4 ก.ค. 2565 ศาลแขวงนครราชสีมา นัดฟังคำพิพากษาคดี ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีวัฒนะชัย สืบศิริบุษย์, จักรวุธ ไตรวัลลภ, นะโม สุขปราณี และภัทรกาญจน์ ทองแดง รวม 4 คน เป็นจำเลย ถูกฟ้องว่า ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 และคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา จากกิจกรรมคาร์ม็อบโคราช เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 กิจกรรมนี้จัดขึ้นพร้อมกันหลายจังหวัดทั่วประเทศ ที่นครราชสีมาเป็นการชุมนุมเรียกร้องวัคซีนที่มีคุณภาพและให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชน
คดีนี้สืบพยานเมื่อวันที่ 27-28 เม.ย. 2565 แต่ก่อนเริ่มสืบพยาน วัฒนะชัย, จักรวุธ และนะโม 3 ใน 4 จำเลย ตัดสินใจให้การรับสารภาพ ให้เหตุผลส่วนตัวว่าต้องการให้คดีจบโดยเร็ว
จึงเหลือเพียง ภัทรกาญจน์ จำเลยที่ 4 สมาชิกพรรคก้าวไกล นครราชสีมา ยังคงต่อสู้คดีโดยเชื่อแต่แรกว่าไม่ได้ทำอะไรผิด เป็นสิทธิของประชาชนที่จะออกมาชุมนุมทางการเมือง และคิดว่าหากสู้กันในชั้นศาลคงมีความยุติธรรมพอที่จะมองเห็นว่าการที่คนๆ หนึ่งออกมาเคลื่อนไหวก็เพียงเพราะอยากให้รัฐบาลแก้ไขสถานการณ์ปัญหาประเทศให้ดีขึ้น
.
.
จากการสืบพยานโจทก์ 2 วัน รวม 5 ปาก และฝ่ายจำเลยไม่ได้นำพยานเข้าสืบเลย นำมาสู่การนัดฟังคำพิพากษาคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกคดี ทั้งนี้ จากการชุมนุมในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เมื่อเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2564 มีประชาชนถูกดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวมกันถึง 5 คดี โดยก่อนหน้านี้คดีชุมนุมคาร์ม็อบโคราช 1 สิงหา และคดีชุมนุมประณามการทำรุนแรงของตำรวจ หน้าตำรวจภูธรภาค 3 ศาลแขวงนครราชสีมาพิพากษายกฟ้องไปแล้ว โดยคดีแรกศาลพิพากษาโดยยึดเจตนารมณ์ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ระบุว่า แม้ผู้ชุมนุมจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในวงกว้าง
.
พฤติการณ์เพียงถือป้ายไล่ประยุทธ์ อีก 3 จำเลยขึ้นปราศรัยโดยลดหน้ากากอนามัยลง
หลังการชุมนุมราวครึ่งเดือน และต่างได้รับหมายเรียก วัฒนะชัย, จักรวุธ, นะโม และภัทรกาญจน์ ไปพบพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2564 ครั้งนั้นพนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 14 ส.ค 2564 ตํารวจชุดสืบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา ตรวจสอบบัญชีเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ วัฒนะชัย สืบศิริบุษย์ โพสต์ว่า “15 สิงหา โคราชม็อบ & car park ไล่รัฐบาลประยุทธ์ออกไป พร้อมกันทั่วประเทศ” และพบว่าเฟซบุ๊กเพจ Korat No เผด็จการ โพสต์วันเวลานัดหมายและแผนที่การจัดกิจกรรมคาร์ม็อบโคราชเช่นกัน
กระทั่งวันที่ 15 ส.ค. 2564 เวลา 15.00 น. มีผู้ชุมนุมประมาณ 200 คน รวมกลุ่มกันที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เริ่มมีการจัดกิจกรรมโดยใช้รถเครื่องขยายเสียง ประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมกิจกรรม นะโม สุขปราณี แกนนํากลุ่มองค์กรปกป้องพระพุทธศาสนา ขึ้นปราศรัยหัวข้อเกี่ยวกับการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาล เรียกร้องให้ประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาล จักรวุธ ไตรวัลลภ ขึ้นปราศรัยถึงการบริหารของรัฐบาลที่ยังแก้ไขไม่ตรงจุด
หลังจากนั้นวัฒนะชัย แกนนำในการจัดกิจกรรมขึ้นปราศรัย เนื้อหาส่วนใหญ่โจมตีการทํางานของรัฐบาล และการจัดหาวัคซีนที่ไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน พร้อมทั้งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ภัทรกาญจน์ ทองแดง กลุ่มก้าวไกลนครราชสีมา ถือป้ายกระดาษ “มันจบแล้วรัฐบาลฆาตกร ประยุทธ์ ออกไป!”
หลังการปราศรัย ผู้ชุมนุมนำดอกไม้มามอบให้เจ้าหน้าที่ตํารวจที่มาปฏิบัติหน้าที่ จากนั้นผู้ร่วมกิจกรรมใช้พาหนะเป็นรถยนต์ประมาณ 60 คัน รถจักรยานยนต์ประมาณ 90 คัน ตั้งขบวนขับขี่รถเริ่มออกจากลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีเคลื่อนที่ไปในเมืองแล้วกลับมายังบริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ต่อมาเวลา 18.00 น. ผู้ร่วมกิจกรรมร่วมกันเคารพธงชาติ พร้อมชูสามนิ้ว ก่อนยุติกิจกรรม
ก่อนวันที่ 1 ต.ค. 2564 พนักงานอัยการคดีศาลแขวงนครราชสีมาจะมีคำสั่งฟ้องคดี และยื่นฟ้องต่อศาลแขวงนครราชสีมา โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันจัดกิจกรรมให้ประชาชนมาชุมนุมรวมกลุ่มมากกว่า 5 คน เพื่อวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และได้เข้าร่วมชุมนุมในพื้นที่ควบคุมสูงสุดของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ได้เข้มงวดในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย มีประชาชนบางคนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ไม่มีการเว้นระยะห่างเกิน 2 เมตร รวมทั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ขึ้นปราศรัยโดยลดหน้ากากอนามัยลง พร้อมทั้งมีระยะเวลาการร่วมชุมนุมฟังปราศรัยเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 และอาจทำให้เหตุการณ์การแพร่ระบาดร้ายแรงมากขึ้น
โดยทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล จำเลยทั้งสี่ต่างพร้อมใจให้การปฏิเสธ กระทั่งวันนัดสืบพยานที่ศาลแขวงนครราชสีมา เหลือภัทรกาญจน์ที่ตัดสินใจสู้คดี
.
ผู้กล่าวหารับเอง จำเลยไม่ได้จัดชุมนุม-ที่ชุมนุมโล่งกว้าง-ไม่มีข่าวคนติดโควิด
พยานโจทก์ 5 ปาก ที่อัยการโจทก์นำเข้าสืบประกอบด้วย พ.ต.ท.ไพฑูรย์ อ่อนคำ รองผู้กำกับการสืบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา ผู้กล่าวหา, นพ.ชาญชัย บุญอยู่ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา, จักรกฤษณ์ ศรีสุวรรณ นิติกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา, ธงชัย แสงประทุม พนักงานปกครองกลุ่มงานความมั่นคง จังหวัดนครราชสีมา และ พ.ต.ท.โกสินทร์ แจ่มทองหลาง พนักงานสอบสวนในคดีนี้ ซึ่งทั้งหมด ยกเว้นพนักงานสอบสวน เป็นพยานชุดเดียวกับพยานโจทก์ในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คดีอื่นของนครราชสีมา
พ.ต.ท.ไพฑูรย์ ผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่า ทราบจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่า จำเลยที่ 1 โพสต์เฟซบุ๊กชักชวนให้บุคคลอื่นเข้าร่วมคาร์ม็อบวันที่ 15 ส.ค. 2564 กระทั่งวันดังกล่าว พยานและชุดสืบสวนได้ลงพื้นที่หาข่าวบริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี พบผู้เข้าร่วมชุมนุมรวมตัวกันประมาณ 200 คน โดยไม่มีการตรวจคัดกรอง ไม่มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือให้บริการหรือการเว้นระยะห่าง
.
.
ตำรวจสืบสวนเบิกความต่อว่า พยานเห็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นผู้ขึ้นปราศรัย และเห็นภัทรกาญจน์ จำเลยที่ 4 ถือป้ายข้อความบอกจุดประสงค์ในการมาชุมนุมเดินไปเดินมา จากนั้นมีการเคลื่อนขบวนรถไปตามถนน บีบแตรและตะโกนไล่รัฐบาล โดยการรวมกลุ่มและเคลื่อนขบวนมีลักษณะกระจุกตัว ไม่เว้นระยะห่าง แม้ผู้ร่วมชุมนุมจะใส่หน้ากากอนามัย แต่มีการถอดเพื่อทานอาหารหรือน้ำบ้าง ทำให้มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิด-19
พ.ต.ท.ไพฑูรย์ เบิกความด้วยว่า จากประสบการณ์ทำงานสืบสวนที่ สภ.เมืองนครราชสีมา มา 2 ปี พบเห็นว่าจำเลยที่ 4 เข้าร่วมชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรม และเนื่องจากจำเลยที่ 4 มีการเตรียมตัวทำป้ายเพื่อมาถือในการชุมนุมครั้งนี้ ผู้บังคับบัญชาของพยานจึงเชื่อว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนร่วมกับการชุมนุมเป็นพิเศษมากกว่าบุคคลอื่นทั่วไป
อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ไพฑูรย์ ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า จำเลยที่ 4 เป็นเพียงผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม นอกจากนี้ พื้นที่ทำกิจกรรมเป็นพื้นที่โล่งกว้างอากาศถ่ายเทได้สะดวก ในการชุมนุมไม่มีการพูดจายั่วยุหรือปลุกปั่นให้ก่อความไม่สงบ ไม่มีบุคคลใดพกพาอาวุธ และพยานไม่ทราบว่าข่าวว่ามีบุคคลใดติดเชื้อโควิด -19 จากการชุมนุมดังกล่าวหรือไม่ ในส่วนของเพจ Korat No เผด็จการ ที่โพสต์นัดหมายการชุมนุม พยานก็ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 4 มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ และนอกจากจำเลยที่ 4 พยานหลักฐานของโจทก์ยังปรากฏผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นถือป้ายในการชุมนุม รวมถึงมีการติดป้ายข้อความที่รถด้วย
.
คกก.โรคติดต่อจังหวัด อ้างจำเลยไม่ได้ขออนุญาตชุมนุม แต่หากเป็นผู้เข้าร่วมก็ไม่ต้องขอ
ด้าน นพ.ชาญชัย หนึ่งในคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา มาเบิกความว่า คณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่ตรวจสอบตามที่ ศบค.ออกข้อกำหนด โดยในช่วงที่เกิดเหตุมีการออกข้อกำหนดห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มมากกว่า 5 คน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยจังหวัดนครราชสีมาเป็นหนึ่งในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หากมีการจัดต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แต่ไม่พบว่าจำเลยทั้งสี่ได้ยื่นขออนุญาตจัดกิจกรรม
ชาญชัยเบิกความอีกว่า ช่วงเกิดเหตุมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งสามารถติดต่อกันได้หากมีบุคคลที่ติดเชื้ออยู่ใกล้กันในระยะ 2 เมตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ติดเชื้อไม่สวมหน้ากากอนามัยและมีการพูดคุยกันในระยะใกล้อาจติดเชื้อได้ภายใน 5 นาที หรืออยู่ภายในสถานที่ปิด เช่น ในห้องแอร์หรือรถคันเดียวกัน อาจติดเชื้อได้ภายใน 30 นาที โดยสายพันธุ์เดลต้ามีความรุนแรง ประเทศไทยขณะนั้นมีอัตราผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวจำนวนมาก
พยานดูภาพถ่ายวันเกิดเหตุแล้วเบิกความว่า การชุมนุมครั้งนี้อาจเป็นสาเหตุให้เชื้อโควิดแพร่กระจายได้ เนื่องจากมีผู้ร่วมชุมนุมใส่หน้ากากอนามัยไม่เหมาะสม โดยนำมาไว้ใต้จมูก
ต่อมา รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตอบคำถามทนายจำเลยว่า ผู้ที่ต้องขออนุญาตจัดกิจกรรมคือผู้จัดกิจกรรม ส่วนผู้เข้าร่วมการชุมนุมไม่ต้องขออนุญาต ในวันเกิดเหตุตนไม่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ และไม่ทราบข่าวว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการชุมนุมครั้งนี้หรือไม่ ตามภาพถ่ายสถานที่ชุมนุมก็เป็นที่โล่งแจ้ง มีอากาศถ่ายเท ผู้เข้าร่วมใส่หน้ากากอนามัย ส่วนกรณีใส่หน้ากากอนามัยไม่เหมาะสม ซึ่งทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้นั้น ก็เกิดขึ้นได้ในการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป
พยานโจทก์จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาและเป็นคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอีกปาก คือ จักรกฤษณ์ ศรีสุวรรณ นิติกรชำนาญการพิเศษ เบิกความในทำนองเดียวกับ นพ.ชาญชัย ในเรื่องเนื้อหาของข้อกำหนด และคำสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ห้ามทำกิจกรรมรวมกลุ่มเกิน 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต และสถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้าในช่วงเกิดเหตุ รวมทั้งระบุว่า การชุมนุมที่จำเลยทั้งสี่เข้าร่วมนั้นไม่มีการขออนุญาต ซึ่งในช่วงเดือนเดียวกันนั้น บุคคลที่มายื่นขอจัดกิจกรรมส่วนใหญ่จะได้รับอนุญาต ยกเว้นบางกรณีที่ต้องมีเจ้าหน้าที่ไปควบคุม
จักรกฤษณ์ยังตอบคำถามค้านของทนายจำเลยสอดคล้องกับ นพ.ชาญชัย ด้วยว่า ผู้ร่วมกิจกรรมไม่ต้องขออนุญาตจัดกิจกรรม และพยานไม่ทราบข่าวว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากการชุมนุมครั้งนี้
.
ฝ่ายปกครองไม่เห็นภัทรกาญจน์เข้าร่วมชุมนุม ทั้งยืนยันไม่ใช่ผู้จัด
สำหรับธงชัย แสงประทุม เบิกความว่า พยานได้รับมอบหมายจากผู้ว่าฯ ให้รักษาความสงบเรียบร้อย และลงพื้นที่ติดตามความเคลื่อนไหวและการจัดกิจกรรมของกลุ่มมวลชน พยานจึงได้แฝงเข้าไปร่วมกิจกรรมบริเวณลานหน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีในวันเกิดเหตุ หลังจากทราบข่าวที่มีการประชาสัมพันธ์ทางเฟซบุ๊ก
ธงชัยเบิกความอีกว่า ทราบว่า จำเลยที่ 1 เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส. ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 พยานรู้จักว่า เป็นแกนนำ นปช. และจำเลยที่ 4 เป็นผู้ประสานงานของพรรคอนาคตใหม่ พร้อมทั้งเบิกความยืนยันภาพถ่ายวันเกิดเหตุที่โจทก์ให้ดูว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขึ้นปราศรัยโดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย ทั้งยังมีผู้ร่วมชุมนุมที่สวมหน้ากากอนามัยไม่เหมาะสม
เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองระบุด้วยว่า ตนไม่พบว่ามีการตรวจวัดอุณหภูมิของผู้เข้าร่วมกิจกรรม หรือมีเจลแอลกอฮอล์ไว้ให้บริการ ทั้งไม่มีผู้จัดระเบียบให้มีการเว้นระยะห่าง
อย่างไรก็ตาม ธงชัยตอบคำถามทนายจำเลยสอดคล้องกับพยานปากอื่นว่า เส้นทางการเคลื่อนขบวนของคาร์ม็อบเป็นที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเทสะดวก ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ใส่หน้ากากอนามัย ไม่พบว่ามีเหตุความวุ่นวายในงานหรือมีผู้ใดพกอาวุธ และพยานไม่ได้รับทราบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สำคัญพยานไม่เห็นว่า ภัทรกาญจน์ จำเลยที่ 4 เข้าร่วมชุมนุมหรือไม่ และการจัดกิจกรรมครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคอนาคตใหม่หรือพรรคก้าวไกล พยานยังระบุด้วยว่า ทราบว่าจำเลยที่ 4 ไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรมดังกล่าว
.
เป็นคำสั่งภูธรจังหวัดให้ดำเนินคดี
พยานปากสุดท้าย คือ พ.ต.ท.โกสินทร์ แจ่มทองหลาง พนักงานสอบสวนในคดี มาเบิกความว่า หลังวันชุมนุม 15 ส.ค. 2564 พ.ต.ท.ไพฑูรย์ อ่อนคำ ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษว่า จำเลยที่ 1 กับพวก กระทำการฝ่าฝืนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมาสั่งการและมีหนังสือถึง สภ.เมืองนครราชสีมา พยานจึงรวบรวมหลักฐาน จากนั้นได้สอบปากคำ นพ.ชาญชัย และจักรกฤษณ์ ซึ่งยืนยันสอดคล้องกันว่า การจัดชุมนุมในคดีนี้ ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา แต่ไม่มีการยื่นขออนุญาต และสอบปากคำธงชัย ซึ่งยืนยันว่ามีการร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุมของผู้คนจำนวนมากจริง
หลังรวบรวมพยานหลักฐาน พยานจึงออกหมายเรียกจำเลยทั้งสี่ มาพบที่ สภ.เมืองนครราชสีมา เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 2 ก.ย. 2564 จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และได้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือ จากนั้นพยานได้สรุปสำนวนทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องตามความผิดที่กล่าวหา
.
ปากคำจำเลยนอกห้องพิจารณา: ถ้าไม่เริ่มต้นประท้วง ก็ต้องอยู่แบบเดิม
ภัทรกาญจน์ ทองแดง แม้จะไม่ได้เข้าเบิกความในฐานะพยานจำเลย แต่เธอก็เล่าเรื่องราวตนเองว่า ขณะนี้ทำหน้าที่ประสานงานให้พรรคก้าวไกล นครราชสีมา ก่อนนั้นเรียนจบด้านศิลปกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ที่บ้านทำการค้าขาย แต่ก็สนใจการเมืองมาตลอดเพราะเคยเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดงตั้งแต่ปี 2553 ก่อนพรรคอนาคตใหม่จะเปิดตัว เลยติดตามเนื่องจากเป็นพรรคที่มีความคิดก้าวหน้า
.
.
ภัทรกาญจน์กล่าวถึงเหตุผลที่เข้าร่วมชุมนุมครั้งนี้ว่า ทำไมต้องอยู่เฉยๆ ในเมื่อเราต้องการวัคซีนคุณภาพให้กับตัวเองและคนอื่นๆ การออกไปชุมนุมครั้งนี้ไม่ใช่สิ่งน่ากลัว มีทั้งการเรียกร้องเรื่องวัคซีนและการบริหารที่มีประสิทธิภาพของนายกฯ
“เราไม่ควรจะยอมให้มีนายกฯ แบบนี้อยู่ตั้งนานแล้ว แต่ถ้าเราไม่เริ่มต้นประท้วงก็ต้องอยู่แบบเดิมต่อไป คิดว่าการชุมนุมเป็นสิ่งที่ควรทำมากกว่า ที่ยืนยันไม่รับสารภาพเพราะไม่เคยกลัว ถ้าต้องติดคุกจริงๆ ก็ให้มันรู้ไปว่า การชุมนุมแค่นี้จะทำให้ติดคุกได้ การถูกขังอาจเป็นสิ่งที่น่าท้าทายด้วยซ้ำไปว่ามันทำให้รู้ถึงว่ากฎหมายนี้มีปัญหาจริงๆ”
ในความเห็นภัทรกาญจน์ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีไว้เพียงปราบปรามการชุมนุมเสียเป็นส่วนใหญ่ ความจริง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควรประกาศในภาวะเร่งด่วนในเรื่องใหญ่จริงๆ ส่วนตัวเธอนั้นแม้จะอยู่หรือไม่ได้อยู่ในพรรคก้าวไกลก็คงจะไปร่วมชุมนุมอยู่ดี เพราะเข้าร่วมในการต่อต้านเผด็จการมาตลอดอยู่แล้ว
เมื่อถามถึงความคาดหวัง ภัทรกาญจน์ก็หวังให้ศาลยกฟ้อง แต่ในทางหนึ่งก็คิดเผื่อไว้ ตั้งแต่ถูกแจ้งข้อหาที่สถานีตำรวจแล้วว่า เธอพร้อมรับสถานการณ์ทั้งหมดหากต้องติดคุกเพราะชุมนุมจริงๆ ก็พร้อมจะเรียนรู้กับมัน
.
สำหรับคดีที่ถูกกล่าวหาว่า ชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใน จ.นครราชสีมา อีก 4 คดี มีคำพิพากษาไปแล้ว 2 คดี ได้แก่คาร์ม็อบ 1 ส.ค. 2564 ที่ศาลแขวงนครราชสีมาพิพากษายกฟ้อง, คดีกิจกรรมหน้าตำรวจภูธรภาค 3 เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 ศาลแขวงนครราชสีมายกฟ้องไปเช่นกัน ส่วนคดีคาร์ม็อบ 23 ก.ค. 2564 นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 19 ก.ค. 2565 ส่วนคดีคาร์ม็อบวันที่ 21 ส.ค. 2565 จะสืบพยานกันในเดือนพฤศจิกายน 2565
.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
.