People Go เข้าร้องศาลแพ่งปมรัฐบาลต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ชี้รัฐหวังยืดอำนาจ สืบต่อการละเมิดสิทธิฯ

9 กรกฎาคม 2563 – ในวันนี้ ทางตัวแทนของเครือข่าย People Go Network ซึ่งมาจากภาคประชาสังคมต่างๆ ได้แก่ นาย นิมิตร์ เทียนอุดม, นางสาว แสงศิริ ตรีมรรคา, นาย ณัฐวุฒิ อุปปะ, นาย วศิน พงษ์เก่า, และ นาย อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ พร้อมกับกลุ่มผู้สนับสนุนได้นัดรวมตัวกันที่บริเวณทางออก 4 ของ MRT ลาดพร้าว ก่อนจะเดินหน้าไปยังศาลแพ่งบนถนนรัชดาฯ เพื่อยื่นเรื่องฟ้องกรณีรัฐบาลประกาศต่ออายุใช้งาน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ทั้งๆ ที่สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มทุเลาลง

ในช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 9.00 น. ผู้ชุมนุมที่มาในนามของกลุ่มเครือข่าย People Go เดินทางมารวมตัวกันบริเวณทางออก 4 ของสถานี MRT ลาดพร้าวราว 20 คน สื่อมวลชนอีกราว 5 คน ในขณะที่รอบด้านมีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบราว 30 นาย คอยจับตาดูผู้ชุมนุมอย่างใกล้ชิด มีการบันทึกภาพการทำกิจกรรมโดยตลอด อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังได้เชิญผู้จัดการชุมนุมเข้าไปด้านในของสถานี MRT เพื่อพูดคุย

ในระหว่างการทำกิจกรรม ผู้เข้าร่วมชุมนุมยังได้รับแจกปลอกแขนเสื้อสีส้มเพื่อใช้ในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ คัดค้านการประกาศต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาล อีกทั้งยังมีการชูป้ายเพื่อสะท้อนความไม่เห็นด้วยต่อคำประกาศดังกล่าวของรัฐบาล

“ทำไมจึงต้องมาฟ้องศาลแพ่ง? ศาลแพ่งเป็นศาลเก็บตก เนื่องจากข้อกำหนดหนึ่งของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้ตัดอำนาจศาลปกครอง นี่เป็นข้อเสียชัดเจน เนื่องจากทำให้เราใช้อำนาจศาลปกครอง ตรวจสอบ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้” – ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ หนึ่งในตัวแทนจากภาคประชาสังคมกล่าว

ต่อมา ในช่วงเวลา 09.30 น. ทางตัวแทนทั้ง 5 ร่วมกับผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ได้เริ่มเคลื่อนขบวนไปยังศาลแพ่ง โดยตลอดทางมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยเฝ้าจับตาดูและบันทึกภาพอยู่ตลอด จนเมื่อเข้าใกล้บริเวณศาล ทางเจ้าหน้าที่ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ชุมนุมงดถือป้าย เนื่องจากข้อห้ามใน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา 7 ที่ไม่อนุญาตให้ทำการชุมนุมในบริเวณของศาล

ทางกลุ่มเดินทางมาถึงศาลแพ่งราว 10.00 น. โดยมีผู้ชุมนุมเพิ่มขึ้นราว 100 คน ผู้ชุมนุมได้รับแจ้งให้เก็บป้ายข้อความ โดยในบริเวณดังกล่าวมีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบรวมถึงเจ้าที่ดูแลความปลอดภัยของศาลมายืนรอบๆ ประมาณมากกว่า 40 คน หนึ่งในผู้ยื่นฟ้องในครั้งนี้คือ นาย นิมิตร์ เทียนอุดม ได้อ่านแถลงการณ์ด้านหน้าศาล ระบุว่า

นิมิตร์ เทียนอุดม

“โรคโควิดหมดแล้วเราจึงคิดว่าควรจะใช้กฎหมายปกติในการควบคุมโรค​ เพราะทุกคนก็ดูแลตัวเองกันได้ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า​ เราจึงส่งตัวแทน 5 คน​ ยื่นฟ้อง” – นิมิตร์ เทียนอุดม หนึ่งในผู้ยื่นฟ้องศาลแพ่งกรณีการยืดอายุใช้งานของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ

ราวสิบนาทีต่อมาหลังกล่าวแถลงการณ์ ทางตัวแทนได้ขอให้ทางผู้ชุมนุมเดินทางกลับไปรอที่บริเวณประตู 4 ของ MRT ลาดพร้าว ขณะที่ทั้ง 5 ได้เข้าไปในศาลแพ่งเพื่อยื่นฟ้องให้ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ โดยด้านนอก มีสื่อมวลชนรอมากกว่า 10 คน และมีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบประมาณ 2 นาย และนอกเครื่องแบบประมาณมากกว่า 5 นาย ยืนจับตาการทำเข้ายื่นฟ้อง

11.00 น. หลังจากเข้ายื่นฟ้อง นิมิตร์ เทียนอุดม ในฐานะตัวแทน People Go และผู้เข้ายื่นฟ้องคนอื่นๆ ได้แถลงต่อสื่อ ระบุว่า การประกาศต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในครั้งนี้เป็นไปเพื่อยืดอำนาจบริหารประเทศเท่านั้น เนื่องจากมาตรการในการควบคุมการระบาดของโรคสามารถใช้กฎหมายปกติเพื่อควบคุมและจัดการ ทางกลุ่มจึงจะเดินหน้าต่อโดยจะไปชุมนุมหน้าตึก UN เพื่อทวงถามนายกต่อในวันจันทร์หน้า (13 กรกฎาคม 2563)

ทางด้านทนายความของทั้ง 5 กล่าวว่า นอกจากการยื่นฟ้องแล้ว ผู้ฟ้องคดีได้ขอศาลให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระหว่างที่อยู่ในช่วงดำเนินการพิจารณา ให้โจทก์ทั้ง 5 สามารถจัดการชุมนุมได้ในวันที่ 13 ที่จะถึงนี้ และได้ขอเร่งให้มีการไต่สวนฉุกเฉินภายในวันนี้ด้วย ศาลรับคำร้องไว้พิจารณาและได้นัดไต่สวนฉุกเฉินในวันนี้ที่ห้องพิจารณาหมายเลข 713 เวลา 13.30 น. ขณะที่ตัวแทนคนอื่นๆ 4 คน ยกเว้นนิมิตร์ ต้องเดินทางต่อไป สน. วังทองหลาง เพื่อรับทราบข้อหาละเมิด พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 ด้านหน้าสถานฑูตกัมพูชา ร้องความเป็นธรรมให้กับผู้ลี้ภัยทางการเมือง วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกอุ้มหาย

สำหรับเนื้อหาในคำฟ้องของทั้ง 5 มีเนื้อความดังนี้

ข้อ 1 โจทก์ที่ 1 เป็นผู้แทนกลุ่ม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ โจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 5  เป็นผู้แทนคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เนื่องจากได้ไปยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลกัมพูชาช่วยตามหานายวันเฉลิม  สัตย์ศักดิ์สิทธิ์  นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน  ซึ่งถูกอุ้มหายกลางกรุงพนมเปญ  ณ สถานทูตกัมพูชา

จำเลยดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มีอำนาจออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน  ตามมาตรา 5  และออกข้อกำหนด  ตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ข้อ 2 เมื่อวันที่ 25  มีนาคม  2563  จำเลยใช้อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร  เนื่องจากมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  หรือโรคโควิด 19  ตั้งแต่วันที่ 26  มีนาคม  2563  จนถึงวันที่  30  เมษายน  2563  และได้ออกข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  (ฉบับที่ 1) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26  มีนาคม  2563  เป็นต้นไป  ซึ่งตามข้อ 5 ของข้อกำหนดดังกล่าว  กำหนดว่า “การห้ามชุมนุม  ห้ามมิให้มีการชุมนุม  การทำกิจกรรม  หรือการมั่วสุมกัน  ณ  ที่ใดๆ  ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย  ทั้งนี้  ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงประกาศกำหนด

ต่อมา  เมื่อวันที่ 28  เมษายน  2563  จำเลยใช้อำนาจประกาศ ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 1)  ตั้งแต่วันที่ 1 – 31  พฤษภาคม  2563  เมื่อวันที่  26  พฤษภาคม  2563  ประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 2)  ตั้งแต่วันที่  1 – 30  มิถุนายน  2563  และเมื่อวันที่  30  มิถุนายน  2563  ประกาศ  ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3)  ตั้งแต่วันที่ 1 – 31  กรกฎาคม  2563

ในระหว่างระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว  เมื่อวันที่ 8  มิถุนายน  2563  โจทก์ที่ 2  ถึงโจทก์ที่ 5  เป็นผู้แทน กป.อพช.  ได้ไปยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลกัมพูชาช่วยตามหานายวันเฉลิม  สัตย์ศักดิ์สิทธิ์  นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน  ซึ่งถูกอุ้มหายกลางกรุงพนมเปญ  ณ สถานทูตกัมพูชา  เป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวน สน.วังทองหลาง  โจทก์ที่ 2  ถึงโจทก์ที่ 5  ดำเนินกิจกรรมในฐานะภาคประชาสังคมที่ต้องใช้เสรีภาพในการชุมนุมหรือการรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่างๆ  จึงไม่สามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมอันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้

นอกจากนี้  เมื่อวันที่ 1  กรกฎาคม  2563  โจทก์ที่ 1  ในฐานะผู้แทนกลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการได้ยื่นหนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง  เพื่อจัดชุมนุมติดตามการเสนอกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ ของภาคประชาชนกับนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 กรกฎาคม  2563  อันเป็นการใช้สิทธิในเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ อันเป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 44 ได้รับรองไว้  และในวันเดียวกัน  โจทก์ที่  1  ได้รับหนังสือ เรื่อง  ข้อสรุปการพิจารณาการชุมนุมสาธารณะ  จากผู้กำกับการ สน.นางเลิ้ง ว่า เนื่องด้วยอยู่ในห้วงของการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร  ซึ่งได้มีประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามชุมนุม  การทำกิจกรรม  การมั่วสุม  โดยอาศัยอำนาจตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9  แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  (ฉบับที่ 1)  ข้อ 5  เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด 19  มิให้ขยายไปในวงกว้าง  จึงกำหนดห้ามการชุมนุม  การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อโรค  การจัดการชุมนุมตามที่โจทก์ที่ 1  แจ้งการชุมนุมจึงอาจเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อประกาศและข้อกำหนดดังกล่าว  เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการมิอาจใช้เสรีภาพในการชุมนุมอันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้

ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญในรัฐที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยและผูกพันตามหลักนิติรัฐ  สิทธิทางรัฐธรรมนูญย่อมผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร การที่จำเลยประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3)  และยังบังคับใช้ข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 ส่งผลให้โจทก์ทั้งห้าไม่อาจใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญได้  อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งห้า  ทำให้โจทก์ทั้งห้าได้รับความเสียหาย

ข้อ 3 ประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3) และการบังคับใช้ข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อ 5  เป็นประกาศและข้อกำหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เนื่องจากปัจจุบันไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉินอันเป็นเหตุให้ออกประกาศและข้อกำหนดดังกล่าวแล้ว  ดังรายละเอียดต่อไปนี้

3.1 จำเลยไม่มีอำนาจประกาศขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3) ณ วันที่  30  มิถุนายน  2563 เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศไทยไม่ใช่สถานการณ์ฉุกเฉินตามนิยามในมาตรา 4 ประกอบมาตรา 5  ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่อย่างใด โดย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้บัญญัติองค์ประกอบของ “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ไว้  3 ประการ 1. ต้องเกิดสถานการณ์ที่กระทบหรืออาจจะกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ  2. ต้องมีความจําเป็นที่จะต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดํารงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม การป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง  และ 3. ต้องมีความจำเป็นในการใช้กําลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตํารวจ พลเรือน หรือทหาร ร่วมกันป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้ง ฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน แต่ในวันที่จำเลยออกประกาศจนถึงปัจจุบัน  ไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉินตามคำนิยามดังกล่าว ประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่ภายในประเทศเป็นเวลามากกว่า 43 วันแล้ว  และในปัจจุบันมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเพียง 65 รายเท่านั้น  สถานการณ์ที่คลี่คลายเบาบางลงดังกล่าวจึงไม่มีความจำเป็นถึงขั้นที่จะต้องใช้อำนาจฉุกเฉินเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินอีกต่อไป

นอกจากนี้  เหตุผลหลักประการหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีอาศัยเป็นฐานในการประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3)  คือเพื่อความเป็นเอกภาพและเพื่อความมีประสิทธิภาพในการแก้ไขสถานการณ์โควิด 19  ตามที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม.มีมติให้ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือน จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 เพียงเพื่อใช้ในการควบคุมการเดินทางเข้าออกราชอาณาจักรและกำหนดมาตรการควบคุมโรคที่สามารถใช้บังคับอย่างครอบคลุมในทุกกิจกรรมแบบบูรณาการ ทั้งพลเรือน ทหาร และตำรวจ รวมถึงเพื่อการบริหารจัดการวิกฤตให้เป็นเอกภาพ  แต่เหตุผลดังกล่าวไม่สอดคล้องกับเหตุที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4  และไม่ใช่สถานการณ์ฉุกเฉิน  เนื่องจากการบริหารจัดการแบบบูรณาการหรือความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการนั้นไม่ใช่ “ความจำเป็น” อันเป็นเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจจำเลยในการประกาศหรือขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแต่อย่างใด อีกทั้งจำเลยเป็นนายกรัฐมนตรี มีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองแบบบูรณาการได้อยู่แล้ว ทั้งการบังคับบัญชาหน่วยงานภายในฝ่ายบริหาร และกำหนดนโยบายอันเป็นแนวปฏิบัติ ไม่มีความจำเป็นในการอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีก  ส่วนการเดินทางเข้าออกประเทศ เจ้าหน้าที่อาจอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมโรคติดต่อหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องในการกักตัวบุคคลเพื่อตรวจสอบได้อยู่แล้ว กล่าวคือมีอำนาจทางกฎหมายปกติที่เพียงพอในการบริหารจัดการกับสถานการณ์โควิด 19 ในปัจจุบันได้โดยไม่ต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ดังนั้นการที่จำเลยประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3)  เป็นการใช้ดุลพินิจวินิจฉัยองค์ประกอบส่วนเหตุของกฎหมายที่ผิดพลาดอย่างชัดแจ้ง  เนื่องจากเหตุในการประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่เป็นไปตามกฎหมาย  ประกาศขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3) จึงเป็นประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และไม่อาจใช้บังคับได้  โจทก์ทั้งห้าจึงขอศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนประกาศขยายขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3)  ด้วย

3.2 ข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 การห้ามชุมนุม เป็นการจำกัดสิทธิในเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 44  เกินสมควรแก่เหตุ

ข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อ 5  นั้นได้บัญญัติ ห้ามมิให้ชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย  โดยข้อกำหนดดังกล่าวมีผลเป็นการจำกัดสิทธิทางรัฐธรรมนูญของโจทก์ทั้งห้าที่ขัดกับหลักความพอสมควรแก่เหตุ ไม่ได้สัดส่วนกับประโยชน์สาธารณะที่ได้รับ  เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ในประเทศไทยได้เบาบางลงจนไม่มีความจำเป็นจะต้องจำกัดสิทธิในเสรีภาพในการชุมนุมแล้ว แม้แต่รัฐบาลเองก็มีการผ่อนคลายเฟสที่ 5 ให้ ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือ สถานประกอบกิจการ อาบ อบ นวด ดำเนินกิจการได้ กิจกรรมจัดเลี้ยง สัมนา หรือการประชุมสามารถทำได้ ซึ่งกิจการและกิจกรรมดังกล่าวมีความเป็นไปได้ในการแพร่กระจายของโรคไม่ต่างกับการชุมนุมแต่อย่างใด

มาตรการห้ามชุมนุมจึงไม่ใช่วิถีทางที่น้อยที่สุดในการจำกัดสิทธิในเสรีภาพในการชุมนุมของโจทก์ทั้งห้า  เนื่องจากมีมาตรการอื่นๆ ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้ แต่จำเลยกลับยังขยายการบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินและบังคับใช้ข้อกำหนด อันเป็นการกระทบถึงสาระสำคัญของเสรีภาพในการชุมนุมซึ่งเป็นสิทธิที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 21 ปัจจุบันการห้ามชุมนุมนั้นก่อให้เกิดการสูญเสียสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนมากเกินกว่าประโยชน์สาธารณะที่ได้รับ เป็นการจำกัดสิทธิในเสรีภาพในการชุมนุมจนเกินสมควรแก่เหตุตามรัฐธรรมนูญมาตรา 26 ข้อกำหนดดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ไม่อาจบังคับใช้ได้  โจทก์ทั้งห้าจึงขอศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9  แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อ 5  ด้วย

ข้อ 4  การประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (คราวที่ 3) และข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9  แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 แม้เป็นการกระทำของจำเลยโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย  แต่เป็นการประกาศและออกข้อกำหนดโดยไม่มีเหตุตามกฎหมายให้จำเลยกระทำได้  ประกาศและข้อกำหนดดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งศาลในฐานะองค์กรตุลาการจึงตรวจสอบการใช้อำนาจในการออกประกาศและข้อกำหนดของจำเลยว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งประกาศและข้อกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน  เป็นมาตรการทางกฎหมายของฝ่ายบริหารที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง  ดังนั้น  การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจึงควรใช้เท่าที่มีเหตุตามกฎหมายและเท่าที่จําเป็นเท่านั้น

ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีหลักนิติรัฐเป็นหลักการในการควบคุมการใช้อำนาจรัฐนั้น  มาตรการทางกฎหมายของรัฐที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชนจะต้องเป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุและหลักความจำเป็น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติรัฐอันเป็นหลักกฎหมายทั่วไปทางรัฐธรรมนูญที่ผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร โดยหลักการนี้ได้บัญญัติรับรองอยู่ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในปัจจุบัน  รวมไปถึงหลักการนี้ได้มีพัฒนาการและการรับรองในระบบกฎหมายไทยมาช้านานไม่ว่าจะเป็นการรับรองโดยคำพิพากษาของศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญ

องค์กรที่ใช้อำนาจรัฐทุกองค์กรจะต้องคำนึงถึงหลักความพอสมควรแก่เหตุและหลักความจำเป็น  หลักความพอสมควรแก่เหตุประกอบด้วยหลักการย่อย 3 ประการ ประการแรกมาตรการของรัฐจะต้องมีความเหมาะสมกล่าวคือมาตรการนั้นสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้จริง ประการที่สองมาตรการของรัฐจะต้องสอดคล้องกับหลักความจำเป็นกล่าวคือมาตรการนั้นเป็นมาตรการที่จำกัดสิทธิน้อยที่สุด และประการสุดท้าย มาตรการของรัฐนั้นจะต้องสอดคล้องกับความพอสมควรแก่เหตุในความหมายอย่างแคบ กล่าวคือมีความสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ส่วนรวมที่จะได้รับกับสิทธิหรือเสรีภาพที่ประชาชนจะต้องสูญเสียไปอันเนื่องมาจากกฎหมายนั้น โดยในอดีตศาลยุติธรรมได้ใช้หลักความพอสมควรแก่เหตุในการวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจรัฐมาโดยตลอด เช่นในคำพิพากษาฎีกาที่ 1677/2498 ศาลฎีกาได้นำหลักความเหมาะสมมาวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายของประกาศของคณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควร โดยศาลกล่าวว่าเป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์อันชอบด้วยกฎหมาย ในคำพิพากษาฎีกาที่ 4634/2536 ศาลได้นำหลักความจำเป็นมาพิจารณาว่ามาตรการนั้นเป็นมาตรการที่กระทบสิทธิน้อยที่สุดหรือไม่ กล่าวคือหลีกเลี่ยงได้หรือไม่ และในคำพิพากษาฎีกาที่ 2683/2536 คำพิพากษาฎีกาที่ 9932/2539 และคำพิพากษาฎีกาที่ 8298/2540 ศาลฎีกาได้เปรียบเทียบความเสียหายของปัจเจกบุคคลและประโยชน์ของสาธารณะที่ได้รับโดยอาศัยหลักความพอสมควรแก่เหตุในความหมายอย่างแคบเข้ามาพิจารณา

ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยตามหลักนิติรัฐนั้น การกระทำหรือมาตรการขององค์กรของรัฐที่ล่วงละเมิดหรือจำกัดสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชนต้องถูกตรวจสอบได้เสมอโดยองค์กรตุลาการ การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น แม้โดยทั่วไปจะเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลปกครองอันเป็นองค์กรตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายหรือความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำทางปกครอง  แต่มาตรา 16 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้นได้กำหนดให้บรรดาประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำใดๆ ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของศาลปกครองโดยสิ้นเชิง  ดังนั้น  ตามหลักการในระบบกฎหมายและตามรัฐธรรมนูญมาตรา 194 ที่ได้วางหลักว่าศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีพิพาททั้งปวง  ศาลยุติธรรมย่อมมีเขตอำนาจทั่วไปซึ่งแตกต่างกับศาลบางประเภทที่มีเขตอำนาจเฉพาะเหนือคดีบางประเภท  ในฐานะองค์กรตุลาการซึ่งเป็นองค์กรที่เป็นเสาหลักของหลักนิติรัฐและมีหน้าที่ในการคุ้มครองรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด ศาลยุติธรรมจึงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นโจทก์ทั้งห้าจึงขอให้ศาลรับฟ้องของโจทก์ทั้งห้าไว้พิจารณาเพื่อเป็นบรรทัดฐานสร้างความเป็นธรรมแก่ระบบกฎหมายทั้งระบบ

โจทก์ทั้งห้าไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับจำเลยให้เพิกถอนการประกาศขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร  (คราวที่ 3)  และเพิกถอนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 ได้  จึงจำเป็นต้องฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้

 

 

แสงศิริ ตรีมรรคา: พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ถูกใช้เพื่อจำกัดสิทธิ เปิดโอกาสให้เกิดการละเมิดโดยปิดกั้นไม่ให้ประชาชนมีช่องร้องเรียนความไม่เป็นธรรม

จากข้อมูลของ แสงศิริ ตรีมรรคา ตัวแทนจากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์และผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ หนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีในฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และเป็นหนึ่งในโจทก์ในการเข้ายื่นฟ้องต่อศาลแพ่งครั้งนี้  ให้ข้อมูลกับทางศูนย์ทนายฯ ว่า แนวคิดหลักที่นำไปสู่การฟ้องดำเนินคดีกับรัฐก็เนื่องมาจากการประกาศใช้กฎหมายพิเศษที่ยาวนานเกินไปและใช้อย่างไม่จำเป็น และมีผลควบคุมสิทธิของประชาชน

“เราคิดว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ครั้งนี้มันเกินเลยและมีความยาวนานเกินไปสำหรับการควบคุมโรค หากดูจากสถานการณ์ ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายตัวนี้แล้ว เรายืนยันว่ามันยังมีกฎหมายอื่นที่สามารถนำมาใช้ในการควบคุมการระบาดของไวรัส covid-19 ได้”

“เราพบว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมประชาชนในหลายๆ รูปแบบ โดยเฉพาะในเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นการไปยื่นจดหมายหรือการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงออกทางการเมืองหรือกิจกรรมที่ต้องการสื่อสารถึงผู้นำของรัฐบาลในประเด็นที่ประชาชนมีปัญหาเดือดร้อน

สำหรับการที่ต้องยื่นเรื่องผ่านทางศาลแพ่ง แสงสิริทบทวนถึงประเด็นปัญหาในตัว พ.ร.ก. ซึ่งช่องทางเดียวที่กฎหมายเปิดให้ประชาชนสามารถร้องเรียนเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมได้นั้นสามารถทำได้แค่ผ่านทางศาลแพ่งเท่านั้น

“ที่จำเป็นต้องผ่านทางศาลแพ่งนั่นก็เพราะว่า ตัวของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เมื่อมันถูกประกาศใช้ มันให้อำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานกับเจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวาง เมื่อเกิดกรณีละเมิดขึ้นมันควรจะสามารถฟ้องศาลปกครองได้ แต่ปัญหาของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ นั่นก็คือมันมีการเขียนกันเอาไว้ว่า หากเจ้าหน้าที่กระทำการละเมิด ประชาชนไม่สามารถฟ้องผ่านทางศาลปกครองได้”

“เราพยายามศึกษาหากลไกว่าจะทำอย่างไร ที่จะสะท้อนถึงการแสดงออกถึงการไม่ยอมรับการประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ให้มีการยกเลิก เราจะสามารถเรียกร้องทางไหนได้บ้าง เราเคยไปยื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีแต่ก็ไม่ได้รับคำตอบอะไร ก็เลยคิดว่าเราควรจะใช้กระบวนการทางศาลเพื่อให้เกิดการไต่สวน ให้มีการพิจารณาเพื่อยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษ อีกทั้งในศาลแพ่งยังมีมาตราหนึ่ง ระบุว่า หากไม่มีศาลไหนรับเรื่อง กฎหมายเปิดช่องให้เราสามารถฟ้องผ่านทางศาลแพ่งได้ ตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าจะรับพิจารณาหรือไม่”

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการชุมนุมในวันนี้ ทางกลุ่ม People Go ได้ทำเรื่องขออนุญาตจัดการชุมนุมกับทาง สน. พหลโยธิน แต่เพียงหนึ่งวันก่อนที่จะมีการจัดการชุมนุม ทาง สน. ได้มีหนังสือตอบกลับ ชี้แจงว่าการชุมนุมดังกล่าวอาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อประกาศข้อบังคับของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และอาจมีโทษทางอาญาตามมา แต่ทางแสงสิริมองว่า เธอและผู้ร่วมเคลื่อนไหวได้มีการเตรียมมาตรการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัสแล้วระหว่างการชุมนุม และหากจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการทางคดี เธอและคนอื่นๆ ก็พร้อมที่จะสู้ไปตามกระบวนการ

“หากเขาจะแจ้งข้อหาเราว่าละเมิด พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เราก็พร้อมที่จะสู้ตามกระบวนการทางคดี กระบวนการทางกฎหมาย แต่ในการรณรงค์ของเรา เราจะใช้ทุกมาตรการเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อหรือแพร่โรคระบาด เราเชื่อว่าทุกคนที่มาต่างก็ดูแลตัวเอง นั่นคือหลักการของเรา จะต้องใส่หน้ากากอนามัยและดูแลความสะอาดอย่างเคร่งครัด”

 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

“โชติศักดิ์และสมยศ” เข้ารับทราบข้อกล่าวหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุร้องขอความเป็นธรรมให้วันเฉลิมหน้าสถานทูตกัมพูชา

4 ผู้ต้องหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการขอความเป็นธรรมให้ “วันเฉลิม” เข้ารับทราบข้อกล่าวหา

ตร.ออกหมายเรียกผู้ทำกิจกรรมร้องขอความเป็นธรรมให้ “วันเฉลิม” 6 ราย อ้างฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

 

X