เปิดคำสั่งไม่ฟ้องอัยการ คดีชุมนุม #เด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ ปี 63 ชี้ไม่ได้จัดในสถานที่แออัด ไม่เสี่ยงโควิด-19

จากกรณีพนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรี ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีการชุมนุม #เด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ที่ท่าน้ำนนทบุรี ล่าสุดศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับสำเนาแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องในคดีดังกล่าว โดยอัยการชี้ว่าการชุมนุมไม่มีการกระทำอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย รวมทั้งมีมาตรการป้องกันโรค ไม่ได้ชุมนุมในสถานที่แออัด ไม่เสี่ยงต่อโควิด-19 ทำให้ไม่เป็นความผิดตามข้อกล่าวหา และคดีสิ้นสุดลง

คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 เครือข่ายเยาวชน นักเรียน และนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ร่วมกับกลุ่มเด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ ได้จัดกิจกรรมชื่อว่า “เด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ” ที่ลานกิจกรรมท่าน้ำนนทบุรี เพื่อสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของเยาวชนปลดแอกในช่วงดังกล่าว 

ต่อมาพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรี ได้มีการออกหมายเรียกเพื่อดำเนินคดีนักกิจกรรม 3 ราย ได้แก่ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, ปาริชาติ เลิศอัคระรัตน์ และศศณัฐ เจริญราษฎร โดยทั้งหมดได้ทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ “ห้ามการชุมนุมมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม และ 8 ธันวาคม 2563 ก่อนที่ทั้งสามจะทยอยถูกเรียกไปแจ้งข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตเพิ่มเติมด้วย และทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 พนักงานสอบสวนได้แจ้งว่าพนักงานอัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทำให้ในข้อกล่าวหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ผู้ต้องหาทั้งสามได้ยินยอมให้ตำรวจเปรียบเทียบปรับ โดยได้ทยอยเข้าจ่ายค่าปรับคนละ 100 บาท ตั้งแต่ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 ทำให้คดีสิ้นสุดลง

.

ภาพการชุมนุม #เด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ วันที่ 29 ก.ค. 63 (ภาพโดย Voice TV)

.

สำหรับหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรี ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ลงนามโดยนายอัคคพล รักผกา อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการภาค 1 รักษาการในตำแหน่งอัยการคดีศาลแขวงนนทบุรี เนื้อหาคำวินิจฉัยโดยสรุปเห็นว่า

ในความผิดฐานการกระทำอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย พนักงานอัยการเห็นว่าคดีมีบันทึกการถอดเทปปราศรัยกลุ่มผู้ชุมนุม และบันทึกข้อความ เรื่องรายงานการจัดกิจกรรมของกลุ่มเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนและกลุ่มลูกทุเรียนต่อต้านเผด็จการ ลงวันที่ 3 กันยายน 2564 ซึ่งได้สรุปเนื้อหาในการชุมนุมว่า “ในส่วนของผู้ต้องหาที่ 1 (ชินวัตร) ได้กล่าวข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1.ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน 2. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน 3. ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หยุดคุกคามประชาชน ส่วนของแกนนำอื่นได้สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันพูดกับนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่มาร่วมการชุมนุม โดยเนื้อหาจะเป็นการพูดเกี่ยวกับระบบการศึกษา การเรียนการสอนของครูในโรงเรียน และร่วมกันทำกิจกรรมร้อง เต้น ฯลฯ..”

และยังได้สรุปข้อความสำคัญจากการปราศรัยว่า “ไม่ปรากฏว่าได้มีการพูดกับประชาชนที่มาร่วมชุมนุมในทำนองและลักษณะที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปกระทำละเมิดต่อกฎหมาย หรือใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองแต่อย่างใด หรือปลุกระดมประชาชนทั่วไป หรือมีถ้อยคำจาบจ้วงหรือหมิ่นสถาบันแต่อย่างใด” ประกอบกับผู้กล่าวหา ที่ทำหน้าที่ติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมตลอดระยะเวลาที่ชุมนุม ก็ไม่ยืนยันว่าในวันชุมนุม ผู้ต้องหาทั้งสามได้กระทำการใดหรือกล่าวถ้อยคำใดมีลักษณะเป็นการยุยงผู้ร่วมชุมนุม ให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยแต่อย่างใด จึงเห็นว่าไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งสามได้การกระทำอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

ในส่วนความผิดฐานร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด อันมีลักษณะเป็นการเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค พนักงานอัยการเห็นว่า คดีมี เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี ตำแหน่งรักษาการณ์นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน ได้ตรวจดูภาพถ่ายการชุมนุมในวันดังกล่าว ยืนยันว่าบริเวณลานกิจกรรมท่าน้ำนนทบุรี เป็นสถานที่โล่ง โป่ง ไม่มีสิ่งบดบัง อากาศถ่ายเทได้ตลอดเวลา มิได้เป็นสถานที่แออัด อันจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคแต่อย่างใด การชุมนุมดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

ทั้งพยานให้การยืนยันว่าในกรณีการชุมนุมนี้ ไม่พบว่ามีผู้ที่เป็นหรือมีเหตุสงสัยว่าเป็นโควิด-19 ทั้งในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ทั้งพื้นที่จังหวัดนนทบุรีไม่พบผู้ติดเชื้อต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 60 วัน จึงไม่จำเป็นต้องสอบสวนโรค การกระทำของผู้ต้องหาจึงไม่มีโอกาสแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ซึ่งสอดคล้องกับภาพถ่ายผู้เข้าร่วมชุมนุมและภาพจากโดรนมุมสูง ผู้เข้าร่วมชุมนุมมีการใส่หน้ากากอนามัย และผู้นำปราศรัย ได้มีการเว้นระยะห่างจากผู้ฟังพอสมควร

ทั้งในวันชุมนุมดังกล่าว ได้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมกันจัดทางเข้าออกให้กับผู้ชุมนุมเป็นทางเดียว และจัดให้มีการตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิผู้เข้าร่วมชุมนุม อันเป็นการป้องกันมิให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมเสี่ยงต่อการติดโรคได้ จึงเห็นว่าการกระทำของผู้ต้องหาทั้งสาม ยังไม่เป็นความผิดตามข้อกล่าวหา

.

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในการดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา พนักงานอัยการเพิ่งมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอย่างเด็ดขาดในคดีลักษณะนี้ไปอย่างน้อย 4 คดี ได้แก่ คดีจากการชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ ที่จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 63, คดีจากการชุมนุมที่หน้าสถานทูตกัมพูชา เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 63 ในช่วงเช้าและบ่ายรวม 2 คดี และคดีชุมนุมที่ท่าน้ำนนทบุรีนี้

ในขณะที่คดีการชุมนุมที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแนวโน้มส่วนใหญ่ พนักงานอัยการยังคงมีคำสั่งฟ้องคดีไปถึงชั้นศาล คดีที่มีคำสั่งไม่ฟ้องนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น กล่าวได้ว่าบทบาทของพนักงานอัยการในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ตั้งข้อกล่าวหาจำนวนมากเพื่อดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ยังเป็นไปอย่างจำกัด

.
อ่านเพิ่มเติม

เปิดคำสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลำปาง ชี้ชุมนุมพื้นที่โล่งแจ้ง ผู้ชุมนุมสวมหน้ากาก ไม่พบการติดเชื้อไวรัส

เปิดคำสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุม #Saveวันเฉลิม หน้าสถานทูตกัมพูชา ชี้ไม่ได้ชุมนุมสถานที่แออัด-ไม่เกิดความไม่สงบ

.

X