยไม่มีการแจ้งว่าให้รออะไร
เวลา 12.00 น. หลังจบการสืบพยานจำเลยทั้ง 7 ปาก ในวันนี้ ทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลว่า หมดพยานเพียงเท่านี้ และขอยกเลิกนัดสืบพยานในวันที่ 1 ก.ค. 2565 พร้อมทั้งประสงค์จะยื่นคําแถลงการณ์ปิดคดี
ศาลอนุญาตให้ยื่นคําแถลงการณ์ปิดคดีได้ภายใน 20 วัน หากครบกําหนดไม่ยื่น ถือว่าไม่ติดใจยื่น ส่วนฝ่ายโจทก์ไม่ประสงค์ยื่นคําแถลงการณ์ปิดคดี
ก่อนศาลกำหนดนัดฟังคําพิพากษาในวันที่ 2 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น.
.
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ชุมนุม #ม็อบ11สิงหา จับกุมอีก 17 ราย เป็นเยาวชน 2 ราย รอประกันตัวผู้ใหญ่พรุ่งนี้
ศาลให้ประกัน 14 ผู้ถูกจับกุม #ม็อบ11สิงหา หลังตร.ขอฝากขัง อ้างกลัวก่อเหตุร้ายอีก
.