เปิดคำพิพากษายกฟ้อง “คาร์ม็อบโคราช ไล่เผด็จการ” 23 ก.ค. 64: จำเลยไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม – ชุมนุมไม่เสี่ยงขนาดแพร่โรคในวงกว้าง

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2565 วรัญญู คงสถิตย์ธรรม, มกรพงษ์ ทรัพย์ประเสริฐ สองนักกิจกรรมกลุ่ม Korat Movement และ เมธานุช กอผา สมาชิกพรรคก้าวไกล จ.นครราชสีมา เดินทางไปที่ศาลแขวงนครราชสีมา ในนัดฟังคำพิพากษา คดีที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้จัดและร่วม “CAR MOB KORAT คาราวานไล่เผด็จการ” เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564 ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ โดยคดีนี้สืบพยานไประหว่าง 18-19 พ.ค. 2565

>>>ปากคำพยานคดี “คาร์ม็อบโคราช ไล่เผด็จการ” 23 ก.ค. 64: 2 นักกิจกรรมชี้แค่ร่วมปราศรัย ด้าน จนท.ก้าวไกล ยืนยันไม่ได้ร่วมชุมนุม

กบินทร์ เอกปัญญาสกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องทั้ง 3 คน มีเนื้อหาดังต่อไปนี้ 

จำเลยไม่ใช่ผู้จัดชุมนุม จึงไม่ต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการควบคุมโรคฯ

สำหรับความผิดฐานร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลเกิน 20 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต เห็นว่า พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 4 ให้นิยามคำว่า “ผู้จัดการชุมนุม” หมายความว่า ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น แต่มาตรา 3 บัญญัติว่า พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะ ในระหว่างที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก… แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น 

ขณะเกิดเหตุอยู่ในระหว่างการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่พระราชกำหนดดังกล่าวไม่มีบทนิยามคำดังกล่าวไว้ จึงไม่อาจนำคำนิยามดังกล่าวมาใช้ได้ทั้งหมดและต้องตีความหมายของคำดังกล่าวโดยเคร่งครัด ซึ่งมีความหมายทั่วไปเพียงว่า ผู้จัดการชุมนุม หมายความว่า ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะเท่านั้น 

เมื่อพิเคราะห์รายงานสืบสวนความเคลื่อนไหวในพื้นที่ประกอบคำเบิกความพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า  วรัญญูและมกรพงษ์ ขึ้นกล่าวปราศรัยบนรถติดเครื่องขยายเสียง แต่ไม่ปรากฏว่าทั้งสามเป็นผู้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเพจ Korat Movement หรือว่าจ้างรถซึ่งติดตั้งเครื่องขยายเสียง หรือจัดเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการชุมนุม หรือกำหนดเส้นทางในการเคลื่อนขบวนหรือออกค่าใช้จ่ายในการชุมนุม หรือมีพฤติการณ์อื่นใดอันแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ 

พยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่ขออนุญาตจัดการชุมนุมต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา และไม่เป็นความผิดตามฟ้อง 

การชุมนุมไม่เป็นความ ‘เสี่ยง’ ขนาดทำให้แพร่โรคในวงกว้าง

ส่วนความผิดฐานร่วมกันชุมนุมมั่วสุมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคนั้น พ.ต.อ.กรกฎ โปชยะวณิช ผู้กำกับ สภ.เมืองนครราชสีมา เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมยืนห่างกันได้ ผู้ปราศรัยและผู้เข้าร่วมชุมนุมสวมหน้ากากอนามัยทุกคน  ชาญชัย บุญอยู่ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ตอบทนายจำเลยถามค้านด้วยว่า การดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การขึ้นรถสาธารณะ เดินตลาดหรือห้างสรรพสินค้าก็มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเช่นเดียวกับการชุมนุม

เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ไม่ได้ให้นิยามคำว่า “ความเสี่ยงต่อการแพร่โรค” ไว้ จึงต้องแปลความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คำว่า “เสี่ยง” หมายความว่า มีโอกาสจะได้รับทุกข์หรืออันตราย เป็นต้น 

เมื่อพิจารณาภาพเคลื่อนไหวการชุมนุม พบว่า แม้จะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมาก บางคนยืนอยู่ใกล้ชิดกัน บางคนไม่สวมหน้ากากอนามัย แต่เส้นทางการเคลื่อนขบวนและสถานที่ชุมนุมเป็นสถานที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเทสะดวก สำหรับผู้ฟังการปราศรัยส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัย คนที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยเป็นระยะเวลาไม่นาน หากเปรียบเทียบกับการดำเนินชีวิตประจำวันในครัวเรือนซึ่งมีสมาชิกในครอบครัวเดียวกันต้องอยู่ใกล้ชิดกันเป็นระยะเวลานานโดยไม่สวมหน้ากากอนามัยภายในบ้านซึ่งเป็นสถานที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวกเท่ากับสถานที่โล่งกว้าง หรือการโดยสารรถสาธารณะเดินตลาดและห้างสรรพสินค้า แม้จะสวมหน้ากากอนามัยย่อมมีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน 

และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นได้ว่าหลังวันเกิดเหตุมีผู้ติดเชื้อจากการเข้าร่วมชุมนุมเป็นจำนวนมากหรือไม่ เพียงใด พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่า แม้การเข้าร่วมชุมนุมมีโอกาสได้รับอันตรายหรือมีความเสี่ยงในการติดเชื้อก็ตาม แต่ยังไม่ถึงขนาดที่จะมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในวงกว้างอันเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อควบคุมมิให้โรคแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง ประกอบกับการกำหนดความผิดฐานนี้ยังไม่มีความชัดเจนแน่นอน 

พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ส่วนเมธานุช จำเลยที่ 3 ให้การในชั้นสอบสวน และนำสืบว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม เห็นว่า เมื่อศาลวินิจฉัยการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว แม้จำเลยที่ 3 จะเข้าร่วมชุมนุมตามฟ้องหรือไม่ก็ตาม ย่อมไม่เป็นความผิดหรือไม่ต้องรับโทษ จึงไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป พิพากษายกฟ้อง

.

การชุมนุมคาร์ม็อบโคราชเมื่อช่วงเย็นวันที่ 23 ก.ค. 2564 ภายใต้ชื่อ “CAR MOB KORAT คาราวานไล่เผด็จการ” เป็นการนัดหมายคาร์ม็อบครั้งแรกของจังหวัดนครราชสีมา โดยกลุ่ม Korat Movement มีเป้าหมายขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี โดยรถที่เข้าร่วมชุมนุมมีทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ขับออกจากถนนหลายสายในตัวเมืองนครราชสีมา มีการบีบแตร พร้อมทั้งชู 3 นิ้ว ตะโกนขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ตลอดทาง 

ผู้เข้าร่วมยังชูป้ายหรือติดรถด้วยป้ายข้อความต่างๆ เช่น เครื่องมือแพทย์ไม่เคยครบ เครื่องมือรบไม่เคยขาด, ประยุทธ์ ออกไป นะจ๊ะ, หยุดเถอะ นะจ๊ะ เมื่อถึงจุดหมายบริเวณลานจอดรถหน้าศาลากลางจังหวัดได้เปิดเวทีปราศรัยข้อเรียกร้องทางการเมือง และบอกเล่าถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด -19 ที่รัฐบาลควรจัดสรรวัคซีนให้ประชาชนอย่างเพียงพอและเท่าเทียม ก่อนแยกย้ายกันกลับในราว 21.00 น.

สำหรับคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกิดจากการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองในพื้นที่ จ.นครราชสีมา รวม 5 คดี มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วรวม  4 คดี นอกจากคดีนี้ ยังมีคดีคาร์ม็อบโคราช 1 สิงหา, คดีชุมนุมประณามการทำรุนแรงของตำรวจ หน้าตำรวจภูธรภาค 3 เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 และคดีคาร์ม็อบโคราช 15 สิงหา เหลืออีก 1 คดี คือ คดีคาร์ม็อบ 21 ส.ค. 2564 ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา และจะเริ่มสืบพยานในเดือนพฤศจิกายน 2565

นอกจากนี้ คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งจากการชุมนุมซึ่งมีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมาก และจากคาร์ม็อบในจังหวัดต่างๆ ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วอย่างน้อย 21 คดี 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักกิจกรรมโคราชสาดสีก่อนเข้าปฏิเสธ 3 คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยืนยันขับเคลื่อนด้วยความฝัน ความต้องการมีชีวิตที่ดี

X