ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานว่า วานนี้ (13 สิงหาคม 2564) เจ้าหน้าที่ตำรวจราว 20 นาย ได้เดินทางไปยังบ้านของพนักงานขายเสื้อผ้าในจังหวัดระยอง วัย 43 ปี ก่อนแสดงหมายค้น ออกโดยศาลจังหวัดระยอง ทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่า การเข้าค้นครั้งนี้สืบเนื่องมาจากกรณีที่เขาได้โพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถพุ่งเข้าชนหนึ่งในผู้ชุมนุม #ม็อบ8กันยา ที่รวมตัวกันที่บริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง จนถึงแก่ชีวิต โดยโพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ไปกว่าหนึ่งหมื่นครั้ง ต่อมา เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้เสียชีวิต เขาจึงได้แก้ไขโพสต์ข้างต้นเป็นเชิงตั้งคำถามต่อปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่แทนแล้ว
ในการเข้าค้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งว่า การกระทำของเขาถือเป็นความผิดตาม มาตรา 14 (2) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน”
เจ้าหน้าที่ได้ยึดโทรศัพท์มือถือของพนักงานห้างรายนี้และให้เขาเขียนบันทึกลงในกระดาษ ยอมรับว่าตนเป็นคนโพสต์ข้อความ และได้ทำการแก้ไขโพสต์ในวันต่อมา หลังจากถูกยึดมือถือและทำบันทึกตรวจค้นเสร็จ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เดินทางกลับไป โดยไม่ได้ทิ้งเอกสารบันทึกการตรวจค้นไว้ให้แต่อย่างใด และเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีหมายศาลในการขอเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ พร้อมกับแจ้งให้เขาเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ดินแดง ในวันเดียวกันนั้น
เมื่อเดินทางไปถึง สน.ดินแดง ในช่วงเย็น เขาได้เข้าพบพนักงานสอบสวนในคดีนี้ คือ ร.ต.อ.ไพทูรย์ สิทธิบุญ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา
ในบันทึกรับทราบข้อกล่าวหา อ้างถึงเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2564 ได้มีการรวมตัวกันของผู้ชุมนุมราว 30 – 40 คน ที่บริเวณแยกใต้ทางด่วนดินแดง โดยกลุ่มผู้ชุมนุมทำการขว้างปาประทัด ระเบิดปิงปอง และขับรถจักรยานยนต์ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และกีดขวางการจราจรจน ทําให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับความเดือดร้อน ผู้บังคับบัญชาได้สั่งการให้ พ.ต.ท.ปวีร์ มั่นเมือง รอง ผกก.ป.สน.นางเลิ้ง ผู้กล่าวหาในคดีนี้ นํากําลังเจ้าหน้าที่ตํารวจชุดควบคุมฝูงชนเข้าควบคุมสถานการณ์และสลายการชุมนุม สามารถจับกุมผู้กระทําความผิดได้ 9 คน ส่งดําเนินคดีตามกฎหมาย
ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 เวลาประมาณ 11.00 น. ขณะ พ.ต.ท.ปวีร์ว์ฯ ผู้กล่าวหา ปฏิบัติหน้าที่อยู่บริเวณใต้ทางด่วนแยกดินแดง ได้มีเจ้าหน้าที่สืบสวนฯ ส่งข้อมูลมาให้ พบบุคคล สืบทราบภายหลังว่าเป็นพนักงานห้างที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ได้ลงข้อความในเฟซบุ๊กว่า “น้องที่โดน คฝ.ขับรถกระบะชน แล้วลงมากระทืบซ้ำอีก….ขณะนี้เสียชีวิตแล้ว ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของน้องด้วย…. เราคนไทยยังจะปล่อย…” ซึ่งไม่ตรงกับความจริงวันเกิดเหตุ เพราะเหตุการณ์จริงไม่มีผู้เสียชีวิตจากปฏิบัติการณ์ของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด การกระทําดังกล่าวเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จฯ ทําให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดว่าผู้กล่าวหากับพวกกระทําการเกินกว่าเหตุ และเกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน และได้รับความเสียหาย จึงมาร้องทุกข์ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
หลังจากรวบรวมพยานหลักฐาน ทางพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดระยอง ขอให้ออกหมายตรวจค้นที่พักของผู้ต้องหา ก่อนได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่องของผู้ต้องหาไว้เป็นของกลาง เจ้าหน้าที่สอบถามเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งผู้ต้องหายอมรับว่าเป็นผู้โพสต์ และแจ้งว่าได้ลบข้อความแล้ว
ภายหลังจากรับทราบข้อกล่าวหา พนักงานห้างในจังหวัดระยองได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ให้การเพิ่มเติมเบื้องต้นว่า เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าตรวจค้นหว่านล้อม จึงให้การเช่นนั้น และระบุว่าสาเหตุที่เขาโพสต์ไปแบบนั้นเพราะดูจากไลฟ์เหตุการณ์การชุมนุม มีคนเข้ามาคอมเม้นท์ว่า ผู้ชุมนุมที่ถูกรถชนได้เสียชีวิตแล้ว เมื่อได้เห็นดังนั้นจึงรู้สึกเสียใจ และอยากแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต จากนั้นตนก็ไม่ได้ดูโพสต์ดังกล่าวอีกเลย จนกระทั่งวันต่อมา เมื่อทราบข่าวว่าไม่มีคนตาย จึงได้แก้ไขข้อความที่โพสต์แล้ว
ในส่วนท้ายของบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา เขาได้ปฏิเสธที่จะลงลายมือชื่อ และจะให้การในรายละเอียดภายใน 30 วัน จากนั้นทางพนักงานสอบสวนได้แจ้งว่า จะทำเรื่องขอฝากขังต่อศาลอาญา ผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเร้นซ์จากที่ สน.ดินแดง ในวันถัดไป
วันนี้ (14 กันยายน 2564) ทางพนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอศาลฝากขังผู้ต้องหา ศาลอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้อง ทางทนายความจึงได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมคำร้องประกอบ ให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีอิทธิพลจนสามารถเข้าไปสร้างความยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่โดยตลอด ทั้งยังไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดในคดีอาญาใดๆ มาก่อน
ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา ให้วางหลักประกันเป็นเงิน 25,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ เช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหา หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายสับสนขึ้นในบ้างเมืองอีก โดยในคำสั่งดังกล่าว ระบุชื่อผู้พิพากษาคือ ชนาธิป เหมือนพะวงศ์