ในวันที่ 7 มิ.ย. 2565 ศาลจังหวัดลำพูนนัดฟังคำพิพากษาในคดีจากการชุมนุม “คนลำพูนก็จะไม่ทนโว้ย” ที่บริเวณอนุสาวรีย์ลานเจ้าแม่จามเทวี เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563 ซึ่งมี ธนวัฒน์ วงค์ไชย หรือ “บอล” นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นจำเลยที่ 1 และ ธนาธร วิทยเบญจางค์ หรือ “ฮ่องเต้” รองนายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และแกนนำกลุ่มพรรควิฬาร์ เป็นจำเลยที่ 2
สำหรับคดีนี้จำเลยทั้งสองถูกกล่าวหาว่า ได้ร่วมกันชุมนุม มั่วสุม ชักชวนนักเรียน นักศึกษามาเข้าร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา และให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ พร้อมทั้งชูสามนิ้ว อันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์เจ้าแม่จามเทวี ซึ่งเป็นแหล่งชุมชนและสถานที่แออัด เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, คำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดลำพูนที่ 5/2563 และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ
หลังจากจำเลยทั้งสองรับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหามาตั้งแต่ต้น โดยยืนยันว่าการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่ความผิดตามกฎหมาย
คดีนี้มีกำหนดสืบพยานเมื่อวันที่ 22-23 ก.พ. 2565 แต่มีการเลื่อนการสืบพยานในวันที่ 23 ก.พ. 2565 ออกไป เนื่องจากพยานปากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดลำพูนที่ฝ่ายโจทก์จะนำขึ้นเบิกความติดกักตัวเนื่องจากใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด จากนั้นจึงมีการสืบพยานทั้งโจทก์และจำเลยต่อจนเสร็จสิ้นในวันที่ 22-23 มี.ค. 2565 คดีใช้เวลาจวนครบสองปีก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา
ประเด็นการต่อสู้ของฝ่ายจำเลย ได้แก่ การชุมนุมเกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่กว้าง โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค ไม่มีพฤติการณ์ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง จำเลยทั้งสองเป็นเพียงผู้มาร่วมกิจกรรมการชุมนุม ไม่ใช่ผู้จัด ผู้ชุมนุมมีการสวมใส่หน้ากากอนามัย และไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดจากกิจกรรมดังกล่าว ทั้งในการชุมนุมได้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ามาตั้งจุดคัดกรองดูแลตามมาตรการป้องกันโรคแล้ว
สำหรับฝ่ายอัยการโจทก์นำพยานเข้าสืบทั้งหมด 4 ปาก ได้แก่ 1. พ.ต.อ.ดนัย ใจกล่ำ กองกำกับการสืบสวนภูธรจังหวัดลำพูน 2. ร.ต.อ.ศตวรรษ มาใจวงศ์ รองสารวัตรสืบสวน สภ.เมืองลำพูน 3. บุญทิน จิตร์สบาย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดลำพูน และ 4. พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ โกมลสวรรค์ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองลำพูน
ส่วนจำเลยนำพยานเข้าสืบทั้งหมด 4 ปาก ได้แก่ จำเลยทั้งสอง, เจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
.
.
ตำรวจรับชุมนุมมี จนท.สาธารณสุข มาตั้งจุดตรวจคัดกรอง-แจกเจลฯ-ผู้เข้าร่วมสวมหน้ากาก
พ.ต.อ.ดนัย ใจกล่ำ และ ร.ต.อ.ศตวรรษ มาใจวงศ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่ชุมนุม เบิกความสอดคล้องกันว่า ได้ติดตามสืบสวนความเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มนักศึกษา และได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้สืบสวนติดตามการชุมนุมในวันที่ 24 ก.ค. 2563 พบว่าเฟซบุ๊คของธนวัฒน์ วงค์ไชย ได้โพสต์ชวนให้นักศึกษาและประชาชนมาร่วมทำกิจกรรมในหัวข้อ “คนลำพูนจะไม่ทนโว้ย” นัดหมายที่ลานเจ้าแม่จามเทวี
ในการชุมนุมบริเวณดังกล่าว ได้มีการเตรียมกำลังตำรวจ 30 นาย ชุดควบคุมฝูงชน 60 นาย เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 30 นาย เข้าไปในพื้นที่ชุมนุมเพื่อจัดเก็บหลักฐาน ถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว มีการเตรียมรับมือวางแผงเหล็กกั้น โดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบในที่ชุมนุมสามารถจำแนกออกจากผู้ชุมนุมได้ เนื่องจากจะตัดผมเกรียนทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองร่วมด้วย
ตำรวจที่เข้าสังเกตการณ์พบกับธนวัฒน์ ซึ่งเข้ามาถ่ายวิดีโอในกิจกรรม และต่อมาธนาธร วิทยเบญจางค์ ได้เดินทางมาโดยลากเครื่องเสียงแบบพกพาเข้ามาที่ด้านหน้าลานฯ และเริ่มกล่าวปราศรัยเป็นคนแรก ก่อนมีคนทยอยมาเพิ่มเรื่อยๆ จนกระทั่งเกินกว่า 100 คน โดยผู้ชุมนุมมีทั้งยืนและเดินหมุนเวียนไปมา ได้มีการสลับกันปราศรัยกับผู้ร่วมชุมนุม จนกระทั่งเวลา 18.00 น. ก็ได้มีการยืนชู 3 นิ้ว ร่วมร้องเพลงและยุติการชุมนุม ลักษณะคำกล่าวปราศรัยเป็นการโจมตีการทำงานของรัฐบาล เรียกร้องให้ยุบสภา คืนอำนาจให้กับประชาชน
เจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความตรงกันว่า บริเวณด้านหน้าพื้นที่กิจกรรมมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาตรวจวัดไข้ แจกเจลแอลกอฮอล์ คัดกรองผู้เข้าร่วม ผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนมากสวมหน้ากากอนามัย แต่ลานเจ้าแม่จามเทวีมีทางเข้าหลายทาง อีกทั้งบริเวณลานฯ ยังใกล้ตลาดโซนด้านนอกตลาดโต้รุ่งซึ่งเริ่มมีคนทยอยมาขายสินค้า ช่วงที่มีการชุมนุมเป็นเวลาการเปิดตลาด ทำให้มีประชาชนเดินผ่านไปมา การชุมนุมอาจมีการใกล้ชิดติดกัน
พ.ต.อ.ดนัย เบิกความว่า จากการสังเกตการณ์ชุมนุมดังกล่าว ไม่ทราบว่าใครจัดทำกำหนดการในการชุมนุม ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ดูแลงานชุมนุม ไม่ทราบว่าเครื่องขยายเสียงเป็นของผู้ใด และก็ไม่ทราบว่าธนาธร จะมีหน้าที่อะไรในการชุมนุมดังกล่าว ทราบเพียงว่าธนาธรเป็นผู้เริ่มปราศรัยและประกาศเลิกการชุมนุม
.
.
พื้นที่ชุมนุมเป็นที่อากาศถ่ายเทสะดวก ไม่แออัด ไม่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ไม่มีผู้ติดเชื้อ
พ.ต.อ.ดนัย ใจกล่ำ ยังเบิกความรับว่า พื้นที่จัดกิจกรรมบริเวณลานเจ้าแม่จามเทวี มีพื้นที่ประมาณ 3 ไร่ เฉพาะลานโล่งๆ มีพื้นที่ประมาณ 2 งาน ตามภาพจากการสืบสวนในวันชุมนุม ผู้เข้าร่วมไม่ได้แน่นหนาขนาดขยับตัวไม่ได้ ไม่ได้มีคนอยู่หนาแน่นเต็มพื้นที่ลานอนุสาวรีย์ฯ ยังสามารถเคลื่อนไหว เดินไปเดินมาได้
พ.ต.อ.ดนัย เบิกความรับว่าก่อนวันงานกิจกรรม #คนลำพูนก็จะไม่ทนโว้ย หลังมีการตั้งคณะกรรมการตำรวจ ได้มีการประสานงานให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปคัดกรองโรคในกิจกรรม โดยในวันชุมนุมก็ได้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตรวจวัดอุณหภูมิ ฉีดพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ และบริเวณสถานที่ชุมนุมยังมีลักษณะเป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทได้ ในที่ชุมนุมยังมีทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาดูแลปะปนกัน โดยผู้ชุมนุมและผู้ปราศรัยก็ยืนห่างกัน
ต่อมา ร.ต.อ.ศตวรรษ มาใจวงศ์ ยังเบิกความถึงพื้นที่เกิดเหตุว่า พื้นที่จัดกิจกรรมดังกล่าวมีทางเข้างาน 3 ทาง ด้านหน้า ด้านซ้ายและด้านขวา โดยปกติคนจะเดินเข้าทางด้านหน้าซึ่งมีจุดคัดกรองอยู่ จุดที่ชุมนุมปราศรัยมีระยะห่างจากตลาดอยู่ประมาณ 100 เมตร ระหว่างลานเจ้าแม่จามเทวีกับตลาดยังมีกำแพงกั้นอยู่
ด้าน นางบุญทิน จิตร์สบาย หัวหน้าส่วนงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำพูน ได้เบิกความว่าในช่วงที่มีการชุมนุม มีโรคติดเชื้อโควิด 2019 ในประเทศ แต่สถานการณ์ลำพูนไม่มีผู้ติดเชื้อมาเป็นเวลา 60 วันก่อนมีการชุมนุม โดยในจังหวัดลำพูนพบผู้ติดเชื้อรายแรกวันที่ 28 มี.ค. 2563 และพบรายสุดท้าย 26 มิ.ย. 2563 รวม 4 รายซึ่งรักษาหายแล้ว
เหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ไม่มีผู้ใดขออนุญาตไปยังหน่วยงานสาธารณสุขให้ไปตรวจคัดกรองโรค แต่ตนทราบจากทางอินเทอร์เน็ตว่ามีการชุมนุมดังกล่าวก็หลังจากการชุมนุมยุติไปแล้ว ก่อนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำพูนแจ้งให้พยานไปให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจ
สำหรับการรวมกลุ่มในช่วงป้องกันโรค จะมีมาตรการทั่วไป ซึ่งจะต้องคัดกรองผู้มาเข้าร่วมกิจกรรม โดยจะมีการใช้เจลแอลกอฮอล์ สวมใส่หน้ากากอนามัย และลงทะเบียนเพื่อเข้าชุมนุม ส่วนในการชุมนุม #คนลำพูนก็จะไม่ทนโว้ย นั้นพยานไม่ทราบว่ามีการคัดกรองหรือไม่ และไม่ทราบเรื่องที่ว่านายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำพูนได้ไปร่วมประชุมคณะกรรมการดูแลการชุมนุมดังกล่าว และมีการสั่งให้ตั้งจุดคัดกรองด้วย
พยานปากนี้ยังรับว่า มาตรการที่ใช้ควบคุมโรคโควิดจะต้องใช้บังคับตามความหนักเบาของสถานการณ์โรคติดต่อ โดยในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่ได้มีการสั่งปิดตลาดแต่อย่างใด แต่แม้ไม่พบผู้ติดเชื้อ แต่มาตรการจะต้องเข้มข้น เนื่องจากจังหวัดลำพูนเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และเป็นพื้นที่รอยต่อจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีผู้ติดเชื้ออยู่
.
.
ตำรวจรับติดตามนักเรียนผู้โพสต์จัดกิจกรรม ถึงโรงเรียนและบ้าน จนต้องประกาศยกเลิก
ในด้านพฤติการณ์ที่เกี่ยวกับจำเลยทั้งสอง พ.ต.อ.ดนัย ใจกล่ำ ยังเบิกความรับว่า ก่อนจะพบธนวัฒน์โพสต์เชิญชวน ได้พบเห็นโพสต์ในเฟซบุ๊กของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ในสถานศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดลำพูน เชิญชวนให้เข้าร่วมชุมนุมวันที่ 19 ก.ค. 2563 อันเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการตำรวจ ก่อนคณะกรรมการตำรวจมีมติให้ไปพบนักเรียนคนดังกล่าว เพื่อให้เลิกโพสต์เชิญชวนการชุมนุม
พ.ต.อ.ดนัยเบิกความว่า ได้มีการมอบหมายเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ติดตามสืบสวนนักเรียนคนดังกล่าว และติดตามถึงในโรงเรียนที่ศึกษาอยู่ แต่หาตัวไม่พบ จึงไปตามหาที่บ้านต่อ และมีการเจรจากับผู้ปกครองให้เลิกกิจกรรม โดยโพสต์ของนักเรียนรายดังกล่าว จากการสืบสวนไม่เกี่ยวข้องกับจำเลยทั้ง 2 คน แต่อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.เกรียงศักดิ์ โกมลสวรรค์ ไม่ได้เรียกสอบสวนนักเรียนคนดังกล่าวเป็นพยานแต่อย่างใด
ต่อมา ธนวัฒน์ ยังได้ขึ้นเบิกความสอดคล้องกันว่าเหตุที่ตนไปร่วมกิจกรรมดังกล่าว เพราะพบเห็นโพสต์ของนักเรียนในเฟซบุ๊ก หลังจากนั้นมีข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ว่านักเรียนกลุ่มดังกล่าวถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุกคาม
นอกจากนี้ ร.ต.อ.ศตวรรษ มาใจวงศ์ ยังเบิกความว่ามีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามเพจพรรควิฬาร์และเฟซบุ๊กของธนวัฒน์ วงค์ไชย และให้ดูการชุมนุมกว้างๆ แต่ถ้ามีคนไหนทำอะไรเด่นๆ ก็จะต้องรายงานผู้บังคับบัญชาด้วย
.
เป็นการชุมนุมโดยสงบเรียบร้อย ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ
ในส่วนของเนื้อหาการชุมนุม พ.ต.อ.ดนัย และ ร.ต.อ.ศตวรรษ เบิกความสอดคล้องกันว่า การปราศรัยไม่มีเนื้อหาเหตุการณ์ที่ยุยงผู้ชุมนุมให้ไปทำผิดกฎหมาย ไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยหรือเหตุวุ่นวายใดๆ ไม่พบว่ามีผู้พกพาอาวุธมาในที่ชุมนุม และผู้ชุมนุมไม่ได้ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
หลังจากจบการชุมนุมดังกล่าว รัฐบาลก็ยังสามารถบริหารงานต่อไปได้ ในส่วนของเจ้าหน้าที่ ก็ไม่มีการประกาศให้ยุติการชุมนุมหรือประกาศว่าการชุมนุมดังกล่าว เป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย
.
.
จำเลยทั้งสองระบุไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม เพียงแต่ร่วมปราศรัย-ถ่ายวิดีโอเท่านั้น
ธนวัฒน์ วงค์ไชย ปัจจุบันเป็นนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นเบิกความว่าได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองและความเคลื่อนไหวของการชุมนุมที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในโลกออนไลน์ โดยเกี่ยวกับคดีนี้ ช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 มีการชุมนุมใหญ่ของประชาชน นิสิตนักศึกษาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และกระจายออกไปตามพื้นที่จังหวัดต่างๆ โดยพบเห็นสื่อประชาสัมพันธ์ในเฟซบุ๊กว่าจะมีการชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่ลำพูนด้วย จึงบันทึกรูปดังกล่าวมาโพสต์ ไม่ได้เป็นคนทำสื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวนเอง
เหตุที่นำภาพดังกล่าวมาโพสต์ เนื่องจากเฟซบุ๊กของพยานมีผู้ติดตามจำนวนมาก และช่วงเวลานั้นมีการปล่อยข่าวว่าการชุมนุมจะยกเลิกเพราะมีนักเรียนถูกคุกคาม จึงต้องการประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปทราบว่างานยังไม่ยกเลิก นอกจากนี้ยังต้องการโพสต์ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่าตนไปชุมนุมด้วย ให้ตำรวจตระหนักว่าอย่าใช้อำนาจนอกกฎหมายกับประชาชน โดยจะมีผู้ถ่ายทอดความจริงและสังเกตการณ์การชุมนุมด้วย
ด้านธนาธร วิทยเบญจางค์ เบิกความว่าตนสนใจเรื่องการเมืองมาตั้งแต่มัธยมปลาย โดยเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และสวัสดิการการศึกษา หลังจากไปเรียนที่ต่างประเทศกลับมา รู้สึกว่าประเทศไทยมีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พยานจึงเข้าไปร่วมชุมนุมครั้งต่างๆ เพื่อเรียกร้อง โดยไม่ได้เป็นผู้เตรียมเครื่องเสียงเข้ามาในงานชุมนุมตามข้อกล่าวหา
ทั้งธนวัฒน์และธนาธรเบิกความว่า ในวันชุมนุมดังกล่าว ผู้ชุมนุมหลายคนมีการปราศรัยตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1. หยุดคุกคามประชาชน, 2. ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3. ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ทั้งการชุมนุมก็เป็นไปด้วยความสงบ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลความเรียบร้อย โดยไม่ได้มีการประกาศให้เลิกการชุมนุมหรือประกาศว่าการชุมนุมผิดกฎหมายแต่อย่างใด
ทั้งสองคนยังเบิกความยืนยันว่าในการชุมนุม ยังมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้ามาดูแลตั้งจุดตรวจคัดกรองโรค วัดไข้ และใช้เจลแอลกอฮอล์ โดยพบว่าผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ก็สวมใส่หน้ากากอนามัยทุกคน
.
ปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – ส่วนใหญ่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว
ส่วนพยานจำเลยปากเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เบิกความถึงการติดตามการใช้ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมทางการเมือง พบว่ามีคดีมากกว่า 600 คดี โดยคดีส่วนใหญ่ยังอยู่ในชั้นสอบสวนและอัยการ มีคดีส่วนน้อยที่อยู่ในชั้นพิจารณาของศาล แต่พบว่าโดยมีคดีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องไปแล้วจำนวน 7 ฉบับ และศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง 4 ฉบับ พร้อมได้ยื่นคำวินิจฉัยในคดีต่างๆ ประกอบการพิจารณาของศาลในคดีนี้
ด้านสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ส่งบันทึกคำเบิกความสรุปโดยย่อวในประเด็นเกี่ยวกับเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออก ว่าเป็นสิ่งที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญในมาตรา 44 นอกจากนี้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี ก็ได้รับรองเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นไว้อย่างกว้างขวาง เสรีภาพทั้งสองถือเป็นสาระสำคัญของความเป็นมนุษย์ที่ต้องการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น กล่าวโดยเฉพาะเสรีภาพในการชุมนุมนั้นเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยโดยเป็นเครื่องมือในการยับยั้ง ตักเตือน หรือแก้ไขข้อผิดพลาดในการตัดสินใจทางการเมือง ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะที่ไม่มีอำนาจ สามารถสร้างเสริมอำนาจต่อรองทางการเมืองได้
การใช้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพจะทำได้ภายใต้กรอบที่กฎหมายบัญญัติอนุญาตไว้เท่านั้น วัตถุประสงค์ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพจะต้องชอบด้วยกฎหมายและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และการจำกัดสิทธิและเสรีภาพจะทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นต่อการพิทักษ์สังคมประชาธิปไตย โดยจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังภายใต้หลักความได้สัดส่วน พอสมควรแก่เหตุ และการเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เมื่อประชาชนเห็นว่าการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งและประสบความล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง จนเป็นเหตุให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน และประชาชนยังคงได้ผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ประชาชนย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่ไร้ประสิทธิภาพและล้มเหลวดังกล่าวนั้น และย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือผู้รับผิดชอบเพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นหนทางเดียวภายใต้ระบบกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
เมื่อประชาชนมีความชอบธรรมในการใช้เสรีภาพในการชุมนุม แม้ว่าการชุมนุมจะฝ่าฝืนต่อข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ หากการชุมนุมยังคงเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ การชุมนุมดังกล่าวย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ รัฐย่อมมีหน้าที่ต้องเคารพเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออก ตลอดทั้งต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองได้
.