ผลกระทบของคดีและความกังขาต่อกระบวนการยุติธรรมของ ‘สุวรรณา-วสันต์’ แม้ศาลยกฟ้อง คดี #ม็อบ21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมา ศาลแขวงดุสิตมีคำพิพากษายกฟ้องคดีของสุวรรณา ตาลเหล็ก และ วสันต์ กล่ำถาวร ซึ่งถูกฟ้องร้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง เนื่องจากเข้าร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การมีคำพิพากษายกฟ้องในครั้งนี้นับเป็นรายที่ 4 และ 5 สำหรับกรณีการชุมนุมครั้งนี้แล้ว

สำหรับคดีการชุมนุม #21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 เกิดขึ้นในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง โดยเป็นการชุมนุมของประชาชนซึ่งรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนจะเดินเท้ามุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่น “จดหมายลาออกของนายกฯ ฉบับจำลอง” ให้ตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง และ 2 เงื่อนไข ของผู้ชุมนุม 

ต่อมามีผู้ร่วมการชุมนุมดังกล่าว ถูกกล่าวหาดำเนินคดีทั้งหมด 14 คน ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมฯ โดยในคดีที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมนี้ ผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนถูกฟ้องแยกเป็นรายคดี

ก่อนหน้านี้ศาลแขวงได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีของ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2564, อานันท์ ลุ่มจันทร์ เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2565 และ ไพศาล จันปาน เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2565

ในคดีนี้ สุวรรณาและวสันต์ ถูกอัยการฟ้องต่อศาลแขวงดุสิต เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2563 และมีการสืบพยานเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2565 ก่อนศาลพิพากษายกฟ้องคดี โดยสรุปเห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และไม่ปรากฎว่าจำเลยเข้าร่วมหรือมีส่วนรู้เห็นกับเหตุการณ์ความรุนแรง จึงมิใช่การชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมือง

.

.

ผลกระทบจากการกระบวนการยุติธรรมที่น่าฉงน แม้ยกฟ้องภายหลัง

ในช่วงระยะเวลา 1 ปีกว่า ตั้งแต่รับทราบข้อกล่าวหาจนถึงวันฟังคำพิพากษาของศาล ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า จำเลยในคดีนั้นต้องแบกรับภาระทางคดี ที่ต้องมาตามนัดหมายในกระบวนการต่างๆซึ่งกระทบโอกาสในหน้าที่การงานหรือการทำมาหากิน การเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ในกระบวนยุติธรรมที่ไม่ใช่เรื่องที่สามารถรับมือได้ง่าย ภาระเรื่องค่าเดินทาง และภาระทางจิตใจ แม้ศาลจะยกฟ้องแล้ว แต่การชดเชยเยียวยาต้นทุนด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการต่อสู้คดี ก็ไม่ได้เกิดขึ้นติดตามมา

วสันต์ หนึ่งในผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง รวมแล้วทั้งหมด 8 คดี ได้รับผลกระทบจากการถูกดำเนินคดีเช่นกัน โดยสิ่งที่เขาโดนมากที่สุด คือเรื่องการสูญเสียโอกาสในการหารายได้เลี้ยงชีพของเขาและครอบครัว  

รวมถึงการที่เขาถูกตีตราจากสังคมว่า เขาเป็นคนอันตรายเพราะเป็นคนมีคดี ส่งผลให้ต้องสูญเสียรายได้ ลูกค้า หรือเพื่อนรอบข้าง ตลอดระยะเวลาที่เขาโดนดำเนินคดีจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองอย่างสันติ

“ด้วยความที่เราทำค้าขาย เวลาติดต่องานต้องดูว่าจะไม่ตรงกับนัดที่ต้องไปสถานีตำรวจ อัยการ และศาล ซึ่งบางที นัดพวกนี้มันเลื่อน อย่างตอนนัดสั่งฟ้องของอัยการ เลื่อน 3 – 4 รอบ ทำให้เราต้องบอกเลื่อนงานลูกค้าออกไปทำให้ลูกค้าบางคนไม่พอใจ แล้วเปลี่ยนไปซื้อของเจ้าอื่นแทน”

“ตอนที่เราถูกดำเนินคดี คนรอบข้างก็มองเราในภาพลบ เป็นคนมีคดี เป็นคนอันตราย พอลูกค้าเห็นเราในข่าวว่าเราถูกดำเนินคดี ก็ไม่ค่อยติดต่อกลับเพื่อซื้อขายของกันเหมือนปกติอีกต่อไป”  

สำหรับวสันต์แล้ว เขายังคงตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการที่เขาถูกฟ้องในคดีนี้ ซึ่งทำให้อดคิดไม่ได้ว่า เขาและเพื่อนๆ ถูกกระบวนการยุติธรรมกลั่นแกล้งเพียงเพราะออกมาชุมนุมทางการเมือง เรียกร้องให้รัฐบาลดูแลประชาชน

“ผมมองว่าก่อนหน้านี้ คดีของมายด์หรืออานันท์ก็ยกฟ้อง ความกังวลในวันที่ศาลอ่านคำพิพากษาจึงไม่มาก แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าการดำเนินคดีหลายๆ คดีนั้น รู้สึกเหมือนถูกกลั่นแกล้ง อย่างในห้องพิจารณาคดีที่มีการสืบพยานว่า เราเพียงแต่ยืนเฉยๆ ในการชุมนุม แต่ทำไมเราถึงถูกดำเนินคดีหรือถูกฟ้อง”

“คนอื่นๆ ที่โดนดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เหมือนคนที่ถูกกลั่นแกล้งจากทางรัฐ เพราะรัฐเขาไม่ต้องการให้คนออกมาชุมนุม ต้องการทำให้คนกลัว สำหรับผมเอง ผมก็กลัว แต่เราจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เราต้องทำกิจกรรมต่างๆ บ้าง เพื่อให้ตำรวจหยุดการกระทำดังกล่าวใส่ประชาชนที่ออกมาร่วมชุมนุม หรือประชาชนที่แค่อยู่บริเวณการชุมนุมเท่านั้น”

.

.

ความน่ากลัวที่สุดคือความน่ากังขาในกระบวนการยุติธรรม   

สำหรับสุวรรณา ก็ได้รับผลกระทบทางด้านความปลอดภัยในชีวิต ผลกระทบทางด้านการเงินที่มีภาระค่าใช้จ่ายจากการถูกดำเนินคดี และผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวัน นับตั้งแต่มีการรัฐประหารปี 2557 มาแล้ว ซึ่งเธอถูกคณะรัฐประหารเรียกรายงานตัว และถูกเจ้าหน้าที่จับตาความเคลื่อนไหวมาตลอด จากบทบาทการสังกัดกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยของเธอ และมีส่วนในการเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ในขณะนั้น

ในปัจจุบัน สุวรรณาโดนดำเนินคดีทั้งหมด 12 คดี ทำให้ภาระและผลกระทบดูเหมือนว่าจะปรากฏชัดยิ่งขึ้น 

“เราโดนดำเนินคดีหลายคดี บางคดีต้องขับรถจากบ้านซึ่งอยู่นอกกรุงเทพฯ เข้ามาบ่อยครั้งซึ่งระยะทางไกลจากบ้านเรามาก บางนัดก็ถูกเลื่อนบ่อยครั้ง ยิ่งปัจจุบันค่าน้ำมันแพง ทำให้ต้องเสียค่ารถมากขึ้น”

“มากไปกว่านั้น เรามองว่ามัน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการดำเนินคดี) ไม่ได้กระทบแค่ตัวเราแต่มันกระทบทั้งกระบวนการยุติธรรมเลย ตั้งแต่การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จำกัดการใช้ชีวิตประจำวันโดยเฉพาะช่วงประกาศเคอร์ฟิว ที่มันกระทบการทำงานของเราที่ไม่เป็นเวลา ทำให้เราต้องเสียรายได้ไป ไปจนถึงการดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เรารู้สึกเหมือนว่า เราสู้คดีไม่ได้”

“เรามีความกังขาต่อกระบวนการยุติธรรม ข้อหาที่เราโดนหนักสุดคือ โดนดำเนินคดีด้วยข้อหามาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญา แต่คนอื่นๆ โดยเฉพาะน้องๆ ที่โดนข้อหามาตรา 112 นั้นน่ากังวลมาก เพราะที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมนั้นมีความย้อนแย้งกับการที่ระบุว่า ให้จำเลยหาหลักฐานเพื่อมาสู้ในคดีได้เต็มที่ เราเองก็ไม่กล้าพูดเยอะมากเพราะกลัวว่าจะโดนดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทศาลด้วย”

ความกังขาต่อกระบวนการยุติธรรมของสุวรรณานั้น มีมาตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 ที่เธอมองว่า กระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาดูเหมือนไม่มีมาตรฐาน และรู้สึกเหมือนโดนกลั่นแกล้งโดยผู้บังคับใช้กฎหมายอยู่เรื่อยมา

“ที่ผ่านมา การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหมือนกับเป็นการใช้เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวทางการเมือง ข้อกฎหมายนี้ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทั้งนั้นเลย ถึงแม้ว่าในการชุมนุมจะมีคนไม่เยอะ ผู้ชุมนุมใช้วิธีป้องกันโควิดด้วยหน้ากาก หรือไม่มีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดก็ตาม ก็ยังคงถูกดำเนินคดีอยู่”

“ในวันที่อ่านคำพิพากษา เราแอบหวั่นใจ เพราะไม่มั่นใจในมาตรฐานของกระบวนการยุติธรรมไทย ถึงแม้ว่าในคดีนี้จะมีการยกฟ้องก่อนหน้าก็ตาม และอีกเหตุผลที่หวั่นใจก็คือทนายแจ้งว่าเสี่ยงติดโควิดจึงไม่สามารถมาได้ แต่พอศาลอ่านคำพิพากษาพร้อมระบุว่า โจทก์ไม่สามารถระบุพฤติการณ์ได้ชัดเจนว่าจำเลยได้กระทำความผิด ศาลจึงยกฟ้อง เราก็หายหวั่นใจไปบ้าง”

นอกจากคดีที่ศาลแขวงดุสิตยกฟ้องไปแล้วรวม 4 คดี ขณะนี้ยังเหลือคดีจากการชุมนุม 21 ต.ค. 2563 ที่อยู่ระหว่างรอการพิจารณาในชั้นศาล ได้แก่ คดีของวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล, ชาติชาย แกดำ, อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์, ปิยรัฐ จงเทพ, ชลธิชา แจ้งเร็ว และกรกช แสงเย็นพันธ์ โดยทั้ง 6 คดียังอยู่ระหว่างรอนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐาน ทำให้ต้องจับตาสถานการณ์การดำเนินคดีต่อไป เมื่อศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วสี่คดี

หากนับตั้งแต่ที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อจัดการสถานการณ์โควิด-19 วันที่ 26 มี.ค. 2563 จนถึง 28 มี.ค. 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วอย่างน้อย 1,447 คน ใน 629 คดี ในจำนวนนี้ ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องไปแล้วอย่างน้อย 7 คดี พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องอีกอย่างน้อย 7 คดี โดยยังไม่พบว่ามีคดีที่จำเลยเลือกจะต่อสู้คดี แล้วศาลมีคำพิพากษาว่ามีความผิดแต่อย่างใด

ถึงแม้ว่า ศาลจะมีคำพิพากษาว่ายกฟ้องในบางคดี แต่การถูกดำเนินคดีมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 1-2 ปี ก็ได้สร้างภาระต่อประชาชนและนักกิจกรรมที่ไปร่วมชุมนุมที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง 

9 ข้อสังเกต กับ 2 ปี การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อการชุมนุม

คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลยกฟ้องแล้ว 7 คดี อัยการไม่ฟ้อง 7 คดี ไม่มีคดีที่ต่อสู้แล้วลงโทษแม้แต่คดีเดียว

สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

.

X