ปลายตุลา-ต้นพฤศจิกา: สรุปคดีการเมืองถูกสั่งฟ้องอีก 10 คดี ทั้งม็อบทะลุแก๊ส – ทะลุฟ้า พบบางคดีย้อนตั้งแต่ชุมนุมปี 63  

ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม – 7 พฤศจิกายน 2564 มีคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมืองในภาคกลางและภาคใต้ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง รวมทั้งหมด 10 คดี ได้แก่ คดีการชุมนุม #ม็อบ20ตุลา ตรงข้ามห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ตั้งแต่ตุลาคม 2563 มีจำเลยทั้งหมด 7 ราย หนึ่งในนั้นคือ “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, นอกจากนั้น ยังมีคดีของ “จ่านิว” อีก 2 คดี สืบเนื่องจากการร่วมชุมนุม 2 วัน คือ #ม็อบ29ตุลา – #ม็อบ1พฤศจิกา ตั้งแต่ปี 63

ส่วนคดีในช่วงปี 2564 ได้แก่ คดีของผู้ชุมนุม #ทะลุแก๊ส 2 คดี จำเลย 2 ราย สืบเนื่องจากการถูกกล่าวหาว่าพกพาระเบิดปิงปองระหว่างชุมนุม #ม็อบ10สิงหา, คดีของผู้ชุมนุมกลุ่ม #ทะลุฟ้า – ป้าเป้า รวม 8 ราย เหตุร่วม #ม็อบ11สิงหา ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ, คดีของนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า 4 ราย ถูกกล่าวหาว่าขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ใน #ม็อบ3กันยา โดยมีจำเลย 1 ราย คือ “อาทิตย์ ทะลุฟ้า” ที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำ เนื่องจากศาลไม่ให้ประกัน รวมทั้งคดีข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) ของ ‘วัชรากร’ พนักงานขายเสื้อผ้า ที่โพสต์ว่าในการชุมนุม #ม็อบ8กันยา ที่ดินแดง มีคนตายจากการสลายการชุมนุม

ส่วนคดีในภาคใต้  ได้แก่ คดีคาร์ม็อบจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 มีจำเลยรวม 5 ราย, และท้ายสุด เป็นคดีของนักกิจกรรมรวม 20 ราย หนึ่งในนั้นคือป้าเป้า ถูกดำเนินคดีจากการร่วมม็อบขับไล่ประยุทธ์ที่ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564

.

.

+++ ฟ้อง ‘จ่านิว’ – 7 ประชาชน/นักกิจกรรม เหตุร่วมม็อบตรงข้ามห้างฟิวเจอร์ พาร์ค ตั้งแต่ตุลาปี 63 ก่อนให้ประกัน เรียกหลักทรัพย์รวม 140,000 บาท +++

26 ตุลาคม 2564 – พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งฟ้องนักกิจกรรม 7 ราย ได้แก่ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, ชลธิชา แจ้งเร็ว, ศรีไพร นนทรีย์, สุธิลา ลืนคำ, ศรรัก ทองชัย, ณรงค์ศักดิ์ มณี และสุวรรณา ตาลเหล็ก ต่อศาลจังหวัดธัญบุรี ในคดีร่วมชุมนุมตรงข้ามฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 หรือ #ม็อบ20ตุลา จัดโดย กลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มแรงงานเพื่อประชาธิปไตย เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องสามข้อของราษฎร และคัดค้านการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงดังกล่าว

>>> ตร.แจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-พ.ร.บ.ชุมนุมฯ 10 นักกิจกรรม เหตุ 3 ชุมนุมที่รังสิต พยาบาลอาสาถูกออกหมายเรียกด้วย

ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่า “ร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรมมั่วสุมอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบ หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค”, “จัดกิจกรรมที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมากในลักษณะมั่วสุม หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย”, “ร่วมกันกระทำหรือดำเนินการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดภาวะไม่ถูกสุขลักษณะ อาจเป็นเหตุให้โรคติดต่อแพร่ระบาด โดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคฯ” ตามข้อกำหนดใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

คำฟ้องระบุว่าเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ซึ่งอยู่ระหว่างประกาศสภาวะฉุกเฉิน มีการสั่งห้ามชุมนุม ทำกิจกรรมมั่วสุม จำเลยทั้ง 7 นี้ กับ ณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ (ดำเนินคดีแยกเป็นอีกคดี) ได้ร่วมกันทำกิจกรรมชุมนุม โดยมีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก เป็นการชุมนุมที่บริเวณใต้สะพานต่างระดับตรงข้ามห้างฟิวเจอร์ปาร์ค จังหวัดปทุมธานี ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวอาจก่อให้เกิดภาวะไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้โรคแพร่ออกไป และเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

ต่อมา ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย กำหนดหลักทรัพย์ประกันรายละ 20,000 บาท รวมเป็นเงิน 140,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์

.

.

+++ สั่งฟ้องคดี พ.ร.บ.คอมฯ โพสต์ข้อความ บอก #ม็อบ8กันยา มีคนตาย ประกันใช้หลักทรัพย์เดิม 25,000 บาท +++

1 พฤษจิกายน 2564 – พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 ได้มีคำสั่งฟ้องคดีของนายวัชรากร (สงวนนามสกุล) พนักงานขายเสื้อผ้าในจังหวัดระยอง วัย 43 ปี ต่อศาลอาญา ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) โดยกล่าวหาว่าได้โพสต์ข้อควาว่า มีผู้ชุมนุมที่แยกดินแดงถูกรถของตำรวจชนจนเสียชีวิต ใน #ม็อบ8กันยา

>>> ตร. 20 นาย บุกค้นบ้านหนุ่มพนักงานห้าง ยึดมือถือ ก่อนเรียกไปแจ้งข้อหา พ.ร.บ.คอมฯ 14 (2) เหตุโพสต์เฟซ #ม็อบ8กันยา มีคนตาย ศาลอาญาให้ประกัน

สำหรับเนื้อความในคำฟ้อง ระบุว่า ระหว่างวันที่ 8 – 9 กันยายน 2564 จำเลยได้นำเข้าข้อมูลสู่คอมพิวเตอร์ผ่านทางแอพพลิเคชั่นเฟซบุ๊ก ผ่านทางโปรไฟล์ส่วนตัว ซึ่งคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยโพสต์ข้อความว่า “น้องที่โดน ค.ฝ. ขับรถกระบะชน แล้วลงมากระทืบซ้ำอีก ขณะนี้เสียชีวิตแล้ว ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของน้องด้วย…เราคนไทยจะปล่อยให้พวกมันทําแบบนี้ต่อไปอีกหรือ ออกมาช่วยเด็กๆ กันครับ”

ต่อมามีการแก้ไขข้อความว่า “น้องที่โดน ค.ฝ. ขับรถกระบะชน แล้วลงมากระทืบซ้ำอีก…ขณะนี้จะเสียชีวิตแล้วหรือ เราคนไทยยังจะปล่อยให้พวกมันทําแบบนี้กันอีกต่อไปอีกหรือ…ไม่ออกมาช่วยเด็ก ๆ กันครับ” ทำให้คนที่ได้พบเห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจไปว่า ทางเจ้าหน้าที่มีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ และสร้างความเกลียดชังแตกแยกในสังคมถึงขั้นออกมาทำผิดกฎหมาย ข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากไม่มีบุคคลได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นเท็จในประการที่อาจสร้างความเสียหายต่อความมั่นคงต่อประเทศ

ต่อมา วันที่ 13 กันยายน 2564 จำเลยเข้าพบพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาและทำการสอบสวนแล้ว ชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ โดยในคดีนี้ พนักงานสอบสวนเคยยื่นคำร้องฝากขังในชั้นสอบสวน แต่ศาลอนุญาตให้ประกัน กำหนดวงเงินประกัน 25,000 บาท (จากกองทุนราษฎรประสงค์) กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ เช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายสับสวนขึ้นในบ้านเมืองอีก

ต่อมา ศาลอาญาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในชั้นพิจารณา โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเดิมที่วางใช้สอบสวน กำหนดนัดสอบคำให้การ และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 13 ธันวาคม 2564 เวลา 13.30 น.

.

จ่านิว
ขอบคุณรูปจาก JIRAPORN KUHAKAN/ BBC THAI

.

+++ สั่งฟ้อง ‘จ่านิว’ อีก 2 คดี เหตุร่วม #ม็อบ29ตุลา – #ม็อบ1พฤศจิกา ตั้งแต่ปี 63 ศาลให้ประกันทั้ง 2 คดี +++

1 พฤศจิกายน 2564 – พนักงานอัยการคดีอาญาพระโขนง 3 ได้มีคำสั่งฟ้องคดี “จ่านิว” สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ต่อศาลอาญาพระโขนง ใน 2 คดี สืบเนื่องจากการเข้าร่วมการชุมนุมที่หน้าอาคารเนชั่น และที่สี่แยกบางนา เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม และ 1 พฤศจิกายน ของปี 2563 ในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สำหรับคดีแรก และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันเดินเป็นขบวนกีดขวางการจราจร, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ,และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ในคดีที่ 2

หลังฟังคำสั่งฟ้อง ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในทั้ง 2 คดี กำหนดหลักประกันคดีละ 20,000 บาท รวม 2 คดี 40,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ นัดคุ้มครองสิทธิและตรวจพยานหลักฐานทั้ง 2 คดี วันและเวลาเดียวกันคือ 17 ธันวาคม 2564 เวลา 13.30 น.

ในคำสั่งฟ้องคดีแรก (มีผู้กล่าวหาคือ พ.ต.ท.ศุภากร แก้วเขียว จาก สน.บางนา) ระบุว่า เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563 จำเลยกับนายณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์ และนายชูเกียรติ แสงวงศ์ (ทั้งสองคนถูกสั่งฟ้องคดีไปก่อนแล้ว) ได้ร่วมกันจัดการชุมนุมทางการเมืองบนถนนเทพรัตน์ ฝั่งตรงข้าม สำนักข่าวเนชั่นฯ เขตบางนา มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมราว 100 คน โดยในการชุมนุมดังกล่าวไม่มีการจัดมาตรการป้องกันโรคระบาดตามที่ทางราชการกำหนด

คำฟ้องคดีที่ 2 (มีผู้กล่าวหาคือ พ.ต.ท.ศุภากร แก้วเขียว จาก สน.บางนา เช่นเดียวกัน) บรรยายพฤติการณ์ไว้ว่า เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จำเลยกับนายณัฐวุฒิ สมบูรณ์ทรัพย์, นายชูเกียรติ แสงวงศ์ และ นายนันทพงศ์ ปานมาศ (ทั้งสามคนถูกสั่งฟ้องคดีไปก่อนแล้ว) และพวกที่ยังเป็นเยาวชน แยกดำเนินคดีต่างหาก ได้ร่วมกันจัดการชุมนุมทางการเมืองบริเวณแยกอุดมสุขถึงบริเวณสี่แยกบางนา ต่อเนื่องถึงบริเวณหน้าอาคารเดอะโค้ท เขตบางนา มีผู้เข้าร่วมชุมนุมราว 200 คน ซึ่งในการชุมนุมดังกล่าวไม่ได้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการกำหนด เป็นการชุมนุมที่เดินกีดขวางการจราจรและทางสาธารณะ จนเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยและความสะดวกในการจราจร นอกจากนั้น จำเลยกับพวกยังได้ใช้เครื่องขยายเสียงไฟฟ้าในการชุมนุมอีกด้วย

.

.

+++ สั่งฟ้อง 2 ผู้ชุมนุม ‘ทะลุแก๊ส’ #ม็อบ10สิงหา มีระเบิดปิงปองในครอบครอง ก่อนศาลให้ประกัน ใช้หลักทรัพย์เดิม 200,000 บาท +++

2 พฤศจิกายน 2564 – พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญาตลิ่งชัน 2 ได้มีคำสั่งฟ้อง นภัส และ สุวิทย์ (สงวนนามสกุล) ต่อศาลอาญาตลิ่งชัน แยกเป็นคนละคดี โดยทั้งคู่เป็นผู้ที่ถูกจับกุมพร้อมกันในการชุมนุมบริเวณย่านตลิ่งชัน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ถูกกล่าวหาด้วยข้อหาหลักคือ “มีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง”

>>> ไล่จับ 47 ราย เป็นเยาวชน 14 ราย! หลังยุติ​ #10สิงหาคาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช หลายรายบาดเจ็บ ก่อนแจ้งข้อหา พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ – ใช้เงินประกัน 7.6 แสน

คดีของนภัส เขาถูกกล่าวหา 2 ข้อหา คือ “มีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง” และ ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 จำเลยได้ร่วมชุมนุมกันในระหว่างที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยขับขี่และนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ประมาณ 10 คัน อยู่ในปั้มน้ำมันพีทีที เขตตลิ่งชัน เป็นที่แออัด เสี่ยงต่อการสัมผัสที่อาจก่อให้เกิดการแพร่โรค และยังมีการพกพาวัตถุระเบิดปิงปอง 3 ลูก  ซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้

สำหรับคดีของสุวิทย์ เขาถูกกล่าวหา 3 ข้อหา คือ “มีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย”, “พกพาอาวุธเข้าไปในตัวเมืองหรือที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร”, และฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยระบุพฤติการณ์เช่นเดียวกันกับนภัส แต่ระบุว่ามีการพบระเบิดปิงปอง 1 ลูก และอาวุธมีด ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร จำนวน 1 เล่ม ติดตัว

ต่อมา ศาลอาญาตลิ่งชันได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวทั้ง 2 โดยใช้หลักประกันเดิมที่เคยยื่นไว้ในชั้นสอบสวน เป็นเงินรายละ 100,000 บาท รวม 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ กำหนดนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานครั้งต่อไปวันที่ 21 มีนาคม 2565

.

.

+++ สั่งฟ้อง ‘ป้าเป้า’ – ผู้ชุมนุม #ม็อบ11สิงหา #ทะลุฟ้ารวม รวม 8 ราย ในความผิด 4 ข้อหา ศาลไม่เรียกหลักประกัน เพราะเสี่ยงต่ำที่จะหลบหนี +++

2 พฤศจิกายน 2564 – พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 ได้มีคำสั่งฟ้อง “ป้าเป้า” พร้อมกับผู้ชุมนุมรายอื่น รวม 8 ราย ต่อศาลอาญา ในคดีสืบเนื่องจากการเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 หรือ #ม็อบ11สิงหา จัดโดยกลุ่มทะลุฟ้า ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทั้งหมดถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 216, 138, และ 140

>>> ชุมนุม #ม็อบ11สิงหา จับกุมอีก 17 ราย เป็นเยาวชน 2 ราย รอประกันตัวผู้ใหญ่พรุ่งนี้

>>> ศาลให้ประกัน 14 ผู้ถูกจับกุม #ม็อบ11สิงหา หลังตร.ขอฝากขัง อ้างกลัวก่อเหตุร้ายอีก

คำฟ้องระบุว่าเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ในระหว่างที่มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำเลยทั้ง 8 กับผู้ชุมนุม ราว 200 คน รถยนต์อีก 30 คัน รถยนต์พร้อมเครื่องขยายเสียง 1 คัน และรถจักรยานยนต์อีก 100 คัน ได้ร่วมกันทำกิจกรรมรวมกลุ่ม “11 สิงหา ไล่ล่าทรราช” ที่วงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พร้อมกันนั้นได้มีการปราศรัยวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เรื่องการจัดหาวัคซีน กล่าวโจมตีการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 มีการเผาหุ่นฟางใกล้บริเวณอนุสาวรีย์ฯ  การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่แออัด ไม่ได้มีมาตรการป้องกันโรคระบาดตามที่ทางรัฐบาลกำหนด

อีกทั้ง จำเลยทั้ง 8 ยังได้ร่วมกันกีดขวางการจราจร ทำให้ประชาชนที่เดินทางไปมาได้รับความเดือดร้อน และยังได้ขว้างปาสิ่งของ ใช้หนังสติ้กยิงลูกเหล็ก ปาระเบิดปิงปองใส่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ควบคุม ทั้งยังเป็นการมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้กระทำการคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ และเมื่อเจ้าหน้าที่ประกาศให้หยุดการกระทำ กลับไม่ยอมหยุด 

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 เจ้าหนักงานได้จับกุมจำเลยทั้ง 8 นำส่งพนักงานสอบสวน แจ้งข้อหาและสอบสวนแล้ว ทั้งหมดให้การปฏิเสธ

หลังจากที่อัยการสั่งฟ้อง ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งหมด โดยไม่ต้องวางหลักประกัน เพราะเห็นว่าความเสี่ยงต่ำที่จะหลบหนี ตีราคาประกันหากจำเลยผิดสัญญาโดยจะปรับจำเลยที่ 1 – 3 คนละ 70,000 บาท (เนื่องจากเคยต้องโทษในคดีอื่นด้วย) และจำเลยที่ 4 – 8 คนละ 35,000 บาท กำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไปในวันที่ 20 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น.

.

.

+++ สั่งฟ้อง 4 นักกิจกรรม #ทะลุฟ้า ถูกกล่าวหาว่าขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ #ม็อบ3กันยา ปี 64 ได้ประกัน 3 ยกเว้น ‘อาทิตย์ ทะลุฟ้า’ ยังคงถูกขังต่อ +++

1 พฤศจิกายน 2564 – พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 3 ได้มีคำสั่งฟ้องคดีของนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า 4 ราย ได้แก่ “อาทิตย์ ทะลุฟ้า” ทวี เที่ยงวิเศษ (จำเลยที่ 1), “เซียงเมี่ยง” ธนาดล จันทราช (จำเลยที่ 2), ใบบุญ (สงวนนามสกุล) (จำเลยที่ 3), และ “คิว” ณัชพล ไพรลิน (จำเลยที่ 4) ต่อศาลอาญา ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าขัดขืนการจับกุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจใน #ม็อบ3กันยา ปี 2564

กรณีของอาทิตย์ เขาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด 5 ข้อกล่าวหา ได้แก่ “ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะทำ ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปฯ”, “ใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่น ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจฯ”, “ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 25 คน ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดฯ”, “ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดฯ”, และ “หลบหนีระหว่างถูกคุมขังตามอำนาจของเจ้าพนักงานฯ” 

กรณีเซียงเมี่ยง มี 4 ข้อหา คล้ายอาทิตย์ (ไม่มีข้อหา “ใช้กำลังประทุษร้ายฯ”) ขณะที่ใบบุญและคิว ถูกฟ้องสองข้อหา “ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ” และ “ร่วมกันกระทำให้ผู้ถูกคุมขังหลุดพ้นจากการถูกคุมขัง”

>>> ‘อาทิตย์ ทะลุฟ้า’ ถูกตร.แสดงหมายจับคดี #ม็อบ3กันยา ทั้งที่ไม่เคยได้หมายเรียก ก่อนรีบขอฝากขัง ศาลอาญาไม่ให้ประกัน

>>> “เซียงเมี่ยง-คิว” 2 นักกิจกรรมทะลุฟ้า เข้ามอบตัว หลังถูกกล่าวหา ชิงตัวผู้ต้องขังใน #ม็อบ3กันยา ก่อนศาลให้ประกัน ตั้งเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถาน

>>> จับ “ใบบุญ” กล่าวหาต่อสู้ขัดขวางจนท.ใน #ม็อบ3กันยา ก่อนส่งฝากขัง ศาลอาญาไม่ให้ประกันตัว

สำหรับพฤติการณ์ตามฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับกลุ่มผู้ชุมนุมราว 300 คน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุมที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ อันเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งยังมีการนำรถยนต์เครื่องเสียง ปราศรัยทำกิจกรรม “ราษฎรไม่ไว้ใจมึง” โดยมีเนื้อหาการปราศรัยวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเรื่องการจัดหาวัคซีน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปราศรัยโจมตีปฏิบัติการ IO ของกองทัพ รวมไปถึงการดำเนินคดีมาตรา 112 ของตำรวจ

ต่อมา ขณะที่ พ.ต.ต.ไพบูลย์ สอโส เจ้าพนักงานซึ่งได้รับมอบหมายให้สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิด จากกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ 191 ได้เข้าควบคุมตัวจำเลยที่ 1 และ 2 ที่บริเวณหน้าโรงพยาบาลพญาไท 2 ขณะนำตัวจำเลยขึ้นรถของเจ้าพนักงาน จำเลยทั้ง 4 ราย ได้ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางโดยใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย โดยจำเลยที่ 1 และ 2 ได้สะบัดตัว สะบัดแขนดิ้นรน ไม่ยอมขึ้นรถยนต์ ส่วนจำเลยที่ 3 และ 4 กับพวกอีกหลายคน ได้ใช้กำลังกระชากตัวจำเลยที่ 1 และ 2 และล็อคคอผู้เสียหายจนล้มลง และจำเลยที่ 1 ยังเตะไปที่หลังและลำตัว และต่อยไปที่หน้าของผู้เสียหาย เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ 

ต่อมา หลังศาลรับฟ้อง จำเลย 3 ราย ได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา และศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยใช้หลักประกันเดิม ในกรณีของเซียงเมี่ยงและคิวเป็นเงินรายละ 20,000 บาท ในขณะที่ใบบุญยังคงถูกให้ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EM เพิ่มเติม พร้อมวางหลักประกันอีก 25,000 บาท (จากกองทุนราษฎรประสงค์) ในขณะที่อาทิตย์ยังไม่ได้ประกันตัว เนื่องจากยังถูกคุมขังในคดีความอื่นด้วย

.

ขอบคุณรูปภาพจาก FB: ฅนสุราษฎร์จะไม่ทน

.

+++ สั่งฟ้อง 5 นักกิจกรรม-ประชาชน เหตุร่วมคาร์ม็อบสุราษฎร์ธานี 1 สิงหา ศาลปล่อย ไม่เรียกหลักประกัน +++

5 พฤศจิกายน 2564 – พนักงานอัยการคดีศาลแขวงสุราษฎร์ธานี ได้มีคำสั่งฟ้อง ปฐมพร หนูจันทร์แก้ว นักกิจกรรมทางการเมือง และประชาชนรวม 5 คน ต่อศาลแขวงสุราษฎร์ธานี ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 และข้อกำหนดและประกาศที่ออกตามความมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุจากการร่วมกิจกรรม Car Mob ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564

>>> ตร.สุราษฎร์แจ้ง “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” นักกิจกรรมและปชช. 5 ราย เหตุคาร์ม็อบ #ราษฎรสุราษฎร ขับไล่ตู่

อัยการกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 จำเลยทั้ง 5 ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ (Car Mob) มีผู้เข้าร่วมราว 150 คน อันเป็นการรวมกลุ่มกันที่คนเข้าร่วมมากกว่า 50 คน ในพื้นที่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคำสั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2564 เรื่องมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 นอกจากนั้น จำเลยที่ 1 และที่  2 ยังร่วมกันไม่ใส่หน้ากากอนามัยขณะออกจากบ้าน อันเป็นการขัดคำสั่งจังหวัด ฉบับลงวันที่ 19 เมษายน 2564

ในชั้นพิจารณา ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งหมดโดยไม่ต้องมีหลักประกัน กำหนดนัดคุ้มครองสิทธิต่อไปในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 9.00 น.

.

.

+++ สั่งฟ้อง ‘ป้าเป้า’ – นักกิจกรรม รวม 20 คน เหตุร่วมม็อบต้อนรับประยุทธ์ที่ท่าน้ำนนท์ฯ 30 กันยา 64 ศาลเรียกหลักประกันรวม 200,000 บาท +++

5 พฤศจิกายน 2564 – พนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรีได้มีคำสั่งฟ้องนักกิจกรรมทางการเมืองและประชาชนในคดีของ เจษฎา ศรีปลั่ง กับพวก รวมทั้งหมด 20 คน (หนึ่งในจำนวนนี้คือ “ป้าเป้า” หรือวรวรรณ แซ่อั้ง ด้วย) ต่อศาลแขวงนนทบุรี ในข้อกล่าวหาตามมาตรา 215  และ 216 ของประมวลกฎหมายอาญา และข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุจากการเข้าร่วมในการชุมนุมที่บริเวณท่าน้ำนนทบุรีฯ เพื่อประท้วงการลงพื้นที่ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564

>>> คดีชุมนุมไล่ประยุทธ์ที่ท่าน้ำนนท์ รวมมีผู้ถูกดำเนินคดี 21 ราย เป็นเยาวชน 1 ราย

อัยการระบุว่าเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 จำเลย 20 คน กับ พีรพล (สงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นเยาวชน แยกดำเนินคดีต่างหาก และ แซม สาแมท ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง (ถูกคุมขังในอีกคดีสืบเนื่องจากการชุมนุมที่ด้านหน้า สน. ดินแดง เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564) ได้ร่วมกันชุมนุมมากกว่า 25 คน (มีผู้เข้าร่วมในการชุมนุมประมาณ 100 คน) ที่บริเวณหอนาฬิกาท่าน้ำนนทบุรี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยการชุมนุมดังกล่าวยังเป็นการมั่วสุม ใช้กำลังประทุษร้าย หรือก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

ในการชุมนุม มีการตะโกนด่าทอขับไล่นายกรัฐมนตรีด้วยถ้อยคำหยาบคายรุนแรง เช่น “ไอ้เหี้ยตู่ออกไป” “ตัวฉิบหาย ทำประเทศชาติฉิบหาย” อีกทั้งยังขัดขวางขบวนรถของนายกฯ โดยใช้เท้าถีบรถยนต์ในขบวน มีผู้ร่วมชุมนุมยังได้ตบศีรษะของ พ.ต.อ.วนัสชัย ยิ่งยงสมสวัสดิ์ ผู้กำกับ สภ.เมืองนนทบุรี ขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ (พนักงานสอบสวนแยกดำเนินคดีต่างหากแล้ว) ตลอดจนมีผู้ชุมนุมใช้น้ำปัสสาวะใส่ขวดพลาสติกราดรดที่ศีรษะของ พ.ต.ต.จิราธิป ใจยาว ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่เช่นกัน พ.ต.อ.วนัสชัย ยิ่งยงสมสวัสดิ์ ได้ประกาศให้จำเลยทั้ง 20 ราย และผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม จำเลยและพวกกลับไม่เลิก ทำการมั่วสุมต่อไป 

ในส่วนท้ายของคำฟ้อง โจทก์ระบุด้วยว่า ขณะนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความรุนแรงมากขึ้น การร่วมกันชุมนุม มั่วสุม จึงมีความสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ทำให้ควบคุมยากยิ่งขึ้น การกระทำของจำเลยทั้งหมดเป็นการกระทำโดยรู้สำนึก แต่ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนร่วมในการป้องกันควบคุมโรค ขอให้ศาลลงโทษจำเลยในอัตราสูงสุดให้เข็ดหลาบหลังจากอัยการยื่นคำฟ้องแล้ว ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งหมด กำหนดเงินประกันรายละ 10,000 บาท รวมทั้งหมด 200,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ กำหนดนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งวันที่ 14 มีนาคม 2565

.

X