ปากคำพยานก่อนพิพากษาคดีคาร์ม็อบรังสิต: 2 นักกิจกรรมปทุมธานี ยืนยันเข้าร่วมชุมนุมโดยใช้สิทธิเสรีภาพ ไม่เสี่ยงต่อโรค

วันที่ 30 ก.ย. 2565 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษาในคดี “คาร์ม็อบ รังสิต” ของสองนักกิจกรรมชาวจังหวัดปทุมธานี ได้แก่ กุลวดี ดีจันทร์ นักกิจกรรมคนเสื้อแดง และ สุธิลา ลืนคำ นักกิจกรรมจากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ทั้งสองถูกตำรวจกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดและร่วมชุมนุมในกิจกรรมคาร์ม็อบ ที่เริ่มต้นบริเวณห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เพื่อนำขบวนรถไปสมทบกับคาร์ม็อบในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 

ในคดีนี้ มีผู้แจ้งความกล่าวโทษ ได้แก่ พ.ต.ท.ชาติ แสงวงศ์ สารวัตรสืบสวน สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์  เป็นผู้กล่าวหา โดยทั้งคู่ถูกแจ้ง 2 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) 

ภาพรวมของการสืบพยาน — ตำรวจเฝ้าติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองจากเฟซบุ๊ก “ปทุมไม่ทน” และอ้างมีหลักฐานชี้ 2 นักกิจกรรมเป็นแกนนำเชิญคนร่วมคาร์ม็อบรังสิต

สำหรับคดีนี้ ศาลจังหวัดธัญบุรี ได้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในระหว่างวันที่ 18 – 20 พ.ค. 2565  และวันที่ 2 ส.ค. 2565 โดยมีข้อกล่าวหาของพยานฝ่ายโจทก์ว่าจำเลยทั้งสองคน เป็นผู้เชิญชวนให้มวลชนราว 40 – 50 คน เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ที่บริเวณหน้าห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ในช่วงเวลาประมาณ 11.00 – 13.00 น. โดยเป็นการกระทำที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  อีกทั้ง ได้ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของกิจกรรมทางการเมือง พบว่ามีเพจเฟซบุ๊กชื่อ ‘ปทุมไม่ทน’ มีการโพสต์แชร์ข้อความให้สมาชิกกลุ่มเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบนี้อีกด้วย

ในส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองคน ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม เป็นเพียงประชาชนธรรมดาที่เข้าร่วมการชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้เป็นแกนนำของกลุ่มอย่างที่ตำรวจกล่าวอ้าง และการชุมนุมก็เป็นเพียงการนำรถพาหนะส่วนบุคคลและนัดรวมตัวกันในสถานที่โล่งแจ้ง เพื่อขับรถมุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพฯ ไม่ได้ทำให้การจราจรติดขัด และประชาชนที่เข้าร่วมก็ไม่ได้แออัดกัน จึงไม่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด อีกทั้งการรวมตัวก็เป็นไปในลักษณะต่างคนต่างมา ไม่ได้มีใครรู้จักกันเป็นพิเศษ ไม่ได้แตกต่างจากลักษณะที่ประชาชนเข้าใช้บริการห้างสรรพสินค้าตามปกติ

ทั้งนี้ อัยการได้นำพยานโจกท์เข้าเบิกความจำนวน 8 ปาก ประกอบไปด้วย ตำรวจผู้กล่าวหา 1 ปาก พนักงานสืบสวนและสอบสวน 4 ปาก นักวิชาการด้านสาธารณสุข 1 ปาก และพยานผู้เห็นเหตุการณ์ 2 ปาก โดยทนายจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงเรื่องการดำเนินคดี ชาติชาย แกดำ ที่ สภ.ปากคลองรังสิต ได้ และไม่ติดใจสืบพยานพนักงานสอบสวนคนดังกล่าว รวมถึงไม่ติดใจสืบพยานโจทก์ที่เป็นพนักงานสอบสวนผู้ออกหมายเรียกพยานผู้เห็นเหตุการณ์ จึงทำให้เหลือพยานโจทก์ที่เข้าเบิกความจำนวน 6 ปาก และฝั่งจำเลยได้อ้างตัวเองเป็นพยานทั้งหมด 2 ปาก

.

.

พยานโจทก์ปากที่ 1 — พ.ต.ท.ชาติ แสงวงศ์ ในฐานะผู้กล่าวหา อ้างลงพื้นที่พบ ‘กุลวดี’ มีลักษณะเป็นแกนนำจากการยืนอยู่บริเวณหัวขบวน-ถือธงแดง ส่วนสุธิลา ยืนอยู่ท้ายรถกระบะ

พ.ต.ท. ชาติ แสงวงศ์ อายุ 50 ปี ในขณะที่เกิดเหตุ มีตำแหน่งเป็นสารวัตรสืบสวน สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ในคดีนี้มีหน้าที่ติดตามสถานการณ์ เก็บภาพถ่ายและคลิปวิดีโอในขณะชุมนุม

พยานเบิกความถึงเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ว่าตนเองได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา ให้ติดตามสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในเขตท้องที่รับผิดชอบ และได้พบข้อความเชิญชวนของเฟซบุ๊กชื่อ ‘ปทุมไม่ทน’ ซึ่งได้มีการเชิญชวนสมาชิกในกลุ่มให้นำรถยนต์และรถจักรยานยนต์ มานัดพบกันที่ห้างฟิวเจอร์รังสิต ก่อนจะมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ พยานได้รับมอบหมายหน้าที่ลงพื้นที่เก็บภาพเหตุการณ์ต่างๆ ของกลุ่มบุคคลดังกล่าว 

ในขณะเวลา 11.00 น. พบกลุ่ม ‘คนเสื้อแดง’ ราว 20 คน และมีรถจักรยานยนต์รวม 20 คัน ในบริเวณห้าง พยานได้เข้าไปสอบถามจึงทราบว่ามีแกนนำกลุ่มคือ กุลวดี ดีจันทร์ หรือจำเลยที่ 1 จากการแสดงออกด้วยวิธีการสั่งการ-จัดการจราจรบริเวณหน้าห้าง และยืนอยู่บริเวณหัวขบวนรถพร้อมกับถือธงแดง อีกทั้ง พยานได้สอบถามจำเลยที่ 1 พบว่าในการรวมกลุ่มจะใช้เวลาไม่นานประมาณ 30 นาที และเมื่อเวลา 11.30 น. กลุ่มของจำเลยที่ 1 ก็ได้เคลื่อนตัวออกจากห้างดังกล่าวไปบนถนนพหลโยธินฝั่งขาเข้า มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพมหานคร

สำหรับสุธิลา หรือจำเลยที่ 2 พ.ต.ท.ชาติ เบิกความว่า ในเวลา 12.00 น. ตนและพวกได้อยู่สังเกตการณ์ในบริเวณดังกล่าวต่อ พบรถยนต์ส่วนตัวจำนวนใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ 2 ชื่อว่า ‘เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน’ โดยทราบว่ามีสุธิลาเป็นแกนนำ เนื่องจากพบยืนท้ายรถกระบะ พร้อมพูดผ่านโทรโข่งเชิงแนะนำการจัดขบวนรถ

อีกทั้ง พยานได้เบิกความต่อว่า นอกจากกลุ่มของจำเลยที่ 2 แล้วก็ได้พบกลุ่มที่ 3 หรือกลุ่ม ‘พะยอมเก๋า’ ของ ชาติชาย แกดำ ซึ่งถูกดำเนินคดีแยกอยู่ที่ สภ.ปากคลองรังสิต ได้เข้ามาสมทบอีกเป็นจำนวน 40 คน พร้อมทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนตัว โดยทั้งสองกลุ่มใช้เวลารวมตัวกันไม่นานนัก ก่อนจะเคลื่อนตัวออกไปในทางเดียวกันกับกลุ่มของจำเลยที่ 1 ในช่วงเวลาประมาณ 13.00 น.

ทนายจำเลยถามค้านว่า ผู้ที่ริเริ่มในการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ คือสมบัติ บุญงามอนงค์ และมีจุดประสงค์เพื่อวิจารณ์การทำงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่รู้เรื่องจุดประสงค์ของกิจกรรมตามที่ทนายให้ดู แต่ทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการไปรวมตัวกับกลุ่มนายสมบัติที่กรุงเทพฯ 

ทนายได้ยื่นเอกสารภาพโปสเตอร์การเชิญชวนดังกล่าวให้กับพยานดู และยื่นส่งต่อศาล เพื่อชี้ว่าจำเลยทั้งสองคนในคดีนี้ไม่ได้เป็นแกนนำหรือจัดการชุมนุมคาร์ม็อบรังสิตแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ทนายจำเลยได้ถามพยานว่า ในการจอดรถหน้าห้างฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอำนวยความสะดวกของจราจร มีการเว้นช่องเดินรถให้ประชาชนสามารถใช้สัญจรผ่านไปมาได้ ซึ่งการรวมตัวกันของผู้ชุมนุมไม่ได้ทำให้การจราจรติดขัด พยานรับว่า “ใช่ การจราจรไม่หนาแน่น และคล่องตัว”

ทนายจำเลยได้เปิดคลิปวิดีโอในช่วงเวลาเกิดเหตุ พร้อมให้พยานชี้ตัวว่า ผู้หญิงที่สวมใส่เสื้อแดง กางเกงสีแดงคือคนเดียวกันกับกุลวดี จำเลยที่ 1 หรือไม่ ซึ่ง พ.ต.ท.ชาติ ได้ยืนยันว่าเป็นคนเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในคลิปดังกล่าวปรากฎเพียงพฤติกรรมของกุลวดีแค่ยืนถ่ายภาพกับกลุ่มผู้ชุมนุมเท่านั้น อีกทั้งเมื่อมีการเคลื่อนขบวนรถออกไป ก็ไม่ได้ปรากฎภาพของจำเลยที่ 1 ส่งสัญญาณหรือสั่งการเพื่อให้รถเคลื่อนขบวน อันเป็นลักษณะของแกนนำกลุ่มตามที่พยานกล่าวอ้างแต่อย่างใด ซึ่งพยานได้ยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าว

เมื่อทนายจำเลยถามถึงเฟซบุ๊กของกลุ่ม ‘ปทุมไม่ทน’ ว่าพยานรู้จักแอดมินที่โพสต์ข้อความเชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบในครั้งนี้หรือไม่ พ.ต.ท.ชาติ ตอบว่าจากการสืบสวนไม่มีหลักฐานที่บอกได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นแอดมินที่โพสต์ข้อความเชิญชวน

อีกทั้ง พยานรับว่าไม่ทราบว่าสุธิลา จำเลยที่ 2 เป็นผู้โพสต์เชิญชวนเข้าร่วมคาร์ม็อบบนเฟซบุ๊กของกลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน หรือไม่ และตามเอกสารภาพหลักฐาน ซึ่งทนายได้ให้ดูภาพผู้หญิงที่ใส่เสื้อดำกางเกงยีนส์ สวมหน้ากากอนามัยมิดชิดในวันเกิดเหตุ  โดยถามพยานว่า ในภาพที่พยานอ้างว่าเป็นจำเลยนั้นมีการป้องกัน และสวมหน้ากากอนามัยมิดชิดใช่หรือไม่ พยานก็ยืนยันตามที่เห็น

ทนายจำเลยจึงสรุปความให้ พ.ต.ท.ชาติ ว่าในกรณีของจำเลยที่ 1 ที่พยานอ้างว่าเป็นแกนนำของกลุ่มคนเสื้อแดงในการจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ เนื่องจากทราบว่ากุลวดีเป็นเป็นนักกิจกรรมคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวทางการเมืองมาตลอดตั้งแต่ปี 2553 ในเขตท้องที่รับผิดชอบ และมักจะทำกิจกรรมของกลุ่มคนเสื้อแดงอยู่เสมอ จึงมีความเป็นไปได้ว่าจำเลยอาจเป็นแกนนำจัดกิจกรรมในครั้งนี้ แต่ก็ไม่ได้ทราบข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นแกนนำจริงหรือไม่ รู้เพียงแต่ว่าจำเลยที่ 1 และ 2 ได้เข้าร่วมกิจกรรมตามที่กลุ่มของ บก.ลายจุด แจ้งให้ทราบล่วงหน้า และเป็นกิจกรรมในที่โล่งแจ้ง ไม่เสี่ยงต่อโรค

ขณะเดียวกัน จำเลยทั้งสองยังสวมใส่หน้ากากอนามัยในขณะที่เข้าร่วมการชุมนุม ไม่พบว่ามีการก่อความวุ่นวายในการรวมกลุ่มกันแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองยังไม่ได้ปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงโจมตีฝ่ายรัฐบาล พยานได้ตอบยืนยันว่า ใช่

อีกทั้งพยานกับพวกก็ไม่ได้มีการจับกุมจำเลยทั้งสองคนในวันที่ชุมนุม โดยพยานรับว่าเข้าใจลักษณะของกิจกรรมคาร์ม็อบ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์วิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่รู้เป้าหมายจริงๆ และยอมรับว่าเป็นกิจกรรมที่ร่วมกันชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

อัยการถามติงว่า ในพยานหลักฐานที่เป็นคลิปวิดีโอที่ทนายจำเลยให้ดู ไม่ได้ปรากฏว่ากุลวดีสั่งการหรือให้สัญญาณในลักษณะแกนนำ แต่ในวันเฝ้าสังเกตการณ์ก็พบท่าทีที่แสดงออกว่าสั่งการใช่หรือไม่ พยานได้ตอบว่า ใช่  และทุกการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เขาก็จะขึ้นเวทีปราศรัย
เมื่ออัยการได้ให้พยานยืนยันถึงเหตุที่ทำให้แจ้งดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองคน พยานเบิกความว่าจำเลยทั้งสองคนมีการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มกันเกินกว่า 5 คน และมีผู้ชุมนุมบางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย ในส่วนของจำเลยที่ 2 ถึงจะไม่มีข้อเท็จจริงใดบ่งบอกว่าเป็นแกนนำของกลุ่ม แต่จากการแสดงออกด้วยการยืนอยู่หลังรถกระบะ และมีการชักชวนบุคคลให้เคลื่อนขบวน พยานคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่จำเลยที่ 2 ก็เป็นหนึ่งในแกนนำของกิจกรรมคาร์ม็อบ

.

พยานโจทก์ปากที่ 2 — ร.ต.อ.กิติพัฒน์ ปักกาโล หนึ่งในคณะทำงานของผู้กล่าวหา ทราบว่ากลุ่มของจำเลยได้เคลื่อนขบวนไปสมทบกับกลุ่มของ บก.ลายจุด และรับรู้ว่ามีคนล้มตายจากโควิด จากการเข้าไม่ถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ

ร.ต.อ.กิติพัฒน์ ปักกาโล อายุ 49 ปี ในขณะเกิดเหตุ มีตำแหน่งเป็นรองสารวัตรสืบสวน ประจำการที่ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ พยานมีความเกี่ยวข้องกับคดีนี้ โดยเป็นหนึ่งในคณะทำงานของ พ.ต.ท.ชาติ ผู้กล่าวหา

พยานเบิกความว่าในวันเกิดเหตุ 1 ส.ค. 2564 พบข้อความเชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบจากเฟซบุ๊ก “ปทุมไม่ทน” จึงได้เสนอรายงานต่อผู้บังคับบัญชาและลงพื้นที่พร้อมกับ พ.ต.ท.ชาติ เพื่อเฝ้าสังเกตการณ์ รวมถึงได้รับคำสั่งว่าให้ตนกับพวก และเจ้าหน้าที่จาก กอ.รมน. ไปยังห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต

ในส่วนการกล่าวหาว่ากุลวดีเป็นแกนนำคนเสื้อแดงนั้น พยานได้ทราบข้อเท็จจริงนี้จาก พ.ต.ท.ชาติ เนื่องจากในวันเกิดเหตุทั้งสองคนได้มีการพูดคุยกัน และได้พบว่ากุลวดีแสดงออกด้วยการสั่งการและจัดการจราจร 

สำหรับสุธิลา พยานเบิกความว่าจำเลยเป็นแกนนำกลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ด้วยลักษณะที่แสดงออกถึงการต้อนรับกลุ่มมวลชนและรถยนต์ที่เข้าร่วมการชุมนุม โดยมีการรวมกลุ่มกันราว 50 คน ทั้งนี้สำหรับกลุ่มพะยอมเก๋า ซึ่งได้เข้ามาสมทบกับกลุ่มของสุธิลา พยานได้เบิกความแตกต่างจาก พ.ต.ท.ชาติ ว่า กลุ่มนี้มีจำนวนบุคคลมารวมกันมากกว่า 80 คน

อย่างไรก็ตาม พยานยืนยันว่าทั้งสามกลุ่มที่ได้มีการนัดหมายกันที่หน้าห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ไม่ได้มีการใช้เครื่องขยายเสียง แต่ในส่วนการชุมนุมนั้นมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากรถยนต์ของทั้งสามกลุ่ม ไม่มีการเว้นระยะห่างและผู้ชุมนุมบางคนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย

ทนายจำเลยถามค้าน ในประเด็นทราบไหมว่ากิจกรรมคาร์ม็อบในวันดังกล่าวผู้นัดหมายจริงๆ แล้วคือ สมบัติ บุญงามอนงค์ โดย ร.ต.อ.กิติพัฒน์ ได้ตอบว่า “ทราบ” และทราบว่าสมบัติได้โพสต์ข้อความถึงการจัดกิจกรรมนี้ในวันที่ 22 ก.ค. 2564 และ 26 ก.ค. 2564 เนื่องจากว่ามีโรคระบาดโควิด-19 ที่ทำให้คนตายจำนวนมาก เพื่อประท้วงต่อรัฐบาลที่บริหารการจัดสรรวัคซีนได้ล้มเหลว

ทนายจำเลยถามต่อถึงลักษณะการจัดกิจกรรมว่า สมบัติได้โพสต์ข้อความนัดหมายในวันที่ 26 ก.ค. 2564 ว่า กิจกรรมนี้เราจะขับรถวนไปเรื่อยๆ ในช่วงเวลาระหว่าง 13.00 – 16.00 น. โดยไม่มีหัวขบวน พยานได้ตอบว่า “ทราบเรื่องการนัดหมายนั้น”

ทนายจำเลยจึงยื่นข่าวสถานการณ์โควิดในช่วงปี 2564 จากสื่อมวลชน และถามพยานว่า การที่ใช้รถยนต์ เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เนื่องจากมีคนล้มตายจากโควิดเป็นจำนวนมาก และการออกมาทำกิจกรรมคาร์ม็อบของประชาชนก็เป็นเพราะต้องการเรียกร้องวัคซีนที่มีคุณภาพจากรัฐบาล ซึ่ง ร.ต.อ.กิติพัฒน์ ได้ยืนยันว่าตนทราบเรื่องดังกล่าว ตามข่าวที่ทนายจำเลยให้ดู

นอกจากนี้ ในพยานหลักฐานของโจทก์ที่อ้างส่งต่อศาล ได้มีภาพของชายสวมแว่นใส่หมวก และถอดหน้ากากอนามัยลงมาใต้คาง ทนายจำเลยจึงได้ถามว่าทราบถึงที่มาที่ไปของบุคคลดังกล่าวหรือไม่ พยานได้ตอบว่าไม่ทราบว่าบุคคลดังกล่าวเป็นใคร

อัยการถามติง ถึงสาเหตุในการดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองคน พยานได้ตอบว่ามีเหตุที่จะเชื่อได้ว่าทั้งสองคนเป็นแกนนำกลุ่มในการจัดชุมนุมคาร์ม็อบ และมีการจัดกิจกรรมกีดขวางทางจราจร ทั้งมีผู้ชุมนุมบางคนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย

.

พยานโจทก์ปากที่ 3 — พ.ต.ท.สิทธิชัย สิทธิประภา พนักงานสอบสวน ผู้ทำสำนวนคดีเห็นควรส่งฟ้อง

พ.ต.ท.สิทธิชัย สิทธิประภา อายุ 40 ปี ในขณะเกิดเหตุเป็นพนักงานสอบสวน สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ และเป็นพนักงานสอบสวนผู้ทำสำนวนคดีนี้

พยานเบิกความว่า ในวันที่ 2 ส.ค. 2564 ในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นเวรประจำวัน พ.ต.ท ชาติ ผู้กล่าวหาได้เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองคน เนื่องจากพบเห็นท่าทีดูมีลักษณะสั่งการ เหมือนแกนนำในการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 อีกทั้งพบว่ากิจกรรมไม่มีจุดตรวจคัดกรอง หรือบริการเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อสำหรับผู้เข้าร่วมด้วย

พ.ต.ท.สิทธิชัย เบิกความว่า กลุ่มของจำเลยในคดีนี้ทั้งสองกลุ่ม มีลักษณะอย่างเดียวกันคือมีการนำรถเข้าร่วมชุมนุม โดยไม่มีการตั้งจุดคัดกรอง หรือให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยตามมาตรการควบคุมโรค และในส่วนพฤติกรรมของสุธิลาก็เห็นเช่นเดียวกับ พ.ต.ท.ชาติ และคณะทำงาน ว่ามีท่าทีเหมือนแกนนำ เนื่องจากยืนอยู่ท้ายรถกระบะและมีการพูดต้อนรับมวลชน

พยานกล่าวต่อว่าได้รับเอกสารรายงานการสืบสวน ภาพถ่ายและบันทึกสอบคำให้การของจำเลยจากตำรวจสันติบาล และได้ทำการสอบปากคำ พ.ต.ท.ชาติ และ ร.ต.อ. กิตติพัฒน์ รวมถึงพยานนักวิชาการทางสาธารณสุข และพยานผู้เห็นเหตุการณ์รวมทั้ง 3 ปาก ไว้แล้ว ต่อมาจึงได้ออกหมายเรียกจำเลยทั้งสองคนให้มารับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งจำเลยทั้งสองได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ย้อนอ่านข้อกล่าวหาในคดีนี้ เพิ่มเติม >>> พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ 2 ผู้ร่วมคาร์ม็อบปทุมฯ ก่อนส่งฝากขัง-ค้านให้ประกัน แม้ทั้งสองเข้ารับทราบข้อหาตามหมายเรียก 

ทนายจำเลยถามค้าน ว่าพยานทราบไหมว่ากิจกรรมคาร์ม็อบนี้ใครเป็นคนจัดขึ้นหรือทำไปเพื่ออะไร พยานตอบว่า ไม่ทราบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนเข้ากรุงเทพฯ ไปเพื่ออะไร แต่ทราบว่าคาร์ม็อบคือกิจกรรมในลักษณะไหน และไม่รู้ว่าเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลทั้งหมดหรือไม่ โดยทนายได้แสดงภาพถ่ายในที่เกิดเหตุให้ดูว่าลักษณะของรถยนต์ที่ปรากฏนั้นส่วนใหญ่เป็นรถยนต์หลากหลายชนิด แต่ไม่ใช่รถสาธารณะแต่อย่างใด

พยานยังรับว่าในการชุมนุมของกลุ่มจำเลยทั้งสอง เกิดขึ้นในพื้นที่เปิดโล่ง ไม่ได้แออัด และยังมีช่องจราจรให้ประชาชนสัญจรไปมาได้ และไม่ได้มีการ์ดของกลุ่มผู้ชุมนุมมาคอยจัดการจราจร

ในส่วนเอกสารหลักฐาน ภาพถ่ายของสุธิลาซึ่งขึ้นปราศรัยโดยถือโทรโข่งนั้น ทนายได้ถามว่า รายงานการสืบสวนของสันติบาลที่อ้างส่งมา เป็นภาพจำเลยในเหตุการณ์อื่น ซึ่งไม่ใช่เหตุในวันที่ 1 สิงหา ใช่หรือไม่ พยานรับว่าใช่ เป็นภาพของสุธิลาในเหตุวันที่ 6 สิงหา ไม่ใช่ในเหตุของคดีนี้ อีกทั้งในรายงานการสืบสวนของวันที่ 6 สิงหา นั้น ก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าสุธิลาเป็นเพียงผู้ชุมนุม ไม่ใช่แกนนำ

เมื่อทนายถามถึงการเคลื่อนขบวนรถ จำเลยทั้งสองคนไม่ได้เป็นคนนำขบวนใช่หรือไม่ พยานระบุว่าจำไม่ได้ ทนายจึงเปิดคลิปวิดีโอให้ดู จึงพบว่าไม่ได้ปรากฏภาพของจำเลยทั้งสองเป็นผู้นำขบวนหรือแสดงออกในท่าทางที่เป็นแกนนำของกลุ่ม

ทนายจำเลยจึงถามต่อว่า พยานทราบหรือไม่ที่ในหลายๆ จังหวัดที่จัดกิจกรรมคาร์ม็อบในวันที่ 1 ส.ค. 2564 ในเหตุเดียวกันนี้ ได้มีการยกฟ้องไปหลายคดีแล้ว อีกทั้งสำหรับแกนนำที่จัดกิจกรรมนี้อย่าง สมบัติ บุญงามอนงค์ อัยการก็สั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว หรือในจังหวัดลพบุรีก็ได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีคาร์ม็อบเช่นกัน  พยานตอบว่าไม่ทราบ เนื่องจากไม่ใช่ท้องที่รับผิดชอบของตน โดยทนายได้ยื่นคำพิพากษาของคดีคาร์ม็อบอื่นๆ ประกอบต่อศาล

นอกจากนี้ เมื่อทนายว่า พยานทราบหรือไม่ว่าตาม ข้อกำหนดมาตรา 9 ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 1 ข้อ 5 ไม่ได้มีการมอบอำนาจให้ใครออกข้อกำหนดลักษณะของการชุมนุมที่ต้องห้าม พ.ต.ท.สิทธิชัย ตอบทนายว่า “ไม่ได้แจ้งมาตรา 9 ฉบับที่ 1 และไม่ได้เป็นคนออกกฎหมาย จึงไม่ทราบเรื่องข้อกำหนดนั้น”

ทนายจำเลยได้แถลงว่า นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อแก้ไขสถานการณ์โรคระบาด และยังมีอำนาจแต่งตั้งหัวหน้ารับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งในฉบับที่ 6 และ 7 ที่พยานใช้เป็นข้อกล่าวหาจำเลยทั้งสองคน เป็นการอาศัยอำนาจตามมาตรา 9 ซึ่งฉบับที่ 1 ข้อ 5 ระบุเพียงให้อำนาจให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เพียงประกาศกำหนดเขตพื้นที่ซึ่งห้ามการชุมนุมเท่านั้น

ในมาตราดังกล่าว ไม่ได้มีการมอบอำนาจให้ออกข้อกำหนดเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากที่ระบุไว้ในข้อกำหนดดังกล่าวแต่อย่างใด หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงจึงไม่มีอำนาจออกข้อกำหนดลักษณะของการชุมนุมที่ต้องห้ามเพิ่มเติมไปจากข้อกำหนดนั้น

ยทนายจำเลยได้ยื่นเอกสารคำพิพากษาของศาลจังหวัดพะเยา ในคดีที่ศาลยกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นเดียวกันนี้  ให้ศาลประกอบการพิจารณาพิพากษาคดี

อัยการถามติง ว่าในส่วนคำพิพากษาของจังหวัดอื่นๆ ที่มีการยกฟ้อง พยานได้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง พยานตอบว่า ตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีที่ทนายจำเลยยื่นให้ศาลพิจารณาคดี และขอไม่รับรองเรื่องข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 ฉบับที่ 1 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 6 ตามที่ทนายจำเลยถามค้าน

.

พยานปากโจทก์ปากที่ 4 — พลพร สมพรบรรจง นักวิชาการด้านสาธารณสุข

นางสาวพลพร สมพรบรรจง อายุ 60 ปี ในขณะเกิดเหตุ มีตำแหน่งรับราชการเป็นผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลนครรังสิต 

พยานเบิกความว่า เกี่ยวกับวันที่ 1 ส.ค. 2564 จังหวัดปทุมธานีอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และอยู่ภายใต้คำสั่งจังหวัดปทุมธานี เรื่องกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมฯ กำหนดในข้อ 8 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือเข้มงวด ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกันเกินกว่า 5 คน โดยคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ 21 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป

พนักงานสอบสวนได้นำภาพถ่ายการชุมนุมกันหน้าห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ให้กับพยานดูและลงลายมือชื่อ โดยพลพรยืนยันว่าจากภาพนั้น สามารถบ่งบอกถึงลักษณะกิจกรรมที่ฝ่าฝืนต่อคำสั่งของจังหวัดปทุมธานีได้ ดังนี้

  1. เป็นการรวมกลุ่มกันมากกว่า 5 คน
  2. ผู้ร่วมชุมนุม ไม่เว้นระยะห่าง
  3. ไม่มีมาตรการป้องกันโรคติดต่อ
  4. มีการสวมหน้ากากไม่ครบทุกคน คือกลุ่มผู้ชุมนุมไม่สวมใส่หน้ากากอย่างมิดชิด ซึ่งอาจเกิดต่อภาวะเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคโควิด-19 

พยานได้เบิกความต่อว่า การกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมถือว่าเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดปทุมธานี ที่อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

ทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่าตนไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุในคดีนี้ ส่วนภาพถ่ายการชุมนุมที่ได้ดูและได้ลงชื่อ ก็เนื่องเพราะตำรวจนำภาพมาให้ดูและให้ลงชื่อ

เมื่อทนายจำเลยถามพยานว่ารู้จักกิจกรรมคาร์ม็อบหรือไม่ พยานก็ได้ตอบว่าไม่รู้จัก ทนายจึงนำภาพที่ปรากฏการจราจรหน้าห้างในช่วงที่มีการรวมกลุ่มนัดหมายกันของจำเลยมาให้ดู และถามว่าจากภาพ มีความคล้ายกับช่วงสถานการณ์ที่ประชาชนขับรถยนส่วนบุคคลมาใช้บริการที่ห้างตามปกติหรือไม่  พลพรรับว่ามีความเป็นไปได้ ลักษณะไม่แตกต่างกัน ทนายจึงถามต่อว่า หากลักษณะไม่แตกต่างกัน การจอดรถเรียงต่อกันเพื่อรอเข้าห้างโดยปกติ ก็ไม่เคยมีตำรวจมาดำเนินคดีกับประชาชนใช่หรือไม่ ซึ่งพยานก็ได้ยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว

ตามเอกสารภาพถ่ายคนยืนรวมกลุ่มกันและมีบางคนที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยอย่างมิดชิดนั้น ไม่ได้ปรากฏจำเลยทั้งสองคนในภาพ ทางทนายได้ถามว่าพยานทราบหรือไม่ว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้เป็นใคร พยานได้ตอบว่าไม่ทราบ พร้อมได้ยืนยันตามที่ทนายถามค้านว่าสถานที่การนัดหมายของกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นสถานที่เปิดโล่ง ไม่แออัด และบุคคลส่วนมากสวมใส่หน้ากากอนามัย

อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยได้ถามต่อพลพรว่า เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพนักงานควบคุมโรคติดต่อตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ เท่านั้น ไม่ใช่เจ้าพนักงานตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตลอดจนในคำสั่งจังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามทำกิจกรรม แต่ก็ไม่ได้ปรากฏข้อความว่าห้ามชุมนุมแต่อย่างใด ซึ่งพยานก็ได้ยืนยันข้อเท็จจริงตามที่ถาม

อัยการถามติง ว่าเอกสารภาพถ่ายการรวมกลุ่มกันของผู้ชุมนุมที่หน้าห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ที่พนักงานสอบสวนนำมาให้พยานลงชื่อไว้ในฐานะพยานตามที่เห็นเอกสาร และเป็นการแสดงความคิดเห็นต่อเอกสารภาพถ่ายดังกล่าว พยานตอบว่าใช่

.

พยานผู้พบเห็นเหตุการณ์ 2 ปาก — อ้างเห็นเหตุการณ์ชุมนุมคาร์ม็อบ มีผู้ไม่สวมหน้ากากอนามัย แต่เป็นการชุมนุมในที่เปิดโล่ง ไม่แออัด

ประจักษ์พยานอีก 2 ปาก ได้แก่ สุทธิศักดิ์ ปฐมวิชัยรัตน์ อายุ 34 ปี อาชีพขับรถแท็กซี่ และ ศรีลักษณ์ เสชนะ อายุ 42 ปี ขณะเกิดเหตุ มีอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต พยานทั้งสองมีการเบิกความที่คล้ายคลึงกัน

พยานทั้งสองคนเบิกความถึงวันที่ 1 ส.ค. 2564 โดยสุทธิ์ศักดิ์กล่าวว่า ตนได้ไปจอดรถเพื่อรอรับผู้โดยสารที่บริเวณห้างดังกล่าว ประมาณ 12.00 น. พบกลุ่มรถยนต์และจักรยานยนต์ราว 40 – 50 คัน อยู่บริเวณหน้าห้าง ซึ่งในขณะนั้น ศรีลักษณ์ กำลังปฏิบัติหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนผู้เข้ามาใช้บริการในศูนย์การค้าอยู่ ก็ได้พบเห็นจำนวนรถยนต์ปริมาณเดียวกัน

นอกจากนี้ พยานทั้งสองยังได้เบิกความว่าในช่วงการชุมนุมของกลุ่มจำเลยเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง โดยมีผู้ชุมนุมบางรายที่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย และมีการพูดคุยกัน ตลอดจนไม่ได้มีการตั้งจุดคัดกรองโควิด

ทนายจำเลยถามค้าน  ถึงลักษณะของกลุ่มผู้ชุมนุมว่ามีการต่างคนต่างมา และลักษณะของพาหนะเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล ตลอดจนเป็นการรวมกลุ่มกันโดยใช้เวลาไม่นานก็เคลื่อนขบวนออกไป

เมื่อทนายจำเลยถามต่อสุทธิศักดิ์ คนขับแท็กซี่ ซึ่งมีจุดจอดประจำเป็นบริเวณหน้าห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิตว่าภาพถ่ายพยานหลักฐานจำนวนคนและรถหนาแน่นตลอดหน้าห้างนั้น อันที่จริงแล้วก็เป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไปจากวันเปิดทำการของห้างในช่วงสุดสัปดาห์ที่จะมีประชาชนแวะเวียนสัญจรมาใช้บริการใช่หรือไม่ พยานได้ตอบว่าใช่ แต่ได้อธิบายเสริมว่าประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ได้จอดรถในบริเวณหน้าห้าง เนื่องมาจากมีการตีเส้นขาว – แดง ตลอดแนว 

อย่างไรก็ตาม ทนายได้ถามในส่วนประเด็นการถอดหน้ากากอนามัยของกลุ่มผู้ชุมนุม มีเพียงแค่ส่วนน้อยเท่านั้นและไม่ใช่ทุกคนที่จะถอดหน้ากากอนามัยคุยกัน ตลอดจนในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเท โดยพยานทั้งสองได้ตอบว่าส่วนมากแล้วกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นสวมหน้ากากอนามัย และเป็นความจริงที่ในพื้นที่นั้นเปิดโล่งมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
อัยการถามติง ว่าในการรวมตัวกันของผู้ชุมนุมนั้นมีความหนาแน่นหรือไม่ พยานได้ตอบอัยการว่ามีการจอดรถเทียบกัน 3 เลนถนน การจราจรติดขัดอยู่บ้าง และมีการจับกลุ่มคุยกันเองระหว่างผู้ชุมนุม

.

กุลวดี – สุธิลา: จำเลยยืนยันเข้าร่วมคาร์ม็อบ เพื่อต้องการเรียกร้องวัคซีนที่มีคุณภาพและขับไล่ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นแกนนำ

วันที่ 2 ส.ค. 2565 กุลวดี อายุ 46 ปี และสุธิลา อายุ 51 ปี อ้างตนเป็นพยานจำเลยขึ้นเบิกความ กุลวดี เบิกความว่า เธอตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุม เนื่องจากปัญหาการจัดการวัคซีนให้กับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าในขณะนั้น จึงออกมาขับไล่ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนสุธิลา เบิกความถึงจุดประสงค์ในการเข้าร่วมเช่นเดียวกันกับกุลวดี โดยเธอบอกว่าการร่วมชุมนุมกับ บก.ลายจุด นั้นก็เพื่อต้องการเรียกร้องวัคซีนที่มีคุณภาพและวิพากษ์วิจารณ์การบริหารจัดการที่ล้มเหลวของรัฐบาล

จำเลยทั้งสองคนได้เบิกความต่อศาลว่า ในการชุมนุมคาร์ม็อบ ในครั้งนี้ก็เป็นแบบเดียวกันกับในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศไทยที่ได้มีการรวมตัวกันของประชาชนในแต่ละภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม กุลวดีได้แถลงยืนยันต่อศาลว่า การที่พนักงานสอบสวนกล่าวอ้างว่าเธอเป็นผู้จัดงานนั้น ไม่เป็นความจริง โดยเธอได้กล่าวว่า “ดิฉันเป็นเพียงประชาชนธรรมดาที่เข้าร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องวัคซีนที่มีคุณภาพให้กับประชาชนธรรมดาด้วยกันก็เท่านั้นเอง”

สุธิลาได้แถลงเช่นเดียวกันกับศาลว่า การชุมนุมเป็นสิทธิของประชาชนที่เธอเชื่อว่าสามารถทำได้ เพื่อที่จะเรียกร้องปัญหาต่างๆ และในการชุมนุมนั้นก็ไม่ได้มีการใช้เครื่องขยายเสียง หรือขึ้นปราศรัยใดๆ มีเพียงการรวมตัวของมวลชนด้วยรถยนต์และใช้แตรบีบส่งเสียงกันเท่านั้น 

นอกจากนี้ สุธิลา ยังได้ยืนยันว่า ตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าเธอเป็นผู้จัดการชุมนุมและเป็นแกนนำของผู้ชุมนุมนั้นไม่เป็นความจริง ในวันดังกล่าวหลังจากที่ทราบเรื่องการนัดหมายจาก บก.ลายจุด เธอแค่นั่งรถมอเตอร์ไซต์รับจ้างจากบริเวณบ้านพักไปรวมกลุ่ม และอาศัยรถของมวลชนร่วมทำกิจกรรมคาร์ม็อบด้วยเท่านั้น

อัยการถามค้าน ในประเด็นว่าช่วงที่เกิดเหตุของคดีนี้ พยานรู้หรือไม่ว่าเป็นช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง โดยพยานทั้งสองคนระบุว่า ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว กุลวดีได้แถลงเพิ่มเติมว่า เธอทราบด้วยว่ามีการระบาดอย่างรุนแรง และมีคนป่วย นอนล้มตายข้างถนนเป็นจำนวนมาก ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีเองก็มีเช่นเดียวกัน

ทนายจำเลยถามติง ประเด็นว่าในคดีคาร์ม็อบที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในหลายจังหวัด และเป็นเอกสารที่อ้างส่งศาลนั้น จำเลยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ลักษณะการร่วมชุมนุมก็มีความคล้ายคลึงกันใช่หรือไม่ โดยพยานทั้งสองคนได้ตอบว่าใช่ และสุธิลาได้อธิบายว่าในคดีคาร์ม็อบอื่นๆ ที่ได้เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคในประเทศนั้น มีลักษณะเดียวกัน คือการขับรถบนท้องถนนเป็นกลุ่ม พร้อมบีบแตรส่งเสียงประท้วงรัฐบาล และเป็นเหตุวันเดียวกันคือวันที่ 1 ส.ค. 2564 

.

ฟังความรู้สึกของ 2 นักกิจกรรม “กุลวดี – สุธิลา” ก่อนฟังคำพิพากษา 30 ก.ย. 2565

  • สุธิลา ลืนคำ นักกิจกรรมมกลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน

สุธิลา ในวัย 51 ปี ชาวจังหวัดปทุมธานี ปัจจุบันประกอบอาชีพค้าขายผลไม้ เธอเริ่มต้นลงถนนกับกลุ่มเยาวชนและนักศึกษาในช่วงปี 2563 โดยเข้าร่วมชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 เธอกล่าวว่าในความรู้สึก การชุมนุมครั้งนั้นน่าจะเป็นครั้งที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งหลังจากที่มีการรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

หลังจากนั้นเป็นต้นมา เธอเข้าร่วมเป็นมวลชนของม็อบในพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร โดยที่ไม่ได้มีการสนับสนุนจากองค์กรใดๆ เป็นการไปด้วยอุดมการณ์ของตัวเอง 

จนกระทั่งในเวลาต่อมา เธอได้มีความคิดว่าอันที่จริงแล้วไม่ใช่เพียงแค่เยาวชนและนักศึกษาเท่านั้นที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ แต่ยังมีกลุ่มแรงงานอีกจำนวน ซึ่งก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยจากการบริหารงานภายใต้การนำของประยุทธ์ เธอจึงร่วมรวบรวมกลุ่มคนใช้แรงงานที่มีความสนใจในประเด็นการเมือง และลงขันกันเพื่อสร้างกลุ่มขึ้นมา จัดตั้งและแถลงข่าวจนเกิดมาเป็น “เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน” จนถึงทุกวันนี้

ในกิจกรรมคาร์ม็อบ สุธิลามีความเห็นว่า ในจังหวัดปทุมธานี เป็นจังหวัดอุตสาหกรรมที่มีคนใช้แรงงานจำนวนมาก ส่วนใหญ่คนจะเลิกงานช่วง 17.00 – 20.00 น. แล้วเขาไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมชุมนุมในกรุงเทพฯ การร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบมันสามารถทำได้เลยในพื้นที่ของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องเข้าเมืองหลวงอย่างเดียว เพราะข้อจำกัดในเรื่องเวลา และการใช้ชีวิตของแต่ละคน เธอกล่าวโดยสรุปว่ากิจกรรมนี้มันเป็นการแสดงออกที่เราสามารถทำได้ในทุกพื้นที่ และก็สร้างผลเช่นเดียวกันกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนและนักศึกษาในกรุงเทพฯ

นอกจากบทบาทนักกิจกรรมแรงงานแล้ว สุธิลายังเคยมีประสบการณ์เป็นรองประธานชุมชนในหมู่บ้าน  ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา เธอได้พบกับความเลวร้ายของการบริหารที่ล้มเหลวจากรัฐบาล สุธิลาเล่าว่าในช่วงแรกนั้น ลูกบ้านในชุมชนของเธอไม่ได้เข้าถึงการรักษาพยาบาล ไม่มียาและเตียงที่เพียงพอ และไม่มีใครรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร เธอเลยเริ่มขอความช่วยเหลือจากภาคีและเครือข่ายที่สนับสนุนการทำงานของกลุ่มแรงงานที่เธอทำอยู่ 

สุธิลาเริ่มจัดทำข้อมูลของผู้ติดเชื้อในชุมชน และขอความร่วมมือจากเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้ 2,500 ครอบครัวในชุมชนของเธอได้รับยาและอาหารในช่วงกักตัวจากโรคระบาด และกระจายบทบาทให้คนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วม เช่น การจัดทำครัวกลาง การแจกจ่ายอาหารและยาให้ครัวเรือน เป็นต้น

เมื่อถามถึงวันที่ 30 ก.ย. 2565 ที่จะต้องไปฟังคำพิพากษาในคดีคาร์ม็อบ สุธิลาบอกถึงความรู้สึกส่วนหนึ่งที่ตัดสินใจเข้าร่วมคาร์ม็อบว่า

“เราเห็นคนตายในห้อง เราเห็นคนตายตามท้องถนน เราไม่มีเวลาไปดูแลผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน เพราะต้องจัดการปัญหาโควิด แล้วเขาก็ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง เราก็กลับมาคิดกับตัวเองนะว่า ถ้าไม่มีโควิดคงไม่ต้องมีใครตาย”

สุธิลา ลืนคำ จำเลยที่ 2

“ในตอนที่เราฟังสืบพยานโจทก์ เขาไม่ได้เอาข้อเท็จจริงอะไรมาสู้เลย ถ้าเราไม่มีทนาย ก็คงต้องตกเป็นเหยื่อของกลุ่มคนพวกในนี้ในกระบวนการยุติธรรม”

.

  • กุลวดี ดีจันทร์ นักกิจกรรมคนเสื้อแดง

กุลวดี ในวัย 46 ปี ชาวจังหวัดปทุมธานี เคยประกอบอาชีพขายอาหารตามสั่ง เธอเป็นมวลชนที่เข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงมาก่อน จนในช่วงหลังรัฐประหารในช่วงปี 2557 และร่วมรณรงค์เรียกร้องการกำหนดวันเลือกตั้ง เธอเคยถูกตำรวจกว่า 50 นายเข้าควบคุมตัวอยู่ 24 ชั่วโมง และเข้ามาคุกคามค้นข้าวของในบ้านของเธอ หลังจากนั้น เธอยังคงช่วยเหลือกิจกรรมทางการเมืองเท่าที่ตัวเองจะทำได้

กุลวดีให้ความเห็นถึงกระแสการต่อสู้ทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ในสมัยนี้ไว้ว่า “ในช่วงก่อนหน้านี้ เราเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เราต่อต้านรัฐประหารอย่างเดียว แต่ในสมัยนี้มีการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ เพิ่มขึ้นมาด้วย” 

ในการเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบที่มี บก.ลายจุด เป็นคนริเริ่มเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 กุลวดีบอกว่าเธอไม่ได้มีความคิดซับซ้อนหรือสิ่งใดแอบแฝงไปมากกว่าการพยายามออกมาเรียกร้องให้ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ 

กุลวดีได้กล่าวย้อนไปในวันที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาในคดีคาร์ม็อบว่า มีความเป็นไปได้ที่ชื่อของเธอมีติดอยู่ในบอร์ดนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ของ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ ทำให้ถูก “เลือก” ดำเนินคดี

“เขาคงจะไม่รู้ว่าจะเอาใครมั้ง เลยพยายามยัดเราให้เป็นแกนนำ ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันนะ ว่าทำไมเขาต้องมาเจาะจงว่าเราต้องเป็นแกนนำ หรือสุธิลาต้องเป็นแกนนำ” กุลวดีบอก

กุลวดีเล่าต่อไปว่า ในวันที่เกิดเหตุของคดีนี้ มีตำรวจ คฝ. มารวมตัวกันมากกว่า 20 – 30 คน แต่หลังจากฟังการสืบพยานโจทก์แล้ว พนักงานสอบสวนก็ไม่สามารถหาหลักฐาน หรือข้อเท็จจริงใดมาบอกเธอได้ว่า ใครเป็นแกนนำในการชุมนุมหน้าห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ถึงแม้จะบอกว่าเธอมีลักษณะการสั่งการหรือถือธงแดง กุลวดีก็ได้อธิบายว่าในวันนั้น ธงแดงที่เธอถือก็ยืมเพื่อนในขบวนมาถ่ายรูปเสียด้วยซ้ำ ไม่ได้เป็นคนนำมาเอง และมวลชนในขบวนหลายคนก็ถือธงสีเดียวกับเธอเยอะแยะไป  

“ก็เพราะจริงๆ มันไม่มีแกนนำ” กุลวดีสรุป

กุลวดียืนยันว่าในการชุมนุมครั้งนั้น พวกเธอไม่ได้ทำให้เกิดการแพร่เชื้อโรคอะไร อีกทั้งยังเป็นการชุมนุมกันกลางแจ้ง แล้วแยกย้ายกันขึ้นรถเท่านั้นเอง ไม่ได้มีการรวมตัวใกล้ชิดเป็นเวลานาน

เมื่อคาดการณ์ถึงแนวโน้มคำพิพากษาในวันที่ 30 ก.ย. 2565 นี้ กุลวดีระบุว่า

“หากเขาไม่ยกฟ้องเหมือนคดีที่ผ่านมา เราอยากประณามว่าคุณไม่มีความยุติธรรม การชุมนุมของเราแค่เรียกร้องให้มีวัคซีนดีๆ และเพื่อกลุ่มคนเปราะบางเท่านั้น และเราก็ไล่ประยุทธ์ ซึ่งเป็นนายกที่ไม่เอาไหน ห่วยแตก ทำอะไรไม่เป็น จะมาตัดสินให้เราผิดมันจะยุติธรรมไหม อยากให้พิจารณาและไตร่ตรองดีๆ ด้วยเถอะนะคะ”

กุลวดี ดีจันทร์ จำเลยที่ 1
X