จะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ใครร่วงหล่น: การทะยานสู่หนทางประชาธิปไตย ของ ‘โอ๊ต’ อดีตนักเรียนเตรียมทหาร  

  TRIGGER WARNING : Depression, Suicidal Thought

เรื่องโดย จิตลดา อินทพรม

“โคราษฎร์ปฏิวัติ” ปฏิบัติการคาร์ม็อบที่นครราชสีมาเมื่อ 21 ส.ค. 2564 นำความสนใจให้กลุ่มคนหลายหลากในจังหวัดใหญ่แห่งนี้ ไปรวมตัวเพื่อส่งเสียงเรียกร้องถึงรัฐบาลว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยและไม่ทนที่จะอยู่ใต้สภาวะบ้านเมืองที่มีนายกฯ คนใหม่ คนซ้ำ คนเดิม อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ศาลากลางวันนั้นมีการปราศรัยเกี่ยวกับการบริหารจัดการใช้วัคซีน ทั้งเรียกร้องให้ประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาล สลับกับการแสดงดนตรีสด ก่อนทุกคนแยกย้ายกันกลับบ้าน 

ภายในไม่กี่สัปดาห์ ตำรวจโคราช ออกหมายเรียกให้ผู้ร่วมชุมนุมจากเหตุวันนั้น 6 ราย ไปรับทราบข้อกล่าวหาชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  หนึ่งในนั้นเป็น โอ๊ต สิรภพ พงศ์ทรัพย์ธาดา อดีตนักเรียนนายร้อยตำรวจ ที่รับบทบาทพิธีกรในงานชุมนุม ก่อนสู้คดีจนศาลแขวงนครราชสีมาพิพากษายกฟ้อง

กับคดีความเขายืนยันสู้คดี ยิ่งกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เห็นว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือจัดการกับโควิด-19 แต่สิ่งที่เลวร้ายคือวิธีที่รัฐบิดให้มันจัดการกับสิ่งอื่น ๆ ที่กฎหมายไม่เกี่ยวข้อง  ทั้งใช้ความคลุมเครือแห่ง “ดุลยพินิจของเจ้าพนักงาน” ในการบันดาลความสะดวกสบายให้พวกพ้องและกำหนดโทษทัณฑ์ให้ประชาชน 

กับชีวิตวัยหนุ่ม หนังสือ จะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ใครร่วงหล่น (The Catcher in the Rye)  เป็นแรงบันดาลใจทำให้โอ๊ตยืนอยู่ตรงนี้ ในวันที่ทุกอย่างล่มสลายเขาจะยังเป็นคนที่ยืนอยู่ตรงนั้น อยู่ขอบกั้นไม่ให้ผู้คนร่วงหล่นหลุดลอยไป

กับความฝันใฝ่ โอ๊ตอยากเห็นประเทศมีรัฐสวัสดิการยิ่งกับเรื่องการศึกษาทั้งนอกและในโรงเรียนที่มีคุณภาพดุจเดียวกัน

อยู่กับปัจจุบัน ค่อย ๆ ฝันถึงเส้นทางที่มีดาวในใจ

โอ๊ตเล่าชีวิตเยาว์วัยว่า เป็นเด็กธรรมดาที่เกิดโตมาในครอบครัวข้าราชการ พ่ออยากให้เป็นตำรวจ โอ๊ตก็เลือกสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร และเลือกเหล่าทัพนายร้อยตำรวจเป็นสถาบันที่สอบเข้า  ความใฝ่ฝันของนักเรียนเตรียมทหารอย่างโอ๊ต คงคล้ายผู้ที่จบจากโรงเรียนผู้ชายแห่งนั้น  โอ๊ตไม่ปฏิเสธที่จะบอกว่า เขาอยากติดยศนายพลตำรวจที่มีอายุน้อยที่สุดในประเทศไทย

ก่อนบทชีวิตจะแปรเปลี่ยน ด้วยเหตุการณ์ที่โอ๊ตมีสภาวะซึมเศร้าที่ทำให้ต้องลาออกจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ขณะอยู่ปี 1 โอ๊ตสะท้อนว่า “พอออกมามันก็เคว้ง สำหรับเด็กซิ่วกลางทางที่ห่างจากเพื่อนรุ่นเดียวกัน แล้วเป็นเด็กที่มีความคิดว่าออกมาแต่ต้องเอาชนะคนอื่นให้ได้มันก็เลยมั่วไปหมด ชั่ววินาทีของโอ๊ตเลยตัดสินใจว่าจะไม่เรียนแล้วทำงานที่กรุงเทพฯ เพราะถ้าไปเรียนก็สู้ชาวบ้านเค้าไม่ได้อยู่แล้วก็ตามหาทิศทางของตัวเองในสังคม”

โอ๊ตเคยอยู่กับสภาวะพยายามฆ่าตัวตาย เขาเรียกจุดนั้นว่าธรณีประตูหมายถึง “ตอนที่ตายแล้วฟื้นกลับมาแล้วพบว่า โลกยังหมุนไปได้โดยที่ไม่มีเรา เรามันแค่ฝุ่นที่การตายอาจจะมีคนเสียใจแต่การที่เราอยู่หรือตายมันไม่ได้ทำให้อะไรเปลี่ยนแปลงไปทันทีแล้วการมีชีวิตอยู่มันเพื่ออะไรกันนะ ?”

จุดที่พังทลาย อีกครั้งนอกจากการลาออกจากโรงเรียนคือการพยายามฆ่าตัวตาย อีกรอบหนึ่งแต่ไม่สำเร็จ คนใกล้ตัวเลยแนะนำให้เขากลับมาอยู่ที่บ้าน ซึ่งเป็นช่วงที่การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นกระแสพอดี   โอ๊ตเองก็สารภาพว่านั่นเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้ยินคำว่า “การเมือง” จากวันที่อยู่ในรั้วเตรียมทหาร จนวันที่ออกมาเขาก็สงสัยและไม่เข้าใจว่าทำไมประชาชนถึงออกมาชุมนุม ทำไมคนถึงดูตื่นเต้นกับขบวนการขนาดนั้น  เลยศึกษาปรากฏการณ์นั้น ผ่านทวิตเตอร์  แต่มันก็จุดประกายอะไรบางอย่างให้เราเริ่มคิดและตั้งคำถาม มันทำให้เรามีแว่นอีกเฉดหนึ่งให้มองย้อนกลับไปในอดีตของเราว่า เราก็ปฏิเสธมันมาตลอดนี่นา เราก็ตั้งคำถามมาตลอดว่า “ทำไมการนั่งกินข้าวของนักเรียนนายร้อยตำรวจต้องท่องบทราชสวัสดิ์ก่อนมื้ออาหารทุกครั้ง” ทุกปีต้องไปถวายราชสักการะพระราชทานเพลิงศพ ตอนนั้นเราไม่ได้ตั้งคำถามนะแต่ตอนนี้มองย้อนกลับไปแล้วรู้สึกว่ามันตลก ที่น่ากลัวคือทำไมตอนนั้นเราไม่รู้สึกตลกเลย รู้สึกว่ามันคือเกียรติยศ พอถอดความเป็นทหารออกแล้วเราก็แค่เด็ก 16-17 ปีเอง ทำไมเราถึงต้องเชิดชูการตายเพื่อกษัตริย์ได้ขนาดนั้น”

โอ๊ตย้อนเล่าอีกว่า ในวันที่เลิกพยายามมีชีวิตอยู่ ถึงได้รู้ว่าการมีชีวิตอยู่มันไม่ต้องพยายาม ก็แค่ใช้ชีวิตไปตามบริบท คำที่โอ๊ตใช้เรียกกับตัวเองคือ ใช้ชีวิตไปวัน ๆ อยู่กับปัจจุบัน วันนี้ ตรงนี้ ทำอะไรอยู่ก็พอแล้ว เพราะฉะนั้นหากถามเรื่องอนาคตโอ๊ตเลยจะไม่ค่อยคิดไกลขนาดนั้นเท่าไหร่นัก แต่ก็มีเส้นทางที่มีดาวในใจแล้ว 

จนเมื่อกลับมาอยู่บ้าน ตั้งหลักไมล์แห่งชีวิตได้ ปัจจุบันโอ๊ตทำงานตำแหน่งผู้ประสานงานฝ่ายชุมชน ของร้านกาแฟที่ทำธุรกิจเพื่อสังคมแห่งหนึ่ง ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นนักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เหลือเวลาเรียนอีกเพียงไม่กี่วิชา เขาก็จะจบการศึกษาและเตรียมสานฝันของตนเองในการทำโรงเรียนขึ้นมา 

ภาวะตาสว่างซ้อน

ต้นปี 2564 กับการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง โอ๊ตไม่เพียงจะค้นพบแว่นใหม่ ที่เกี่ยวกับการเมืองภาพรวม แต่การกลับมาบ้านแล้วได้พบเจอผู้คนมากขึ้น ทำให้โอ๊ตเรียกว่าภาวะ “ตาสว่าง” ผ่านเแนวคิดเรื่องเฟมินิสต์ ยิ่งกับค่านิยมที่ว่า “ขั้วตรงข้ามของชายก็คือการเป็นหญิง” มันทำให้เราถอดประกอบตัวเองใหม่ได้ดีมากเลย ตอนแรกเราไม่ได้สนใจเรื่องเพศเลยนะ ประชาธิปไตยมาก่อนอยู่แล้ว ได้ประชาธิปไตยมาเรื่องอื่นค่อยว่ากัน จนวันหนึ่งมีเหตุการณ์ที่ทางกายภาพทั้งบรรยากาศ สายตา เรายังจำได้อยู่เลย คือมีคนพูดเรื่องเพศในเชิงที่ว่า “มีกฎหมายมาตราไหนประโยคไหนที่กล่าวว่าระดับไหนคือการคุกคาม” ซึ่งเราไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นความคิดแบบนี้ จึงตั้งคำถามคืนกลับไปว่า “แล้วจิตวิญญาสาธารณะล่ะครับ การที่เราอยู่รวมหมู่กันต้องตั้งคำถามกับตัวเองทั้งหมดก็คือจิตวิญญานสาธารณะไม่ใช่หรือ”

ตอนเริ่มตั้งคำถามกับความเป็นชายคือตอนลาออกจากโรงเรียน  ทำให้พบส่วนหนึ่งหรือพื้นที่ใหม่ ในตัวเองว่าอาจจะมันความแข็งกร้าวแค่ 60% ก็ได้แล้วความอ่อนโยนอีก 40% โอ๊ตเปรยว่า  “มันไม่ได้เลวร้าย เราก็ตั้งคำถามกับความเป็นพิษของมันแต่เราก็ยังรู้สึกว่าความเป็นสุภาพบุรุษก็ยังโอเคอยู่ ผู้ชายกับผู้หญิงมีความแตกต่างกันอยู่ บางอย่างเหมาะกับผู้ชาย บางอย่างเหมาะกับผู้หญิง แต่มันก็มีการเดินทางที่ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นจากการที่เราป่วยเกี่ยวกับสุขภาพจิต  มันทำให้เราต้องสำรวจตัวเองอยู่ตลอดเวลา” 

กับเรื่องเท่าเทียมทางเพศโอ๊ต รู้สึกว่ามีบางอย่างขาดหายไปในการรับฟังเสียงฟังประสบการณ์ของทุกคน เมื่อตัวโอ๊ตรู้สึกเชื่อมโยงกับกลุ่มเพศหลากหลาย กลุ่มคนชายขอบในมิติต่าง ๆ มากกว่ากลุ่มค่านิยมกระแสหลัก เป็นเหตุให้โอ๊ตทบทวนกับตัวเองว่า “จะทำอย่างไรไม่ให้ตัวเองเป็นผู้กดทับคนอื่น เพราะตอนนี้ถ้าให้เราพูดว่าเราถูกกดทับยังไงมันนึกออกง่ายมากแต่ถ้าถามว่าเรากดทับคนอื่นยังไงมันเป็นเรื่องที่ยาก”

จากที่ตอนแรกเราเข้าร่วมชุมนุมเฉย ๆ หลังเข้าร่วมได้สักพัก ก็มีเพื่อนชักชวนให้โอ๊ตขึ้นปราศรัย ให้พูดถึงแนวคิดเฟมินิสต์ โอ๊ตเล่าอีกว่า “เลยไปอ่านหนังสือของอาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์  แล้วเราก็ถอดประกอบความเป็นตัวเองจากหนังสือเล่มนั้นเลย เพราะว่าเราก็โตมากับการเลี้ยงเด็กที่มีบทบาททางเพศ  แบบลูกผู้ชายห้ามร้องไห้ ต้องเข้มแข็ง ต้องปกป้อง ต้องชอบสีแดง ซึ่งมายาคติเหล่านี้มันเคยเป็นความธรรมชาติ ความปกติธรรมดาสำหรับเรามาก”

กับแง่มุมเรื่องเพศ สำหรับโอ๊ต พอเรียนรู้มากขึ้น ก็ทำให้ตาสว่างซ้อนอีกรอบว่าสุดท้ายสิ่งที่คิดว่าหลุดพ้นมาจากการถูกครอบงำจากสถาบัน ความจริงแล้วก็ยังถูกอีกเลเยอร์อื่นครอบงำอยู่ดี เลยไม่เชื่อในความเป็นองค์กร สถาบันหรือความเป็นระบบที่จะมาครอบงำอีก เพราะมีพื้นประสบการณ์การล้างสมองแบบสถาบัน ถูกเลี้ยงมากับการกำหนดบทบาททางเพศ เคยเห็นและเคยอยู่ในสถานการณ์นั้นเลยรู้ว่าเรื่องพวกนี้มันมีจริงและมันทำได้จริง ๆ เขาตั้งคำถามต่อทุกสิ่งที่จะเอาเข้ามาในตัวเสมอไม่ว่าจะจากฝ่ายไหนก็ตาม แม้แต่ประวัติศาสตร์ยังไม่เชื่อในทุกแง่ขนาดนั้น ไม่ว่าจะประวัติศาสตร์เก่าหรือใหม่ที่เราเพิ่งเขียนหรือเล่าขึ้นมา 

จากการที่โอ๊ตเป็นคนดูหนังและเป็นหนอนหนังสือด้วย การขึ้นปราศรัยครั้งหนึ่งโอ๊ต หยิบตัวละครในหนังมาแต่งตัว ย้อนเล่าว่า “การชุมนุมครั้งถัดไปเราได้ขึ้นปราศรัยเลยแต่งตัวเป็นผีไร้หน้าคาโอนาชิ (Kaonashi จากภาพยนต์อนิเมะเรื่อง Spirited Away) จริงๆ เรามีแรงบันดาลใจที่แต่งเป็นตัวละครนี้นะเพราะคอนเซ็ปท์ ของตัวละคร เขาจะแปลงเป็นใครก็ได้ ไม่ได้เพื่อช่วยเหลือคนอื่นนะแต่เพราะเขาไม่มีตัวตนเลย ต้องกลืนกินอะไรซักอย่างเพื่อให้ตัวเองมีเสียง”

ตัวแทนรัฐ-ตัวแทนประชาชน

กับคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่พบเผชิญ โอ๊ตเปิดใจว่า “เราไม่อยากโดนคดี ตอนแรกรู้สึกว่ามันเสียเวลา แต่ถ้าพูดในเรื่องงานมันไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากเนื่องจากอาชีพที่ทำมันยืดหยุ่น  ได้ ตั้งแต่โดนคดีปี 2564 เรามีสอนหนังสือเสาร์-อาทิตย์อยู่แล้วเลยไม่มีปัญหาอะไร”

กับการเมืองพ่อแม่ก็เคยห้ามปราม บ้างแต่เรามีวิธีจัดการของเรา ส่วนเรื่องการเมืองและผองเพื่อนก็เพียงแต่เลือกที่จะคุยกับคนที่คิดว่าคุยด้วยได้ 

พอบอกเล่าประสบการณ์เรื่องบทบาทจากนักเรียนตำรวจถึงจำเลยคดีการเมือง โอ๊ตพรั่งพรูว่า “ถึงขั้นตอนตามกระบวนการจริง ๆ ทำให้เรารู้สึกตั้งคำถามเยอะมาก ๆ เพราะเคยเป็นนักเรียนตำรวจ เพื่อนที่อยู่ตรงนั้นก็เป็นเพื่อนรุ่นใกล้ ๆ ไม่ห่างกันมาก ซึ่งวันนี้ถ้าเราไปเจอแล้วมันก็เหมือนเราอยู่คนละฝั่ง  พอในบทบาทความเป็นเพื่อนก็นั่งพูดคุยหรือแบ่งปันความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐบาลตามปกติ แล้วอะไรมันทำให้เราต้องมาอยู่ฝั่งตรงข้ามกันในเมื่อคุณไม่ต้องการเราก็ไม่ต้องการชีวิตแบบนี้แล้ว พูดตามตรงว่าวันที่เราเห็นข่าวคนเอาอาหารหมาให้เพื่อน ใจหนึ่งก็คิดว่าก็ควรโดนแต่อีกใจก็คิดถึงภาพที่อยู่ในโรงเรียนด้วยกัน จริงๆ เพื่อนไม่ใช่คนที่เลวร้ายเลยนะแต่ถ้าโดนแบบนี้ก็อาจจะกลายเป็นคนเลวร้ายได้เหมือนกัน ความคิดเรามันก็ขัดแย้งกันไปมาในหัว”

โอ๊ตบอกอีก พออยู่ตรงนั้นเหมือนเล่นบทเป็นตัวแทนอะไรบางอย่าง เพื่อนคือตัวแทนของกลไกและแหล่งอำนาจรัฐ โอ๊ตคือตัวแทนกลไกและอำนาจประชาชน ซึ่งมันก็ยังไม่ใช่ที่วิธีที่อยากจะเล่นอยู่ดี ข้อดีของการทบทวนตลอดเวลาทำให้เลือดร้อนน้อยลง โอ๊ตสะท้อนอีกว่า “ข้อเสียก็คือทำให้เราโกรธยากมากขึ้น บางทีเราใช้ความโกรธในการขับเคลื่อนแต่พอเราเห็น รู้สึก รู้จัก ได้ยิน ได้คุย มากเกินไปมันทำให้เราตัดใจที่จะทำอะไรบางอย่างยากขึ้น ทุกวันนี้จะด่าตำรวจยังด่าได้ยากเลยเพราะว่าเราเข้าใจในเบื้องลึกเบื้องหลังของตำรวจ”

สังคมที่ฝันใฝ่ในทางที่อยากให้เป็น

“มันมีกิจกรรมที่ให้จำลองบทบาทให้คน ๆ หนึ่งรับบทเป็นเด็กไร้บ้านและไร้สัญชาติ คนนั้นเขาก็เล่นล้อเลียนสำเนียงเหมือนที่เราเห็นในหนังเลย ส่วนใหญ่ในวงนั้นหัวเราะ” โอ๊ต บอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวงเสวนาเรื่องกลุ่มคนชายขอบ และเพศสภาพ ซึ่งเขาก็ไม่ค่อยสบายใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ 

โอ๊ต ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ควรจะร่วมกันคิดทบทวนจากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้คือ ค่อย ๆ คิดว่าการกระทำของเรา และสิ่งที่เรากำลังแสดงออกอยู่กำลังกดทับประสบการณ์หรือความรู้สึกของใครอยู่หรือไม่ “ถ้าทุกคนหันมามองมาสำรวจกันบ่อย ๆ คงจะดีกว่านี้ เรามองสังคมที่ฝันถึงว่าหากมี 20,000 คน ต้องมีเสียงทั้ง 20,000 คน อยู่ในสมการ” 

“คนพูดได้และดังพอ 20,000 เสียง แต่ตอนนี้เหมือนอยู่บนทางแยก ทางหนึ่งคือหาตัวแทนจากแต่ละกลุ่มปัญหาเพื่อตัดสินใจในบางเรื่อง ส่วนอีกทางคือ 1 คนต่อ 1 เสียง ทุกคนออกเสียงและได้ยินเท่ากัน… ตราบใดที่เขาเป็นเจ้าของปัญหา เขาก็ต้องพูดเอง” โอ๊ต กล่าวเพิ่มเติม

โอ๊ต เล่าถึงความคาดหวังที่ผ่านมาว่า “ฝันถึงการเมืองที่ไม่ต้องมีวีรบุรุษ วันหนึ่งไม่ต้องมี ส.ส. … เพราะทุกวันนี้มีเทคโนโลยี มีอีเมล ดังนั้น 1 คน แทน 100,000 เสียง เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ขนาด 10 คน ให้พูดเรื่องเดียวกันทั้งหมดยังยากเลย” 

‘การศึกษา’ สวัสดิการลำดับต้น 

“ใครเย็บผ้าเป็นบ้าง ใครปลูกผักเป็นบ้าง ใครซ่อมรถเป็นบ้าง เพราะระบบเศรษฐกิจดึงเอาทักษะเหล่านี้ออกไปหมด ทำให้เราต้องซื้อต้องใช้ต้องกิน ความเข้มแข็งของมนุษย์มันเลยไม่ขึ้นอยู่กับตนเอง เราไม่มีความมั่นคงอะไรเลยในชีวิต แต่การศึกษามันคือการสร้างความมั่นใจ เราจะยังเอาชีวิตรอดได้” โอ๊ต ตั้งคำถามต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา 

โอ๊ต ประสบการณ์เพิ่มเติมว่า “นักเรียนที่เก่งที่สุดในโรงเรียนชนบท เทียบไม่ติดกับนักเรียนที่บ๊วยที่สุดในโรงเรียนดังๆ เพราะว่าคุณภาพของการศึกษาในประเทศเราไม่เท่ากัน ดังนั้น สวัสดิการที่ควรจัดสรรให้ก่อนคือการศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม และถ้วนหน้า”

ถึงรุ่นพี่เตรียมทหาร 

“ถึงรุ่นพี่โรงเรียน ถ้าผมเป็นผู้มีอำนาจ เดินตามถนนแล้วเห็นปัญหา ผมก็นอนไม่หลับแล้ว เลยทำให้รู้สึกว่าเขาคงอยู่ในจุดที่เชี่ยวชาญในการเบือนหน้าหนี มันน่าจะเปล่าประโยชน์ที่จะเรียกร้องหรือพูดให้เขาได้ยิน แต่อยู่ตรงนี้ก็ได้คนที่เห็นด้วยเพิ่มมาทีละคน แต่หนึ่งวัน ทำให้คนมีความหวังมากขึ้นในแต่ละวัน” โอ๊ต ตั้งคำถามต่อการกระทำของประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่วันหนึ่งเขาตกเป็นจำเลยคดีทางการเมืองเพราะไปขับไล่รุ่นพี่โรงเรียนเก่า

ภาพจาก: เฟซบุ๊กเพจ Korat Movement 

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

​​ก่อนจะถึงคำพิพากษา: จำเลยคาร์ม็อบ “โคราษฎร์ปฏิวัติ” ยืนยันร่วมชุมนุมวิจารณ์รัฐบาล ไม่ใช่ผู้จัด ชี้มีมาตรการป้องกัน-ไม่มีผู้ติดเชื้อหลังชุมนุม 

มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ ! : คุยกับเบนจาว่าด้วยทรงจำหน่วงหนัก เรือนจำ/ ม.112/ ระเบียบรัดในโรงเรียน

X