ตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย. 2565 อัยการจังหวัดกระบี่มีความเห็นสั่งฟ้องคดีของสุรีมาศ (สงวนนามสกุล) ประชาชนในจังหวัดกระบี่วัย 52 ปี ในข้อหา ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) จากการแชร์คลิปจากกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส’ ต่อศาลจังหวัดกระบี่
สำหรับความเป็นมาในคดีนี้ สุรีมาศถูกตำรวจ สภ.เหนือคลอง จ.กระบี่ จับกุมตามหมายจับของศาลจังหวัดกระบี่ลงวันที่ 7 ต.ค. 2564 ที่บ้านพักในจ.กระบี่ เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2565 โดยมีผู้แจ้งความชื่อ พรลภัส ศรีช่วย ซึ่งอ้างว่าได้เห็นโพสต์เฟซบุ๊กดังกล่าวจึงมาแจ้งความร้องทุกข์ ทั้งนี้เธอไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน และก่อนหน้าถูกจับกุมก็ไปรายงานตัวในคดีคาร์ม็อบกระบี่ที่เธอถูกกล่าวหาอีกคดีหนึ่ง แต่ตำรวจก็ไม่เคยมีการแสดงหมายจับ
ภายหลังถูกจับกุม สุรีมาศได้เล่าเรื่องราวขณะถูกจับกุมในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตนถูกจับกุมโดยตำรวจนอกเครื่องแบบและพยายามจะจับตนใส่กุญแจมือ ขณะที่ตนยังแต่งกายไม่เรียบร้อยใส่เพียงกระโจมอก โดยมีการขึ้นคร่อมตัวขณะที่ตนนั่งทรุดลงกับพื้นเพื่อพยายามจับกุมใส่กุญแจมือ แม้ว่าตนไม่ได้ขัดขืนการจับกุม ขณะนั้นมีมารดาของสุรีมาศอยู่ในเหตุการณ์แต่ถูกกันตัวออกไป
ขณะถูกควบคุมตัวมีลูกสาวนั่งรถไปที่สถานีตำรวจเพื่อทำบันทึกจับกุมด้วย โดยสุรีมาศให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและไม่ยินยอมเซ็นชื่อในบันทึกจับกุม เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้บันทึกรายละเอียดการจับกุมที่ถูกต้อง สุรีมาศยังถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจเป็นเวลา 1 คืน ก่อนศาลจะอนุญาตให้ประกันตัวหลังถูกนำตัวไปฝากขังครั้งที่ 1 โดยต้องวางหลักทรัพย์ 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
.
อัยการฟ้องมีเจตนาพาดพิง ร.10 แม้ตามคลิปและข้อความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ เพียงแชร์มาจากกลุ่ม “ตลาดหลวง”
ต่อมาอัยการได้มีคำสั่งฟ้องคดีนี้ขณะยังอยู่ในช่วงระหว่างขอฝากขังและผัดฟ้อง ณัฐนนท์ ลิ่มสกลุ เป็นพนักงานอัยการผู้เรียงฟ้องในคดีนี้ โดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2564 จําเลยได้ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ด้วยการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูล รูปภาพ ข้อความ และตัวอักษร ผ่านทางเฟชบุ๊กที่มีการกําหนดเป็นค่าสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
มีข้อความว่า “หนทางเดียวของกูละ ไอ่เปรตนี่เด่วกูจัด !!” พร้อมปรากฎรูปภาพของบุคคลรูปครึ่งท่อน ไม่เห็นใบหน้ากําลังเล่นสไลเดอร์อยู่ ด้านล่างภาพ เขียนข้อความว่า รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง เมื่อกดเข้าไปพบว่า รูปภาพคนที่เล่นสไลเดอร์คือพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
อัยการบรรยายอ้างว่า จําเลยเป็นผู้จัดทํา ผู้ให้บริการและเป็นผู้ดูแล เพื่อให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นข้อมูล ข้อความ และตัวอักษรดังกล่าวเข้าใจว่า มีเจตนาพาดพิงรัชกาลที่ 10 อันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยจําเลยมีเจตนาอาฆาตมาดร้าย และทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเคารพบูชาของประชาชนชาวไทย และทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ อันเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับ ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
ทั้งนี้ อัยการยังคัดค้านการประกันตัว โดยระบุเหตุผลว่าเนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชาอาณาจักร อัยการยังได้ขอให้ศาลนับโทษต่อจากคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีคาร์ม็อบจังหวัดกระบี่ ซึ่งสุรีมาศถูกสั่งฟ้องที่ศาลแขวงกระบี่
สุรีมาศได้ปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยศาลนัดคุ้มครองสิทธิอีกครั้งในวันที่ 29 มิ.ย. 2565 เวลา 9.00 น. และได้ให้ประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์ในชั้นสอบสวน
จากการตรวจสอบคลิปที่สุรีมาศแชร์เข้ามาในเฟซบุ๊กส่วนตัวนั้น พบว่าเป็นคลิปล้อเลียนที่มาจากโปรแกรม Tiktok ปรากฏภาพผู้หญิงและผู้ชายกำลังทำพิธีจุดเทียน พร้อมมีเสียงสวดภาษาเขมร และมีรูปภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางอยู่ โดยมีข้อความประกอบว่า “ในเมื่อไล่ทุกวิธีแล้วไม่ไป ก็ต้องพึ่งวิธีสุดท้าย มนต์ดำเขมร เสกหนังควายเข้าตัวควาย” ทั้งคลิปและข้อความไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด เพียงแต่คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่อยู่กลุ่มเฟซบุ๊ก ‘รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง” ซึ่งมีภาพรัชกาลที่ 10 เป็นภาพปกของกลุ่มเท่านั้น
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับจากรัฐบาลมีแนวทางเริ่มกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 9 มิ.ย. 2565 มีผู้ถูกกล่าวหาในข้อหานี้ไปแล้วไม่น้อยกว่า 197 ราย ในจำนวน 213 คดี โดยมีคดีที่ “ประชาชน” เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์เองจำนวนไม่น้อยกว่า 98 คดี คดีทั้งหมดถูกอัยการทยอยสั่งฟ้องต่อศาลอย่างต่อเนื่อง
>>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65
.