เปิดคำอุทธรณ์ ‘จ่านิว’ หลังศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับหนึ่งพันบาท คดี พ.ร.บ.รักษาความสะอาด

เปิดคำอุทธรณ์ ‘จ่านิว’ หลังศาลอุทธรณ์พิพากษาปรับหนึ่งพันบาท คดี พ.ร.บ.รักษาความสะอาด

ภาพเหตุการณ์ขณะจับกุม ‘จ่านิว’ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ที่สกายวอล์กช่องนนทรี

3 ต.ค. 2560 ศาลแขวงพระนครใต้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่ ‘จ่านิว’ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ถูกฟ้องว่าทิ้งสิ่งปฏิกูลหรือขยะมูลฝอยลงบนที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 จากการโปรยโพสต์อิทที่สกายวอล์กสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี จากกิจกรรมโพสต์สิทธิ เมื่อ 1 พ.ค. 2559 โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ จริง ให้ปรับ 1,000 บาท

คดีนี้ ศาลชั้นต้นเคยพิพากษาให้สิรวิชญ์มีความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ และสั่งลงโทษปรับเป็นจำนวนเงิน 1,000 บาท โดยศาลเห็นว่า หากจำเลยประสงค์จะให้ผู้อื่นมาเขียนข้อความใส่กระดาษโพสต์อิทก็สามารถยื่นได้โดยไม่จำเป็นต้องโยนหรือโปรยเพราะการโปรยย่อมเป็นเจตนาเล็งเห็นผลว่า หากมีคนเก็บกระดาษมาเขียนไม่หมดก็จะทำให้กระดาษโพสต์อิทนั้นกลายเป็นเศษกระดาษสร้างความสกปรกให้แก่พื้นที่บริเวณนั้น ด้วยเหตุนี้จำเลยจึงมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง

จำเลยจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2560 โดยระบุว่าในวันนัดตรวจพยานหลักฐาน โจทก์จงใจไม่ส่งพยานหลักฐานในความครอบครองของโจทก์ต่อศาล เพื่อให้ศาลและจำเลยตรวจสอบในวันดังกล่าว ตามมาตรา 240 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ระบุว่า ถ้าคู่ความฝ่ายใดไม่ส่งพยานเอกสารหรือพยานวัตถุให้ศาลมีอำนาจไม่รับฟังพยานหลักฐานนั้น

ส่วนที่จำเลยไม่อาจยื่นโพสต์อิทให้ผู้สื่อข่าวและประชาชนที่มารอกิจกรรมจากมือถึงมือแต่ต้องโยนให้ เนื่องจากตำรวจไม่ยอมให้จำเลยทำกิจกรรมโดยล้อมและผลักดันตัวจำเลยไว้ ประชาชนและผู้สื่อข่าวอยู่นอกวงล้อม มีตำรวจขวางกั้นอยู่ แต่กระดาษโพสต์อิทถูกผู้สื่อข่าวและประชาชนรับไปทั้งหมด ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ กระดาษโพสต์อิทที่ตำรวจยึดไว้ได้ก็ไม่ได้เก็บมาจากที่จำเลยโยนแล้วหล่นบนพื้น แต่ยึดมาจากถุงใส่ของที่จำเลยถืออยู่ในมือเพื่อนำมาทำกิจกรรมเท่านั้น

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยเจตนาเล็งเห็นผลว่ากระดาษที่ถูกโยนออกไป หากประชาชนเก็บไปไม่หมดก็จะกลายเป็นสิ่งปฏิกูล สิรวิชญ์โต้แย้งว่า กระดาษโพสต์อิทที่โยนให้ประชาชนมีเพียงเล็กน้อยและไม่ได้หล่นลงพื้น ทั้งจำเลยเห็นแล้วว่ามีประชาชนรอที่รับกระดาษโพสต์อิทอยู่จึงได้โยนไป เจตนาของจำเลยจึงไม่ได้เล็งเห็นผลตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา

นอกจากนี้ สิรวิชญ์ยังอุทธรณ์ในเรื่องอำนาจจับกุมของตำรวจ เนื่องจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นระบุว่าตำรวจได้เชิญตัวจำเลยไปที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ เมื่อถึงสถานีตำรวจจึงได้ทำบันทึกจับกุมและแจ้งข้อหาตามฟ้องแก่จำเลย ถือว่าเป็นการควบคุมตัวโดยชอบตามกฎหมาย แต่สิรวิชญ์แย้งว่าบันทึกจับกุมระบุว่าเขาถูกจับกุมที่สกายวอล์กช่องนนทรีเวลาประมาณ 16.35 น. และจัดทำบันทึกการจับกุมที่สถานีตำรวจ เวลา 18.00 น. แสดงให้เห็นว่าขณะจับกุมตัวจำเลยที่สกายวอล์ก ตำรวจไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิแก่จำเลยก่อนจับกุม แต่เพิ่งแจ้งเมื่อเวลา 18.00 น. ที่สถานีตำรวจ จึงเป็นการจับกุมที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 วรรคสอง ที่ระบุว่าในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ ถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ

ตำรวจที่เข้าจับกุมยังไม่ใช่เจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือได้รับมอบหมายหรือแต่งตั้งให้มีอำนาจจับกุมตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ และยังใช้อำนาจมาจำกัดสิทธิเสรีภาพของจำเลยและประชาชน เพื่อไม่ให้มีการชุมนุมแสดงความเห็น เป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เพราะจำเลยได้แจ้งความประสงค์ว่าจะชุมนุมต่อผู้กำกับสถานีตำรวจท้องที่ก่อนเริ่มทำกิจกรรมแล้ว ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 เมื่อจำเลยมาถึงยังไม่ทันจะได้ทำกิจกรรมหรือโยนโพสต์อิทตามฟ้อง เจ้าหน้าที่ตำรวจ 5-10 คนก็เข้ามาเจรจาไม่ให้จำเลยทำกิจกรรมและล้อมจำเลยไว้ ก่อนจะเชิญไป สน.ทุ่งมหาเมฆ โดยไม่แจ้งว่าจำเลยกระทำผิดข้อหาใด

นอกจากนี้ สิรวิชญ์ยังอุทธรณ์ด้วยว่า ศาลไม่อาจสั่งริบกระดาษโพสต์อิทที่ตำรวจยึดไว้เป็นของกลาง เนื่องจากของกลางที่จะริบได้มีอยู่ 3 กรณี ได้แก่ ของที่มีไว้เป็นความผิดโดยตัวของมันเอง ของที่ได้มาจากการกระทำความผิด และของที่ใช้เพื่อกระทำความผิด แต่กระดาษโพสต์อิทที่ศาลชั้นสั่งริบนั้นอยู่ในถุงที่จำเลยนำติดตัวมา ไม่ใช่กระดาษที่จำเลยโยนเพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชน จึงไม่ใช่ของกลางที่จำเลยมีไว้เพื่อกระทำความผิดแต่อย่างใด ศาลจึงไม่อาจริบของกลางดังกล่าวได้

อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยเห็นว่าสิรวิชญ์กระทำผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ให้ปรับ 1,000 บาท ซึ่งค่าปรับได้ชำระไว้แล้วตั้งแต่ในศาลชั้นต้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

X