21 มิ.ย. 2565 – 2 นักกิจกรรมชาวโคราช “เตอร์” มกรพงษ์ ทรัพย์ประเสริฐ อายุ 23 ปี และ “บุ๊ค” วรัญญู คงสถิตย์ธรรม อายุ 27 ปี มีนัดฟังคำพิพากษาคดีชุมนุมของกลุ่ม Korat Movement หน้าตำรวจภูธรภาค 3 เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 ซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องมกรพงษ์และวรัญญูต่อศาลแขวงนครราชสีมา กล่าวหาว่า “ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานโรคติดต่อ และร่วมชุมนุมในขณะมีสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งอาจทําให้เหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น” อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฯ มาตรา 34 และคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา
คดีนี้ มกรพงษ์และวรัญญูได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม 2564 ไม่นานหลังการเข้าร่วมกิจกรรม พร้อมกับหมายเรียกคดีคาร์ม็อบอีก 2 คดี และเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 14 ก.ย. 2564 ก่อนอัยการยื่นฟ้องคดีในเวลาไม่ถึง 1 เดือนถัดมา โดยทั้งสองยืนยันปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุมตามที่โจทก์ฟ้อง เพียงออกมาใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น อีกทั้งได้ใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือป้องกันแพร่โควิดก่อนเข้าร่วมกิจกรรมแล้ว
การสืบพยานทั้งโจทก์และจำเลยมีขึ้นในวันที่ 11 พ.ค. 2565 อัยการนำพยานบุคคลซึ่งเป็นตำรวจและข้าราชการสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเข้าเบิกความรวม 5 ปาก จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความรวม 2 ปาก เสร็จสิ้นภายในวันเดียว แม้ว่าจะกำหนดนัดไว้ 2 วัน
คดีนี้มีอัตราโทษสูงสุด คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งจากการชุมนุมซึ่งมีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมาก และจากคาร์ม็อบ ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วอย่างน้อย 12 คดี ล่าสุดคือคดีคาร์ม็อบโคราช 1 สิงหา ศาลแขวงนครราชสีมานี้เอง ได้พิพากษาโดยยึดเจตนารมณ์ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยระบุว่า แม้ผู้ชุมนุมจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในวงกว้าง
ก่อนที่เตอร์และบุ๊คจะเดินทางไปศาลเพื่อฟังคำพิพากษา ซึ่งนับเป็นการเดินทางไปในคดีนี้เป็นครั้งที่ 6 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนย้อนดูเหตุแห่งคดี คำกล่าวหา และการนำเสนอพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดและความบริสุทธิ์ของทั้งอัยการโจทก์และนักกิจกรรมทั้งสองในชั้นศาล
.
ปฏิบัติการทางศิลปะ #Red Road ประณามตำรวจสลายการชุมนุม
7 ส.ค. 2564 ขณะที่การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกในกรุงเทพฯ ซึ่งเรียกร้องการลดงบกองทัพ งบสถาบัน และจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้ประชาชน เผชิญกับปฏิบัติการสลายการชุมนุมที่มีทั้งการใช้แก๊สน้ำตาและยิงกระสุนยางเข้าใส่ผู้ชุมนุม มาตั้งแต่ช่วงบ่าย ราว 18.30 น. เพจ Korat Movement ได้ไลฟ์สดกิจกรรม “ปฏิบัติการทางศิลปะ #RedRoad” ที่หน้าตำรวจภูธรภาค 3 เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจปกป้องประชาชน ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของเผด็จการใช้ภาษีของประชาชนมาปราบปรามประชาชน รวมถึงเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
กิจกรรมที่มีคนเข้าร่วมประมาณ 20 คน มีการชูป้ายข้อความ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์”, เผาหุ่นฟางและรูปประยุทธ์ รวมทั้ง ผบ.ตร., กล่าวข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ, ประยุทธ์ต้องลาออก, ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และปาถุงบรรจุสีลงบนถนน ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ก็เก็บกวาดสิ่งของก่อนแยกย้ายกันกลับ
แต่กลับนำมาซึ่งการถูกดำเนินคดีของมกรพงษ์และวรัญญู โดยอัยการกล่าวหาทั้งสองต่อศาลว่า “ร่วมกันจัดกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 5 คน และเข้าร่วมชุมนุมกับประชาชน โดยผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ได้เข้มงวดในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย มีบางส่วนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ไม่ได้เว้นระยะห่างเกิน 2 เมตร ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิด-19 และอาจทำให้เหตุการณ์การแพร่ระบาดร้ายแรงมากขึ้น โดยไม่มีเหตุจำเป็นหรือได้รับอนุญาตจากผู้ว่าฯ”
วรัญญู ครูสอนว่ายน้ำ แสดงความเห็นต่อการถูกฟ้องคดีว่า “เป็นการบังคับใช้กฏหมายที่ไม่เป็นธรรม กฎหมายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่มักจะถูกรัฐใช้อยู่เสมอๆ เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนที่คิดจะลุกขึ้นมาท้าทายต่ออำนาจของพวกเขา จุดประสงค์ของการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คืออยากให้เราหยุดท้าทาย หยุดทำกิจกรรมทางการเมือง แต่ตรงข้ามจุดประสงค์ของเรามันคือการต่อสู้เพื่อการกระจายอำนาจ ต่อต้านอำนาจเผด็จการที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้นเราจึงไม่กลัวและไม่ได้คิดว่าจะหยุดทำกิจกรรมต่อไป” พร้อมทั้งทิ้งท้ายว่า
“ถ้าประเทศเป็นประชาธิปไตยมากพอ เราก็ไม่สมควรถูกพามาอยู่ตรงจุดนี้ จุดที่ถูกดำเนินคดีเพียงเพราะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ”
มกรพงษ์เองก็มองคล้ายๆ กันว่า การฟ้องคดีครั้งนี้ เพราะรัฐก็อยากให้หยุดชุมนุม “เพราะสิ่งที่เราทำ คือการเปิดโปงความจริง” ซึ่งส่งผลกระทบกับการงานของเขามากเลยทีเดียว “ทั้งที่เราออกมาเรียกร้องสิ่งที่ถูกต้อง เเต่กลับโดนดำเนินคดี”
.
พยานโจทก์ 5 ปาก ยืนยันสอดคล้อง กิจกรรมเสี่ยงโควิดแพร่ระบาดได้ และไม่มีการขออนุญาตผู้ว่าฯ
ในวันนัดสืบพยาน นอกจาก อัยการโจทก์, มกรพงษ์, วรัญญู พร้อมทั้งทนายจำเลยแล้ว มีผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 2 คน และนักศึกษาฝึกงานสำนักงานอัยการฯ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวม 7 คน เข้าร่วมสังเกตการณ์คดีด้วย โดยบรรยากาศการสืบพยานตลอดทั้งวันเป็นไปด้วยดี ระหว่างการสืบพยาน นพพล เลี่ยวไพโรจน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลแขวงนครราชสีมา เจ้าของสำนวน ไม่ได้มีการห้ามจดบันทึก ทั้งยังอธิบายถึงขั้นตอนการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีให้ทุกฝ่าย รวมทั้งนักศึกษาได้เข้าใจ
พยานฝ่ายโจทก์ที่อัยการนำเข้าเบิกความประกอบด้วย ชาญชัย บุญอยู่ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา (ขณะเกิดเหตุ), จักรกฤษณ์ ศรีสุวรรณ นิติกรประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา, พ.ต.อ.กรกฎ โปชยะวณิช ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา (ขณะเกิดเหตุ), พ.ต.ท.ไพฑูรย์ อ่อนคำ รอง ผกก.สืบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา ผู้กล่าวหาในคดีนี้ รวมทั้งคดีการชุมนุมอีก 4 คดี และ ร.ต.ท.ธนวินท์ พิมพ์ภักดี พนักงานสอบสวนในคดี พยานทั้งห้าเบิกความสอดคล้องกัน มีประเด็นโดยสรุปดังนี้
ชาญชัย บุญอยู่ ขณะเกิดเหตุนอกจากเป็นรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ยังเป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา โดยหนึ่งในผู้ร่วมประชุมออกมาตรการของจังหวัด มาเบิกความให้ความเห็นจากภาพถ่ายวันเกิดเหตุว่า มีการยืนรวมกลุ่มที่ใกล้ชิดกัน โดยไม่มีมาตรการคัดกรอง มีความเสี่ยงให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดได้ อีกทั้งไม่มีการขออนุญาตในการจัดกิจกรรม
เช่นเดียวกับจักรกฤษณ์ ศรีสุวรรณ พยานอีกปากจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งเป็นผู้ร่างคำสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ใช้บังคับในคดีนี้ตามความเห็นของผู้ว่าฯ ที่ได้มาเบิกความให้ความเห็นจากภาพถ่ายวันเกิดเหตุ โดยไม่ได้ไปในที่เกิดเหตุเองว่า การรวมกลุ่มของบุคคลตามภาพเป็นการยืนใกล้กันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดได้ และการรวมกลุ่มดังกล่าวไม่ได้มีการขออนุญาต
จักรกฤษณ์ยังเบิกความด้วยว่า ขณะเกิดเหตุ จังหวัดนครราชสีมาเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโควิดจำนวนมาก มีผู้ป่วยวันละ 300-400 คน ทั้งมีการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลต้าซึ่งมีความเสี่ยงต่อชีวิตมากกว่า จึงต้องมีมาตรการที่เข้มงวด
ด้าน ผกก. และ รอง ผกก.สืบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ในที่เกิดเหตุ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ พบจำเลยทั้งสองและกลุ่มบุคคลรวมประมาณ 20 คน ทำกิจกรรมถือป้ายผ้า, สาดสีใส่ป้าย, เผาหุ่นฟาง และอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง โดยขณะทำกิจกรรมผู้ร่วมชุมนุมยืนในลักษณะที่ใกล้ชิดกัน ไม่มีมาตรการคัดกรองผู้เข้าร่วมและป้องกันโควิด แม้ว่าทุกคนจะใส่หน้ากากอนามัย แต่บางช่วงเวลาก็มีบางคนดึงหน้ากากอนามัยลง อันมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคได้
ผกก.ยังเบิกความด้วยว่า จากการสอบถามผู้ร่วมกิจกรรมในวันเกิดเหตุ พบว่า ไม่ได้มีการขออนุญาต ขณะ พ.ต.ท.ไพฑูรย์ รอง ผกก. ระบุว่า พยานไม่ทราบว่า การชุมนุมในครั้งนี้มีการขออนุญาตหรือไม่ แต่ครั้งที่ผ่านๆ มา ผู้ชุมนุมรวมถึงจำเลยทั้งสองมีความพยายามขออนุญาตจัดกิจกรรมต่อ ผกก. หลายครั้ง แต่ไม่ได้รับอนุญาต
พยานโจทก์ปากสุดท้ายคือ พนักงานสอบสวน มาเบิกความเพียงว่า จากการสอบปากคำพยานรวม 4 ปาก ทั้งหมดให้การในทำนองเดียวกันว่า การชุมนุมครั้งนี้ไม่มีการขออนุญาตจากผู้ว่าฯ จากนั้นพยานได้สรุปสำนวนและมีความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองเสนอต่อพนักงานอัยการ
อย่างไรก็ตาม เมื่อทนายจำเลยถามค้านพยานโจทก์ทั้งหมด ยกเว้นพนักงานสอบสวน ก็มีประเด็นที่น่าสนใจที่ขัดแย้งต่อคำยืนยันของพยานโจทก์ว่า กิจกรรมในวันเกิดเหตุเสี่ยงต่อการแพร่โควิด ดังนี้
.
พยานไม่เชี่ยวชาญด้านการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ
โจทก์มีพยานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 2 ปาก นพ.ชาญชัย เบิกความว่า เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวช ด้านจักรกฤษณ์ก็รับว่า ไม่ได้มีความรู้เฉพาะทางเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ที่พยานดูภาพวันเกิดเหตุแล้วให้ความเห็นตอบอัยการไปว่า การยืนรวมกลุ่มลักษณะดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดนั้น เป็นการให้ความเห็นจากความรู้ทั่วๆ ไป
.
ไม่ทราบมีการคัดกรองก่อนเริ่มกิจกรรมหรือไม่
นพ.ชาญชัย ตอบทนายจำเลยว่า ที่พยานเบิกความว่า ไม่มีการคัดกรองนั้น ที่จริงพยานไม่ทราบ เนื่องจากไม่ได้ไปในที่เกิดเหตุ เช่นเดียวกับจักรกฤษณ์ที่ไม่ได้ไปในที่เกิดเหตุ ก็รับว่า ไม่ทราบว่า ในวันเกิดเหตุมีการตรวจคัดกรองโควิด-19 หรือไม่
ด้านนายตำรวจ 2 นาย ที่ไปปฏิบัติหน้าที่วันเกิดเหตุ รับกับทนายจำเลยว่า ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ตั้งแต่เริ่มต้น ไปถึงที่เกิดเหตุหลังจากผู้ชุมนุมรวมตัวกันแล้ว จึงไม่ได้เห็นว่า ก่อนการชุมนุมจะมีมาตรการในการป้องกันโควิด และมีการคัดกรองหรือไม่
.
หน้าตำรวจภูธรภาค 3 เป็นที่โล่ง ลดความเสี่ยงแพร่โควิด การยืนของผู้ร่วมชุมนุมก็คล้ายในชีวิตประจำวันซึ่งไม่ต้องขออนุญาต
ข้อเท็จจริงที่พยานโจทก์เห็นตรงกันคือ หน้าตำรวจภูธรภาค 3 สถานที่จัดกิจกรรม เป็นพื้นที่กว้าง โล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก โดย นพ.ชาญชัย และจักรกฤษณ์ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เห็นว่า ลักษณะดังกล่าวสามารถลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดได้
รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตอบทนายจำเลยด้วยว่า ภาพถ่ายวันเกิดเหตุที่พยานดูแล้วให้ความเห็นนั้น เป็นเพียงภาพเหตุการณ์บางช่วงเวลาเท่านั้น บุคคลที่ร่วมชุมนุมก็สวมหน้ากากอนามัยทุกคน โดยจักรกฤษณ์เห็นว่า หากการยืนใกล้ชิดกันเหมือนในภาพเป็นเพียงระยะสั้นๆ หรือบุคคลที่รวมกลุ่มมีการเดินไปเดินมา ความเสี่ยงที่โควิดจะแพร่ระบาดก็ลดลง พยานทั้งสองยังเห็นในทำนองเดียวกันว่า ลักษณะการยืนของผู้ร่วมกิจกรรมก็สามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน เช่น ในห้างสรรพสินค้า, สวนสาธารณะ และในห้องพิจารณาคดี ซึ่งไม่ต้องมีการขออนุญาต
นอกจากนี้ ผกก. และรอง ผกก. ซึ่งเป็นประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุก็ยอมรับว่า ในการทำกิจกรรม ผู้เข้าร่วมมีการยืนใกล้ชิดกันบ้าง ยืนห่างกันบ้าง เป็นครั้งคราว ไม่ได้ยืนใกล้ชิดตลอดเป็นเวลานาน
.
ไม่มีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อจากกิจกรรม แม้แต่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่
นพ.ชาญชัย ระบุว่า ไม่มีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อจากเหตุการณ์นี้ ขณะพยานอีก 3 ปาก ไม่ทราบว่า มีคนติดเชื้อโควิด-19 จากการเข้าร่วมชุมนุมหรือไม่ แต่ 2 นายตำรวจ ที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในที่เกิดเหตุเบิกความว่า ตนเองไม่ได้ติดเชื้อจากกิจกรรมนี้
.
เป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ไม่มีการยุยงปลุกปั่น ไม่มีใครได้รับอันตราย
จักรกฤษณ์รับว่า ในการออกข้อกําหนด คําสั่งจังหวัด และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะห้ามประชาชนทั่วไปใช้ชีวิตตามปกติ และใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
ด้านพยานนายตำรวจ 2 ปาก ตอบทนายจำเลยว่า กิจกรรมในวันเกิดเหตุเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ใช้เวลาเพียง 24 นาที ไม่ได้มีเจตนาทำให้ผู้ใดได้รับอันตรายหรือทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ผู้ร่วมชุมนุมไม่มีการพกพาอาวุธ ไม่มีการยุยงให้ก่ออันตรายต่อผู้อื่น อีกทั้งไม่มีใครได้รับอันตรายหรือทรัพย์สินเสียหาย ขณะเผาหุ่นฟางมีการยืนควบคุมไม่ให้ไฟลุกลาม สีและเศษเขม่าที่เปรอะเปื้อนถนนนั้นสามารถชะล้างออกได้ด้วยน้ำ เสร็จกิจกรรมผู้ชุมนุมช่วยกันเก็บขยะและอุปกรณ์ต่างๆ อีกทั้งผู้ชุมนุมไม่ได้มีข้อเรียกร้องในทำนองที่เป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง
.
ไม่ทราบใครเป็นแอดมินเพจ และจัดเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ทำกิจกรรม
จักรกฤษณ์ ผู้ร่างคำสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ใช้บังคับในคดีนี้ เบิกความตอบทนายจำเลยว่า ตามคําสั่งดังกล่าวในข้อ 10 ผู้ที่มีหน้าที่ในการขออนุญาตจัดกิจกรรม คือผู้จัดกิจกรรมเท่านั้น
ด้าน ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา และ พ.ต.ท.ไพฑูรย์ รอง ผกก.สืบสวน ซึ่งเป็นผู้แจ้งความให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งสอง รับกับทนายจำเลยว่า พยานไม่ทราบว่า ใครเป็นแอดมินเพจ Korat Movment ที่โพสต์เชิญชวนให้คนมาร่วมกิจกรรม รวมถึงไม่ทราบว่า ใครเป็นผู้นำหุ่นฟาง ป้ายผ้า และสี เข้ามาในที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นคนถ่ายคลิปกิจกรรมดังกล่าว
พ.ต.ท.ไพฑูรย์ ระบุด้วยว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้เข้าร่วมเฉพาะกิจกรรมการชุมนุมของ Korat Movement เท่านั้น แต่ยังได้เข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มอื่น ๆ ในจังหวัดนครราชสีมา
.
2 นักกิจกรรม ยืนยันร่วมชุมนุมโดยสงบตามที่เพจ Korat Movement นัด เพื่อค้านรัฐใช้ความรุนแรง ไม่ได้เป็นผู้จัด พร้อมป้องกันโควิดตามควรแล้ว
เมื่อพนักงานสอบสวนเบิกความเป็นพยานโจทก์ปากสุดท้ายจบ มกรพงษ์และวรัญญูก็เข้าเบิกความเป็นพยานให้ตนเอง
มกรพงษ์เบิกความว่า ตนไม่ได้เป็นแอดมิน รวมถึงไม่ได้เป็นสมาชิกเพจ Korat Movement เพียงแต่ติดตามเพจเท่านั้น นอกจากเข้าร่วมชุมนุมในคดีนี้แล้ว พยานก็เคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองครั้งอื่นๆ ของเพจดังกล่าว รวมทั้งเคยเข้าไปสังเกตการณ์การทำกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มอื่นๆ ในจังหวัดนครราชสีมาด้วย แต่ไม่บ่อยครั้ง
ด้านวรัญญูระบุเช่นกันว่า ไม่ได้เป็นแอดมินของเพจดังกล่าว แต่เป็นสมาชิก หากเพจนัดหมายทำกิจกรรม ตนก็จะเข้าร่วมเกือบทุกครั้ง รวมถึงการชุมนุมในคดีนี้ด้วย เนื่องจากตนมีอุดมการณ์ทางการเมืองเช่นเดียวกับเพจดังกล่าว นอกจากนี้ ตนยังเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มอื่นๆ ในจังหวัดนครราชสีมาแทบจะทุกครั้ง รวมถึงเดินทางไปร่วมการชุมนุมในจังหวัดอื่นๆ ด้วย ถ้ามีโอกาสและสามารถเดินทางไปได้
ทั้งสองเบิกความว่า กิจกรรมในวันเกิดเหตุสืบเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมที่กรุงเทพฯ เพจ Korat Movement จึงนัดจัดการชุมนุมที่หน้าตำรวจภูธรภาค 3 พยานเห็นด้วย รวมถึงมีผู้อื่นชักชวนมาจึงเข้าร่วมชุมนุม
โดยก่อนเข้าร่วมกิจกรรม ทั้งสองได้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ มกรพงษ์ยังได้ตรวจวัดอุณหภูมิด้วย แต่ไม่ได้ตรวจ ATK เนื่องจากช่วงนั้นการตรวจ ATK ยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลาย ระหว่างชุมนุมทั้งสองก็สวมหน้ากากอนามัยโดยตลอด แต่ที่ปรากฏภาพมกรพงษ์ถอดหน้ากากอนามัยนั้น เนื่องจากเป็นการอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องที่ต้องการส่งเสียงไปถึงรัฐบาล จึงถอดหน้ากากเพื่อให้การพูดสะดวกขึ้น ชัดถ้อยชัดคำขึ้น
ด้านวรัญญูเบิกความถึงกิจกรรมเผาหุ่นฟางว่า เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อบุคคลที่สูญเสียในการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐ และที่ตนเองเป็นคนจุดไฟ เนื่องจากมีคนจุดก่อนแล้ว แต่จุดไม่ติด ตนจึงเข้าไปช่วยจุด จากนั้นได้ยืนควบคุมไม่ให้ไฟลุกลาม และได้เตรียมถุงน้ำสีเพื่อใช้ปาดับไฟ แต่มีเจ้าหน้าที่ใช้ถังดับเพลิงมาช่วยดับเสียก่อน
จำเลยทั้งสองเบิกความอีกว่า ไม่ทราบว่า ผู้จัดกิจกรรมมีการขออนุญาตหรือได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมหรือไม่ ส่วนตัวจำเลยไม่ได้ขออนุญาต เนื่องจากเป็นเพียงผู้ร่วมการชุมนุมเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม
เท่าที่จำเลยทั้งสองทราบ ภายหลังการชุมนุม ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิดจากการชุมนุมครั้งนี้
มกรพงษ์และวรัญญูยังระบุว่า ตนเคยยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการ ซึ่งหนังสือดังกล่าวมีเนื้อหายืนยันว่า การกระทำตามที่ถูกกล่าวหาเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต โดยสงบ และปราศจากอาวุธ ตามที่พันธกรณีระหว่างประเทศ และรัฐธรรมนูญให้การรับรอง อีกทั้งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อให้รัฐบาลหันมาสนใจข้อเรียกร้องของประชาชน การใช้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคำสั่งจังหวัดมาดำเนินคดี จึงมิได้เป็นการบังคับใช้ตามเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 แต่มุ่งประสงค์จะจำกัดสิทธิเสรีภาพ ยับยั้งบุคคลไม่ให้มีความเห็นต่างจากรัฐบาล
.