สถานการณ์การดำเนินคดีจากกิจกรรมคาร์ม็อบไล่ประยุทธ์ ยังเป็นไปอย่างเข้มข้นในพื้นที่ต่างๆ โดยอัยการที่จังหวัดยะลา ได้เร่งฟ้องคดีคาร์ม็อบยะลาของ 5 ประชาชน ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยเขียนท้ายฟ้องขอศาลลงโทษสถานหนัก ก่อนศาลให้ประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้องอีก
ส่วนที่จังหวัดสงขลา 2 นักเรียน-นักศึกษา ถูกตำรวจ สภ.คอหงส์ เรียกไปแจ้งข้อหาจากการจัดคาร์ม็อบ “หาดใหญ่เบอะสุด เขรถยิกลุง เหยดแม่ม” เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ตำรวจอ้างทั้งสองอยู่บนรถเครื่องเสียง ร่วมปราศรัยวิจารณ์รัฐบาล นับเป็นคดีคาร์ม็อบคดีที่ 13 ในพื้นที่ภาคใต้แล้ว
.
.
อัยการสั่งฟ้องคดีคาร์ม็อบยะลา ศาลให้ประกัน แต่กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำลักษณะเดียวกันอีก
เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 64 ที่ศาลจังหวัดยะลา พนักงานอัยการจังหวัดยะลาได้มีคำสั่งฟ้องคดีของ 5 ประชาชนและนักกิจกรรมในจังหวัดยะลา จากกรณีจัดและร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบในตัวเมืองยะลา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 ในข้อหาหลักฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยคดีใช้เวลาตั้งแต่การแจ้งข้อกล่าวหาถึงการสั่งฟ้องไม่ถึงหนึ่งเดือน
คดีนี้เหตุเกิดจากกลุ่ม “ยะลาปลดแอก” จัดกิจกรรม Car Mob Yala เพื่อขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 7 สิงหาคม 2564 โดยขับรถจากสวนสาธารณะขวัญเมือง (พรุบาโกย) ไปรอบเมืองยะลา ต่อมา สภ.เมืองยะลา ออกหมายเรียกผู้ต้องหาทั้งหมด 5 ราย ได้แก่ อารอฟัต อาบู, อับดุลซาตาร์ บาโล, สารีฟฟุดดีน สาเมาะ, มะซอดี ดือรากี และ ฟีตตรี มามะแตหะ ซึ่งได้ทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 19 และ 22 ส.ค. 64
หลังจากนั้น พนักงานสอบสวนได้นัดหมายส่งสำนวนให้อัยการไปเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 64 และอัยการใช้เวลาพิจารณาสำนวนสั่งฟ้องคดีรวม 9 วัน
ในส่วนของนายมะซอดี หนึ่งในผู้กล่าวหา ยังให้การยืนยันว่าตนไม่ใช่แกนนำและผู้ร่วมชุมนุมตามข้อกล่าวหา แต่ไปติดตามกิจกรรมในฐานะช่างภาพของสื่อออนไลน์ Student voice แต่อัยการยังคงมีคำสั่งฟ้องคดี
ทั้งห้าได้ถูกอัยการสั่งฟ้องในข้อหา ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนมากกว่า 5 คน, ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคในพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด, ส่งเสียงหรือทำให้เกิดเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร
โดยที่จำเลย 4 ราย ยกเว้นสารีฟฟุดดีน ได้ถูกฟ้องในข้อหาขับรถกีดขวางทางจราจร และ หยุดรถในช่องทางเดินรถในลักษณะกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ด้วย
อัยการยังระบุในท้ายฟ้องว่า “จำเลยทั้งห้าเจตนาจงใจฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งขณะเกิดเหตุมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 อย่างรุนแรงกว้างขวาง การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ แต่ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ในการป้องกันและควบคุมมิให้โรคระบาดแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง กลับก่อความวุ่นวายเดือดร้อนให้แก่ประชาชน โดยมิได้ตระหนักถึงหน้าที่พลเมืองในการรักษาบ้านเมืองให้สงบเรียบร้อย ขอศาลลงโทษจำเลยทั้งห้าสถานหนัก”
หลังการสั่งฟ้อง ทนายความได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้งหมดระหว่างพิจารณา และศาลจังหวัดยะลาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยไม่ต้องมีหลักประกัน แต่กำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการหรือก่อเหตุในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกฟ้องคดีนี้หรือก่ออันตรายประการอื่น และให้สาบานตนว่าจะมาศาลทุกนัด
ทั้งนี้ ที่จังหวัดยะลา ยังมีคดีคาร์ม็อบอีกคดีหนึ่ง จากกิจกรรมที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 64 ซึ่งมีผู้กล่าวหาทั้งหมด 8 ราย แต่มีผู้ต้องหา 1 ราย ไม่ได้เดินทางไปร่วมกิจกรรมดังกล่าว กลับถูกแจ้งข้อหาด้วย ตำรวจจึงมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดี ก่อนส่งสำนวนคดีให้อัยการ และยังอยู่ระหว่างฟังคำสั่งอัยการต่อไปในวันที่ 7 ต.ค. 64
.
.
ตำรวจสงขลา แจ้ง 5 ข้อหา ต่อ 2 นักเรียนนักศึกษา กล่าวหาร่วมจัดคาร์ม็อบ “หาดใหญ่เบอะสุด เขรถยิกลุง เหยดแม่ม”
16 ก.ย. 64 ที่ สภ.คอหงส์ จังหวัดสงขลา “รฐนนท์” นักเรียนในอำเภอหาดใหญ่ และ “ฝนดาว” นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมทนายความและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก กรณีจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ “หาดใหญ่เบอะสุด เขรถยิกลุง เหยดแม่ม” ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา
พนักงานสอบสวน สภ.คอหงส์ ได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองคน 5 ข้อกล่าวหา ได้แก่ การจัดกิจกรรมที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, กีดขวางทางสาธารณะ, ส่งเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร, ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และปิดบังแผ่นป้ายทะเบียนรถจนไม่สามารถมองเห็น
พฤติการณ์ข้อกล่าวหาโดยสรุประบุว่าทั้งสองคนได้เป็นแกนนำในการจัดกิจกรรม คาร์ม็อบ “หาดใหญ่เบอะสุด เขรถยิกลุง เหยดแม่ม” เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 64 โดยรวมตัวบริเวณหน้าค่ายเสนาณรงค์ โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 150 คน มีรถยนต์ประมาณ 32 คัน รถจักรยานยนต์ 35 คัน และมีรถบรรทุก 6 ล้อ ที่ติดตั้งเครื่องขยายเสียงและใช้กระดาษปิดแผ่นป้ายทะเบียน โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าพบเห็นผู้ต้องหาทั้งสองคนอยู่บนรถคันดังกล่าว และมีการสลับกันพูดปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล โดยนำขบวนรถมุ่งเข้าตัวเมืองหาดใหญ่ ไปหยุดหน้าป้าย สภ.หาดใหญ่ พร้อมกับมีการเทอาหารเม็ดสำหรับสุนัข และสาดสีบริเวณทางเท้าหน้าสถานีตำรวจ ก่อนเคลื่อนขบวนไปยุติชุมนุมที่หอนาฬิกาหาดใหญ่
ผู้กล่าวหาอ้างว่าขบรถดังกล่าวมีการกีดขวางทางสาธารณะ และมีการบีบแตรเสียงดังอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร พ.ต.ท.พัทนันท์ ภักดีดำรงทรัพย์ รองผู้กำกับสืบสวน สภ.คอหงส์ จึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์ในคดีนี้
นักเรียนนักศึกษาทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเป็นหนังสือในภายหลัง ก่อนตำรวจจะให้ปล่อยตัวไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้
สำหรับคดีนี้ นับเป็นคดีจากกิจกรรมคาร์ม็อบคดีที่ 13 ในพื้นที่ทางภาคใต้แล้ว หลังจากก่อนหน้านี้มีการดำเนินคดีมาแล้วทั้งที่จังหวัดนครศรีธรรมราช, กระบี่, ภูเก็ต, ปัตตานี, ยะลา, นราธิวาส และสตูล
.