“เขาใช้กฎหมายแบบนี้ คือพยายามหยุดความเคลื่อนไหวมากกว่า” ฟังเสียงจากนักศึกษายะลา หลังศาลยกฟ้องคดีคาร์ม็อบ

อับดุลซาตาร์ บาโล หรือ “ต้าร์” ในวัย 22 ปี ยังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 5 สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา แต่เขากลายเป็น “คนที่มีคดีติดตัว” ไปแล้ว 2 คดี เหตุจากการเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบเพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในจังหวัดยะลา 2 ครั้ง ได้แก่ กิจกรรมเมื่อวันที่ 1 และ 7 ส.ค. 2564 โดยมีข้อหาหลักคือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในทั้งสองคดี

แม้ล่าสุดวันที่ 31 ส.ค. 2565 ศาลจะมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว 1 คดี ได้แก่ คดีจากกิจกรรมวันที่ 7 ส.ค. 2564 โดยยกฟ้องข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ แต่ให้ลงโทษปรับเฉพาะข้อหาใช้เสียงดังอื้ออึง ภายหลังการต่อสู้คดีกว่าหนึ่งปี แต่เขาก็ยังมีภาระต้องต่อสู้ในอีกคดีหนึ่ง ซึ่งมีกำหนดสืบพยานในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ และยังต้องติดตามว่าอัยการจะมีการอุทธรณ์คดีอีกหรือไม่ ทำให้พันธะแห่งคดีเหล่านี้ยังไม่สิ้นสุดลง

ในฐานะนักศึกษายะลาเพียงคนเดียวที่ถูกฟ้องในสองคดี ชวนฟังเรื่องราวของต้าร์ หนึ่งเสียงของนักศึกษา-นักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ฝันถึงการเป็นครูและฝันถึงสันติภาพ ท่ามกลางการต่อสู้ทางการเมืองที่ทั้งเหมือนและแตกต่างไปจากพื้นที่อื่นพร้อมๆ กัน

.

.

นักศึกษาผู้ทำกิจกรรมมาตั้งแต่เด็ก

ต้าร์ พื้นเพเป็นคนจังหวัดปัตตานี แต่มาเรียนและเติบโตอยู่ที่จังหวัดยะลาตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนระดับมหาวิทยาลัย เขาเล่าว่าตนเองสนใจที่จะเป็น “ครู” มาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากเป็นคนชอบทำกิจกรรม พอมีทักษะด้านการพูด จึงได้เป็นคนถือไมค์หน้าชั้น และได้ไปทำกิจกรรมชุมนุมชมรมต่างๆ ตั้งแต่ระดับมัธยม อันทำให้ได้เห็นปัญหาในพื้นที่มากขึ้น

“พอได้ทำกิจกรรมมากขึ้น เราได้เห็นถึงสภาพปัญหาของการศึกษาในพื้นที่ เช่น ผมสังเกตว่าเด็กในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อจบ ม.3 หรือ ไม่ก็ ม.6 ส่วนใหญ่จะเริ่มหลุดออกจากระบบการศึกษา ก็เลยคิดว่าถ้าเรามีโอกาสที่จะสอนเด็กๆ โดยที่เขาไม่จำเป็นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรมาก ก็ถือว่าเป็นความฝันหนึ่งของตัวเอง”

หลักสูตรที่ต้าร์เรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ก็คือหลักสูตรที่จะได้รับปริญญาครุศาสตร์บัณฑิต สำหรับประกอบอาชีพครูนั่นเอง เขาบอกว่ารุ่นที่เขาเรียนเป็นรุ่นสุดท้ายที่ใช้หลักสูตรการเรียน 5 ปี แต่รุ่นถัดๆ มา เริ่มปรับเป็น 4 ปีแล้ว

ความเป็นเด็กกิจกรรม ทำให้ต้าร์กระตือรือร้นเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัย เขาร่วมเป็นสมาชิกพรรค “ร่วมใจจันทร์กระพ้อ” อันเป็นพรรคนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ก่อนในช่วงปี 2 จะเข้าไปเป็นหัวหน้าฝ่ายกีฬาและนันทนาการ ขององค์การบริหารนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ทั้งยังเคยลงสมัครเป็นนายกฯ องค์การศึกษา แต่การเลือกตั้งเลื่อนออกไป เพราะเกิดโควิด-19 เสียก่อน

ด้วยความที่พรรคร่วมใจจันทร์กระพ้อ เป็นสมาชิกของ Permas ด้วย (สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี  เป็นองค์กรรวมกลุ่มของนักศึกษาชายแดนภาคใต้) ก่อนหน้านี้ ต้าร์จึงเคยเข้าไปช่วยทำงานในฐานะผู้ประสานงานเขตของจังหวัดยะลา คอยทำงานประสานกับองค์กรสมาชิกที่อยู่ในจังหวัด ก่อน Permas จะยุติบทบาทไป

ต้าร์เล่าถึงการพยายามผลักดันประเด็นต่างๆ ของมหาวิทยาลัยในนามพรรคนักศึกษา เช่น เรื่องสุนัข เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาที่เป็นมุสลิมประมาณ 98% ทำให้มีปัญหากับเรื่องสุนัขที่มาอยู่ในมหาวิทยาลัย โดยทางองค์การนักศึกษาไม่ได้ปฏิเสธไม่ให้มีสุนัข แต่มีการพูดคุยว่าควรจะมีพื้นที่เฉพาะสำหรับดูแลสุนัข และมีการจัดการที่ดี

หรือการพูดถึงปัญหาโครงการ extra time เนื่องจากหลักสูตรครุศาสตร์ ได้ปรับมาใช้เวลาเรียน 4 ปี ทำให้มีการเร่งการเรียนการสอน โดยมีการจัดเวลาเรียนพิเศษ มีห้องเรียนในช่วงค่ำสำหรับรุ่นน้องๆ ของเขา และมีการออกกฎระเบียบต่างๆ เช่น ให้นักศึกษาที่จะเรียนครู ต้องมาอยู่หอใน ทำให้เกิดปัญหากับนักศึกษา ประสบกับการเรียนการสอนหนักเกินไป สิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นประเด็นที่องค์การนักศึกษาพยายามสื่อสารกับผู้บริหาร ให้มีการรับฟังความเห็นของนักศึกษา

ต้าร์ยังเล่าถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อกิจกรรมนักศึกษา นักศึกษาใหม่หลายคนไม่เคยมาร่วมกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และมหาวิทยาลัยก็ไม่สามารถจัดกิจกรรมที่ตอบโจทย์คนในพื้นที่ได้

“นโยบายของเรา พยายามยกระดับคุณภาพบัณฑิต เราต้องการให้คนที่จบไปแล้ว เขาเป็นบัณฑิตที่สามารถนำพาสังคมให้มันดีขึ้นกว่านี้ได้ เราก็พยายามจัดกิจกรรม ให้นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ร่วมกัน เราตัดพวกกิจกรรมประกวดดาว-เดือนไปหมด เพราะเรารู้สึกว่าไม่ได้ประโยชน์อะไร”

.

.

ความตื่นตัวทางการเมือง กับประเด็นเรียกร้องที่ชายแดนภาคใต้

จากกิจกรรมในมหาลัย ต้าร์ยังเริ่มขยับขยายไปสู่การร่วมกิจกรรมทางการเมือง เขาเล่าว่าจุดเปลี่ยนสำคัญ คือเหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ ในช่วงต้นปี 2563 ทำให้หลายคนรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม

“ตอนแรกก็ไม่ได้สนใจมาก กิจกรรมก็ทำเรื่องทั่วๆ ไปมากกว่า จนช่วงที่พรรคอนาคตใหม่โดนยุบ เราก็ได้มานั่งคุยกัน เราก็ไม่ได้อยู่พรรค แต่เราเห็นว่าประเด็นนี้เราไม่เห็นด้วย ก็เลยอยากสื่อสารกันออกมา ก็มีเพื่อนๆ ชวนกันจัดแฟลชม็อบภายในมหาลัย ช่วงต้นๆ ปี 2563 หลังจากนั้นก็มีกิจกรรมอีกเป็นระยะ”

ต้าร์เล่าว่าในมุมมองของเขา นักศึกษาจำนวนมากเข้าใจต่อปัญหาทางการเมืองมากขึ้น เขาคุยกับเพื่อนร่วมคณะที่ไม่ได้ออกมาทำกิจกรรม ก็พบว่ามีความเข้าใจระดับหนึ่ง แต่พบว่าบางคนอาจจะรู้สึก ออกไปเคลื่อนไหวแล้ว ยังไม่มีอะไรดีขึ้น เลยไม่ออกไปดีกว่า รวมถึงมีบางคนที่กังวลถึงการออกไปชุมนุม อาจจะโดนจับตาจาก “กฎหมายพิเศษ” ที่ใช้อยู่ในพื้นที่ ขณะเดียวกันเวลามีการชุมนุมหรือคาร์ม็อบในช่วงปีที่ผ่านมา เขาก็พบเห็นเพื่อนๆ หลายคนไปร่วมอยู่บ้างเหมือนกัน

ต้าร์สรุปว่าในส่วนกิจกรรมที่เป็นลักษณะการชุมนุม ช่วงสองปีเศษที่ผ่านมาในจังหวัดยะลาเคยมีการจัดมาแล้วประมาณ 7-8 ครั้ง ตั้งแต่ในช่วงหลังยุบพรรคอนาคตใหม่ การจัดภายในมหาวิทยาลัย จัดในพื้นที่ต่างๆ ในเมืองยะลา โดยในช่วงปี 2564 มีการจัดคาร์ม็อบรวม 3 ครั้ง และมีการจัดชุมนุมที่หน้า ศอ.บต. (ศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ในประเด็นเรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะด้วย

“ผมก็ไปร่วมเกือบตลอด เพราะเราก็สนใจในเรื่องนี้ อยากรู้ว่าแต่ละเรื่องมันเป็นอย่างไร เราได้ไปฟังประเด็นต่างๆ ที่เขาพูด ทำให้รู้ว่ามันมีเรื่องนี้อยู่นะ แล้วเราค่อยกลับมาค้นหาข้อมูลเอง ไปดูความเป็นมาของเรื่อง มีที่มาที่ไปอย่างไร” ต้าร์เล่าถึงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการไปร่วมชุมนุม

ต้าร์เล่าว่านอกจากประเด็นการขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ และการร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีการเรียกร้องในประเด็นเรื่องการยุบ ศอ.บต. เพราะเป็นหน่วยงานที่มีนอำนาจทับซ้อนในพื้นที่ ซึ่งพยายามผลักดันโครงการนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างกว้างขวาง  นอกจากนั้น ยังมีการเรียกร้องประเด็นเรื่องการให้รัฐจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้กับบุคลากรทางแพทย์และประชาชนทั่วไป ในช่วงปี 2564 ที่มีปัญหาการแจกจ่ายวัคซีนให้ประชาชนอีกด้วย

แม้การเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา จะยังไม่ประสบสิ่งที่เรียกว่า “ชัยชนะ” หรือข้อเรียกร้องต่างๆ ได้รับการตอบสนองอย่างที่อยากเห็น แต่ต้าร์ก็เห็นว่า มันมีส่วนทำให้ประชาชนตื่นตัวในประเด็นต่างๆ มากขึ้น เช่น กรณีการจัดคาร์ม็อบครั้งที่ 3 ที่ไปหน้าบ้าน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ เพื่อไปยื่นหนังสือตั้งคำถามว่าทำไมเขายังโหวตไว้วางใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ เขาเล่าว่าหลังประชาชนไปรอหน้าบ้านประมาณชั่วโมงกว่า ส.ส. บอกว่าจะออกมา แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ออกมา เท่าที่ต้าร์ไล่ดูความเห็นผู้คน คิดว่าคนก็เริ่มเห็นว่า ส.ส. ที่เลือกไป ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชน และมีการทบทวนว่าควรเลือกคนนี้กลับไปอีกหรือไม่ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

หรือในประเด็นจะนะเอง คนในพื้นที่ภาคใต้ก็ตื่นตัวในปัญหาเรื่องนิคมอุตสาหกรรมมากขึ้น เพราะเห็นว่าคนที่จะได้รับผลกระทบ ไม่ใช่แค่ที่อำเภอจะนะ แต่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าในอีกหลายพื้นที่ ทำให้คนในพื้นที่คิดมากขึ้นว่ามันได้ประโยชน์อะไรกับพวกเขา

.

.

คดีความที่มุ่งปิดปากประชาชน

จากการชุมนุมโดยภาพรวมในจังหวัดยะลา ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรม 2 ครั้ง ได้แก่ คาร์ม็อบเมื่อวันที่ 1 และ 7 ส.ค. 2564 โดยมี “การเลือก” ผู้เข้าร่วมหรือผู้ที่มีบทบาทในการชุมนุมมาดำเนินคดีจำนวนหนึ่ง

กิจกรรมของวันที่ 1 ส.ค. มีผู้ถูกออกหมายเรียก 8 ราย หนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนหญิงอายุ 17 ปี ทั้งอีกรายหนึ่งยังยืนยันว่าไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมแต่อย่างใด แต่กลับถูกแจ้งข้อกล่าวหาไปด้วย ต่อมาอัยการได้สั่งไม่ฟ้องคดีผู้ถูกกล่าวหารายนี้ ทำให้คดีนี้เหลือผู้ต้องหาที่ถูกฟ้องที่ศาลจังหวัดยะลา รวม 6 ราย ซึ่งต้าร์เป็นหนึ่งในนั้น โดยคดียังอยู่ระหว่างรอการสืบพยานในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้

ส่วนกิจกรรมวันที่ 7 ส.ค. มีผู้ถูกออกหมายเรียกและถูกฟ้องคดีรวม 5 ราย และต้าร์ก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน เขาจึงเป็นคนเดียวในยะลาที่ถูกดำเนินคดีทั้งสองคดี ต้าร์บอกว่าคดีหลังนี้ 2 ใน 5 ราย ยังไปทำหน้าที่สื่อมวลชน ในการถ่ายภาพกิจกรรม แต่กลับถูกดำเนินคดีนี้ไปด้วย และล่าสุด ศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้องคดีนี้ไปแล้ว

ต้าร์ระบุว่า ตนเองไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม “ยะลาปลดแอก” และเขาก็ไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบทั้งสองครั้ง แต่อาจจะด้วยบทบาทของเขา ที่ถนัดในการทำหน้าที่พิธีกรในงานต่างๆ มาก่อน ทำให้ได้เข้าไปช่วยถือโทรโข่งในการปราศรัยและพูดประเด็นต่างๆ ระหว่างกิจกรรม

“เราไปในฐานะผู้เข้าร่วม แต่ก็ไปร่วมถือโทรโข่งในงาน แล้วก็ไปช่วยพูดด่า อาจจะไม่เชิงปราศรัยเหมือนการจัดชุมนุม เพราะเราเคลื่อนรถไป ก็มีการพูดด่า แล้วก็เปิดเพลงไปด้วย เลยอาจจะเป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าที่มองว่าผมเป็นแกนนำ ก็เลยโดนคดีไปด้วย”

“ผมมองว่า เขาพยายามที่จะหยุดการเคลื่อนไหวของพวกเรา เขาต้องการใช้ SLAPP (การใช้กฎหมายปิดปาก) กับพวกเรา ในคดี เราจะเห็นได้ว่าแต่ละคนมีบทบาทในแต่ละด้าน อย่างสื่อสองคน ก็ไปทำหน้าที่ถ่ายรูปเป็นหลักอยู่แล้ว ผมมองว่าการที่เขาสุ่มให้หมายไป เพื่อให้คนอื่นได้เห็นว่า ถ้ามีครั้งต่อไป ถึงแม้คุณไม่ใช่แกนนำ คุณก็อาจจะโดนได้เหมือนกันนะ

“อย่างคดีที่หนึ่ง มันมีคนที่โดน คือเป็นครอบครัวหนึ่งครอบครัวที่ขับรถมาร่วม เขาก็สุ่มเรียกไป ไม่ใช่แค่แกนนำที่โดน คดีนี้มีคนที่ไม่ได้ไปร่วมคาร์ม็อบ แต่ถูกกล่าวหาไปด้วย ก็มี

“ข้อกล่าวหาที่รัฐใช้ เขาไม่ได้ต้องการจะป้องกันการติดต่อของโรคอย่างจริงๆ จังๆ ในช่วงเกิดเหตุคดีของผม หรือในช่วงที่เขาประกาศในพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม แต่ในหลายสถานที่ ก็ยังไม่เห็นว่ามีการป้องกัน ในอาคารต่างๆ ก็พบว่ามีโอกาสจะมีโรคติดต่อมากกว่ากิจกรรมของเรา พยานที่มาเบิกความให้เรา คือคุณหมอสุภัทร (ฮาสุวรรณกิจ) เอง ก็แจ้งถึงรายงานว่าในช่วง 7-14 วันหลังจากคาร์ม็อบ ไม่มีกลุ่มที่ติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์จากกิจกรรมดังกล่าว

“สิ่งที่เห็นจากกระบวนการยุติธรรม ก็คือมีการนำกฎหมายมาใช้อย่างไม่แฟร์ หลายคดีมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว ก็มองว่าการที่เขาใช้กฎหมายแบบนี้ ก็คือพยายามหยุดความเคลื่อนไหวมากกว่า

“เรามองว่าเจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายเหล่านี้ในการกลั่นแกล้งทางการเมือง และนำไปสู่การรังแกประชาชน กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองโรค แต่กลับไม่ได้มีเป้าหมายในการคุ้มครองโรค เรามองว่ารัฐเองก็ควรจะปกป้องคุ้มครองสิทธิในการแสดงออกของประชาชน มีการอำนวยให้ประชาชนสามารถแสดงออกทางการเมืองภายใต้การระวังจากโรคได้ ไม่ใช่ห้ามการแสดงออกไปเลย กรณีเหล่านี้ ทำให้เราเห็นว่าประเทศไทยควรจะมีการออกกฎหมายในรูปแบบการป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก ไม่ให้มีการฟ้องคดีเพื่อกลั่นแกล้งประชาชน อย่างที่บางประเทศก็มีใช้อยู่” ต้าร์วิเคราะห์ยาวถึงการถูกดำเนินคดีที่เกิดขึ้น

ในส่วนของผลกระทบจากการถูกดำเนินคดี ต้าร์ระบุว่าส่วนตัว ยังไม่ถึงกับได้รับผลกระทบอะไรนัก แน่นอนว่ามีภาระเพิ่มขึ้นในการไปรายงานตัวและไปตามนัดศาล แต่นัดต่างๆ ก็ยังไม่ถึงกับตรงกับเวลาเรียน ยังพอจัดการได้ ในส่วนของครอบครัว เขาบอกว่าค่อนข้างเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้ห้ามปรามหรือหยุดยั้งเขา เพียงแต่เขาจะแจ้งให้ทราบถึงการไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ตลอด

“กับครอบครัว ผมเองก็พยายามคุยด้วยตลอด พี่สาวเองก็เคยเป็นนักกิจกรรมเก่า ในช่วงประมาณปี 54-57 ช่วงนั้นทราบว่าจะมีนักศึกษาที่โดนคุกคามหนัก มีแบบไปจับที่บ้านพักหรือหอพัก แล้วก็พาไปสอบในค่ายเลย ทำให้พ่อกับแม่ก็พอทราบว่าถ้าเราเข้าไปทำกิจกรรม สิ่งที่มันอาจจะเกิดขึ้น อาจจะมีมาในรูปแบบใดบ้าง

“พอมันเริ่มมีการชุมนุม ผมก็จะแจ้งให้ที่บ้านทราบก่อน ว่าผมจะไปเข้าร่วมนะ จะไปคาร์ม็อบนะ อย่างน้อย ถ้าเกิดอะไรขึ้น เขาจะได้รู้ก่อน อย่างพอได้ทราบว่าจะตัวเองจะได้หมายเรียกด้วย ผมก็โทรไปบอกที่บ้าน บอกว่าเดี๋ยวจะมีหมายเรียกมาที่บ้านนะ แต่ไม่รู้วันไหน แม่ก็ไม่ได้ว่าอะไรมาก ถ้าคุยกับแกไว้ก่อน แกก็ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะแกก็รู้ตลอดว่าผมไปร่วมกิจกรรมการเมืองไหนบ้าง” ต้าร์เล่า

.

.

กฎหมายพิเศษที่ดำรงอยู่เกือบ 2 ทศวรรษ กับความฝันถึงสันติภาพในภาคใต้

เมื่อถามถึงเรื่องการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ และอุปสรรคในการทำกิจกรรมในพื้นที่ ต้าร์เล่าว่า ส่วนตัวเขามักถูกเจ้าหน้าที่มาติดตามหาตัวที่บ้าน เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ หรือบุคคลสำคัญในรัฐบาลจะมาลงพื้นที่ เพื่อพูดคุยไม่ให้มีการเคลื่อนไหว

“มีช่วงเดือนธันวาคม 2564 ก็มีตำรวจมาที่บ้านผมที่ปัตตานี แต่ตอนนั้นไม่มีใครอยู่ แม่ก็โทรมาบอกว่ามีตำรวจมา แล้วเขาก็มาอีกครั้ง เขามานั่งคุยกับพ่อ ก็ไม่ได้พูดจาคุกคามนะ แต่มาลักษณะขอ ว่าเดี๋ยว พล.อ.ประยุทธ์ จะมานะ ขออย่าทำอะไร”

ต้าร์ยังมองว่า การเคลื่อนไหวในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ หน่วยงานของทหารยังเข้ามาจับตากิจกรรมมากกว่าพื้นที่อื่นๆ เช่น เวลามีชุมนุมหรืออ่านแถลงการณ์ต่างๆ จะพบเห็นทหารหรือเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. มาคอยสอดส่อง และถ่ายรูปกิจกรรม ไม่ใช่เพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น

“ในสามจังหวัดภาคใต้ ในมหาวิทยาลัย นักศึกษาก็จะเคยเห็นทหารเข้าออกเหมือนกับเป็นปกติเลย อย่างที่ราชภัฏยะลา เกือบทุกปี จะเห็นทหารจับอาวุธมาอยู่ในพื้นที่ของการศึกษา เราก็สงสัยว่ามันถือปืนเข้ามาได้เลยเหรอ”

ขณะเดียวกัน กฎหมายอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้เอง ก็ถูกประกาศใช้เพื่อจัดการกับสถานการณ์ “ความไม่สงบ” มาตลอดรวมกว่า 18 ปีแล้ว ไม่ใช่เพียงสถานการณ์โรคระบาดในช่วงหลัง รวมทั้งชุด “กฎหมายพิเศษ” ด้านความมั่นคงอื่นๆ ได้แก่ กฎอัยการศึก และ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในฯ เอง ก็ถูกประกาศใช้เฉพาะในพื้นที่มาเป็นเวลาเกือบสองทศวรรษแล้วเช่นกัน ซึ่งประชาสังคมหลายกลุ่มก็เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง

“หลายคนเคยชินกับมันแล้ว แต่ส่วนตัวผม ไม่อยากให้มันเคยชิน เพราะไม่ได้แฟร์และแก้ปัญหาในพื้นที่ ผมเองก็ยอมรับว่าไม่ได้รู้รายละเอียดเรื่องการใช้กฎหมายพิเศษทั้งหมดนี้มาก

“ในรุ่นคนอายุประมาณ 20 ปีลงมา เขาเติบโตมาด้วยสถานการณ์ที่มันมีกฎหมายพวกนี้อยู่ตลอดแล้ว บางคนก็ใช้ชีวิตมาโดยไม่ได้ตระหนักเลยว่ามีกฎหมายพวกนี้ใช้อยู่ตลอดในพื้นที่ของเรา หรือบางคนก็ไม่รู้ถึงเหตุการณ์หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้น เช่น ในช่วงที่ผมทำงานองค์การนักศึกษาฯ มันมีช่วงที่ครบรอบเหตุการณ์ตากใบปี 2547 ก็มีการจัดวงเสวนา ว่าเหตุการณ์นี้มันเกิดอะไรขึ้น น้องๆ บางคนยังบอกเลยว่าถ้าไม่ได้มาร่วมฟัง ก็ไม่รู้เลยว่ามันมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น” ต้าร์เล่าถึงประสบการณ์จากในพื้นที่

ขณะเดียวกันในส่วนเป้าหมายในการทำกิจกรรมและความใฝ่ฝันของนักกิจกรรมในพื้นที่ยะลา อย่างต้าร์ แน่นอนว่าเกี่ยวพันไปกับสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่โดยตรง

เขาบอกว่าความฝันอันแรกของเขา คืออยากเห็นพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี “สันติภาพ” เกิดขึ้นจริงๆ โดยเป็นสันติภาพแบบที่ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้าง และรวมไปถึงกำหนดชะตากรรมของตนเองได้

“อยากเห็นในพื้นที่ของเรา มันเกิดสันติภาพ ผมเติบโตมาโดยที่ไปไหนมาไหน ทุกพื้นที่จะมีด่าน มันทำให้มีความรู้สึกว่าเราอยู่ในพื้นที่ แต่ไปไหนมาไหน มันไม่ปลอดภัยแบบนี้เลยเหรอ แต่พอออกจากพื้นที่ไป เราแทบจะไม่ด่านเลย เราก็อยากให้คนภายนอกได้รับรู้ว่าในพื้นที่ มันมีดีอะไรบ้าง ไม่อยากให้คนอื่นๆ มองว่าพื้นที่ตรงนี้มันน่ากลัว เหมือนที่ได้รับจากสื่อ

“แล้วการทำให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ก็เกี่ยวพันกับการทำให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์จริงๆ ไม่ใช่แค่ประชาธิปไตยแบบที่รัฐพูดเท่านั้น” ต้าร์สรุปถึงสิ่งที่เขาอยากเห็นในการต่อสู้ต่อไปของนักศึกษา-ประชาชน

.

X