วันนี้ (12 พ.ค. 64) ที่ศาลอาญา ศาลนัดไต่สวนคำร้องขอประกันตัว “พอร์ท ไฟเย็น” หรือ ปริญญา ชีวินกุลปฐม ศิลปินและนักดนตรีวงไฟเย็น ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 3 โพสต์ ตั้งแต่ปี 2559 โดยหลังการไต่สวน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว พร้อมกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า ห้ามทำกิจกรรมหรือใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์สร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวาย และห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
การไต่สวนคำร้องครั้งนี้สืบเนื่องจากทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวปริญญา เป็นครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 64 โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และมีมารดาเป็นนายประกัน จากนั้นศาลได้มีคำสั่งนัดให้ไต่สวนในวันนี้
ในเช้านี้ พบว่าการไต่สวนจะดำเนินผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เนื่องจากช่วงบ่ายวานนี้ ทางเรือนจำพบว่าปริญญาติดเชื้อโควิด และได้ถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 จึงไม่สามารถเบิกตัวมาศาลได้ ศาลจึงได้สั่งให้ไต่สวนผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน
ณ ห้องพิจารณา 912 เวลา 10.30 น. ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์ ในการไต่สวนคำร้องขอประกันครั้งนี้ประกอบไปด้วยพยานทั้งหมด 2 ปาก ได้แก่ ปริญญา และมารดา
ปริญญาเบิกความว่าปัจจุบันอาศัยอยู่กับบิดาและมารดา ในวันที่ถูกจับกุมตามหมายจับของศาลทหารที่ 41/2559 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ขณะนั้นตนอาศัยอยู่ที่บ้านพักของตนเองตามทะเบียนราษฎร์ไม่ได้เป็นที่พักอีกแหล่งตามที่บันทึกจับกุมลงไว้แต่อย่างใด ตนยืนยันว่าเลขที่บ้านในทะเบียนราษฎร์และเลขที่บ้านในบันทึกจับกุมคือบ้านหลังเดียวกัน แต่ถูกสำนักงานเขตเปลี่ยนแปลงเลขที่บ้านในภายหลังเมื่อไม่นานมานี้
อีกทั้งก่อนหน้านี้ ตนยังไม่ทราบมาก่อนว่ามีหมายจับในการกระทำผิดข้างต้น ทราบครั้งแรกเมื่อตนถูกจับในวันที่ 5 มีนาคม 2564 ตนจึงไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี และยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งตลอดมา
กรณีการถูกกล่าวหาว่าหลบหนีไปยังประเทศลาวนั้น ปริญญาแถลงว่า หลังเกิดการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 ตนได้เดินทางไปยังประเทศลาวจริง โดยเดินทางไปอยู่กับเพื่อนหลายคนที่นครเวียงจันทร์ สาเหตุนั้นเกิดจากความไม่วางใจในความปลอดภัยของตนเอง เพราะขณะนั้น คสช. ออกหมายเรียกนักกิจกรรมทางการเมืองจำนวนมาก เพราะตนเองก็เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองด้วยเช่นกัน แต่ขณะเดินไปทางไปยังประเทศลาว ตนไม่ได้ถูกหมายเรียกจาก คสช. แต่อย่างใด ในช่วงปี 2557 จนถึง 2559 นั้น ปริญญาเดินทางไปมาระหว่างประเทศไทยและลาวหลายครั้ง ผ่านช่องทางการเข้าออกเดิมทุกครั้ง คือเส้นทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ยืนยันข้อมูลตามสำนักงานตรวจค้นคนเข้าเมือง
ปริญญาได้แถลงต่อศาล ยอมรับเงื่อนไขว่าจะไม่ทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมที่กระทบต่อสถาบันกษัตริย์ และจะไม่กระทำความผิดข้อหาเดิมซ้ำอีก จะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลที่กำหนด ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดีไม่ได้คัดค้านการประกันตัว
ปริญญายังเบิกความว่าตนยังมีโรคประจำตัว รวมทั้งสิ้น 3 โรค ได้แก่ โรคตับอ่อนอักเสบ โรคเบาหวาน และโรคปลายประสาทอักเสบ ซึ่งจะต้องเข้าทำการรักษาตัวที่โรงพยาบาล อีกทั้งจากการเข้าตรวจโรคโควิด ตนได้รับแจ้งผลการตรวจเมื่อวาน (11 พ.ค. 64) พบเชื้อไวรัสโควิด จึงถูกนำตัวมายังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในช่วงค่ำวานนี้ โดยปริญญากล่าวอีกว่า แดน 6 ที่ตนถูกคุมขังอยู่นั้น มีผู้ที่ตรวจพบเชื้อโควิดแล้วมากกว่าครึ่ง และการควบคุมโรคโควิดของเรือนจำมีปัญหาอย่างมาก
ต่อมา มารดาของปริญญาได้ขึ้นเบิกความตามลำดับในทำนองเดียวกันว่า จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งโดยอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้าน หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจะสามารถควบคุมให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลได้
หลังจากการไต่สวนคำร้องขอประกันเสร็จสิ้น เวลา 13.30 น. ศาลอาญาได้อ่านคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวปริญญา
ศาลพิเคราะห์เห็นว่าข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าผู้ต้องหาถูกจับกุมที่บ้านซึ่งเป็นภูมิลำเนา ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาหลีกเลี่ยงไม่ไปพบพนักงานสอบสวนหรือพยายามหลบหนี ส่วนพยานหลักฐานในคดีนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนรวบรวมแล้วเสร็จ ผู้ต้องหาไม่สามารถจะไปยุ่งเกี่ยวได้
ผู้ต้องหาแถลงด้วยความสมัครใจว่าจะไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์และจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาล ประกอบกับพนักงานสอบสวนไม่คัดค้านการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว จึงไม่มีข้อเท็จจริงว่าการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีของศาลหรือจะไปก่อเหตุร้ายประการอื่น
ผู้ขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นมารดาของผู้ต้องหา และมีหลักทรัพย์เป็นเงินสดถึง 200,000 บาท พอสมควรแก่พฤติการณ์คดี ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนดังกล่าวถือว่าพฤติการณ์ในคดีได้เปลี่ยนแปลงไป จึงมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างการสอบสวนตีราคาหลักประกัน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ต้องหาทำกิจกรรมหรือใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในทางที่จะเกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และให้มาศาลตามกำหนดนัด
ทั้งนี้ ปริญญาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 ก่อนที่วันที่ 6 มีนาคม 2564 ศาลอาญาจะไม่อนุญาตให้ประกันตัว และเขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้วทั้งสิ้น 68 วัน และเป็นผู้ต้องหาคดีการเมืองรายล่าสุดที่ติดโรคโควิดจากการถูกคุมขังในเรือนจำ ทำให้เขายังต้องเข้ารับการรักษาตัวหลังถูกปล่อยตัวแล้ว ในขณะที่ยังมีโรคประจำตัวอื่นๆ อยู่แล้วด้วยดังที่ปริญญาแถลงต่อศาล
จนถึงขณะนี้มีรายงานผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองติดโควิด 7 รายแล้ว ได้แก่ อานนท์ นำภา, ชูเกียรติ แสงวงค์, ธวัช สุขประเสริฐ, ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี, สมคิด โตสอย และฉลวย เอกศักดิ์ และปริญญา ชีวินปฐมกุล รวมทั้งยังมีผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว แต่ตรวจพบว่าติดโควิดจากเรือนจำอีก 2 ราย ได้แก่ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และพรชัย
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง