ยกฟ้อง! อีกคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โคราช สาดสีประณาม ตร.ศาลชี้ จำเลยไม่ใช่ผู้จัด ทั้งไม่มีผู้ติดโควิด น่าสงสัยว่าชุมนุมเสี่ยงแพร่โควิดหรือไม่

21 มิ.ย. 2565 “เตอร์” มกรพงษ์ ทรัพย์ประเสริฐ อายุ 23 ปี และ “บุ๊ค” วรัญญู คงสถิตย์ธรรม อายุ 27 ปี เดินทางไปฟังคำพิพากษาคดีชุมนุมของกลุ่ม Korat Movement หน้าตำรวจภูธรภาค 3 เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 ซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงนครราชสีมา ข้อหา “ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานโรคติดต่อ และร่วมชุมนุมในขณะมีสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งอาจทําให้เหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น” อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อฯ มาตรา 34 และคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 4 นพพล เลี่ยวไพโรจน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลแขวงนครราชสีมา อ่านคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยคำพิพากษามีใจความในส่วนที่เป็นข้อวินิจฉัยแยกเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

.

ไม่มีหลักฐานว่าใครโพสต์นัดหมาย-ไลฟ์สดกิจกรรม-จัดเตรียมอุปกรณ์ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัด 

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมอันเสี่ยงต่อการแพร่โควิด-19 ตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคำสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ 7916/2564 หรือไม่ 

โจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 เวลา 18.00 น. มีการถ่ายทอดสดผ่านเพจ Korat Movement ปรากฏภาพกลุ่มบุคคลทำกิจกรรมหน้าอาคารกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 พ.ต.อ.กรกฏ โปชยะวณิช ผู้กำกับ สภ.เมืองนครราชสีมา และ พ.ต.ท.ไพฑูรย์ อ่อนคำ จึงเดินทางไปยังที่เกิดเหตุ พบจำเลยทั้งสอง และกลุ่มบุคคลประมาณ 20 คน กำลังทำกิจกรรม 

พ.ต.อ.กรกฏ เข้าห้ามปรามแต่ไม่เป็นผล โดยจำเลยที่ 1 อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีลาออก และให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้จุดไฟเผาหุ่นฟางอันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง ในขณะร่วมกันชุมนุมจำเลยทั้งสองและบุคคลดังกล่าวยืนในลักษณะใกล้ชิดกัน ผู้ชุมนุมบางคนถอดหน้ากากอนามัย และไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เวลา 18.47 น. จึงยุติกิจกรรมและแยกย้ายกันกลับ 

โจทก์ยังมีชาญชัย บุญอยู่ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เบิกความว่า เหตุที่ต้องออกคำสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ 7916/2564 ซึ่งในข้อ 10 มีการห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 5 คน เนื่องจากการรวมกลุ่มของบุคคลอาจเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และจากภาพถ่ายในขณะเกิดเหตุ การยืนรวมกลุ่มของจำเลยทั้งสองและผู้ร่วมชุมนุมมีลักษณะใกล้ชิดกัน แม้ว่าจะสวมหน้ากากอนามัย แต่อาจก่อให้เกิดการแพร่ของโควิด-19 ได้ 

ศาลเห็นว่า ข้อกำหนดคำสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่ 7916/2564 มิได้บัญญัติบทนิยามสำหรับการเป็นผู้จัดชุมนุมไว้โดยเฉพาะ ทั้งในขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาที่มีการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งมาตรา 3(6) ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 บัญญัติไม่ให้นำ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาใช้บังคับ ดังนั้น บทนิยามคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม” ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ จึงไม่อาจนำมาปรับใช้แก่คดีนี้ได้ 

อีกทั้ง พ.ต.อ.กรกฏ และ พ.ต.ท.ไพฑูรย์ ก็ไม่ได้เบิกความว่า บุคคลใดเป็นผู้โพสต์ข้อความ “ปฏิบัติการลับกำลังจะเริ่มขึ้น” และถ่ายทอดสดกิจกรรมในเพจ Korat Movement ทั้งยังตอบคำถามทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า ไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นแอดมินเพจดังกล่าว ไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้จัดเตรียมหุ่นฟางหรือสีที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรม ลำพังเพียงข้อเท็จจริงที่รับฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้อง และจำเลยที่ 2 เป็นผู้จุดไฟเผาหุ่นฟางในสถานที่เกิดเหตุ ยังไม่พอฟังว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเป็นผู้จัดให้มีกิจกรรมชุมนุมอันเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 ตามฟ้อง จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยหลักฐานของจำเลยทั้งสอง

.

โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า เป็นการชุมนุมในสถานที่แออัด อันเป็นความผิดตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 1) ที่โจทก์ฟ้อง ศาลจึงลงโทษจำเลยไม่ได้

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ฉบับที่ 3) หรือไม่ 

ศาลเห็นว่า ข้อกำหนด (ฉบับที่ 1) มีระบุความผิดเกี่ยวกับการชุมนุมไว้ในข้อที่ 5 คือ ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือมั่วสุม ในสถานที่แออัด แต่บรรยายฟ้องการกระทำของของจำเลยทั้งสองที่อ้างว่าเป็นความผิดเพียงว่า เข้าร่วมชุมนุมกับประชาชน โดยผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ได้เข้มงวดในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย ไม่ได้เว้นระยะห่างเกิน 2 เมตร ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่โควิด -19 โดยไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเป็นการชุมนุมในสถานที่แออัด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้อง แม้โจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามข้อกำหนด (ฉบับที่ 1) ศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรค 1

.

ผู้ชุมนุมเพียง 24 คน ทำกิจกรรม 24 นาที ที่ชุมนุมโล่งกว้าง ทั้งไม่มีรายงานผู้ชุมนุมติดโควิดจากการชุมนุม ยังน่าสงสัยว่าเสี่ยงแพร่โควิดหรือไม่ 

คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันชุมนุมอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 3) หรือไม่ 

ศาลเห็นว่า การเข้าร่วมชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางการเมืองอันเป็นการกระทำความผิดตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ต้องมีลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด -19 ประเด็นดังกล่าว โจทก์มี พ.ต.อ.กรกฏ และ พ.ต.ท.ไพฑูรย์ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า ในขณะร่วมกันชุมนุม กลุ่มบุคคลดังกล่าวยืนใกล้ชิดกัน ผู้ชุมนุมบางคนถอดหน้ากากอนามัย และไม่มีมาตรการป้องกันโควิด -19 มีรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ เบิกความว่า ตามภาพถ่ายวันเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองและผู้ร่วมชุมนุมยืนใกล้ชิดกัน แม้ว่าจะสวมหน้ากากอนามัย แต่อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้

แต่เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวเห็นได้ว่า คดีนี้มีจำเลยทั้งสองและกลุ่มผู้ชุมนุมทำกิจกรรมทางการเมืองรวมกันเพียง 24 คน กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาที่ชุมนุม มีการเดินไปมาตลอดเวลา มิใช่ยืนกระจุกตัวใกล้ชิดกันโดยตลอด ทั้งการชุมนุมทำกิจกรรมตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงสิ้นสุดเป็นระยะเวลาเพียง 24 นาที สถานที่เกิดเหตุเป็นสถานที่โล่งกว้างไม่มีที่กำบัง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ซึ่งได้ความจากปากพยานโจทก์ นพ.ชาญชัย ว่า สถานที่ลักษณะดังกล่าวลดความเสี่ยงในการแพร่โควิด-19

ประกอบกับได้ความจากพยานโจทก์ว่า ภายหลังเกิดเหตุ ไม่ได้รับรายงานว่ามีบุคคลใดในกลุ่มผู้ชุมนุมติดเชื้อโควิด-19 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีความสงสัยตามสมควรว่า การชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางการเมืองตามฟ้อง เป็นการชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรค 2 กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานจำเลยทั้งสอง พิพากษายกฟ้อง 

.

หลังศาลอ่านคำพิพากษา “บุ๊ค” วรัญญู ครูสอนว่ายน้ำและนักกิจกรรมกล่าวว่า  ส่วนตัวคุ้มค่าที่ได้ต่อสู้คดี รู้สึกเหมือนได้ยืนยันสิ่งที่คิดมาเสมอว่า การแสดงความคิดเห็นทางเมืองในที่สาธารณะเป็นสิ่งทำได้ แต่ก็ไม่รู้สึกดีใจ เพราะถ้าทางอัยการ ทางตำรวจคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนหรือหลักประชาธิปไตย ก็จะพบว่าจริงๆ แล้ว เขาและมกรพงษ์ไม่ควรต้องมาเสียเวลาขึ้นศาลในคดีนี้เลยด้วยซ้ำ “มันทำให้เราเสียเวลาไปมากจริงๆ”

.

.

บุ๊คเผยสาเหตุที่ไปร่วมในกิจกรรมเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 หน้าตำรวจภูธรภาค 3 ว่า เพราะตอนนั้น รัฐไทยเริ่มใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม มีการยิงกระสุนยาง มีการใช้แก๊สน้ำตา ทั้งๆ ที่สถานการณ์ยังไม่ได้จำเป็นต้องใช้ แถมยังใช้แบบผิดหลักสากลอีก นั่นจึงทำให้เรารู้สึกว่าเราคงต้องทำอะไรสักอย่าง เราไม่อยากให้ใครที่ยังต่อสู้อยู่รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยว

ส่วนความเห็นต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บุ๊คเห็นว่า ตอนแรกที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รัฐบาลบอกว่าเพื่อควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่พอดูไปแค่พักเดียว กลายเป็นเครื่องมือในการจับกุมคนที่ออกมาแสดงท่าทีต่อต้านรัฐบาลแทน และอย่างตอนนี้ที่สถานการณ์กลับมาใกล้เคียงปกติ ยังจะคงกฏหมายพิเศษนี้เอาไว้ทำไมอีก ควรยกเลิกเสียที

บุ๊คบอกถึงคนที่ยังสู้คดีอยู่ว่า เราคือเพื่อนกันนะ  “และจะบอกอีกว่า ที่ใดมี 1 ที่นั่นมี 2 คือ คุณจะไม่ถูกทิ้งให้เดียวดายในฟ้ากว้าง จะมีคนแบบพวกเรา คนรุ่นใหม่กว่าเรา คนรุ่นเก่ากว่าเรา ที่เค้าจะยังเดินร่วมทาง คอยสนับสนุนกันและกันอยู่เสมอ และสุดท้าย ชัยชนะจะอยู่ฝั่งประชาชนในที่สุด” 

สำหรับอนาคตอันใกล้เขามองว่ายังคงจะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ ต่อไป ส่วนอีกด้าน เขาคงยังทำงานด้านสิทธิและพยายามเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมืองโคราชต่อไป

.

.

การชุมนุมกึ่งปฏิบัติการศิลปะ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 บริเวณหน้าตำรวจภูธรภาค 3 ภายใต้ชื่อ Project Red Road ของกลุ่ม Korat Movement มีขึ้นหลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกที่กรุงเทพฯ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐสลายการชุมนุมที่มีทั้งการใช้แก๊สน้ำตาและยิงกระสุนยางเข้าใส่ผู้ชุมนุม 

โดยต้องการประณามและเรียกร้องให้ตำรวจปกป้องประชาชน ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของเผด็จการใช้ภาษีของประชาชนมาปราบปรามประชาชน รวมถึงเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กิจกรรมมีคนเข้าร่วมประมาณ 20 คน มีการชูป้ายข้อความ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์”, เผาหุ่นฟางและรูปประยุทธ์ รวมทั้ง ผบ.ตร., กล่าวข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ, ประยุทธ์ต้องลาออก, ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และปาถุงบรรจุสีลงบนถนน ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ก็เก็บกวาดสิ่งของก่อนแยกย้ายกันกลับ

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกิดจากการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในพื้นที่ จ.นครราชสีมา รวม 5 คดี มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้ว 3 คดี ได้แก่ คดีคาร์ม็อบเหตุวันที่ 1 ส.ค. 2564, คดีคาร์ม็อบ 15 ส.ค. 2564 และคดีชุมนุมหน้าตำรวจภูธรภาค 3 เหตุวันที่ 7 ส.ค. 2564 ยังเหลือคดีคาร์ม็อบ 23 ก.ค. 2564  นัดฟังคำพิพากษาวันที่ 19 ก.ค. 2565 และคดีคาร์ม็อบ 21 ส.ค. 2564  ที่จะเริ่มสืบพยานในเดือนพฤศจิกายน 2565

.

อ่านประมวลคดีนี้ 

ก่อนฟังคำพิพากษา: 2 นักกิจกรรมโคราชร่วมสาดสี เผาหุ่นหน้า ตร.ภ.3 ยันชุมนุมไม่แพร่โควิด รัฐใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สร้างความหวาดกลัว

.

X