เปิดคำสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุม #Saveวันเฉลิม หน้าสถานทูตกัมพูชา ชี้ไม่ได้ชุมนุมสถานที่แออัด-ไม่เกิดความไม่สงบ

จากกรณีพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 2 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของนักกิจกรรมทางการเมือง ใน 2 คดี กรณีการทำกิจกรรมและไปยื่นข้อเรียกร้องให้ทางการกัมพูชาติดตามการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่บริเวณด้านหน้าสถานทูตกัมพูชา เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2563 ล่าสุดศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับสำเนาแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องในสองคดีดังกล่าวอย่างเป็นทางการแล้ว

สำหรับสองคดีดังกล่าว เหตุเกิดขึ้นภายหลังการถูกอุ้มหายไปของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองในกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 63 กลุ่มนักกิจกรรมหลายกลุ่มได้นัดหมายไปทำกิจกรรมยืนโดยสงบที่หน้าสถานทูตกัมพูชา และยื่นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่สถานทูต เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 63 โดยมีการทำกิจกรรมลักษณะนี้ในสองช่วงเวลา ทำให้ต่อมามีผู้ถูกกล่าวหาแยกเป็น 2 คดี รวมจำนวน 10 คน

คดีแรก คือกลุ่มที่ไปยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อสถานทูตในช่วงเช้า โดยเป็นนักกิจกรรมจากเครือข่าย People Go และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) รวม 4 คน ประกอบไปด้วย ณัฐวุฒิ อุปปะ, แสงศิริ ตรีมรรคา, วศิน พงษ์เก่า และ อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์

ขณะที่กลุ่มที่ไปทำกิจกรรมที่หน้าสถานทูตกัมพูชาในช่วงเย็นมาจากหลายกลุ่ม ถูกดำเนินคดีอีก 6 ราย ได้แก่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข, โชติศักดิ์ อ่อนสูง, นภัสสร บุญรีย์, มัทนา อัจจิมา, ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี และ “แชมป์ 1984” (นามแฝง)

.

.

ทั้งสองคดีถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ฉบับที่ 1) ข้อที่ 5 ลงวันที่ 25 มี.ค. 63 “ร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย”

ในทั้งสองคดีมี พ.ต.ท.ไกรสิทธิ์ พิพัฒศุภมงคล รองผู้กำกับสืบสวน สน.วังทองหลาง ในขณะนั้น เป็นผู้กล่าวหา และผู้ต้องหาทั้งสองคดีได้ทยอยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.วังทองหลาง ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563  ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะส่งสำนวนคดีให้กับอัยการในช่วงเดือนสิงหาคม 2563

คดีใช้เวลาเกือบ 1 ปี จนช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ทางพนักงานอัยการจึงได้แจ้งว่ามีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีทั้งสองคดีแล้ว และทนายความได้ติดตามคำสั่งไม่ฟ้องคดีในทั้งสองคดีดังกล่าวเพิ่มเติม จนได้รับสำเนาคำสั่งคดีดังกล่าว

สำหรับคดีแรก ที่มีผู้ถูกกล่าวหา 4 ราย หนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 เนื้อหาคำวินิจฉัยในการสั่งไม่ฟ้องคดีระบุว่า “พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จะเป็นความผิดตามข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ข้อ 5 นั้น ต้องเป็นการชุมนุมการทำกิจกรรม การมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัดหรือการกระทำดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ถึงจะเป็นความผิด

“แต่จากคำให้การของพยาน ต่างยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งสี่ได้ยืนอยู่หน้าสถานทูตกัมพูชา ประจำประเทศไทย ที่เกิดเหตุ ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.10 น. โดยมีวัตถุประสงค์มายื่นหนังสือ 2 ฉบับ ต่อสถานทูตกัมพูชา คือหนังสือแถลงการณ์ของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน และหนังสือขอให้เร่งรัดดำเนินการและหาตัวและช่วยเหลือนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกอุ้มหายตัวไปในประเทศกัมพูชา และนำตัวผู้กระทำความผิดมาสู่กระบวนการตามกฎหมาย แต่ปรากฏว่าไม่มีเจ้าหน้าที่สถานทูตกัมพูชาออกมารับหนังสือ

“จนกระทั่งเวลา 11.40 น. ผู้ต้องหาทั้งสี่แยกย้ายกันกลับ โดยที่ไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายหรือรุนแรงแต่อย่างใด จึงไม่เป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองแต่อย่างใด เป็นเพียงการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพโดยทั่วไป ทั้งสถานที่ที่ผู้ต้องหาทั้งสี่ไปขอยื่นหนังสือต่อสถานทูตกัมพูชานั้น ก็เป็นบริเวณด้านนอกสถานทูตฯ บนทางเท้าเป็นที่โล่งและกว้างขวาง ไม่ได้เป็นสถานที่แออัดแต่อย่างใด อีกทั้งผู้ต้องหาทั้งสี่ก็ได้สวมหน้ากากอนามัยขณะที่ทำกิจกรรมด้วยกันทุกคน

“และเมื่อพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของผู้ต้องหาทั้งสี่แล้ว ก็เห็นได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสี่มีวัตถุประสงค์เพียงยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสถานทูตกัมพูชา ในเรื่องการขอให้สถานทูตกัมพูชาดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการหายตัวไปของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เท่านั้น มิได้มีเจตนาที่จะยุยงให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมกับพวกตนในทันที หรือก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมืองแต่อย่างใด และเมื่อไม่มีเจ้าหน้าที่สถานทูตกัมพูชาออกมารับหนังสือจากผู้ต้องหาทั้งสี่แล้ว ผู้ต้องหาทั้งสี่ก็ได้สลายตัวกลับในทันที ซึ่งรวมระยะเวลาที่ผู้ต้องหาทั้งสี่กับพวกอยู่ที่สถานทูตก็เพียงชั่วโมงเศษเท่านั้น จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ของผู้ต้องหาทั้งสี่ จึงเห็นได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสี่ไม่ได้มั่วสุมในสถานที่แออัด ไม่ได้ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง คดีจึงมีหลักฐานไม่พอฟ้อง”

.

.

สำหรับคดีที่สอง ที่มีผู้ถูกกล่าวหา 6 ราย หนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ก็ได้วินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องคดีในลักษณะเดียวกันกับคดีแรก โดยเห็นว่าการชุมนุมเป็นเพียงการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพโดยทั่วไป ไม่ได้มั่วสุมในสถานที่แออัด ไม่ได้ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองเช่นเดียวกัน คำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว ทำให้ทั้งสองคดีสิ้นสุดลงไปเช่นเดียวกัน

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในการดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา พนักงานอัยการเพิ่งมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอย่างเด็ดขาดในคดีลักษณะนี้ไปอย่างน้อย 4 คดี ได้แก่ คดีจากการชุมนุม #ลำปางรวมการเฉพาะกิจ ที่จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 63, คดีจากการชุมนุม #เด็กนนท์พร้อมชนเผด็จการ ที่ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 63 และคดีจากการชุมนุมที่หน้าสถานทูตกัมพูชาเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 63 ในสองคดีดังกล่าวข้างต้น

ในขณะที่คดีการชุมนุมที่ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จนถึงวันที่ 27 ก.ย. 64 ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีผู้ถูกกล่าวหาไม่น้อยกว่า 1,122 ราย ใน 458 คดีแล้ว และแนวโน้มส่วนใหญ่ พนักงานอัยการยังคงมีคำสั่งฟ้องคดีไปถึงชั้นศาล ขณะที่คดีที่มีคำสั่งไม่ฟ้องนั้นเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

กล่าวได้ว่าบทบาทของพนักงานอัยการในการตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ตั้งข้อกล่าวหาจำนวนมากเพื่อดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ยังเป็นไปอย่างจำกัด

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง: 

4 ผู้ต้องหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการขอความเป็นธรรมให้ “วันเฉลิม” เข้ารับทราบข้อกล่าวหา

“โชติศักดิ์และสมยศ” เข้ารับทราบข้อกล่าวหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุร้องขอความเป็นธรรมให้วันเฉลิมหน้าสถานทูตกัมพูชา

อีก 4 ผู้ต้องหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หน้าสถานทูตกัมพูชาเข้ารับทราบข้อหา พร้อมขบวนร้องยกเลิกพ.ร.ก.

4 กป.อพช. ร้องอัยการขอสั่งไม่ฟ้องคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยื่นร้องเรื่อง ‘วันเฉลิม’ หน้าสถานทูต

.

X