การชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา เสียงเพลงถูกหยิบขึ้นมาใช้เป็นหนึ่งในเครื่องมือขับเคลื่อนสังคมและสร้างความสนุกสนานแก่มวลชนไปด้วยในขณะกัน หลายเพลงที่ดังก้องผ่านเครื่องขยายเสียงหาฟังไม่ได้จากสื่อกระแสหลัก เนื้อร้องที่พาดพิงการเมืองอย่างตรงไปตรงมา แฝงนัยยะของการตั้งคำถามและถกเถียงต่อระบบชนชั้นและศักดินา หลายเพลงมีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นผลงานจาก “วงไฟเย็น”
วงดนตรีไฟเย็นก่อตั้งขึ้นจากกลุ่มคนผู้ต้องการประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2554 เริ่มเป็นที่รู้จักจากการร่วมแสดงดนตรีบนเวทีปราศัยและเสวนาในกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงของคนเสื้อแดง จนถึงตอนนี้มีผลงานเพลงแล้ว 3 อัลบั้ม รวม 101 เพลง ผลงานที่ได้รับความนิยมและอาจคุ้นหูใครหลายคน เช่น ไม่รักนะ ระวังติดคุก, ปลดปล่อย เปลี่ยนแปลง, ต้นมะขามสนามหลวง เป็นต้น
ปัจจุบันมีสมาชิกวงไฟเย็น 3 ใน 4 คน ได้ลี้ภัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส เหลือแต่เพียง ปริญญา ชีวินกุลปฐม หรือ “พอร์ท ไฟเย็น” วัย 36 ปี ผู้เป็นได้ทั้งนักร้อง ร้องประสาน มือเบส และมือกีต้าร์ เนื่องจากเขายังคงต้องรักษาตัวจากโรคตับอักเสบ เบาหวาน และปลายประสาทอักเสบอยู่ในประเทศไทย
แต่พอร์ทกลับถูกจับกุมเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ตามหมายจับของศาลทหารกรุงเทพลงวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 3 โพสต์ใ่นช่วงปีนั้น นั่นทำให้จนถึงขณะนี้ พอร์ทยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนครอบครัวและรุ่นพี่คนสนิทของพอร์ทมาพูดคุย และบอกเล่าเรื่องราวของชายหนุ่มผู้หลงรักดนตรีและอุทิศชีวิตให้กับการใช้เสียงเพลงเพื่อทวงคืนสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนให้ได้รู้จักมากขึ้น
.Intro
เสียงดนตรีดังก้องอยู่ในสายเลือด
พอร์ทเติบโตขึ้นมาในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ที่มีพ่อ แม่ และน้องสาว 1 คน บ้านทาวน์เฮ้าส์ขนาดสองชั้นที่พวกเขาอาศัยอยู่นั้นดูอบอวลไปด้วยกลิ่นไอของเสียงดนตรี ฝาผนังหลายจุดติดโปสเตอร์วงดนตรีหลากหลายสัญชาติ ทั้งไทย จีน และสากล ชุดเครื่องเสียงและสายไมค์ยังคงวางระโยงระยางอยู่ที่พื้น เห็นแล้วพอจะเดาได้ว่าบ้านนี้คงชอบร้องคาราโอเกะเป็นกิจกรรมยามว่างอย่างแน่นอน
พ่อและแม่ของพอร์ทวัย 60 กว่าปียังคงดูแข็งแรงและหน้าตาสดใส ทั้งสองต้อนรับเราอย่างอบอุ่น ก่อนจะนั่งลงเพื่อบอกเล่าเรื่องวัยเด็กของพอร์ท
“เขาเป็นคนที่มีนิสัยร่าเริง ช่างพูด ตอนเด็กทั้งพ่อและแม่จะชอบร้องเพลงกับเล่นกีต้าร์ให้เขาฟัง เขาก็เลยชอบดนตรีมาตั้งแต่นั้น พอโตขึ้นเขาไปก็ฝึกเล่นกีต้าร์กับเพื่อนแถวบ้าน กลับบ้านมาก็จะหัดเล่นกับกีต้าร์ของแม่ที่ซื้อไว้เล่นตั้งแต่สมัยสาวๆ เขาฝึกเล่นเองจนเก่งเลยนะ จากนั้นเขาก็ซื้อหนังสือเพลงมาอ่านเต็มเลย บอกแม่ว่าจะแต่งเพลง จะทำเพลงเอง เขาเป็นคนที่มีพรสวรรค์นะ ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยได้ไปเรียนที่ไหนเลย”
ดูเหมือนพอร์ทจะได้ดีเอ็นเอศิลปินมาจากผู้เป็นแม่นี่เอง
“ผมก็เป็นคนที่ชอบศิลปะ แต่เราต้องทำงานก็เลยไม่มีเวลาเท่าไหร่ สิ่งที่ผมชอบ ผมทำไม่ได้ แต่วันนี้เขาทำได้แล้ว อย่างการเล่นกีต้าร์ การแต่งเพลง เขาทำสิ่งที่เราเคยฝันว่าอยากจะทำจนสำเร็จ” พ่อพูดเสริมอย่างภูมิใจ
“แม่เคยถามเขานะว่าถ้าชอบทำไมไม่ไปเรียนให้จริงจังไปเลย โตขึ้นจะได้ทำงานสายดนตรีไปเลย เขาก็ไม่ไป เขาบอกว่าไม่อยากให้แม่เสียเงิน เพราะบ้านเราก็ไม่ค่อยร่ำรวยเท่าไหร่”
พอร์ทปฏิเสธการคะยั้นคะยอของแม่ที่ต้องการให้ไปลงเรียนด้านดนตรีอย่างจริงจัง และหันไปเอาดีด้านซอฟแวร์ด้วยการไปเรียนต่อคณะบริหารธุรกิจ สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยธนบุรี จนคนรอบข้างเกิดคำถามว่าเขาสนใจคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เมื่อไหร่กัน แต่แม่เล่าว่านอกจากดนตรีแล้วเขายังหลงรักในตัวเลข และการคิดคำนวณ ซึ่งก็ดูไม่น่าแปลกนัก เพราะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นต้องอาศัยพื้นฐานสำคัญจากทักษะด้านคณิตศาสตร์ที่พอร์ทมีอยู่
Pre Chorus
จังหวะเส้นทางสู่การเป็นพอร์ท ไฟเย็น
หลังเรียนจบปริญญาตรี พอร์ทเข้าทำงานในตำแหน่งนักพัฒนาซอฟแวร์ ที่ซอฟแวร์เฮ้าส์แห่งหนึ่งย่านอ่อนนุช โดยมี “โบ๊ท” เป็นหัวหน้างานในขณะนั้น ทั้งสองคนมีอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือจิตวิญญาณความเป็นศิลปิน และเป็นโบ๊ทนี่เองที่ทำให้พอร์ทย่างเท้าเข้าสู่แวดวงการต่อสู้ทางเมืองด้วยเสียงดนตรี
นอกจากโบ๊ทจะเป็นโปรแกรมเมอร์แล้ว เขายังเป็นนักแต่งเพลงสมัครเล่นที่เขียนเพลงอัพโหลดเผยแพร่ลงบนอินเทอร์เน็ตจำนวนมาก พอร์ทผู้มีนิสัยเขินอายเห็นดังนั้นจึงเริ่มรู้สึกมีความกล้ามากขึ้นที่จะผลิตผลงานเพลงเป็นของตัวเอง
“ตอนเขามาสมัครงานกับผม เขายังไม่ยุ่งเรื่องการเมืองหรอก ช่วงนั้นในปี พ.ศ. 2555 กลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มออกมาเคลื่อนไหวแล้ว มีการล่ารายชื่อเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เวลานั้นเลยมีการจัดงานเสวนาบ่อยๆ อาจารย์หวาน สุดา รังกุพันธ์ แกนนำกลุ่มปฏิญญาหน้าศาลบอกกับผมว่าแกจะจัดเวทีเสวนาแก้ไข ม.112 ขอให้ผมช่วยหานักร้องไปแสดงในงานให้หน่อย ผมเลยชวนพอร์ทไปร้องเพลงและเล่นกีต้าร์ในงานวันนั้นด้วย”
การร่วมขึ้นแสดงดนตรีในวันนั้น นับเป็นครั้งแรกของพอร์ทในการใช้ดนตรีร่วมแสดงออกทางการเมือง หลังจากงานนั้นชายหนุ่มก็มักใช้เวลาว่างไปร่วมเล่นดนตรีและร้องเพลงในกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอดมา โดยไปในนามของวง “ทับทิมสยาม” รวมทั้งยังเริ่มแต่งเพลงที่มีเนื้อหาทางการเมืองด้วยตนเอง
“ตอนที่เราทำงานด้วยกันหรือตอนที่พาเขาไปเล่นดนตรี เขายังไม่ได้มีความคิดเสรีนิยมอย่างตอนนี้นะ คอนเซ็ปที่เขาพรีเซนท์ตัวเองตอนนั้นจนถึงตอนนี้ ก็คือเขาจะวิพากษ์ทุกอย่างเพราะประชาธิปไตยต้องวิจารณ์ได้ วิพากษ์ยิ่งลักษณ์ กปปส. เสื้อเหลือง โครงสร้างสังคม วิพากษ์วิจารณ์ไปจนถึงเรื่องของศาสนา”
การไปร่วมแสดงดนตรีในกิจกรรมของกลุ่มคนเสื้อแดง ทำให้พอร์ทมีโอกาสได้เจอกับวงไฟเย็นที่มีบทบาทอยู่ในขณะนั้น และยังได้ร่วมร้องเพลงด้วยกันบ่อยครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของวงอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
หลังการรัฐประหาร ครั้งหนึ่งในช่วงปี 2559 พอร์ทไปร่วมแสดงกับวงไฟเย็น และขายแผ่นซีดีเพลงที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในกิจกรรม “7 สิงหา หมุดหมายประชาธิปไตย ดนตรี กวี ศิลป์” จากงานนี้ทำให้เขาถูกจับกุมเป็นครั้งแรก เจ้าหน้าที่อ้างว่าซีดีเพลงที่เขาขายฉลากตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคฯ แต่กลับมีการสอบสวนเขาเรื่องเนื้อเพลงที่ร้องบนเวทีกิจกรรมด้วย
หลังจากได้ประกันตัวออกมาในกรณีนี้ พอร์ทก็ยังคงทำงานประจำต่อไป และเมื่อมีเวลาว่างก็จะออกไปเล่นดนตรีบ้างเป็นครั้งคราว จนวันหนึ่งผู้บริหารบริษัทที่เขาทำงานอยู่ทราบเรื่องเข้า จึงเกิดความไม่ค่อยพอใจ อ้างว่าพอร์ทใช้เวลางานไปทำธุระส่วนตัว ทั้งการที่มีมุมมองทางการเมืองที่ไม่เป็นกลางและออกไปเคลื่อนไหวเช่นนั้น อาจส่งผลกระทบต่อองค์กรภายหลังได้
หลังจากถูกผู้บริหารตักเตือนครั้งนั้น พอร์ทตัดสินใจลาออกไปอยู่กับวงไฟเย็นอย่างเต็มตัว เพราะเขาอยากทุ่มเทให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างจริงจังเสียที
“หลักจากลาออก เราก็รู้อยู่แล้วแหละว่าเขาต้องมุ่งไปทางการเมืองเต็มตัวแน่ๆ เขาลาออกตอนนั้นก็ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการเมืองนะ เขาเคยบอกผมว่า งานเขียนโปรแกรมมันปวดหัว” โบ๊ทเล่าพลางหัวเราะไปด้วย
“หลังจากถูกจับที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา พอร์ทก็กลายเป็นที่รู้จักในหมู่นักกิจกรรมด้วยกัน ประกอบกับตอนนั้นคุณโยนก นักร้องนำวงไฟเย็น เขาถอนตัวออกไป วงจึงขาดมือกีต้าร์ พอร์ทเลยได้เข้ามาทำหน้าที่นักร้องนำและมือกีต้าร์ของวงอย่างเป็นทางการตามคำชักชวนวงเพื่อนสมาชิกวงไฟเย็น
“พอร์ทยังเป็นคนสำคัญที่ช่วยปรับเปลี่ยนแนวทางเพลงของวงจากเดิมที่เป็นสไตล์ลูกทุ่งอินดี้ ก็ปรับให้ดูทันสมัยและป็อปมากขึ้นนะ เพราะเขาอยากให้เข้าถึงกลุ่มคนฟังได้ง่ายขึ้น เห็นชัดมากเลยนะถ้าไปฟังเพลงต้นมะขามสนามหลวง
“หลังจากไปอยู่กับวงไฟเย็นเต็มตัว เหมือนทำให้เขาได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ อาจจะเพราะเขาได้ทำสิ่งที่ชอบด้วย คนเราไม่มีโอกาสได้เลือกเส้นทางชีวิตของตัวเองได้บ่อยนัก และพอร์ทก็มั่นใจมากว่าเขาจะไปทางนี้ให้สุดทาง เขาทำหน้าที่ทั้งแต่งเพลง ร้องนำ ร้องประสานเสียง เป็นมือเบส มือกีต้าร์ เขาทำได้หลายอย่าง และทำได้ดีด้วย” โบ๊ทเล่าถึงเพื่อนคนนี้
.Chorus
ท่อนฮุคชีวิตที่พลิกผันกับสารพัดโรครุมเร้า
“มาเจอเขาอีกทีก็ตอนที่เขาป่วยหนักอยู่โรงพยาบาลในหนองคาย แม่จำได้ว่าเป็นช่วงก่อนคริสมาสต์ปี 2019 (พ.ศ. 2562) เพื่อนพอร์ทโทรมาบอกลูกสาวว่าพอร์ทป่วยหนัก ให้แม่รีบขึ้นไปดู เพราะเขาอาจจะไม่รอดก็ได้ พอไปถึงแม่ก็เจอเขา ตอนนั้นก็ดูท่าทางจะไม่ไหว พอเดินได้ แต่อ่อนเพลียมาก ผอมลง หลังจากเอ็กซ์เรย์กับซีทีสแกนสองครั้ง ผลตรวจออกมา หมอก็มาบอกว่าพอร์ทเป็นโรคตับอ่อนอักเสบนะ” แม่ย้อนเล่าเหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตของลูกชายอีกครั้ง
“หมอก็ถามอีกว่าจะผ่าตัดไหม ถ้าผ่า พอร์ทเขาก็จะหายปวดท้อง แต่โอกาสรอดเป็น 50/50 นะ เพราะตับอ่อนมันอยู่ลึกมาก ไม่เหมือนกับอวัยวะพวกกระเพาะที่อยู่ข้างหน้า เราได้ยินแบบนั้นก็กลัว พ่อกับแม่เลยไม่อยากให้เขาผ่าตัด และพอร์ทก็ดูเหมือนจะกลัวด้วย เราสามคนก็เลยตกลงกันว่าจะอดทนรักษาแบบไม่ผ่าตัดไปอย่างนี้แล้วกัน
“พอไม่ผ่าตัดเลยทำให้เขาปวดท้องมาก ต้องฉีดมอร์ฟีนตลอด พอยาหมดฤทธิ์เขาก็จะปวดอีก กินอะไรก็ไม่ได้ กินได้แต่ผลไม้ลูกสองลูก มากกว่านี้เขาอ้วกออกหมด แม่ที่ไปเฝ้าเขานี่แทบจะไม่ได้หลับได้นอน
“ตอนนั้นที่อยู่บ้าน น้ำหนักเขา 100 กว่าโลเลยนะ แต่พอป่วยน้ำหนักตัวก็ลดลงๆ น้อยที่สุดนี่เหลือแค่ 50 กว่าโล ผอมมากเลย คนที่เคยเห็นเขานี่จะไม่เชื่อเลยว่าเขาจะผอมได้ขนาดนี้ น่ากลัวมาก แล้วก็น่าสงสารมาก”
หลังรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลในจังหวัดหนองคายนานร่วมเดือน เมื่ออาการดีขึ้นหมอจึงให้พอร์ทกลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลใกล้บ้านในกรุงเทพฯ และกลับมาตรวจเจอโรคเบาหวานเป็นโรคแทรกซ้อนอีกโรคหนึ่ง จากสาเหตุที่ตับอ่อนมีปัญหาจึงทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงตามไปด้วย
“แม่ต้องฉีดยาอินซูลินให้เขาตลอด ทั้งๆ ที่แม่ก็ไม่เคยฉีดยามาก่อน ก็จำเป็นต้องกลั้นใจฉีดให้ ช่วงนั้นเขาจะปวดท้องบ่อย บางคืนปวดมากจนต้องไปห้องฉุกเฉิน จะว่าไปช่วงนั้นไปห้องฉุกเฉินเกือบทุกอาทิตย์เลยนะ พอหมอเขาฉีดยาแล้วอาการดีขึ้นถึงค่อยกลับบ้านได้”
แต่ไม่นานเขาก็เริ่มมีอาการมือเท้าชา ไม่ค่อยมีความรู้สึก อันเป็นผลข้างเคียงจากการทานยารักษาโรคตับอ่อนอักเสบนานร่วมปี ส่งผลให้เขาป่วยเป็น “โรคปลายประสาทอักเสบ” โรคแทรกซ้อนที่สองนี้สร้างปัญหากับการเดิน หยิบจับสิ่งของ แม้กระทั่งการเล่นเครื่องดนตรีชิ้นโปรดอย่างกีต้าร์ เขาก็ไม่อาจมีแรงพอจะดีดให้มันเป็นเพลงได้อีกแล้ว
“น้ำดื่มขวดใหญ่นี่เขายกไม่ได้เลยนะ แม่ต้องซื้อน้ำขวดเล็กให้ เดินขึ้นบันไดก็ลำบาก เดินไปไหนก็ต้องใส่รองเท้าแบบมีสายรัดส้น ไม่งั้นรองเท้าจะหลุด เพราะเขาไม่มีแรงเดิน บางครั้งก็ต้องนั่งรถเข็น
“ตอนที่เขาป่วยหนักๆ เขาเครียดมาก แม่ก็กลัวว่าเขาจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า เขาพูดตลอดว่า เขาคงจะไม่รอด แม่ก็ให้กำลังใจเขา บอกว่าอย่าคิดมาก ค่อยๆ รักษาไปเดี๋ยวก็หาย
“ถึงจะมีบัตรทอง แต่ก็ต้องจ่ายพวกยาที่อยู่นอกบัญชี อาหารพิเศษ แล้วบางครั้งก็ต้องไปสแกนร่างกายกับเครื่อง MRI เราก็ต้องเสียเงินต่างหาก ครั้งหนึ่งเขาไอเป็นเลือด เราก็รีบพาเขาไปโรงพยาบาลเอกชนที่ใกล้ที่สุด ไปนอนแค่ 4 วัน เสียเงินไปแสนกว่า สองปีครึ่งที่รักษาเขามานี่เสียไปไม่ต่ำกว่า 3 แสนนะ แม่เนี่ยน็อคเลย ไม่มีเงินแล้ว กังวลมาก บางทีก็แอบร้องไห้”
Bridge
คีย์เติมเต็มเพลงชีวิต
“เพื่อนเขาติดต่อมาให้ลี้ภัยไปอยู่ด้วยกันที่ฝรั่งเศส เพราะทั้งวงเขาก็ไปกันหมดแล้ว ตอนน้ำหนักตัวเขาแค่ 50 กว่าโล ยังเดินไม่ค่อยได้ แล้วต้องเดินทางไปคนเดียวอีกต่างหาก แต่ก็ยังดื้อจะไป แม่ก็ตามใจ เตรียมข้าวของให้เสร็จเรียบร้อยแล้ว เที่ยงวันนั้นที่บ้าน เลยพาเขาไปเลี้ยงส่ง ตอนนั่งกินกันอยู่เขาก็พูดขึ้นมาว่า เขาไม่ไปแล้วนะ เขาไม่อยากจะไปเป็นภาระใครที่นู้น ป่วยแบบนี้คงช่วยอะไรวงไม่ได้ ต้องลำบากคนอื่นมาดูแลอีก” แม่ของพอร์ทถึงการตัดสินใจอีกครั้งของเขา
“เขาคิดตลอดนะว่าไม่อยากเป็นภาระใคร อยู่บ้านเขาก็ทำงานไม่ได้ ถึงอาการจะดีขึ้นบ้างแล้ว ทำได้แค่เล่นดนตรีบำบัดความเครียดไปวันๆ นัดกันทานข้าวกันทีไรเขาก็จะชอบพูดว่า พ่อแม่มีแต่เสียเงินดูแลเขา แต่เขาหาเงินมาจุนเจือครอบครัวไม่ได้เลย จนเขาอยากฆ่าตัวตายเลยนะ” โบ๊ทที่นั่งฟังอย่างตั้งใจพูดอยู่ขึ้นมา เรื่องที่ละเอียดอ่อนด้านอารมณ์แบบนี้ พอร์ทมักไประบายให้โบ๊ทฟังเสมอ
“ที่เขามีกำลังใจอยู่ต่อไปเพราะเขาชอบคุณ ‘อุ้ม BNK’ มาก พอร์ทเคยไปงานจับมือศิลปิน BNK ที่ไบเทคบางนาด้วย” โบ๊ทรู้ เพราะเขาก็ไปร่วมงานนั้นในฐานะแฟนตัวยงคนหนึ่งเช่นกัน
ตั้งแต่ล้มป่วย พอร์ทตัดสินใจถอยตัวออกห่างจากเรื่องทางการเมือง และบำบัดความเครียดของตัวเองด้วยการใช้เวลาไปกับงานอดิเรกที่ชื่นชอบอย่างการแต่งเพลงให้กับศิลปิน BNK48 และการเล่นเกมส์สร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ ในช่วงที่เขายังต้องรักษาตัวอยู่
พอร์ทเปลี่ยนจากแนวเพลงเสียดสีการเมือง มาเป็นแนว Fan Song ที่หมายถึง เพลงที่แฟนคลับแต่งให้ศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบด้วยความรักและชื่นชม ศิลปินมือ (ไม่) ใหม่หวนกลับมาฝึกมือกับสิ่งที่ชอบอีกครั้ง ชายหนุ่มทำเพลงให้กับศิลปินวงเกิร์ลกรุ๊ป BNK48 ที่ชื่นชอบหลายคน โดยเฉพาะศิลปินคนโปรดอย่าง “อุ้ม BNK48”
โรคปลายระบบประสาทอักเสบทำให้พอร์ทไม่ค่อยมีแรงเล่นกีต้าร์ได้ดีเหมือนเดิม เขาจึงหันมาทำเพลงด้วยโปรแกรมในคอมพิวเตอร์แทน และก็เกินคาด เพลงฟังดูไพเราะไม่แพ้กับบันทึกสด แถมยังมีลูกเล่นใหม่ๆ ให้ได้สนุกไปกับมัน ผลงานเพลง Fan Song ของพอร์ทหลายเพลงได้รับความนิยมในหมู่แฟนคลับ BNK48 ด้วยกันอย่างมาก บางเพลงมียอดเข้าชมสูงถึง 30,000 ครั้ง
งานอดิเรกอีกอย่างของเขาก็คือการเล่นเกมส์ “ฮาร์ทสโตน” โดยพอร์ทใช้ชื่อตัวละครในเกมส์ว่า “หยางจื้อเทียน”
“เขาเล่นเก่งมากอยู่อันดับต้นๆ ของประเทศเลยนะ ถ้าคนที่เล่นเกมส์นี้จะคุ้นชื่อหยางจื้อเทียน เขาเล่นเก่งจนขนาดที่ว่าเด็กๆ ในเกมส์จะเรียก “อาจารย์หยาง” ยกย่องให้เขาเป็นเหมือนสุดยอดอาจารย์ในเกมส์นี้ พอเล่นจนเลเวลสูงๆ เขาก็จะประกาศขายไอดีนั้น แล้วก็สร้างไอดีใหม่ แล้วก็ขายอีก” โบ๊ทเล่าให้ฟังด้วยความตื่นเต้น
.Breakdown
ทำนองของความห่วงใยจากครอบครัว
ปัจจุบันพอร์ทยังคงต้องทานยารักษาอาการจากโรคปลายประสาทอักเสบและโรคเบาหวานอยู่เป็นประจำทุกวัน ส่วนโรคตับอ่อนอักเสบที่ป่วยก่อนหน้านี้นั้นอาการดีขึ้นจนหมอไม่ได้จ่ายยาให้ทานแล้ว
หลังพอร์ทถูกคุมตัวไปฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แม่ของเขาได้ซื้อยาจากโรงพยาบาลมา ซึ่งจะสามารถใช้ทานได้เป็นเวลา 5 เดือน และหมอย้ำกับแม่ว่าครั้งหน้าพอร์ทจำเป็นต้องเข้าตรวจอาการกับหมอเท่านั้น ถึงจะจ่ายยาให้ได้ตามสภาพอาการป่วยจริงที่เป็นอยู่
“ไม่รู้ว่าในเรือนจำเขาจะได้พบหมอไหม ถ้ายาหมดรอบนี้คงไปขอซื้อเขาอีกไม่ได้แล้ว ตอนนี้แม่เป็นห่วงเรื่องสุขภาพเขาที่สุด เขาเป็นคนป่วยแต่ต้องไปอยู่ในเรือนจำ สถานที่แบบนั้นมันไม่เหมาะกับคนป่วย ที่นอนก็ไม่มี กลัวว่านานวันเข้าสุขภาพเขาจะทรุดโทรม ถึงจะพอเดินไปไหนมาไหนได้บ้างแล้ว แต่เขาก็ยังต้องใส่รองเท้ารัดส้นเพื่อให้มันไม่หลุด มือเท้าเขาก็ยังชาอยู่ตลอดเวลา
“โรคเบาหวานที่พอร์ทป่วยอยู่ หมอก็แนะนำว่าอย่ากินอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล หรือของมันเยอะเกินไป ให้กินผักผลไม้มากอีกหน่อย อยู่ข้างในนั้นไม่รู้ว่าเขาจะได้กินอาหารอะไรบ้าง แล้วจะทำให้อาการป่วยของเขาแย่ลงหรือเปล่า”
“อยากไปเยี่ยมเขาแล้ว” เธอพูดประโยคนี้เป็นครั้งที่ 5
“พอรู้มั้ยว่าข้างในเขาได้กินอาหารกี่อย่าง กี่มื้อ มีอะไรบ้าง”
“แม่นอนไม่เคยหลับ หัวอกคนเป็นแม่อย่างเราเห็นข่าวคนถูกอุ้มหายมาแล้วหลายคน แล้วลูกเราจะโดนแบบนั้นด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้ เราได้แต่หวังว่าขอให้อาการป่วยของเขาดีขึ้นในเร็ววัน เขาจะได้ดูแลตัวเองได้” พูดคุยกันถึงตอนนี้ผู้เป็นแม่เริ่มมีน้ำตาคลอ และเห็นได้ว่าเธอพยายามกลั้นไม่ให้มันไหลอย่างสุดความสามารถ
“พอร์ทเขาไม่ใช่คนไม่ดีอะไร เขาไม่ได้ไปฆ่าคนหรือทำอะไรที่ผิดศีลธรรม เพียงแค่ความคิดของเขาต่างจากกฎหมายบ้านเมือง เขาถึงโดนจับ เราถึงไม่โกรธหรือเกลียดลูกของเรา เพราะเขาไม่ได้ทำอะไรผิด เขาแค่ไปร้องเพลง” แม่พูดต่อสลับกับถอนหายใจบางขณะ
“สิ่งที่พอร์ทเรียกร้องในบางประเทศก็ถูกยอมรับ แต่ประเทศเรายังไม่ยอมรับแค่นั้นเอง” พ่อพอร์ทพูดทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม
อ่านรายงานข่าวคดีของพอร์ท
จับ! “พอร์ท” ไฟเย็น ม.112 กรณีโพสต์เพลง-ข้อความ “ตุรกีไม่มีกษัตริย์เซ็นรับรองรปห.” ตั้งแต่ปี 59