ฟังเสียงสะท้อนจำเลยคดีคาร์ม็อบกระบี่ กับการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง

ชัญญา อินทสระ และสุพัทชิรา โสระเนตร์

นักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach)

.

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านไป ศาลแขวงกระบี่มีคำพิพากษายกฟ้องคดีคาร์ม็อบกระบี่ทั้งสองคดี ที่จัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 หลังต่อสู้คดีผ่านมาปีกว่า ทั้งสองคดีดังกล่าวมีผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นผู้เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งไม่ซ้ำกันเลย รวมมีประชาชนถูกกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด 11 คน

วันที่ 10 พ.ย. 2565 ศาลยกฟ้องคดีคาร์ม็อบกระบี่ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 โดยเห็นว่ากิจกรรมตามฟ้องนั้นอยู่ในพื้นที่กว้าง โล่งแจ้ง และมีอากาศถ่ายเท และจำเลยดังกล่าวได้สวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง ไม่ได้มีการใกล้ชิดกันแต่อย่างใด จึงไม่ถึงขนาดเป็นการทำกิจกรรมในสถานที่แออัดและมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค

วันที่ 30 พ.ย. 2565 ศาลยกฟ้องคดีคาร์ม็อบกระบี่ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 เนื่องจากอัยการฟ้องคำสั่งของ ศบค. มาผิดฉบับตั้งแต่ต้น โดยขณะเกิดเหตุนั้นมีการออกคำสั่งใหม่ที่แก้ไขสถานะของจังหวัดกระบี่เป็นเพียง “พื้นที่ควบคุม” แล้ว ทำให้กิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมประมาณ 30 คน ไม่ได้เกินกว่าที่คำสั่งกำหนด

แม้ยังต้องรอติดตามว่าอัยการจะมีการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือไม่ แต่ก็พูดได้ว่าจำเลยผู้ถูกฟ้องแต่ละรายมีภาระต้นทุนที่เสียไป เมื่อต้องใช้เวลากว่าปีกว่าในการต่อสู้คดี ทั้งที่ไม่ได้มีความผิดใด ทีมงานกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach) พูดคุยถึงความคิดความรู้สึกอันหลากหลายกับกลุ่มจำเลยคาร์ม็อบกระบี่ในคดีแรก หลังศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง

.

.

สุรีมาศ: “ถ้าหากฉันเป็นภัยต่อความมั่นคงได้ แสดงว่าความมั่นคงบางยิ่งกว่าใยแมงมุม”

สุรีมาศ หรือ “จีน่า” สถานะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยววัย 52 ปี เธอประกอบอาชีพขายประกันชีวิต และยังมีสถานะเป็นจำเลยใน “คดีความมั่นคง” ด้วย โดยนอกจากถูกกล่าวหาในคดีคาร์ม็อบกระบี่แล้ว เธอยังถูกกล่าวหาในคดีตามมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง ที่อยู่ระหว่างการต่อสู้คดีที่ศาลจังหวัดกระบี่อยู่ด้วย

“พี่เป็นแค่ประชาชนคนหนึ่งที่มองไม่เห็นแสงสว่างหรือความยุติธรรมหลายๆ อย่าง ทำให้เราออกมาแสดงออก และการที่เราแสดงออกทางการเมือง การที่เราตรงไปตรงมากับความรู้สึก หรือการที่กล้าจะพูดในสิ่งที่เราได้รับความเดือดร้อน เราคิดว่ามันไม่ได้ผิด นี่เลยเป็นเบื้องต้นในการแสดงออกทางการเมืองในเฟซบุ๊ก

“เราก็ไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของเรา เขาจับเรากลายเป็นแกนนำ ซึ่งเราก็แค่เป็นคนๆ หนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการเมืองแบบที่เป็นอยู่ เราเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ได้รับผลกระทบ แล้วเราก็ทนไม่ได้สิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคม เราไม่อยากเพิกเฉย

“อย่างคดีคาร์ม็อบที่เราโดน ตอนนั้น เราต้องการเราเลือกวัคซีนที่ดี วัคซีนอะไรก็ได้ที่ทุกคนมีสิทธิเลือกเองได้ เราเรียกร้องวัคซีน แต่เราไม่ได้เรียกร้องให้กับตัวเราเอง เราเรียกร้องเพื่อประชาชนทุกคนที่มีสิทธิที่จะได้รับวัคซีนที่ดี

คดีต่อสู้มันมาตั้งแต่เดือนไหน ให้ทำเหมือนว่าฉันไม่เครียดหรอก ฉันไม่กังวลหรอก ฉันไม่ผิด ไม่จริงหรอก มันมีความกังวล เพราะถ้าทุกคนเห็นว่ามันไม่ผิด คดีนี้มันจะไม่เริ่มต้นเลย นั่นแสดงว่ามันมีความไม่ปกติ และเราคือหนึ่งในเป้าหมายของความไม่ปกตินี้ รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ ตำรวจหรือทหาร เขาควรทำเรื่องที่เหมาะสมกับศักดิ์ศรีของเขามากกว่านี้ ไม่ควรเอาสิ่งที่ฝึกฝนมา ทำกับพวกเรา แทนที่จะทำกับศัตรู แต่มาสร้างภาพให้เรากลายเป็นศัตรูตัวเลวร้าย”

“ถ้าหากฉันเป็นภัยต่อความมั่นคงได้ แสดงว่าความมั่นคงบางยิ่งกว่าใยแมงมุม ฉันเป็นภัยต่อความมั่นคงเป็นภัยต่อประเทศได้ ฉันมีอำนาจขนาดนั้นเลยเหรอ เกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้ ถ้าเราไม่ช่วยกันเปลี่ยน ไม่ช่วยกันแก้ ในอนาคตข้างหน้าเราอยู่ยากกันเรื่อยๆ เราไม่ได้เสียใจในสิ่งที่เราทำเลย เราไม่ได้เพิกเฉย เราทำเต็มสุดกำลังของเรา เราพูดจากใจของเรา กลายเป็นว่าเราเป็นแกนนำ”

.

.

ศฤงคาร: กฎหมายสามารถนำไปใช้ได้ในทั้งสองทาง ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะนำไปใช้แบบไหน”

ศฤงคาร ผาพิศาล หรือ “หมอดรีม” นอกจากเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ยังมีอาชีพหลักในงานบริการเกี่ยวกับด้านนวดแผนไทยและสปา นอกจากนี้ ยังมีอาชีพเสริมเป็นวิทยากรอิสระสอนวิชาแพทย์แผนไทยและสปาในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ภูเก็ต และตรังอีกด้วย

หมอดรีมเปิดเผยว่าตนเองนับเป็นตัวแทนของ LGBTQ+ ผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งมองว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในฐานะประชาชนและพลเมืองของรัฐสามารถแสดงออกได้โดยชอบธรรม เพราะมีตัวบทกฎหมายรองรับเป็นพื้นฐาน ขณะเดียวกันคนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตรงนี้ ก็ไม่ควรจะถูกตราหน้าว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมของสังคม เพราะทุกคนไม่ว่าจะมีเพศ อายุ อาชีพ หรือสถานะอย่างไรในสังคม ต่างมีสิทธิขั้นพื้นฐานด้วยกันทั้งสิ้น 

หลังจากฟังคำพิพากษาแล้ว หมอดรีมยังบอกถึงความรู้สึกว่า รู้สึกโล่งอกและดีใจ เพราะเชื่อว่าได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และไม่ได้คิดว่าตนกระทำผิดใด

“พอศาลตัดสินยกฟ้อง ก็ทำให้มีความรู้สึกว่ามันคุ้มค่ากับสิ่งที่เราได้มาเรียนรู้ ได้เจอทั้งความกดดันในบริบททางสังคม ข้อกฎหมาย และหลักฐานหลายๆ อย่าง โดยที่เราไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นแบบไหน แต่พอศาลตัดสินว่าเราไม่เป็นผู้มีความผิด อย่างน้อยก็ทำให้เรายังมีความเชื่อว่าความยุติธรรมของศาลยังหลงเหลืออยู่” 

เธอเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมควรมีความน่าเชื่อถือกว่านี้ มีการใช้กฎหมายให้ยุติธรรมและตรงตามหลักการ มิใช่ถูกนำมาใช้เพื่อข่มขู่ทางการเมืองและปิดปากประชาชน

“สิ่งสำคัญที่ต้องการเราให้ผู้รู้กฎหมายทั้งหลายพึงตระหนักไว้ว่า การใช้ความรู้ความสามารถควรที่จะคำนึงถึงประโยชน์และโทษต่อประชาชน เพราะว่าคุณเรียนกฎหมาย ดังนั้นคุณต้องรู้อยู่แล้วว่ากฎหมายสามารถนำไปใช้ได้ในทั้งสองทาง ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะนำไปใช้แบบไหน”

.

ณรณ: “อยากขอให้ทุกคนยึดมั่นในอุดมการณ์เราต่อไป มันอาจจะไม่ผลิดอกออกผลตอนนี้ แต่ว่าการกระทำของเรามันไม่สูญเปล่า”

ณรณ แก่นทอง หนุ่มวัย 33 ปี ปัจจุบันทำธุรกิจส่วนตัว เปิดเผยถึงความรู้สึกหลังศาลพิพากษายกฟ้องว่ารู้สึกเฉยๆ ไม่ได้ดีใจขนาดนั้น เพราะมองว่าตนเองไม่ได้ทำผิดอะไร และเป็นสิทธิที่เราควรได้อยู่แล้ว

“ถ้ามองตามความเป็นจริง กฎหมายก็ไม่ได้เที่ยงธรรมกับประชาชน ฉะนั้นผลพิพากษายกฟ้องก็คิดล่วงหน้าอยู่แล้ว มันควรจะยกฟ้อง เลยไม่ได้ดีใจอะไร” ณรณเผย

เมื่อสอบถามถึงข้อความที่อยากฝากถึงเพื่อนๆ ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคม ณรณเผยว่า “อยากขอให้ทุกคนยึดมั่นในอุดมการณ์เราต่อไปมันอาจจะไม่ผลิดอกออกผลตอนนี้ แต่ว่าการกระทำของเรามันไม่สูญเปล่า  ต่อให้คุณทำแล้วโดนคดี ไม่ว่าจะสถานเบาหรือรุนแรงสู้ต่อไป เพราะยังไงความคิดพวกนี้จะฝังรากลงไปเรื่อยๆ

ขณะที่เขายังฝากถึงการเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งดูเหมือนจะมีข้อจำกัดมากกว่าภาคอื่นๆ ว่า “อยากให้มันมีความเข้มแข็งและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อยากให้รุ่นหลังๆ น้องๆ ที่เริ่มเข้าใจในการเมือง เข้าใจสถานการณ์ความเป็นไปของประชาธิปไตยของประเทศไทย อยากให้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันเยอะๆ รวมกลุ่มกัน แล้วยังคงยึดมั่นในอุดมการณ์นี้ต่อไปในสักวันหนึ่งจะชนะแน่นอน”

.

.

ประเสริฐพงษ์: “อยากให้คนใต้เปลี่ยนวิธีคิด อย่ามองการเมืองและนักการเมืองในแง่ลบ”

ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล ก็เป็นหนึ่งในผู้ถูกฟ้องในคดีคาร์ม็อบกระบี่เช่นกัน จากคนทำงานการเมือง กลับกลายเป็นผู้ต้องหาในคดีการเมืองไปโดยไม่คาดคิด เขาเผยถึงความรู้สึกหลังการต่อสู้คดีกว่า 1 ปี เป็นลำดับว่า

“ความรู้สึกแรกคือความโล่งอก และความรู้สึกที่เหมือนกับมีร่องรอยประทับตราการต่อสู้เพื่อเรียกร้องและปกป้องสิทธิ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมเรื่องเสรีภาพสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนสามารถใช้สิทธิได้ และศาล ซึ่งเป็น 1 ใน 3 อำนาจในระบอบประชาธิปไตยคืออำนาจตุลาการ ได้ให้ความยุติธรรมกับภาคประชาชน

“ความรู้สึกอีกอันหนึ่ง ก็รู้สึกผิดหวังกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปแจ้งความเรา ซึ่งโดยสามัญสำนึกเข้าใจได้ว่าได้รับคำสั่งมาจากผู้มีอำนาจเพื่อที่จะกลั่นแกล้งพวกเรา ผมรู้สึกผิดหวัง และก็ความรู้สึกที่อยากจะให้ตำรวจกระบี่ควรมีจิตสำนึกที่ดี ซึ่งผมยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้ฟังว่า เราเองเคยไปร่วมชุมนุมกันที่จังหวัดตรัง แต่ทำไมเราไม่ถูกฟ้องโดยตำรวจที่ตรัง นั่นแสดงให้เห็นว่ามีการใช้ดุลยพินิจของตำรวจกระบี่ที่ไม่เป็นธรรม อันนี้คือความรู้สึกที่ผิดหวัง”

ประเสริฐพงษ์ยังฝากความเห็นถึงคนรุ่นใหม่ด้วยว่า “จงมีความกล้าหาญต่อไป เพราะการอยู่ในสังคม ถ้าเราไม่ร่วมกันต่อสู้ ไม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องร้อง หรือหวังให้คนอื่นทำให้คุณ มันยากที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลง ก็ขอให้สู้ต่อไป แล้วก็ให้อยู่ในกระบวนการขบวนเดียวที่จะต่อสู้เรื่องแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ อย่าเพิ่งท้อ เพราะยังมีคนที่เคยต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย ตั้งแต่ยุค 14 ตุลา 16 มาทุกวันนี้เขายังสู้ หรือแม้กระทั่งคนที่ถูกคดียัดเยียด 112, 116 ที่เขาลี้ภัยไปต่างประเทศ ทุกวันนี้เขายังสู้อยู่เลย เพราฉะนั้นขอให้นักต่อสู้จงมีจิตวิญญาณของการต่อสู้ต่อไป”

ส่วนสิ่งที่คาดหวังเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิในภาคใต้ ประเสริฐพงษ์บอกสั้นๆ ว่า “อยากให้คนใต้เปลี่ยนวิธีคิด อย่ามองการเมืองและนักการเมืองในแง่ลบ”

.

ทนายจำเลย: “รัฐออกกฎหมายมาได้ แต่อย่าลืมว่าประชาชนอย่างเราก็มีกฎหมาย เราก็มีสิทธิที่กฎหมายสูงสุดรับรองอยู่เหมือนกัน”

“ทนายฉี” หนึ่งในทนายจำเลย และนักกฎหมายที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ บอกถึงความเห็นหลังฟังคำพิพากษาคดีคาร์ม็อบกระบี่คดีแรกว่า “ในฐานะทนายจำเลย ถ้าเกิดว่าฝ่ายเราชนะ ก็ดีใจ แล้วก็ยินดี อันนี้ก็ขอบคุณ ขอบคุณตัวจำเลยเหมือนกัน ที่เขาสู้ ถึงแม้ว่าศาลตอนแรก เข้ามาก็จะให้รับสารภาพเลย ว่ามีประเด็นอะไรจะสู้ไหม จะสู้ทำไมในเมื่อคุณไปจริง คุณฝ่าฝืนจริง กฎหมายก็กำหนดแล้วว่ามันผิด อะไรแบบนี้ แต่ว่าเขายืนหยัด ที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ผิด เพราะมันเป็นสิ่งทำเพื่อเพื่อสาธารณะ เพื่อส่วนรวมไม่ได้เรียกร้องเพื่อตัวเอง มันเป็นสิ่งที่เป็นสิทธิของประชาชนที่เขาสามารถจะทำได้

“สิทธิของประชาชนได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ถ้าเกิดว่าเรามัวแต่มามองเฉพาะกฎหมายอย่างเดียว เราก็กลัว ถ้าเกิดว่าเรามองว่ากฎหมายสูงสุดรับรองเราแล้ว เราสามารถจะเข้าถึงสิทธิ แล้วเรียกร้องสิทธิของเราได้ รัฐเองก็ไม่สามารถจะมาละเมิดเราได้

“ถ้าเกิดว่าเราไม่ไปติดกับดักของข้าราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือกลัวว่าเขาออกกฎหมาย อย่าไปทำเลย แต่ถ้าเกิดว่าเรารู้สิทธิและหน้าที่ของเราตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใหญ่สุด รัฐก็ต้องปกป้องและคุ้มครองเรา เพราะเรามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ” ทนายความระบุ

.

X