มหา’ลัยในอุดมคติและชีวิตใต้ กม.ความมั่นคงชั่วนิรันดร์ ของ ‘ซูกริฟฟี ลาเตะ’ ประธาน PerMAS

 ภาพ Spring News

 

“การดำเนินคดีกับคนที่ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมกรณีวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกอุ้มหายในพนมเปญเมืองหลวงของประเทศกัมพูชา เป็นการตอกย้ำอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปไตย เพราะหลักการประชาธิปไตยที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การมีเสรีภาพ  รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยหากไร้ซึ่งการให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออก รัฐบาลนั้นไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปไตย”

คำกล่าวข้างต้นเป็นของของ ซูกริฟฟี ลาเตะ หรือ ‘ลี’ ประธานกลุ่มเปอร์มัส (PerMAS: Persekutuan Mahasiswa Anak Muda dan Siswa Patani) ซึ่งมีความหมายในภาษามลายูว่า ‘สหพันธ์นิสิต นักศึกษา นักเรียนและเยาวชนปาตานี’ เปอร์มัสมีองค์กรภาคีทั้งในและต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซูดาน อียิปต์ ฯลฯ สำหรับในประเทศไทยเปอร์มัสเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองบนหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนโดยมีเป้าหมายว่าสันติภาพที่แท้จริงต้องยึดโยงกับประชาชน และมุ่งมั่นช่วยเหลือครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ซูกริฟฟีเป็นคนจังหวัดปัตตานีโดยกำเนิดจึงคุ้นเคยกับกฎหมายความมั่นคงต่างๆ ทั้งกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548  (‘พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ’) ​เป็นอย่างดี เขาเล่าว่าก่อนปี 2547 สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส หรือ ‘ปาตานี’ ในความทรงจำของเขามีความสงบมากกกว่านี้ ไม่มีทหารถือปืนในพื้นที่ ไม่มีทหารเข้าไปสอนหนังสือในโรงเรียน การเจอทหารตามงานบางครั้งคราวทำให้ซูกริฟฟีรู้สึกตื่นเต้น และที่สำคัญคือทำให้เขาไม่รู้สึกวิตกกังวลเรื่องความปลอดภัย แต่หลังจากปี 2547 เมื่อมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในสามจังหวัดภาคใต้ทุกอย่างเปลี่ยนไปสิ้นเชิง

“มีทหารลาดตระเวนและถือปืนให้เห็นอยู่ทั่วไปรวมถึงในโรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ บางครั้งเขามาเปิดงานกีฬาสี บางทีเข้าไปสอนในโรงเรียน ทหารเข้ามาแทรกแซงและมีบทบาทแทบทุกเรื่องราวกับเป็นเรื่องปกติ ทุกวันนี้แม้แต่ยาเสพติดก็เป็นเรื่องของทหาร ทั้งที่ก่อนหน้านี้คือหน้าที่ของตำรวจ หลายอย่างทหารเข้ามามีบทบาททั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของเขา” ประธานเปอร์มัสเผยถึงชีวิตในวัยเด็ก

 

มหาวิทยาลัยในอุดมคติ

ซูกริฟฟีกล่าวว่าช่วงมัธยมปลายเขาเรียนทั้งโรงเรียนสามัญและโรงเรียนสอนศาสนา ดังนั้นจึงพบกฎเกณฑ์มากมายหลายรูปแบบ เขาจินตนาการไว้ว่าชีวิตในมหาวิทยาลัยของเขาจะมีอิสระเสรีในการพูด คิด วิพากษ์วิจารณ์แสดงออกมากขึ้น แต่หลังจากเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งตรงกับช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 เขากลับพบว่าการแสดงออกทางการเมืองยิ่งถูกปิดกั้นมากกว่าเดิม โดยเฉพาะเมื่อเขาคิดจะจัดเวทีวิชาการหรืองานเสวนาเกี่ยวกับการเมืองและสันติภาพในปาตานีในนามของกลุ่มเปอร์มัส

“ทั้งที่เราทำตามระเบียบของมหาวิทยาลัยทุกอย่าง แต่หลายครั้งเราต้องย้ายสถานที่จัดงานไปตามหอศิลป์หรือร้านกาแฟแทน ถึงอย่างนั้นเจ้าหน้าที่ยังตามไปขอถ่ายรูปบัตรประชาชนคนที่ให้พื้นที่เราจัดงานอยู่ ถ้าเปอร์มัสเป็นเจ้าภาพจัดงานกระทั่งขอใช้ตึกกิจกรรมนักศึกษายังต้องทำเรื่องขออนุญาต ขณะกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่เปอร์มัสจัดกิจกรรมได้ตามปกติโดยไม่ถูกปิดกั้นใดๆ แต่บางกิจกรรมเรายังจัดได้อยู่เพราะเรายืนยันจะจัด”

นอกจากการถูกปิดกั้นการจัดเวทีวิชาการและการแสดงออกทางการเมืองแล้ว ประธานเปอร์มัสยังเผยอีกว่า ตนเองและสมาชิกกลุ่มยังถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ด้วยการไปหาสมาชิกครอบครัวหลังออกมาทำกิจกรรมโดยอ้างว่า “มาเยี่ยม มาถามข่าวคราว” โดยไม่คุยกับเจ้าตัวโดยตรง กระทั่งสมาชิกเปอร์มัสที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ออกมาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง เช่น เข้าร่วมชุมนุมกับพรรคอนาคตใหม่ที่สกายวอล์คยังมีเจ้าหน้าที่ทหารไปหาพ่อแม่ที่บ้านในต่างจังหวัด รวมถึงถูกคุกคามเวลาจัดค่ายอาสาในชุมชนอีกด้วย โดยมีเจ้าหน้าที่ขับรถเข้าไปพูดคุยกับทีมผู้จัดทุกวัน จนทำให้คนจัดค่ายเกิดความไม่สบายใจ

ประธานเปอร์มัสให้ความเห็นต่อปรากฎการณ์เหล่านี้ว่า “สิ่งเหล่านั้นคือการสร้างความกดดันให้ครอบครัวของสมาชิกเพื่อให้หยุดเคลื่อนไหว โดยเจ้าหน้าที่มักบอกกับครอบครัวเราและเพื่อนสมาชิกว่า “อย่าให้ลูกไปเคลื่อนไหวมากนักมันอันตราย” บางคนถูกขู่ว่า “ให้เลิกเคลื่อนไหว ถ้าไม่เลิกจะมาหาอีก” และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนประธานกลุ่มเปอร์มัสจะมีเจ้าหน้าที่มาหาประธานคนใหม่ทุกครั้ง ทุกการมาเยี่ยมของเจ้าหน้าที่มักถือปืนมาด้วยเสมอ

 

ความคิด ความหวัง และเสรีภาพที่ถูกพรากไป

ในช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 ประชาชนหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการเลือกตั้ง เนื่องจากจะได้มีการตรวจสอบอำนาจรัฐในระบบรัฐสภา และหวังว่าสถานการณ์หลายอย่างอาจดีขึ้นกว่าช่วง 5 ปีหลังรัฐประหาร รวมถึงกลุ่มเปอร์มัส แต่ความเป็นจริงกลับดูสวนทางกับสิ่งที่พวกเขาคาดหวัง

ประธานเปอร์มัสพูดถึงมุมมองความคิดและความคาดหวังหลังเลือกตั้งว่า ในช่วงหลังรัฐประหารเขามีความหวังว่าถ้ามีการเลือกตั้งแล้วสถานการณ์จะดีขึ้น แต่กลับไม่มีอะไรดีขึ้นนัก เพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้มาแบบประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น พวกเขาคือรัฐบาลสืบทอดอำนาจจาก คสช. ดังนั้นจึงไม่แปลกที่รัฐบาลไม่ยอมรับการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือการตรวจสอบจากประชาชน

“การสืบทอดอำนาจดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลชุดนี้มีความคุ้นชินกับการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ และตลอดระยะเวลา 4 ปี ชีวิตในมหาวิทยาลัยของผมในยุค คสช. โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันโอชา เป็นหัวหน้า คสช. และเป็นนายกรัฐมนตรีสืบเนื่องกันนั้น ทำให้ผมสูญเสียเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็น สิ่งเหล่านี้ถูกพรากไปจากเรา การแสดงออกทางการเมืองถูกทำให้กลายเป็นอาชญากรจากรัฐ กลายเป็นการสร้างความแตกแยก ทั้งที่เป็นสิ่งที่ประชาชนทำได้ในสังคมประชาธิปไตย

ซูกริฟฟีแสดงความเห็นต่อว่ายิ่งสถานการณ์ปัจจุบันมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยเหตุผลเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ถ้ามองในมุมของนักศึกษา กฎหมายพิเศษดังกล่าวกระทบสิทธิการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนและนักศึกษา เพื่อไม่ให้ออกมาชุมนุมเรียกร้องหรือแสดงพลัง รวมถึงกระทบเรื่องการศึกษาเพราะทำให้นักเรียน-นักศึกษา ตั้งแต่ระดับประถมถึงระดับมหาวิทยาลัยต้องเรียนออนไลน์แทนการเรียนปกติ สร้างความยากลำบากเพราะทุกคนไม่สามารถเข้าถึงการเรียนแบบออนไลน์ได้ เนื่องจากมีปัญหาการเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตสำหรับบางคนและบางพื้นที่ รวมถึงสร้างภาระให้ครอบครัวมากขึ้น บางครอบครัวต้องขายของในบ้านเพื่อติดตั้งอินเตอร์เน็ตให้ลูก ต้องหาเงินมาซื้อไอแพด หรือสมาร์ทโฟนเพื่อให้ลูกได้เรียนออนไลน์ เป็นต้น ทั้งหมดเกิดขึ้นในสภาวะที่ทำมาหากินยากลำบาก การเงินฝืดเคือง

 

บทเรียนจากปาตานี กฎหมายความมั่นคงแก้ไขปัญหาได้จริงหรือ?

ประธานเปอร์มัสถอดบทเรียนจากการประกาศใช้กฎอัยการศึกยาวนานกว่า 16 ปี ในปาตานีว่า “ต้องอธิบายปรากฏการณ์เป็นสองส่วน ส่วนแรกคือ รัฐใช้กฎอัยการศึกเพื่อปราบปรามคนใช้ความรุนแรงต่อรัฐ ขณะเดียวกันรัฐปฏิเสธว่าพื้นที่สามจังหวัดไม่ใช่พื้นที่สงคราม แต่วิธีคิดและวิธีปฏิบัติของรัฐที่มีต่อประชาชนในสามจังหวัดคือรัฐมองว่าคือสงคราม การให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับ กอ.รมน. สะท้อนว่ารัฐมองปาตานีเป็นศัตรูและเป็นเป็นกลุ่มติดอาวุธ เนื่องจากยังมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกอยู่ แม้แต่การเชิญตัวเข้าค่ายทหารยังลงเอยด้วยการเกิดการเสียชีวิตในค่ายทหาร การใช้กฎอัยการศึกจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐใช้เพื่อควบคุมไม่ให้คนพูดหรือแสดงออกต่างจากรัฐ

“ไม่ว่าใครออกมาพูดประเด็นทางการเมืองหรือพูดเรื่องสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเองในปาตานี พวกเขาจะถูกรัฐมองแบบเหมารวมว่าเป็น “ขบวนการ” สะท้อนให้เห็นว่ารัฐไม่ได้ก้าวข้ามเรื่องการต่อสู้เรื่องเอกราช และในขณะรัฐบอกว่าต้องการแก้ไขปัญหา แต่การกระทำกลับดูย้อนแย้ง ดังนั้นตลอดระยะเวลา 16 ปี ชัดเจนว่ากฎอัยการศึกแก้ไขปัญหาไม่ได้ และไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นเลย” ประธานเปอร์มัสกล่าว

ส่วนที่สอง การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในปัจจุบันโดยรัฐอ้างว่าเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 นั้น ประธานเปอร์มัสเห็นว่าเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อควบคุมคนเห็นต่างทางการเมือง ทั้งที่รัฐมี พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เป็นเครื่องมือที่จะช่วยควบคุมสถานการณ์โควิด-19 อยู่แล้ว อีกทั้งปัจจุบันการติดเชื้อไวรัสลดลง ประชาชนและแพทย์รับมือกับปัญหาได้ดีขึ้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไว้ รัฐควรยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ในทางกลับกัน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กลับถูกใช้เป็นเครื่องมือดำเนินคดีคนเรียกร้องขอความเป็นธรรมกรณีวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกอุ้มหายในประเทศกัมพูชา เป็นการตอกย้ำอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปไตย เพราะหลักการประชาธิปไตยที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การมีเสรีภาพ  รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยหากไร้ซึ่งการให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออก รัฐบาลนั้นไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปไตย

“ปาตานีมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกมา 16 ปี จนเจ้าหน้าที่รู้สึกว่าการใช้กฎหมายความมั่นคงเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ปัจจุบันนี้ยังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เข้ามาอีก ยิ่งตอกย้ำว่าสถานการณ์ไม่ต่างจากช่วงรัฐประหารเลย พวกเราตกเป็นเหยื่อของ IO มาตลอด แม้ว่าจะมีการเปิดโปงว่า IO ถูกควบคุมภายใต้การดูแลของ กอ.รมน. แต่เรายังโดนกระทำเหมือนเดิมอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการถูกคุกคามหลังออกมาเคลื่อนไหวและการถูกปิดกั้นเวทีวิชาการยังคงมีอยู่เช่นเดิมไม่ว่าจะก่อนหรือหลังเลือกตั้ง กอ.รมน. และเจ้าหน้าที่หน่วยอื่นๆ ไม่ได้ปรับวิธีคิดหรือมุมมองเหมือนที่พูดในสภาฯ ตอนนี้เมื่อเรามองสถานการณ์ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของที่อื่นๆ ในประเทศไทย เราเหมือนมองเห็นตัวเองในกระจก” ซูกริฟฟีเทียบเคียงสถานการณ์ของปาตานีกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของหลายพื้นที่ในปัจจุบัน

จากบทเรียนที่ผ่านมาประธานกลุ่มเปอร์มัสมีความเห็นว่า รัฐไม่ควรใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไม่ควรใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมืองควบคุมหรือดำเนินคดีคนที่เห็นต่าง ไม่ควรเรียกใครเข้าค่ายทหาร และหากรัฐอยากแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ประชาชนแสดงเจตจำนง ถกเถียงประเด็นทางการเมืองหรือประเด็นอื่นๆ ได้ โดยไม่ถูกปิดกั้นหรือไม่รู้สึกกังวลว่าจะถูกอุ้มเข้าค่ายทหารเมื่อไหร่หากแสดงความคิดเห็น

“ผมคิดว่าสิ่งนี้จะเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหา แต่ในขณะรัฐบอกว่าอยากแก้ปัญหากลับมีการใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น มีการจับกุมโดยวิธีเหวี่ยงแห มีการตรวจ DNA ที่พบบ่อยมากกับประชาชนในพื้นที่ปาตานี ซึ่งการกระทำเหล่านั้นมีแต่เพิ่มไฟแห่งความขัดแย้ง แทบไม่มีทางเห็นสันติภาพในบรรยากาศใต้อำนาจรัฐทหาร รวมถึงการที่รัฐอ้างว่าใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อจัดการโควิด ไม่ได้ทำให้การแก้ไขปัญหาโควิดดีขึ้น แต่ทำให้คนที่ทำมาหากินในช่วงเวลานั้นมีปัญหาและได้รับผลกระทบจำนวนมาก อีกทั้งการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังไปจำกัดสิทธิคนอื่น ทำให้อยู่ในภาวะต้องยอมจำนนเพื่อแลกกับชีวิต เพื่อจัดการโควิดให้หายไป กลายเป็นว่าในสภาวะแบบนี้ประชาชนต้องอดทนมาก ต้องเสียสละมาก ในทางกลับกันเราไม่เห็นการแก้ไขปัญหาของรัฐอย่างเป็นระบบ รัฐจะยัดไส้กฎหมายความมั่นคงโดยอ้างว่ากฎหมายความมั่นคงใช้แก้ไขปัญหาทุกเรื่องไม่ได้” ประธานกลุ่มเปอร์มัสทิ้งท้าย

#ฉันเติบโตในยุคคสช.

 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่ : โควิด-19’ กับสิทธิที่หายไป: สำรวจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประเด็นการละเมิดสิทธิ และหนทางออกจากวิกฤตโรคระบาด

 

 

 

X