9 ก.ค. 63 – หลังจากที่ทางเครือข่าย People Go ได้เดินทางไปยังศาลแพ่ง รัชดาฯ เพื่อยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีกรณีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลในช่วงเช้า บ่ายของวันเดียวกัน ตัวแทนผู้ฟ้องคดีที่ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา ฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ จากการออกมาเรียกร้องกรณีการหายตัวไปของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ด้านหน้าสถานทูตกัมพูชาในช่วงเช้าของวันที่ 8 มิ.ย. 63 ในนามของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้แก่ นาย ณัฐวุฒิ อุปปะ, นางสาว แสงศิริ ตรีมรรคา, นาย วศิน พงษ์เก่า และ นาย อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ได้เดินทางไปเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.วันทองหลาง พร้อมขบวนประชาชนเครือข่าย People Go โดยในวันนี้มีสื่อมวลชนและ 6 ผู้ต้องหาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หน้าสถานทูตกัมพูชาอีกชุดหนึ่ง มาให้กำลังใจและกดดันให้รัฐบาลยกเลิกการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในขณะที่มีตำรวจนอกเครื่องแบบ สันติบาล และเจ้าหน้าที่เสื้อเหลืองที่คาดว่าเป็นทหารไม่น้อยกว่า 50 นาย มาเฝ้าสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด
เวลา 12.48 น. เครือข่าย People Go เคลื่อนตัวมาที่หน้า สน.วังทองหลาง บริเวณหน้า สน. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ 6 นาย คอยเจรจากับประชาชนที่มาให้กำลังใจไม่ให้นำรถกระบะเข้ามายังบริเวณหน้า สน. เนื่องจากมีตำรวจจเรเข้ามาตรวจการทำงานของ สน.วังทองหลาง ในช่วงเวลาเดียวกัน ด้านตัวแทนเครือข่ายฯ ซึ่งในขณะนั้นนั่งอยู่ที่ท้ายรถกระบะก็ตอบโต้ว่า ถ้าไม่อยากให้รถติด หรือไม่อยากให้เกิดความวุ่นวาย ก็ไม่ควรฟ้องประชาชนด้วยข้อหานี้ตั้งแต่แรก จากนั้นจึงชวนประชาชนมารวมตัวด้านหน้ารถ ก่อนเดินฝ่าเจ้าหน้าที่ที่ยืนขวางเพื่อนำรถเข้าไปจอดหน้า สน.
ต่อมาเวลา 13.10 น. หลังเครือข่าย People Go สามารถเข้าถึงพื้นที่บริเวณหน้า สน. ได้แล้ว ผู้ต้องหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และผู้ที่จะเข้ารับทราบข้อกล่าวหา จากกิจกรรมหน้าสถานทูตกัมพูชาทั้ง 2 ชุด รวมทั้งหมด 10 คน ก็ยืนเรียงกันเพื่อแถลงความรู้สึกและจุดยืนต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากนั้นจึงฉีกประกาศขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ขยำทิ้งลงถังขยะ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม และการทิ้งขยะยังเป็นการแสดงว่า ผู้ชุมนุมนั้นรักษาความสะอาด ต่างกับคำกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ว่า ผู้ชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.บ. ความสะอาดฯ กรณีที่มีการแจ้งข้อหา พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 12 และ 56 แก่สมยศ พฤกษาเกษมสุข จากกิจกรรมดังกล่าวด้วย
หลังจากนั้น ผู้ต้องหาก็อ่านแถลงการณ์ของเครือข่าย โดยมีใจความสำคัญว่า
“การคงไว้ซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน […] มีประโยชน์เพียงแต่กับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น เพื่อจะบริหารประเทศได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไร้การตรวจสอบถ่วงดุล หรือเรียกได้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีไว้เพื่อการ “ยึดอำนาจ” การบริหารประเทศ ส่วนการป้องกันและควบคุมโรคระบาดเป็นมาตรการที่เดินหน้าตามกฎหมายในระบบปกติอยู่แล้ว [ดังนั้น] ความจำเป็นที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหมดไปนานแล้ว และขอเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรียุติการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เดี๋ยวนี้! […]”
ตลอดการทำกิจกรรมมีทั้งเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบจำนวน 10 นาย ตั้งแถวข้างผู้ชุมนุม และสันติบาลกับเจ้าหน้าที่เสื้อเหลืองที่ถ่ายรูปและวิดีโออย่างใกล้ชิด
รองผู้กำกับสอบสวน สน.วังทองหลาง พ.ต.ท. เชาวฤทธิ์ เงินฉลาด หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน ได้แจ้งข้อกล่าวหานักกิจกรรมทั้งสี่ ในข้อหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อที่ 5 “ร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” เช่นเดียวกับอีก 6 ผู้ต้องหาที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 2 และ 9 ก.ค. ที่ผ่านมา
เวลา 14.35 น. หลังรับทราบข้อกล่าวหา ผู้ต้องหาทั้ง 4 ออกมาเปิดเผยว่า ได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและจะขอให้การเป็นหนังสือภายใน 20 วัน ก่อนแยกย้ายกันกลับ
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง
4 ผู้ต้องหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการขอความเป็นธรรมให้ “วันเฉลิม” เข้ารับทราบข้อกล่าวหา
ตร.ออกหมายเรียก สมาชิกสนท.จากกิจกรรม “ทวงความเป็นธรรมให้วันเฉลิม” อ้างผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ก่อนการต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ รอบ 2 ที่ไม่ฉุกเฉิน-ไม่ยึดโยงประชาชน: ข้อสังเกตทางกฎหมายฯ