เปิดบันทึกสืบพยานคดีคาร์ม็อบปัตตานี 2 คดี ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษา 11 ตุลา

พรุ่งนี้ (11 ต.ค. 2565) เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดปัตตานีนัดฟังคำพิพากษาในคดีจัดกิจกรรมคาร์ม็อบปัตตานี หรือ Car Mob Tani เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใน 2 คดี คือจากกิจกรรมเมื่อวันที่ 7 ส.ค. และ 14 ส.ค. 2564 ที่มีข้อกล่าวหาหลักตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีนี้จะเป็นคดีคาร์ม็อบในพื้นที่ภาคใต้คดีที่สามและสี่ที่ศาลจะมีคำพิพากษา หลังจากศาลมีคำพิพากษายกฟ้องคดีคาร์ม็อบสุราษฎร์ธานีและคาร์ม็อบยะลามาแล้วรวม 2 คดี ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา

ในคดีที่จังหวัดปัตตานีทั้งสองคดี มี พ.ต.ท.กรกฤษ เกาะยอ สารวัตรสืบสวน สภ.เมืองปัตตานี เป็นผู้กล่าวหาต่อนักกิจกรรม 3 ราย ได้แก่ อารีฟีน โสะ, สูฮัยมี ลือแบซา และ ซูกริฟฟี ลาเตะ ทั้งสามคนได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2564 โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรมดังกล่าวทั้งสองครั้ง

ต่อมาวันที่ 25 มี.ค. 2565 พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีทั้งสองคดีในข้อกล่าวหา

  1. ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคน ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
  2. ไม่สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกเคหสถาน และร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าคนขึ้นไป โดยฝ่าฝืนคำสั่งจังหวัดปัตตานี
  3. ร่วมกันชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ลงวันที่ 3 ส.ค. 2564

ในชั้นพิจารณา ศาลจังหวัดปัตตานีได้ให้ดำเนินการพิจารณาทั้งสองคดีไปด้วยกัน เนื่องจากคดีมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานไม่แตกต่างกัน ทำให้มีการนัดหมายสืบพยานทั้งสองคดีไปเมื่อวันที่ 6-7 ก.ย. 2565 โดยเป็นการสืบพยานโจทก์ 1 นัด และพยานจำเลยอีก 1 นัด จนเสร็จสิ้น

.

ตำรวจไม่ทราบใครเป็นแอดมินเพจที่ประกาศเชิญชวน แต่เห็นว่าจำเลยสองรายขึ้นปราศรัย อีกรายไปช่วยจัดขบวนรถ

บรรยากาศของการพิจารณาคดี นอกจากฝ่ายโจทก์และจำเลยแล้ว ยังมีทีมงาน Law Long Beach และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เข้าฟังการพิจารณาด้วย

ก่อนเริ่มสืบพยาน ศาลได้สอบถามคำให้การของจำเลยทั้งสามอีกครั้ง โดยกล่าวด้วยว่าคดีน่าจะมีแค่อัตราโทษปรับ หากให้การรับสารภาพ แต่ทั้งสามคนยืนยันว่าจะต่อสู้คดี ทำให้การสืบพยานเริ่มต้นขึ้น

โดยภาพรวม ฝ่ายโจทก์มีการนำพยานเข้าเบิกความทั้งหมด 4 ปาก โดยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งฝ่ายสืบสวน และพนักงานสอบสวน ขณะที่ฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าเบิกความทั้งหมด 5 ปาก

โดยสรุปฝ่ายโจทก์ที่เป็นชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนได้ติดตามการเคลื่อนไหวของเพจเฟซบุ๊ก “ประชาชนปลดแอกตานี – Free people Tani” และพบว่ามีการประกาศจัดกิจกรรมคาร์ม็อบสองครั้ง ในวันที่ 7 ส.ค. 2564 และ 14 ส.ค. 2564 จึงได้ติดตามสืบสวนและเข้าสังเกตการณ์สถานการณ์กิจกรรมดังกล่าว

ในการจัดครั้งแรก ซูกริฟฟี และสูฮัยมี ได้ขึ้นกล่าวปราศรัยในกิจกรรมบริเวณลานวัฒนธรรม ข้างโรงเรียนเบญจมราชูทิศ มีเนื้อหาขับไล่พลเอกประยุทธ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการบริหารประเทศที่ล้มเหลว รวมถึงการเรียกร้องวัคซีน mRNA ที่มีคุณภาพ  ตำรวจอ้างว่าในระหว่างการปราศรัย จำเลยทั้งสองได้มีการถอดหน้ากากอนามัยออก โดยในขณะนั้นเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และมีการออกประกาศจังหวัดปัตตานีที่ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยขณะออกนอกเคหสถาน  ส่วนอารีฟีนนั้น ตำรวจเบิกความอ้างว่าได้ช่วยจัดระเบียบและดูแลการเคลื่อนขบวนของคาร์ม็อบ จึงคาดว่าเป็นผู้ร่วมจัดกิจกรรม

แต่ทางตำรวจระบุว่า ไม่ได้ทำการสืบสวนในประเด็นว่าใครเป็นแอดมินของเพจ “ประชาชนปลดแอกตานี” และไม่ทราบว่าเป็นจำเลยทั้งสามคนหรือไม่ โดยที่ทางเพจก็ไม่ได้มีการระบุชื่อผู้จัดกิจกรรมเอาไว้

ขณะที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนของ สภ.เมืองปัตตานี ที่แต่งกายนอกเครื่องแบบไปสังเกตการณ์ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เบิกความระบุว่าเนื่องจากตนอยู่ท้ายขบวนรถที่เคลื่อนไปรอบตัวเมืองปัตตานี จึงไม่ได้ทราบว่าจำเลยทั้งสามจะเป็นผู้ขึ้นปราศรัยอยู่ในรถเครื่องขยายเสียงหรือไม่

ตำรวจฝ่ายสืบสวนอีกรายยังระบุว่าตนทราบเพียงแต่ว่า ซูกริฟฟี และสูฮัยมี เป็นผู้ขึ้นปราศรัย แต่ไม่ทราบว่าอารีฟีนได้ทำหน้าที่ใด ส่วนที่พยานเห็นว่าจำเลยทั้งสามเป็นแกนนำผู้จัดกิจกรรมนั้น บางส่วนเพราะได้สอบถามจากนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว แต่ไม่ได้มีการนำนักศึกษามาเป็นพยาน

ด้านพนักงานสอบสวนในคดีนี้เบิกความว่า เนื่องจากจำเลยสองรายเป็นผู้ขึ้นกล่าวปราศรัย จึงคาดว่าน่าจะเป็นแกนนำในการจัดชุมนุม โดยตนไม่ได้ทำการสอบสวนในประเด็นว่าจำเลยทั้งสามได้เป็นผู้โพสต์เชิญชวนประชาชนมาร่วมกิจกรรมชุมนุมหรือไม่ และไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของเพจที่ประกาศจัดชุมนุม

.

.

จำเลยทั้งสามยืนยันไม่ใช่ผู้จัด เพียงร่วมขึ้นปราศรัย เพราะมีการฟรีไมค์

ด้านฝ่ายจำเลย จำเลยทั้งสามได้อ้างตนเองขึ้นเบิกความเป็นพยาน

อารีฟีนเบิกความระบุว่า ตนได้เห็นประกาศเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบผ่านเพจ “ประชาชนตานีปลดแอก” และเนื่องจากตนสนใจในประเด็นทางการเมืองอยู่แล้ว จึงได้เดินทางไปเข้าร่วมชุมนุมทั้งสองครั้ง โดยมิได้มีการนัดแนะกับผู้ใด เป็นเพียงการออกมาร่วมแสดงจุดยืนทางการเมือง ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม

ในวันชุมนุมครั้งแรก คือวันที่ 7 ส.ค. 2564 อารีฟีนระบุว่าตนได้เข้าไปในที่ชุมนุมในช่วงแรกๆ ของการจัดขบวน โดยซ้อนรถจักรยานยนต์ของเพื่อนไป ก่อนพบเห็นกลุ่มชายที่ดูเหมือนทำหน้าที่จัดระเบียบขบวนรถ เมื่อจำเลยเห็นว่ารถเข้ามาร่วมกันเยอะ จึงลงไปช่วยจัดระเบียบขบวนรถด้วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการจราจร โดยตลอดกิจกรรมมิได้ร่วมขึ้นปราศรัยแต่อย่างใด เช่นเดียวกับกิจกรรมในครั้งที่สอง

สูฮัยมี จำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุเป็นประธานสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัยในจังหวัดปัตตานี เบิกความว่า ตนเห็นประกาศเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านเพจเฟซบุ๊ก จึงได้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสองวัน โดยยอมรับว่าตนได้ร่วมขึ้นปราศรัยจริง แต่การปราศรัยเป็นการเปิดโอกาสให้ใครที่อยากจะพูดแสดงออก ก็สามารถมาร่วมปราศรัยได้ ทั้งยืนยันว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และไม่ได้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค

ซูกริฟฟี เบิกความระบุว่าในวันที่มีกิจกรรม ตนได้นำรถยนต์ของบิดาไปร่วมกับเพื่อนๆ โดยเมื่อไปถึงสถานที่ชุมนุม ตนก็ได้ไปซื้อของ แต่เมื่อกลับมาก็พบว่า รถของตนถูกนำมาใช้เป็นที่ยืนในการปราศรัย ในทั้งสองวันตนก็ได้ร่วมขึ้นปราศรัย เพราะเห็นว่าการจัดชุมนุมดังกล่าว เป็นการจัดแบบ Free Speech คือทุกคนสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้

ซูกริฟฟีระบุว่า เหตุที่ตนถกหน้ากากอนามัยลงมานั้น เพราะขณะกำลังพูดอยู่นั้น ไมค์หรือเครื่องขยายเสียงไม่สามารถใช้ได้ ทำให้เสียงไม่ดังออกไป และตนคาดว่าจะมีรถตัดสัญญาณอยู่บริเวณสถานที่ชุมนุมลานวัฒนธรรม จึงต้องถอดหน้ากากออกตะโกน เพื่อให้ทุกคนได้ยินและเป็นการดูแลไม่ให้เกิดความวุ่นวายขึ้น 

.

.

นักวิชาการกฎหมายยืนยันต้องพิจารณาการชุมนุมภายใต้หลักความได้สัดส่วน ส่วนแพทย์เห็นว่าการชุมนุมความเสี่ยงต่ำ

นอกจากจำเลยทั้งสาม จำเลยยังนำ ผศ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขึ้นเบิกความในประเด็นเสรีภาพการชุมนุมที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ โดยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค การชุมนุมต้องกระทำด้วยหลักความได้สัดส่วน ในคดีนี้ พยานเห็นว่าการที่จำเลยเข้าร่วมกิจกรรมในลักษณะคาร์ม็อบ ถือเป็นการชุมนุมที่มีมาตรการลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การกระทำดังกล่าวจึงอยู่ตามหลักความได้สัดส่วน

อีกทั้งการขึ้นปราศรัย ก็มิใช่เป็นการแสดงว่าผู้ปราศรัยจะต้องเป็นผู้จัดการชุมนุมในทันทีแต่อย่างใด การตีความว่าเพียงขึ้นปราศรัยก็ถือเป็นผู้จัดชุมนุมนั้น จึงเป็นการตีความความหมายของ “ผู้จัดการชุมนุม” ที่กว้างขวางจนเกินไป จนอาจกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงออก

ขณะที่พยานจำเลยอีกปากหนึ่ง ได้แก่ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ จากโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท เบิกความในประเด็นเรื่องมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างการสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา และเว้นระยะห่างกันเกิน 1 เมตรนั้น เป็นมาตรการที่ใช้สำหรับพื้นที่ปิดอย่างสถานที่ในห้องแอร์มากกว่า กรณีนี้การที่ผู้ชุมนุมได้ออกมาชุมนุมที่ลานวัฒนธรรมซึ่งเป็นสถานที่โล่งแจ้ง รวมถึงเป็นกิจกรรมคาร์ม็อบซึ่งมีการเว้นระยะห่างของผู้เข้าร่วม โดยตัวของลักษณะกิจกรรมเองอยู่แล้ว  

พยานจึงเห็นว่ากิจกรรมที่ถูกฟ้องในคดีนี้ เป็นการชุมนุมที่มีต่อการทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ค่อนข้างต่ำ

.

——————

* บันทึกการสืบพยานโดยทีมงาน “กลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)”

.

X