เปิดคำสั่ง ไม่คุ้มครองการชุมนุม “บำนาญถ้วนหน้า” ชี้จำเป็นน้อยกว่าการป้องกันโควิด

ศาลแพ่งสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราว การจัดชุมนุม “บำนาญถ้วนหน้า” เพื่อผลักดัน พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ เหตุยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคและมียารักษาโรคโดยตรง การระบาดของโรคเป็นสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและปลอดภัยของประชาชน อีกทั้งความจำเป็นในการชุมนุมอาจน้อยกว่าความจำเป็นในการป้องกันโรคระบาดอันเป็นประโยชน์สาธารณะ พร้อมนัดฟังคำพิพากษาคดีให้ยกเลิกการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 5 ส.ค.นี้

ทางด้านนิมิตร์ยืนยันใช้สิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ จัดการชุมนุมวันที่ 13 ก.ค.นี้ และจะเตรียมมาตรการการป้องกันโรค โดยการเตรียมหน้ากากผ้า แอลกอฮอล์ และเว้นระยะห่างในการฟังปราศรัย

10 ก.ค. 63 เวลา 13.30 น. ศาลแพ่งนัดฟังคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กรณีการจัดกิจกรรมของนายนิมิตร์ เทียนอุดม และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เป็นการชั่วคราวก่อนศาลมีคำพิพากษาในคดีที่โจทก์ทั้งห้ายื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี ต่อศาลแพ่งขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3) และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 และขอให้ศาล คุ้มครองชั่วคราวระหว่างพิจารณา โดยศาลได้ไต่สวนฉุกเฉินเมื่อวานนี้ 

วันนี้มีโจทก์ที่ 1-3  มาศาล ได้แก่ นายนิมิตร์ เทียนอุดม นางสาวแสงศิริ ตรีมรรคา และนายณัฐวุฒิ อุปปะ รวมทั้งมีผู้สังเกตการณ์ ilaw และนักข่าวเข้าร่วมฟังด้วย

เวลา 13.40 น. ศาลเข้าห้องพิจารณาคดีที่ 713 และอ่านคำสั่ง โดยมีเนื้อหาคำสั่งดังนี้

พิเคราะห์แล้วโจทก์ทั้งห้ามีโจทก์ที่ 1 อ้างตนเองเบิกความเป็นพยานว่า การที่จำเลยประกาศขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3) ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 กรกฎาคม 2563 ทำให้โจทก์ทั้งห้าไม่อาจผลักดันร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ เพราะเจ้าพนักงานตำรวจท้องที่ไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งห้าจัดการชุมนุมที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติแห่งประเทศไทยในวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ซึ่งโจทก์ที่ 1 คาดว่าจะมีผู้ร่วมชุมนุมประมาณ 300 คน เพื่อร่วมกันติดตามทวงถามความคืบหน้าของร่างกฎหมายดังกล่าว หากฝ่าฝืนจะถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดี

ทั้งๆ ที่ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ปรากฏตามรายงานสถานการณ์ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 เห็นว่า แม้การที่จำเลยออกประกาศดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเสรีภาพในการชุมนุมของโจทก์ทั้งห้า ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งห้าจะบริหารจัดการควบคุมผู้ชุมนุมไม่ให้มากกว่า 300 คนอย่างไร และจะมีมาตรการป้องกันไม่ให้เสี่ยงต่อการระบาดของเชื้อโรคดังกล่าวหรือไม่ได้อย่างไร

ทั้งเมื่อพิจารณาสรุปสถานการณ์ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ประจำวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 ปรากฏว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อโรคทั่วโลกเกือบ 12 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 540,000 คน บางประเทศในวันดังกล่าวเพียงวันเดียวมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 50,000 คน ประกอบกับปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคและมียารักษาโรคโดยตรง จนองค์การอนามัยโลกต้องประกาศให้การติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เป็นการระบาดใหญ่ การระบาดของโรคดังกล่าวจึงเป็นสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและปลอดภัยของประชาชน

อีกทั้งยังไม่แน่นอนว่าหากโจทก์ทั้งห้าได้ดำเนินการจัดการชุมนุมตามที่กล่าวอ้างแล้วจะส่งผลให้จำเลยลงนามเสนอร่างพระราชบัญญัติบำนาญแห่งชาติต่อรัฐสภาหรือไม่ ดังนั้นความจำเป็นในการชุมนุมซึ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเพราะเหตุใดจึงต้องเป็นวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 อาจน้อยกว่าความจำเป็นในการป้องกันโรคระบาดอันกระทบต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนอันเป็นประโยชน์สาธารณะกรณีจึงไม่มีเหตุฉุกเฉินและเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองระหว่างพิจารณาตามที่ขอมาใช้กับกรณีนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 254 (2)  ประกอบมาตรา 255 (2) (ข) และมาตรา 266 ให้ยกคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินและเมื่อศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องดังกล่าวแล้วคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวย่อมตกไปด้วย

 

หลังศาลอ่านคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราวการชุมนุมให้โจทก์และทนายโจทก์ฟังแล้ว ศาลยังมีคำสั่งต่อกรณีที่โจทก์ทั้งห้ายื่นฟ้องนายกฯ ให้ยกเลิกการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  ว่า พิเคราะห์คำฟ้องและข้อเท็จจริงที่ได้ตามทางไต่สวนแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงให้งดสืบพยาน และให้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 เวลา 9.00 น. 

ก่อนหน้านี้ หลังศาลรับฟ้องโจทก์ทั้งห้าเมื่อวานแล้วได้นัดกำหนดประเด็นข้อพิพาทและสืบพยานในวันที่ 14 ก.ย. แต่ได้มีคำสั่งยกเลิกในวันนี้.

 

X