วันนี้ (1 ก.ย. 63) เวลา 13.00 น. ที่สน.ชนะสงคราม นางสุวรรณา ตาลเหล็ก, นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว, นางสาวภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, นายชาติชาย แกดำ, นายชูเวช เดชดิษฐรักษ์ และนายณรงค์ ดวงแก้ว เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน จากกรณีที่ได้รับหมายเรียกให้รับทราบข้อกล่าวหาจากการร่วมกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563
ก่อนที่จะเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาใน สน.ชนะสงคราม ประชาชนและนักศึกษาทั้ง 6 คนได้รวมตัวกันหน้าสถานีตำรวจ โดยใส่เสื้อคลุมแฮรี่ พอตเตอร์ ซึ่งเป็นธีมของกิจกรรมอันเป็นที่มาของข้อกล่าวหา ทั้งหมดได้ร่วมกันอ่านคำปราศรัยเรื่องการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอานนท์ นำภา ได้เคยปราศรัยในกิจกรรมดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ท่ามกลางมวลชนมาให้กำลังใจราว 30 คน และมีตำรวจในเครื่องแบบเตรียมกำลังมาบริเวณ สน. ประมาณ 40 นาย โดยมีตำรวจส่วนหนึ่งบันทึกวิดีโอกิจกรรมหน้าสน. ไว้ตลอด
หลังจากอ่านปราศรัยเสร็จสิ้นแล้ว ประมาณ 13.50 น. ทั้งหมดเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหา โดยการเดินชูสามนิ้วเข้าไปในสน.ชนะสงคราม และประกาศว่า “เราจะไม่หยุดจนกว่าอำนาจมืดจะหมดไป”
แจ้ง 3 ข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
พ.ต.ท.โชคอำนวย วงษ์บุญฤทธิ์ พนักงานสอบสวน ได้แจ้ง 3 ข้อกล่าวหา จากการจัดกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ แก่ทั้ง 6 คน ได้แก่
- พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุม ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ
- พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต
- พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นผู้ร่วมจัดการชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้ง 6 ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยทั้งหมดจะให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน วันที่ 21 ก.ย. 63 และพนักงานสอบสวนนัดส่งตัวให้อัยการศาลแขวงดุสิตในวันเดียวกันเวลา 10.00 น.
ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือและทำบันทึกประจำวัน เสร็จสิ้นในเวลาประมาณ 16.15 น.
ก่อนหน้านี้ได้ในวันที่ 19 ส.ค. 63 อานนท์ นำภา หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าวได้ถูกจับกุมตามหมายจับบริเวณหน้าศาลอาญา โดยอานนท์ ถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
น่าสังเกตว่า อานนท์ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาไปก่อนหน้านี้ ไม่ได้ถูกแจ้งข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่อย่างใด ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหา 6 คนที่เหลือในวันนี้ กลับโดนแจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วย นอกจากนี้ผู้ต้องหา 2 ใน 6 คน เป็นเพียงนักดนตรีที่ขึ้นเล่นดนตรีในวันนั้นเท่านั้น
ขณะเดียวกัน ในหมายเรียกของผู้ต้องหาทั้ง 6 คนนั้น ก็ระบุข้อกล่าวหาไว้ 2 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และข้อหาเรื่องการใช้เครื่องขยายเสียง ไม่ได้ระบุข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เอาไว้แต่อย่างใด
นอกจากนั้น ตามข้อกำหนดฉบับที่ 13 ลงวันที่ 31 ก.ค. 63 ที่นายกรัฐมนตรีออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระบุให้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 63 เป็นต้นไป การใช้สิทธิของประชาชนเพื่อการชุมนุมใดๆ ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ แต่กลับปรากฏว่าแม้ในการชุมนุมทางการเมืองที่จัดขึ้นในเดือนสิงหาคม เช่นในคดีแฮร์รี่ พ็อตเตอร์นี้ ก็ยังพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีการนำข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้กล่าวหาผู้จัดการชุมนุมอยู่อีกด้วย
คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2563 เวลาประมาณ 17.00 น. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นักศึกษากลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตยและมอกะเสด จัดกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ เพื่อปกปักรักษาประชาธิปไตย และขับไล่อำนาจมืดจาก #คนที่คุณก็รู้ว่าใคร
ในวันดังกล่าวมีการขึ้นปราศรัยสลับกับการเล่นดนตรี และทางผู้จัดมีการอ่านข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่
- ให้ยกเลิก และแก้ไขกฎหมายที่มีผลเป็นการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่อาจกระทบกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- แก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
- ต้องรับฟังเสียงของนิสิต นักศึกษา และประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือขณะนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองให้เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย