ศาลยกฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คาร์ม็อบรังสิต “กุลวดี -สุธิลา” ชี้ยังใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ

วันที่ 30 ก.ย. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรี มีคำพิพากษายกฟ้อง ในคดี “คาร์ม็อบ รังสิต” ของสองนักกิจกรรมชาวจังหวัดปทุมธานี ได้แก่ กุลวดี ดีจันทร์ นักกิจกรรมคนเสื้อแดง และ สุธิลา ลืนคำ นักกิจกรรมจากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ทั้งสองถูกตำรวจกล่าวหาว่าฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเป็นผู้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบ ที่เริ่มต้นบริเวณห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เพื่อนำขบวนรถไปสมทบกับคาร์ม็อบในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 

ในคดีนี้ อัยการได้นำพยานโจทก์เข้าเบิกความ โดยมีข้อกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองคน เป็นผู้เชิญชวนให้มวลชนราว 40 – 50 คน เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ที่บริเวณหน้าห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ในช่วงเวลาประมาณ 11.00 – 13.00 น. โดยเป็นการกระทำที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

สำหรับจำเลยทั้งสองคน ได้ต่อสู้ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม และเป็นเพียงประชาชนธรรมดาที่เข้าร่วมการชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้เป็นแกนนำกลุ่มอย่างที่ตำรวจกล่าวอ้าง และการชุมนุมก็เป็นเพียงการนำรถพาหนะส่วนบุคคล และนัดรวมตัวกันในสถานที่โล่งแจ้ง เพื่อขับรถมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ อีกทั้งการรวมตัวกันในกิจกรรมนี้ ก็เป็นในลักษณะต่างคนต่างมา ไม่แออัด และไม่มีใครรู้จักกันเป็นพิเศษ ตลอดจน สภาพการจราจรหน้าห้างสรรพสินค้าดังกล่าว ก็ไม่ได้แตกต่างจากลักษณะที่ประชาชนเข้าใช้บริการห้างสรรพสินค้าตามปกติ

เวลา 09.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 9 เจ้าหน้าที่ประจำห้องพิจารณาคดี ให้กุลวดีและสุธิลาเข้าไปนั่งในพื้นที่คอกพยานพร้อมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล เพื่อรอฟังคำพิพากษา

ต่อมา 09.40 น. ศาลขึ้นพิจารณาคดี โดยเริ่มอ่านสรุปประเด็นการสืบพยานและคำเบิกความของพยานโจทก์และจำเลย จากนั้นจึงอ่านคำพิพากษา มีใจความสำคัญโดยสรุประบุว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์แล้ว ยังระบุไม่ได้ชัดเจนว่าจำเลยทั้งสองคนเป็นผู้จัดการชุมนุมตามฟ้อง โดยตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มิได้มีการกำหนดความหมายของ ‘ผู้จัดการชุมนุม’ เอาไว้ 

หากพิจารณาความหมายของ ‘ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ’ ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.การชุมนุมฯ และเมื่อได้ตีความอย่างเคร่งครัดแล้ว พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่ถูกกล่าวหานั้น ก็ยังไม่ได้เข้าข่ายความหมายของคำว่า ‘ผู้จัดการชุมนุม’ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ 

ขณะเดียวกันจากพยานหลักฐาน กิจกรรมตามฟ้องเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้เข้าร่วมชุมนุมโดยใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 

แม้จะมีพยานโจทก์เบิกความทำนองว่าจำเลยทั้งสองชุมนุมกันในที่แออัด และมีผู้ชุมนุมบางรายไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย แต่ก็ไม่มีพยานสามารถระบุตัวบุคคลดังกล่าวได้ และก็ไม่ได้มีพยานหลักฐานว่าจำเลยทั้งสองมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดอย่างไร

เมื่อพยานหลักฐานโจทก์และข้อเท็จจริงไม่สามารถนำสืบได้จนสิ้นสงสัยว่าจำเลยทั้งสองคนมีความผิดตามข้อกล่าวหาอย่างไร จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง

.

กุลวดี – สุธิลา เผยรู้สึกยินดีที่ ‘ตราชั่งไม่เอียง’  และหวังว่าคำตัดสินยกฟ้อง จะเป็นบรรทัดฐานให้คดีคาร์ม็อบอื่นๆ ทั่วประเทศที่ยังไม่มีคำพิพากษา

กุลวดี ในฐานะจำเลยที่ 1 กล่าวว่าในวันนี้เธอรู้สึกดีใจ ที่ศาลจังหวัดธัญบุรียังมีความยุติธรรมอยู่  

“พี่รู้สึกว่าวันนี้ศาลไม่เอียง ระบุออกมาชัดเจนว่าเราไม่ได้เป็นคนผิด เราดีใจมาก ถามว่ากลัวไหม เราไม่กลัว เรารู้ว่าในใจลึกๆ เราคิดอยู่แล้วว่ายกฟ้อง เพราะจังหวัดอื่นก็ยกฟ้อง การชุมนุมของเรามันไม่ได้ผิดกฎหมาย เรามาเรียกร้องวัคซีนให้บุคลากรด่านหน้า” อีกทั้ง เธอยังเสริมว่าผลของคำพิพากษาได้ยืนยันแล้วว่าเจตนาในการร่วมชุมนุมของเธอนั้นบริสุทธิ์ ไม่ได้ผิดกฎหมาย

“ขอบคุณทนายที่ช่วยเหลือเรา ขอบคุณศาลที่วันนี้มีคำพิพากษาอย่างยุติธรรมให้เราทั้งสองคน”

สำหรับ สุธิลา ในฐานะจำเลยที่ 2 เปิดเผยว่า “เราทำใจไว้ในระดับหนึ่งไม่ว่าเขาจะมีคำพิพากษาออกมายังไง เราก็จะยังยืนยันสิทธิของเรานะ”  

เมื่อถามถึงผลคำพิพากษาในวันนี้ เธอได้กล่าวความรู้สึกอย่างดีใจว่า “มันจะต้องเป็นแบบนี้ไปอีกหลายคดีที่จะตามมา อย่างน้อยๆ มันก็จะได้เป็นบรรทัดฐานของศาล ที่จะมีการพิจารณาอย่างตรงไปตรงมาและยกฟ้อง แล้วเราก็คาดหวังในคดีคาร์ม็อบอื่นๆ ที่โดนคดีเหมือนเราก็ต้องยกฟ้องแบบเราเหมือนกัน”

X