เมื่อวันที่ 27-28 ต.ค. 64 ที่ศาลแขวงดุสิต มีนัดสอบคำให้การ ประชาชนและนักกิจกรรมรวม 93 ราย ที่ถูกจับกุมในคดีฝ่าฝืนข้อกำหนด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนนำกำลังเข้าสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเช้ามืดและต่อมาช่วงเย็นของวันที่ 28 มีนาคม 2564
กรณีนี้ถูกแยกฟ้องเป็น 2 คดี คือกลุ่มที่ถูกจับกุมหน้าทำเนียบฯ ในช่วงเย็น รวม 32 คน และกลุ่มที่ถูกจับที่สะพานชมัยมรุเชฐ ช่วงเช้ามืด รวม 61 ราย
สำหรับ คดีจับกุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเย็น ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานและนัดพร้อมเพื่อกําหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 25 พ.ย. 64 เวลา 09.00 น.
ส่วน คดีจับกุมบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ในช่วงเช้ามืด ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานและนัดพร้อมเพื่อกําหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 1 ธ.ค. 64 เวลา 09.00 น.
ทั้งนี้ ในวันนัดของคดีกลุ่มที่ถูกสลายช่วงเช้ามืด มีจำเลย 1 ราย ได้ขอให้การรับสารภาพในชั้นศาล ศาลได้พิพากษาให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง รวมโทษปรับ 2,600 บาท และให้รอการลงโทษปรับไว้ มีกำหนด 1 ปี
.
คดีสลายทะลุฟ้า 32 รายช่วงเย็น ศาลนัดตรวจพยานฯ 25 พ.ย. นี้
27 ต.ค. 64 นัดสอบคำให้การจำเลย 32 ราย จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนนำกำลังเข้าสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 28 มีนาคม 2564
เวลา 09.30 น. ศาลนั่งบัลลังก์ นัดสอบคำให้การ ทนายจำเลย จำเลย 30 ราย มาศาล ส่วนจำเลย 2 ราย ไม่มาศาล ได้แก่ พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง สมาชิกกลุ่มศิลปะปลดแอก (FreeArts) ที่ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนพิจารณาคดี เนื่องจากได้เดินทางไปจัดแสดงผลงานศิลปะที่ประเทศโปรตุเกส
ส่วนจำเลยอีกรายที่ไม่สามารถศาลได้ คือ ปวริศ แย้มยิ่ง สมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า ที่ขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ด้านเจ้าหน้าที่ควบคุมเรือนจำพิเศษกรุงเทพได้ทำหนังสือชี้แจงต่อศาลว่า จำเลยต้องการเบิกตัวมาสอบคำให้การ แต่เนื่องจากอยู่ในระหว่างกักตัวตามมาตรการโควิด-2019 ทางเรือนจำจึงไม่สามารถนำตัวมาสอบคำให้การโดยระบบสื่อสารทางไกลผ่านจอภาพได้
อัยการโจทก์ไม่คัดค้านการเลื่อนคดี แต่ศาลเห็นว่าเนื่องจากจําเลยรายอื่นๆ ได้เดินทางมาศาลในวันนี้แล้ว เห็นควรให้เลื่อนการสอบคําให้การเฉพาะของปวริศ
ศาลได้อ่านและอธิบายคำฟ้องให้ฟัง จําเลยทั้งหมด 30 ราย ให้การปฏิเสธ อีกทั้งจําเลยที่มาศาลในวันนี้ได้ยื่นคําร้องขอให้พิจารณาคดีลับหลัง เนื่องจากเหตุคดีนี้มีจําเลยจํานวนมาก และโจทก์ไม่คัดค้าน
ศาลเห็นว่า คดีนี้มีอัตราโทษจําคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี รวมทั้งเห็นว่าจําเลยมีทนายความแล้ว จึงอนุญาตให้จําเลยไม่ต้องมาฟังการพิจารณาและการสืบพยานได้ ทั้งให้เลื่อนไปนัดสอบคําให้การปวริศ พร้อมนัดตรวจพยานหลักฐานและนัดพร้อมเพื่อกําหนดวันนัดสืบพยาน ในวันที่ 25 พ.ย. 64 เวลา 09.00 น.
.
คดีสลายทะลุฟ้า 61 รายช่วงเช้ามืด รับสารภาพ 1 ราย ศาลสั่งปรับ 2,600 บาท และรอลงอาญา 1 ปี พร้อมนัดสืบพยานที่เหลือ 9 ธ.ค. นี้
วันที่ 28 ต.ค. 64 นัดสอบคำให้การจำเลย 61 ราย ประชาชนและนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนนำกำลังเข้าสลาย “หมู่บ้านทะลุฟ้า” บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ เมื่อช่วงเช้ามืดของวันที่ 28 มีนาคม 2564
เวลา 09.30 น. ศาลนั่งบัลลังก์ มีจำเลยจำนวน 50 ราย มาศาล ส่วนจำเลย 11 ราย ไม่มาศาล
จำเลย 4 ราย ได้แก่ นวพล ต้นงาม, วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์, ปวริศ แย้มยิ่ง และ ทรงพล สนธิรักษ์ ขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เจ้าหน้าที่ควบคุมเรือนจำพิเศษกรุงเทพไม่สามารถเบิกตัวได้ เนื่องจากอยู่ในระหว่างกักตัวตามมาตรการป้องกันโควิด-2019
ส่วนจำเลย 6 ราย ทนายจำเลยไม่สามารถติดต่อได้ โดยพบว่า 3 ราย เป็นคนไร้บ้านที่ถูกจับกุมมาในวันเกิดเหตุด้วย ทำให้ไม่สามารถติดตามตัวได้
ขณะที่จำเลยที่ 10 เนื่องจากจำเลยเดินทางไปทำธุระทต่างจังหวัด และถูกกักตัวโควิด-19 ไม่สามารถมาศาลได้ จึงยื่นขอเลื่อนการพิจารณาออกไป
ศาลเห็นว่า เนื่องจากจําเลยรายอื่นเดินทางมาศาลในวันนี้แล้ว เห็นควรให้เลื่อนการสอบคําให้การเฉพาะของจําเลยที่ 10 ส่วนนายประกันจําเลยที่ไม่สามารถส่งตัวจําเลย 6 ราย ตามสัญญาประกัน ถือได้ว่าจําเลยมีพฤติการณ์หลบหนี ให้ออกหมายจับ และปรับนายประกันเต็มตามสัญญา เนื่องจากไม่แน่ชัดว่าจะจับจําเลยได้เมื่อใด จึงให้จําหน่ายคดีในส่วนของจําเลย 6 ราย ออกชั่วคราว
เมื่อศาลอ่านคำฟ้องให้ฟังแล้ว จําเลย 49 ราย ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ยกเว้นจำเลยที่ 9 ที่ให้การรับสารภาพ โจทก์ได้แถลงว่าพร้อมจะยื่นฟ้องเฉพาะจําเลยที่ 9 ซึ่งให้การรับสารภาพในวันนี้เข้ามาใหม่ ศาลจึงให้โจทก์ฟ้องคดีในส่วนของจําเลยที่ 9 เข้ามาใหม่ภายในวันนี้ ให้จําหน่ายคดีออกจากคดีนี้
อีกทั้งจําเลยที่มาศาลในวันนี้ได้ยื่นคําร้องขอให้พิจารณาคดีลับหลัง เนื่องจากเหตุคดีนี้มีจําเลยจํานวนมาก ศาลเห็นว่า คดีนี้มีอัตราโทษจําคุกอย่างสูงไม่เกิน 10 ปี รวมทั้งเห็นว่าจําเลยมีทนายความแล้ว จึงอนุญาตให้จําเลยไม่ต้องมาฟังการพิจารณาและการสืบพยานได้
ศาลให้เลื่อนไปนัดสอบคําให้การจําเลยที่ 10 นัดตรวจพยานหลักฐานและนัดพร้อมเพื่อกําหนดวันนัดสืบพยานต่อไป ในวันที่ 1 ธ.ค. 64 เวลา 09.00 น.
ต่อมาเวลา 13.30 น. ศาลมีคำพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 9 ว่า จำเลยมีความผิด 2 ข้อหาได้แก่
- ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศห้ามทำกิจกรรมร่วมกลุ่มกัน ที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด
- ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต
เมื่อจำเลยรับสารภาพจึงลดโทษกึ่งหนึ่ง รวมโทษปรับ 2,600 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว โทษปรับให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี
อนึ่ง สำหรับมูลเหตุในคดีนี้สืบเนื่องจาก การปักหลักชุมนุมพักแรมใกล้ทำเนียบรัฐบาลของกลุ่มทะลุฟ้า ด้วยชื่อ “หมู่บ้านทะลุฟ้า” ตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. 2564 เพื่อยืนยัน 4 ข้อเรียกร้อง ได้แก่ 1. ให้ปล่อยตัวแกนนำและแนวร่วม “ราษฎร” ที่ถูกจับกุมคุมขัง 2. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 4. ให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก
ก่อนวันที่ 28 มี.ค. 64 เวลาประมาณ 05.50 น. ขณะที่ผู้ชุมนุมยังคงพักผ่อนหลับนอน ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเข้าสลายหมู่บ้าน หลังเจ้าหน้าที่ประกาศให้ทั้งหมดเก็บของออกจากพื้นที่ใน 3 นาที เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ถูกจับกุมมากกว่า 67 ราย เป็นเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี 6 ราย พระสงฆ์ 2 รูป บางส่วนยังเป็นคนไร้บ้าน บางรายระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่เตะระหว่างการจับกุม ขณะที่ถูกนำตัวไปยังวัดเบญจบพิตร และบังคับให้ถอดจีวร
ต่อมาช่วงเย็นของวันเดียวกันนี้ประชาชนออกมารวมตัวกันที่บริเวณเดียวกันอีกครั้ง เพื่อประณามการสลายหมู่บ้านทะลุฟ้าในช่วงเช้า และเรียกร้องให้ปล่อยผู้ถูกควบคุมตัว กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศให้ยุติการชุมนุม และนำกำลังเข้าจับกุมผู้ชุมนุมอีก 32 ราย
.
ย้อนอ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
สรุปคดีหมู่บ้านทะลุฟ้า จับมากสุดเป็นสถิติ 99 คน แจ้ง 5 ข้อหา ก่อนได้ประกันตัวทั้งหมด
.