ปากคำพยานคดี “คาร์ม็อบโคราช ไล่เผด็จการ” 23 ก.ค. 64: 2 นักกิจกรรมชี้แค่ร่วมปราศรัย ด้าน จนท.ก้าวไกล ยืนยันไม่ได้ร่วมชุมนุม

19 ก.ค. 2565 “บุ๊ค” วรัญญู คงสถิตย์ธรรม, “เตอร์” มกรพงษ์ ทรัพย์ประเสริฐ 2 นักกิจกรรมชาวโคราช และ “มิลค์” เมธานุช กอผา เจ้าหน้าที่สำนักงานพรรคก้าวไกล จ.นครราชสีมา ต้องเดินทางไปฟังคำพิพากษาในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ซึ่งทั้งสามถูกตำรวจและอัยการกล่าวหาว่า เป็นผู้จัดและร่วม “CAR MOB KORAT คาราวานไล่เผด็จการ” เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564 ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่โควิด โดยไม่ได้รับอนุญาต

คาร์ม็อบครั้งแรกของโคราช ถูกดำเนินคดี 3 คน รวมผู้ไม่ได้ไปชุมนุม

“CAR MOB KORAT คาราวานไล่เผด็จการ” เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2564 เป็นการนัดหมายคาร์ม็อบครั้งแรกของจังหวัดนครราชสีมา โดยกลุ่ม Korat Movement  ในวันดังกล่าวมีผู้ชุมนุมนำรถจำนวนมากเข้าร่วมและเคลื่อนขบวนไปตามถนนในเขตเทศบาล มีการบีบแตร พร้อมทั้งชู 3 นิ้ว ตะโกนขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ตลอดทาง ผู้เข้าร่วมยังชูป้ายหรือติดรถด้วยป้ายข้อความต่างๆ เช่น เครื่องมือแพทย์ไม่เคยครบ เครื่องมือรบไม่เคยขาด, ประยุทธ์ ออกไป นะจ๊ะ, หยุดเถอะ นะจ๊ะ ก่อนจะไปเปิดเวทีปราศรัยโจมตีรัฐบาลบริเวณลานจอดรถหน้าศาลากลางจังหวัด

ราว 1 เดือน หลังการชุมนุม วรัญญู, มกรพงษ์ และเมธานุช ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจากเหตุชุมนุมครั้งนี้ และเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 14 ก.ย. 2564 โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสามว่า ร่วมกันฝ่าฝืนข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 16) ข้อ 2 ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากและมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่าย และร่วมกันฝ่าฝืนคําสั่งจังหวัดนครราชสีมาที่  7100/2564 และ 7368/2564 เรื่องการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มกันไม่เกิน 20 คน โดยไม่ได้รับอนุญาต”

อีกไม่ถึง 1 เดือนถัดมา อัยการก็ยื่นฟ้องทั้ง 3 คน ต่อศาล แม้ว่าเมธานุชจะให้การในชั้นสอบสวนว่า ไม่ได้อยู่ในที่ชุมนุมตามที่ถูกกล่าวหา และทั้งสามก็ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมอัยการขอให้ไม่ฟ้องคดี ด้วยเหตุผลที่ว่า การกระทำตามข้อกล่าวหาเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ตามที่พันธกรณีระหว่างประเทศ และรัฐธรรมนูญให้การรับรอง อีกทั้งผู้ต้องหาไม่ได้เป็นผู้จัดกิจกรรม แต่ประชาชนต่างคนต่างมาเพื่อแสดงออกทางการเมือง สะท้อนความล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดการโควิด-19 นอกจากนี้ พยานหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเมธานุชเป็นผู้กระทำผิด ก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเธอ          

ในคำฟ้องที่ยื่นต่อศาล พนักงานอัยการคดีศาลแขวงนครราชสีมาบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันจัดกิจกรรมให้ประชาชนมาชุมนุมรวมกลุ่มกันประมาณ 1,000 คน อันเกินกว่า 20 คน  เพื่อวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และได้เข้าร่วมชุมนุมในพื้นที่ควบคุมสูงสุดของจังหวัดนครราชสีมา โดยจำเลยทั้งสามและผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ได้เข้มงวดในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย  มีประชาชนบางคนไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ไม่ได้เว้นระยะห่างเกิน 2 เมตร รวมทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ขึ้นปราศรัย และจำเลยที่ 3 ได้ดูแลการชุมนุมโดยลดหน้ากากอนามัยลง พร้อมทั้งมีระยะเวลาการร่วมชุมนุมฟังปราศรัยเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 และอาจทำให้เหตุการณ์การแพร่ระบาดร้ายแรงมากขึ้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา

อัยการระบุว่า การกระทำของวรัญญู, มกรพงษ์ และเมธานุช ตามฟ้อง เป็นความผิดฐาน ร่วมกันชุมนุม ทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยฝ่าฝืนข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มกันเกิน 20 คน ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดของจังหวัดนครราชสีมาโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ประกอบคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา ที่  7100/2564 และ 7368/2564 

.

คดีนี้จะเป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เมื่อเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2564 คดีที่ 4 ซึ่งศาลมีคำพิพากษา จากทั้งหมด 5 คดี ซึ่งพนักงานอัยการฟ้องด้วยข้อกล่าวหาเดียวกัน โดย 3 คดีก่อนหน้านี้ ได้แก่ คดีคาร์ม็อบโคราช 1 สิงหา, คดีชุมนุมประณามการทำรุนแรงของตำรวจ หน้าตำรวจภูธรภาค 3 และคดีคาร์ม็อบโคราช 15 สิงหา ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ต่อสู้คดีทุกราย รวมถึงวรัญญูและมกรพงษ์ในคดีชุมนุมหน้าตำรวจภูธรภาค 3   

นอกจากนี้ คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งจากการชุมนุมซึ่งมีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนมาก และจากคาร์ม็อบในจังหวัดต่างๆ ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วอย่างน้อย 16 คดี 

.

พยานโจทก์อ้าง ชุมนุมเสี่ยงแพร่โควิด ฝ่ายจำเลยยันไม่เสี่ยง เหตุพื้นที่โล่งกว้าง ผู้ชุมนุมอยู่ในรถ ใส่แมสค์ทุกคน

การสืบพยานในคดีนี้มีขึ้นในวันที่ 18-19 พ.ค. 2565 กบินทร์ เอกปัญญาสกุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลแขวงนครราชสีมา ออกนั่งพิจารณาคดี ตลอดทั้ง 2 วัน ผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาคดี โดยศาลไม่ได้สั่งห้ามจดบันทึก 

อัยการโจทก์นำพยานเข้าเบิกความต่อศาลรวม 7 ปาก ซึ่งเป็นชุดเดียวกับพยานโจทก์ในคดีการชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในนครราชสีมาคดีอื่นๆ ยกเว้นพนักงานสอบสวน ทั้งหมดมาเบิกความว่า จำเลยทั้งสามเป็นผู้จัดการชุมนุม เนื่องจากเป็นผู้ปราศรัย โดยการชุมนุมไม่มีมาตรการป้องกัน จึงมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคโควิด-19 ทั้งยังไม่ได้ขออนุญาตคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด

ด้านจำเลยทั้งสามเข้าเบิกความเป็นพยานให้ตนเอง และยังมีเพื่อนร่วมงานของจำเลยที่ 3 เขาเบิกความเป็นพยานอีกปากหนึ่ง โดยวรัญญูและมกรพงษ์รับว่าได้เข้าร่วมชุมนุมและขึ้นปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจริง แต่ไม่ใช่ผู้จัดจึงไม่ได้ไปขออนุญาต อีกทั้งส่วนตัวได้มีการป้องกันโควิดตามมาตราการแล้ว โดยหลังชุมนุมทั้งตนเองและคนรู้จักก็ไม่มีใครติดโควิดจากการชุมนุม ขณะเมธานุชและผู้ช่วย ส.ส.พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานยืนยันว่า เมธานุชไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุ 

คำเบิกความของพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย มีประเด็นสำคัญดังนี้ 

.

เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สังเกตการณ์ระบุ การชุมนุมไม่มีมาตรการป้องกันโควิด เสี่ยงแพร่โรค จำเลยขึ้นปราศรัยจึงเป็นแกนนำ

ตำรวจและฝ่ายปกครอง 4 นาย ประกอบด้วย ชุดสืบสวน สภ.เมืองนครราชสีมา 2 นาย, ผู้กำกับการ สภ.เมืองนครราชสีมา และฝ่ายความมั่นคงจังหวัดนครราชสีมา ที่ลงพื้นที่สังเกตการณ์ชุมนุม เข้าเบิกความถึงเหตุการณ์ก่อนวันชุมนุมและในวันชุมนุมในทำนองเดียวกัน มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2564 เพจ Korat Movement มีการโพสต์นัดคาร์ม็อบวิจารณ์รัฐบาลในวันที่ 23 ก.ค. 2564 โดยนัดรวมตัวหน้าร้านตะวันแดงสาดแสงเดือนโคราช เวลา 16.00 น. และในวันต่อๆ มา เพจดังกล่าวมีการโพสต์แผนที่เส้นทางที่ขบวนคาร์ม็อบจะเคลื่อนไป รวมทั้งรับสมัครอาสาสมัครเพื่อทำหน้าที่ต่างๆ 

ภาพจากเพจ Korat Movement

วันที่ 23 ก.ค. 2564 เวลาประมาณ 16.00 น. ผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันที่ลานจอดรถหน้าร้านตะวันแดงฯ มีทั้งรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์เข้าร่วม รวมจำนวนผู้เข้าร่วมทั้งหมดประมาณ 1,000 คน จากนั้นขบวนได้เคลื่อนออกจากร้านตะวันแดงฯ ไปตามถนนจนถึงหน้าศาลากลางจังหวัด ขบวนรถมีการบีบแตร ติดป้ายหรือถือป้ายเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ มีผู้ปราศรัย 3-4 คน อยู่ที่ท้ายรถกระบะที่มีการติดตั้งเครื่องขยายเสียง กล่าวโจมตีรัฐบาลเรื่องการจัดการวัคซีน และผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อประชาชน 

ที่หน้าศาลากลางยังมีการปราศรัยวิจารณ์รัฐบาล โดยผู้ปราศรัย คือ จำเลยทั้งสามและยังมีคนอื่นอีก ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นยืนบนท้ายรถกระบะซึ่งติดตั้งเครื่องเสียง มีผู้ปราศรัยที่เป็นผู้หญิงเพียงคนเดียว ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ทราบว่าเป็นใคร ต้องนำภาพมาเปรียบเทียบกับข้อมูลของสันติบาลและชุดสืบภูธรจังหวัดแล้ว ก่อนมีความเห็นว่าเป็นจำเลยที่ 3 

เจ้าหน้าที่ที่เป็นประจักษ์พยานทั้งสี่ระบุว่า การชุมนุมไม่มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19  เช่น การวัดอุณหภูมิ แจกเจลแอลกอฮอล์หรือหน้ากากอนามัย การลงทะเบียนผู้เข้าร่วม แม้ผู้ปราศรัยและผู้ชุมนุมส่วนใหญ่จะสวมหน้ากากอนามัย แต่ก็มีการดึงลงบ้างเป็นครั้งคราว และไม่มีการเว้นระยะห่าง พยานโจทก์ทั้งสี่จึงมีความเห็นว่าการชุมนุมมีความเสี่ยงต่อการแพร่โควิด-19 

นอกจากนี้ พยานตำรวจและฝ่ายปกครองยังระบุว่า รู้จักจำเลยที่ 1 และที่ 2 (วรัญญูและมกรพงษ์) ว่า เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในนครราชสีมา ส่วนจำเลยที่ 3 (เมธานุช) ตำรวจทราบจากข้อมูลของสันติบาลว่า เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง ประกอบกับเห็นจากภาพถ่ายและคลิปเหตุการณ์ว่าขึ้นปราศรัย จึงดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสาม

.

พยานผู้เชี่ยวชาญดูคลิปก่อนชี้ ผู้ชุมนุมไม่ใช้แมสค์ทางการแพทย์ บางครั้งดึงไว้ใต้คาง จึงเสี่ยงโรค ทั้งการชุมนุมไม่ได้ขออนุญาต 

รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและนิติกรประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งระบุว่าเป็นผู้ช่วยและคณะทำงานเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ทั้งสองไม่ได้ลงพื้นที่สังเกตการณ์การชุมนุม แต่มาเบิกความในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญถึงการออกคำสั่งจังหวัด การขออนุญาตชุมนุม และให้ความเห็นจากภาพและคลิปเหตุการณ์ มีเนื้อหาโดยสรุปว่า

ช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ว่า จังหวัดนครราชสีมามีผู้ป่วยโควิดจำนวนมาก และมีแนวโน้มสูงขึ้น อีกทั้งเชื้อที่ระบาดเป็นสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งติดต่อกันได้ง่าย และมีอัตราการเสียชีวิตสูง จึงถูกจัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด จังหวัดจึงได้ออกคำสั่งตามความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กำหนดให้ชุมนุมรวมกลุ่มกันต้องไม่เกิน 20 คนจึงจะกระทำได้ หากเกินต้องขออนุญาตและต้องได้รับอนุญาตจึงจะกระทำได้ แต่การจัดกิจกรรมวันที่ 23 ก.ค. 2564 ไม่มีการขออนุญาต

นพ.ชาญชัย ให้ความเห็นจากการดูภาพถ่ายและคลิปเหตุการณ์ที่ฝ่ายสืบสวน สภ. เมืองนครราชสีมา รวบรวมไว้ เห็นว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากผู้ชุมนุมยืนใกล้ชิดกันไม่เกิน 2 เมตร บางครั้งสวมหน้ากากอนามัย บางครั้งดึงหน้ากากอนามัยลงไว้ใต้คาง และใช้หน้ากากอนามัยชนิดธรรมดา ไม่ใช่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จึงมีประสิทธิภาพต่ำ เมื่อพูดคุยกันเกิน 5 นาที ก็เสี่ยงที่จะแพร่โรค

คาร์ม็อบโคราช 23 ก.ค. 2564 ภาพจากเพจ Korat Movement

พยานโจทก์รับกับทนายจำเลย สภาพการชุมนุมเสี่ยงแพร่โควิดน้อย ไม่มีหลักฐานว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับเพจ Korat Movement ที่นัดชุมนุม

แม้พยานโจทก์จะเบิกความยืนยันว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง แต่เมื่อทนายจำเลยถามค้าน คำตอบของพยานโจทก์ก็ขัดแย้งกับคำให้การ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

  • สภาพการชุมนุมมีความเสี่ยงแพร่โควิดน้อย

พยานตำรวจและฝ่ายปกครอง 4 ปาก ที่ไปสังเกตการณ์การชุมนุมระบุเช่นเดียวกันว่า พื้นที่จัดกิจกรรมเป็นที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเทได้สะดวก ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัยทุกคน ในระหว่างเคลื่อนขบวนก็ไม่ได้ลงจากรถของตนเอง

ซึ่ง นพ.ชาญชัย ให้ความเห็นว่า สภาพดังกล่าวทำให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อมีน้อย อีกทั้งพื้นที่หน้าศาลากลางก็กว้างเพียงพอให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมสามารถยืนห่างกันได้ ก็ยิ่งทำให้ความเสี่ยงในการแพร่โรคต่ำลงอีก นอกจากนี้ การรวมกลุ่มกันของผู้ชุมนุม ซึ่งมีลักษณะการยืนใกล้กันบ้าง ห่างกันบ้าง ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินห้างสรรพสินค้า เดินตลาด ขึ้นรถสาธารณะ ทำให้มีความเสี่ยงติดเชื้อไม่ต่างกัน 

นอกจากนี้ ฝ่ายสืบและผู้กำกับ ยังรับว่า ก่อนวันเกิดเหตุ เพจ Korat Movement ได้โพสต์ให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แก่ สวมแมสค์ตลอดเวลา พกพาเจลแอลกอฮอล์ และเสื้อกันฝน 

  • เจ้าหน้าที่ไม่ทราบว่าใครเป็นแอดมินเพจ Korat Movement ที่โพสต์เชิญชวนชุมนุม ทั้งไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้จัดชุมนุม 

ทั้งฝ่ายสืบสวนและฝ่ายปกครองเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นแอดมินเพจ Korat Movement และใครเป็นคนโพสต์นัดหมายชุมนุม กำหนดเส้นทางเคลื่อนขบวน  รวมทั้งถ่ายทอดสดการชุมนุมในเพจดังกล่าว แม้ว่าผู้กำกับฯ จะเบิกความว่า มักจะเห็นจำเลยที่ 1 อยู่ในไลฟ์สดของเพจ Korat Movement แต่ทุกครั้งก็จะมีคนอื่นนอกจากจำเลยที่ 1 อยู่ในไลฟ์ด้วย 

ประเด็นที่ พ.ต.ท.ไพฑูรย์ อ่อนคำ รองผู้กำกับสืบสวน ซึ่งเป็นผู้กล่าวหามองว่า ผู้ที่ขึ้นปราศรัยเป็นแกนนำผู้จัดการชุมนุมทั้งสิ้น แต่พยานเจ้าหน้าที่ปากอื่นก็ระบุว่า นอกจากจำเลยทั้งสามแล้วมีบุคคลอื่นขึ้นปราศรัยด้วย

เจ้าหน้าที่ยังรับกับทนายจำเลยเหมือนๆ กันว่า ก่อนหน้าการชุมนุมในคดีนี้ มีการจัดกิจกรรมทางการเมืองจากหลายๆ กลุ่ม ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็เคยเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มอื่นๆ พร้อมทั้งขึ้นปราศรัยด้วย  ไม่ได้เข้าร่วมเฉพาะกิจกรรมของเพจ Korat Movement 

ในกิจกรรมเผาโลงศพจำลองที่หน้าศาลากลาง ซึ่งมีจำเลยที่ 1 อยู่ในภาพหลักฐานของโจทก์ด้วยนั้น ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดทราบว่าใครเป็นคนจุดไฟเผา  

  • ไม่เห็นจำเลยที่ 3 ร่วมชุมนุม 

พ.ต.ท.ไพฑูรย์ ผู้กล่าวหารับกับทนายจำเลยว่า วันเกิดเหตุไม่เห็นจำเลยที่ 3 ร่วมชุมนุม สอดคล้องกับพยานปากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจังหวัด พยานเพียงเห็นจากคลิปและภาพที่ผู้ใต้บังคับบัญชารายงานมาเท่านั้น ซึ่งบุคคลในคลิปที่ขึ้นปราศรัยมีลักษณะคล้ายกับจำเลยที่ 3 แต่มีสีผมคนละสีกับรูปถ่ายของจำเลยที่ 3 ในวันเกิดเหตุ 

ขณะที่ พ.ต.อ.กรกฏ ผู้กำกับฯ ไม่ยืนยันว่า เห็นจำเลยที่ 3 ในที่ชุมนุมหรือไม่ เนื่องจากไม่รู้จัก อีกทั้งไม่สามารถยืนยันได้ว่า ผู้ปราศรัยที่เป็นผู้หญิงมีเพียงคนเดียวตามคลิปเหตุการณ์เป็นบุคคลเดียวกับจำเลยที่ 3 หรือไม่

  • เป็นการชุมนุมที่สงบ ปราศจากอาวุธ ตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง ทั้งไม่มีเจ้าหน้าที่ที่เข้าสังเกตการณ์ชุมนุมและผู้ชุมนุมติดโควิด

พยานโจทก์เกือบทุกปากเบิกความตอบทนายจำเลยว่า การชุมนุมในคดีนี้เป็นไปโดยสงบ ไม่มีการยุยงให้ก่อเหตุอันตรายในบ้านเมือง และไม่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมพกอาวุธ ในกิจกรรมเผาโลงศพจำลองก็เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่ไม่ได้มีเจตนาทำให้ใครได้รับอันตราย ทั้งไม่มีทรัพย์สินใดๆ ได้รับความเสียหาย 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปสังเกตการณ์ก็ระบุว่า ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 จากการชุมนุมครั้งนี้ และไม่มีข้อมูลว่า มีผู้เข้าร่วมชุมนุมติดเชื้อหรือไม่

คาร์ม็อบโคราช 23 ก.ค. 2564 ภาพจากเพจ Korat Movement
  • เจตนารมณ์ของข้อกำหนด/คำสั่ง เพื่อป้องกันโควิด ไม่ได้ปิดกั้นการใช้เสรีภาพ

พยาน 2 ปาก จากสาธารณสุขจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งอยู่ในที่ประชุมให้ความเห็นชอบในการออกคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา กำหนดว่า การจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันเกิน 20 คน ผู้จัดกิจกรรมต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการฯ ตอบทนายจำเลยว่า หากเป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็ไม่ต้องขออนุญาต อีกทั้งข้อกำหนดหรือคำสั่งต่างๆ มีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้มีเจตนายับยั้งประชาชนไม่ให้ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติหรือไม่ให้ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ 

นิติกรสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และพนักงานสอบสวน เห็นด้วยกับทนายจำเลยว่า สมยศ ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ออกโดยอาศัยอำนาจตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 15) ซึ่งให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ มีอำนาจกำหนดเขตพื้นที่เพื่อการควบคุมโรคเท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจในการกำหนดการห้ามชุมนุม ทำกิจกรรม จึงเป็นการออกประกาศเกินกว่าที่ข้อกำหนดให้อำนาจไว้ และใช้บังคับไม่ได้

.  

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับเข้าร่วมชุมนุมและขึ้นปราศรัยวิจารณ์รัฐบาล แต่ป้องกันโควิดตามมาตรการแล้ว

วรัญญู จำเลยที่ 1 และมกรพงษ์ จำเลยที่ 2 เบิกความถึงการเข้าร่วมชุมนุมในคดีนี้ในทำนองเดียวกันว่า ทราบว่าจะมีการจัดคาร์ม็อบจากโพสต์ในเพจ Korat movement  รวมถึงทราบจากการบอกต่อของคนอื่นด้วย เมื่อทราบมกรพงษ์ตั้งใจไปเข้าร่วมเนื่องจากต้องการไปพูดคุยกับคนที่มีแนวคิดทางการเมืองเหมือนกัน อีกทั้งการชุมนุมมีวัตถุประสงค์เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การทำงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด 

วันเกิดเหตุ ทั้งสองคนต่างขับรถมอเตอร์ไซค์ไปที่หน้าร้านตะวันแดงฯ เมื่อเริ่มกิจกรรมมีการประกาศให้ผู้ที่สนใจขึ้นปราศรัยบนรถกระบะ วรัญญูจึงอาสาขึ้นไปพูดเรื่องการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลในการควบคุมโควิดและการจัดหาวัคซีน รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจ ส่วนมกรพงษ์ระบุว่า มีเพื่อนนักกิจกรรมชวนให้ขึ้นปราศรัย เขาตัดสินใจขึ้นปราศรัย เนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยระหว่างการปราศรัยตลอดการชุมนุมทั้งสองอยู่บนรถกระบะบ้าง ลงจากรถบ้าง 

วรัญญูและมกรพงษ์ยืนยันว่า ในการเข้าร่วมชุมนุมได้ป้องกันตัวเองจากโควิดโดยการสวมหน้ากากอนามัย พกสเปรย์แอลกอฮอล์ มกรพงษ์วัดอุณหภูมิก่อนออกจากบ้านด้วย ระหว่างการชุมนุมบางครั้งอาจลดหน้ากากอนามัยลงไว้ที่คางบ้างหากดื่มน้ำหรือพูด แต่ก็เป็นเวลาไม่นาน หรือหากสูบบุหรี่ก็จะเดินไปสูบในพื้นที่ที่ห่างคนอยู่แล้ว

หลังการชุมนุมก็ไม่ปรากฏว่าทั้งสองติดเชื้อโควิด คนที่รู้จักก็ไม่มีใครติดเชื้อเช่นกัน วรัญญูยังระบุว่า จากการติดตามเพจที่รายงานข้อมูลของสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ไม่พบการรายงาน Timeline ของผู้ติดเชื้อว่าเคยเข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้

วรัญญูและมกรพงษ์ระบุด้วยว่า ไม่ได้ไปขออนุญาตจัดกิจกรรม เนื่องจากไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรม

คาร์ม็อบโคราช 23 ก.ค. 2564 ภาพจากเพจ Korat Movement

นักกิจกรรมโคราชทั้งสองคนเบิกความถึงเมธานุช หรือ “มิลค์” จำเลยที่ 3 ว่า รู้จักก่อนการชุมนุมครั้งนี้ เนื่องจากเจอกันตามกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ แต่ไม่สนิทสนม วรัญญูยืนยันว่า ไม่พบจำเลยที่ 3 ร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุ ส่วนผู้หญิงที่ขึ้นปราศรัยตามภาพหลักฐานของโจทก์ ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นจำเลยที่ 3 นั้น ทั้งวรัญญูและมกรพงษ์ระบุว่าชื่อ “ผักกาด”

นักกิจกรรมทั้งสองยังเบิกความถึงประวัติการทำกิจกรรมของตนว่า เข้าร่วมกิจกรรมหรือการชุมนุมทางการเมืองเป็นปกติหากมีเวลาว่าง ทั้งกิจกรรมในนครราชสีมา และในจังหวัดอื่น ตามที่เห็นประกาศชุมนุมในเฟซบุ๊กหรือมีเพื่อนชักชวน ในโคราชทั้งสองก็เข้าร่วมชุมนุมกับหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มปากช่อง, Korat No เผด็จการ, Korat Movement, กลุ่มคนเสื้อแดง และกลุ่มอิสระอื่นๆ ทั้งยังเคยขึ้นปราศรัยหลายครั้งหากเป็นประเด็นที่พวกเขามีความเข้าใจ ทั้งสองเข้าร่วมที่จัดโดย Korat Movement บ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นผู้ติดตามเพจดังกล่าว แต่ไม่ได้เป็นแอดมิน

วรัญญูเบิกความด้วยว่า ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เขามักเข้าร่วมกิจกรรมที่ต่อต้านรัฐอย่างชัดแจ้ง จึงเป็นที่จับตาและมีการติดตามจากเจ้าหน้าตำรวจ โดยก่อนการชุมนุมในคดีนี้เขาก็ได้รับการติดต่อจากผู้กำกับ สภ.เมืองนครราชสีมา เชิญไปคุยที่ สภ.เมืองนครราชสีมา และพยายามสอบถามเกี่ยวกับการชุมนุมในวันที่ 23 ก.ค. 2564 ว่า จัดที่ไหน อย่างไร แต่เขาตอบว่า ไม่ทราบ เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้จัด 

นอกจากนี้ วรัญญุระบุว่า เขาทราบว่า จังหวัดอื่นๆ ก็มีการชุมนุมเช่นเดียวกับคดีนี้ และมีนักกิจกรรมทางการเมืองถูกฟ้องด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่นกัน เช่นที่ กทม., อุดรธานี, พะเยา และลพบุรี โดยคดีเหล่านี้ส่วนใหญ่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องทั้งสิ้น

.

จำเลยที่ 3 และผู้ช่วย ส.ส.ก้าวไกล ยืนยันไม่ได้ร่วมชุมนุม แค่แวะเอาแมสค์ไปให้

เมธานุช จำเลยที่ 3 และภัทรกาญจน์ ทองแดง ผู้ช่วย ส.ส.ซึ่งทำงานในสำนักงานพรรคก้าวไกล จังหวัดนครราชสีมาด้วยกัน เบิกความสอดคล้องกันว่า ในวันเกิดเหตุ ทั้งสองทำงานอยู่ที่สำนักงานพรรคทั้งวัน หลังเลิกงานเวลาประมาณ 18.00 น. เมธานุชได้ขับรถยนต์ของพรรคออกไปกับภัทรกาญจน์เพื่อไปซื้อของเตรียมกิจกรรม “ร้องด้วยช่วยนักดนตรีโคราช” ซึ่งจะจัดที่สำนักงานพรรคก้าวไกลในวันที่ 24 ก.ค. 2564 

ก่อนออกเดินทาง ภัทรกาญจน์เห็นว่าขณะนั้นมีการชุมนุมและที่สำนักงานมีหน้ากากอนามัยอยู่ จึงนำติดรถไปด้วยเพื่อนำไปมอบให้ผู้ชุมนุม เมื่อไปถึงหน้าศาลากลางเมธานุชได้ลดกระจกรถลงแล้วยื่นหน้ากากอนามัยให้ทีมงานผู้จัดซึ่งจำชื่อไม่ได้ จากนั้นได้ขับรถออกจากหน้าศาลากลางไปซื้อของ และกลับไปที่สำนักงาน ก่อนกลับบ้านในเวลาต่อมา

เมธานุชเบิกความด้วยว่า ตนเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองในจังหวัดนครราชสีมาหลายครั้ง แต่ไม่เคยขึ้นปราศรัย และยืนยันว่า ไม่ใช่บุคคลในภาพการขึ้นปราศรัยที่โจทก์นำมาเป็นหลักฐาน ซึ่งคนในภาพทำผมสีชมพู แต่ช่วงเกิดเหตุตนทำสีผมเป็นสีทอง นอกจากนี้ตนสูง 160 ซม. เมื่อยืนเทียบกับจำเลยที่ 2 แล้วมีความสูงต่างกันเล็กน้อย ไม่ตรงกับภาพหลักฐานโจทก์ซึ่งเห็นได้ว่าบุคคลดังกล่าวมีความสูงต่างกับจำเลยที่ 2 มาก

X